พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๕ ในการออกพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ที่มาของภาพ : ภาพที่ ๑ สำนักพระราชวัง, ภาพที่ ๒ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

พระโกศทองใหญ่ที่เชิญออกพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในคราวนี้ คือ พระโกศทองใหญ่ที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ “พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๕” เป็นพระโกศทองใหญ่องค์เดียวกับที่ประดิษฐานประกอบพระบรมราชอิสริยยศบนพระแท่นสุวรรณเบญจดล ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ข้อมูลที่เผยแพร่ทั่วไปโดยสื่อมวลชน มักเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าพระโกศทองใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้น คือ พระโกศทองใหญ่ที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๙

พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๕ องค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ (พระนามเดิมหม่อมเจ้าจร มาลากุล) ทรงสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ หนังสือตำนานพระโกศและหีบศพบรรดาศักดิ์ เรียกว่า “พระโกศทองรองทรง” และกล่าวว่าใช้แทนพระโกศทองน้อยเวลาที่จะต้องหุ้มทองคำ เพื่อไม่ให้ต้องหุ้มเข้าและรื้อออกทุกครั้ง แต่ก็นับศักดิ์เสมอด้วยพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๑ (สมมตอมรพันธ์ ดำรงราชานุภาพ และนริศรานุวัดติวงศ์ ๒๕๓๙, ๓ – ๕)

การสร้างพระโกศรองทรงเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศวร์วัชรินทร์ ทรงสร้างพระโกศทองน้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ (สมมตอมรพันธ์ ดำรงราชานุภาพ และนริศรานุวัดติวงศ์ ๒๕๓๙, ๕ – ๖) เป็นพระโกศยอดทรงมงกุฎคล้ายพระโกศทองใหญ่แต่หุ้มทองชั่วคราว สำหรับประกอบพระลองทรงพระบรมศพแทนพระโกศทองใหญ่ซึ่งเจ้าพนักงานต้องเปลื้องไป “แต่ง” เพื่อทำความสะอาดและขัดแต่งเครื่องประดับจำพวกดอกไม้เพชรให้เงางาม ไม่หม่นหมอง ก่อนเชิญออกพระเมรุมาศ ซึ่งคงทำขึ้นในคราวเดียวกับการเปลื้องเครื่องสุกำพระบรมศพ จนกว่าการแต่งพระโกศทองใหญ่จะสำเร็จลงจึงค่อยเปลื้องพระโกศทองน้อยออกประกอบพระโกศทองใหญ่ทรงพระบรมศพตามเดิม เสร็จงานพระบรมศพจึงค่อยลอกทองที่หุ้มพระโกศทองน้อยออกมา (สมมตอมรพันธ์ ดำรงราชานุภาพ และนริศรานุวัดติวงศ์ ๒๕๓๙, ๖)

ที่มาของภาพ : ภาพที่ ๑ สำนักพระราชวัง, ภาพที่ ๒ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

การหุ้มและลอกทองบ่อยครั้งน่าจะยุ่งยากและหมดเปลืองมิใช่น้อย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระโกศทองใหญ่ขึ้นอีกองค์หนึ่ง ต่อมาเรียกกันว่า “พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๕” เพื่อใช้เป็นพระโกศทองรองทรงแทนพระโกศทองใหญ่เมื่อเวลาเชิญไปแต่งก่อนออกพระเมรุมาศ เสร็จการแล้วก็นำมาเก็บรักษาไว้ใช้งานต่อไปโดยไม่ต้องรื้อทองอีก อย่างไรก็ดี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ไม่ทรงเห็นด้วยกับการเรียกชื่อว่าพระโกศทองรองทรงและวัตถุประสงค์ในการสร้างไว้ ดังนี้

“โกศรองทรง ไม่ควรจะเรียกทีเดียว ควรจะเรียกว่าทองใหญ่เหมือนกันทั้ง ๒ ใบ เพราะที่จริงศักดิ์เสมอกัน ถ้าเรียกว่ารองทรงใบ ๑ ชวนให้ศักดิ์พระศพซึ่งใช้โกศรองทรงต่ำไป เช่นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ เป็นต้น โกศอื่นเช่นโกศทองน้อยก็ทำเพิ่มขึ้นอีกใบ ๑ เหมือนอย่างพระโกศรองทรง ก็ยังเรียกว่าทองน้อยเหมือนกันทั้ง ๒ ใบ หลักที่จริงนั้นพระโกศรองทรงก็ทำขึ้นสำหรับจะใช้อย่างพระโกศทองใหญ่นั้นเอง คือ ในเวลาเมื่อแห่พระศพเจ้านายทรงศักดิ์สูง ๒ พระศพ ๒ พระองค์พร้อมกัน เช่น เมื่องานพระศพสมเด็จกรมพระยาสุดารักษ์ฯ กับสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระจักรพรรดิพงศ์เป็นตัวอย่าง” (นริศรานุวัดติวงศ์ และดำรงราชานุภาพ ๒๕๐๕, ๘๒)

พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๕ ใช้ทรงพระบรมศพและพระศพเจ้านายชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์หลายพระองค์ด้วยกัน ที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนก็เช่นพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และพระศพสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้า วไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร (ดูรายละเอียดใน แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ ๒๕๕๕, เล่ม๒: ๖๒, ๒๓๐, ๒๗๐)

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พบการใช้งานพระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๕ จำนวนหลายครั้งด้วยกัน เท่าที่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด ได้แก่ การพระบรมศพพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า การพระศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระบรมราชูปัธยาจารย์ในรัชกาลที่ ๙ การพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ การพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และการพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี


บรรณานุกรม
๑. สมมตอมรพันธ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา และนริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา. ๒๕๓๙. ตำนานพระโกศและหีบศพบรรดาศักดิ์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพระราชวัง.
๒. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ๒๕๐๕. สาส์นสมเด็จเล่ม ๒. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา.
๓. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. และคณะ. ๒๕๕๕. สถาปัตยกรรมพระเมรุในสยาม. ๒ เล่ม. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์กรุงเทพ.
๔. พิชญา สุ่มจินดา. ๒๕๕๒. “พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ ๑ ในการออกพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์.” ศิลปวัฒนธรรม ๔ (กุมภาพันธ์): ๗๘ – ๙๐.
๕. พิชญา สุ่มจินดา. ๒๕๕๙. “ตำนานพระโกศทองใหญ่ ๓ รัชกาล.” ศิลปวัฒนธรรม ๓๘(พฤศจิกายน): ๑๑๒ – ๑๒๙.
——————————

© 2017 by Pitchaya Soomjinda, https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom
ทุกท่านสามารถแชร์บทความพร้อมภาพประกอบได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต ยกเว้นการเรียบเรียงใหม่ ตัดทอนเนื้อหา เชิงอรรถ บรรณานุกรม หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเสมอ และขอสงวนสิทธิ์ตามกฎหมายในการนำบทความทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในนามของท่านไม่ว่ากรณีใด