ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“Golden Boy” คือ“พระศิวะ” จริงหรือ?
ในที่สุด Golden Boy และประติมากรรมสตรี โบราณวัตถุ 2 รายการที่มีอายุนับพันปี ก็เดินทางกลับสู่เมืองไทยเป็นที่เรียบร้อย ท่ามกลางความยินดีของคนไทยทั้งประเทศ พร้อมจัดแสดงในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ที่อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เมื่อครั้ง Golden Boy จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน นครนิวยอร์ก (The MET) สหรัฐอเมริกา คำอธิบายใต้ประติมากรรมชิ้นนี้ คือ “พระศิวะประทับยืน” ซึ่งในวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่มีพิธีรับมอบโบราณวัตถุ 2 รายการ คือ Golden Boy และประติมากรรมสตรี จาก The MET ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
จอห์น กาย (John Guy) ภัณฑารักษ์ แผนกศิลปะเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก The MET ที่ร่วมในพิธีรับมอบ ก็ได้ระบุว่า Golden Boy คือ “พระศิวะ”
เหตุผลดังกล่าวคืออะไร?
เขากล่าวว่า ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองรูปพระศิวะในศาสนาฮินดูนี้ ถือเป็นผลงานชิ้นเอกชิ้นเดียวอย่างไม่ต้องสงสัย และเป็นหนึ่งในประติมากรรมทางศาสนาที่สำคัญที่สุดประเภทรูปเคารพ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในแผ่นดินใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสภาพการเก็บรักษาเกือบสมบูรณ์
ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ ทำหน้าที่เป็นรูปเคารพทางศาสนาที่สำคัญในเทวสถาน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งน่าจะหมายถึง “พระศิวะ” เทพในศาสนาพราหมณ์
“หากพิจารณาจากผ้านุ่งห่มแบบสมพตในภาษาเขมร หรือผ้านุ่งในภาษาไทย มีการตกแต่งรอยผูกที่ชายผ้าด้านหน้า และปมผ้าด้านหลังก็ตกแต่งอย่างสวยงาม สะท้อนเรือนร่างที่สวมใส่อยู่ เครื่องประดับ พาหุรัด กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า กรองคอ และ มงกุฎ เป็นส่วนสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์” ภัณฑารักษ์จาก The MET เผยถึงความงามของ Golden Boy
เขาบอกอีกว่า ประติมากรรม Golden Boy และประติมากรรมสตรี หล่อด้วยกระบวนการสูญขี้ผึ้ง (Lost Wax) โดยมีแกนเหล็กที่ยื่นออกมาจากส่วนมงกุฎถึงเท้า การตกแต่งในขั้นตอนสุดท้ายบนพื้นผิวสำริด ทำได้อย่างประณีตและละเอียด
เมื่อตรวจสอบพระพักตร์ของทั้งพระศิวะและสตรีนั่งชันเข่าโดยละเอียด พบว่า ทั้ง 2 องค์มีการตกแต่งด้วยการฝังแก้ว หินผลึก และโลหะที่แตกต่างกัน คือทองคำและเงิน พระเนตรของพระศิวะล้อมด้วยเงิน และพระเนตรดำอาจเคยมีหินคริสตัลฝังอยู่ หนวดและเคราก็มีร่องรอยการประดับตกแต่งด้วยการฝังวัตถุเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี แม้ The MET จะตีความว่าเป็น “ประติมากรรมพระศิวะ” แต่กรมศิลปากรก็ระบุว่า ท่าทางของพระหัตถ์ทั้งสองมีความแตกต่างจากประติมากรรมโดยทั่วไป ที่มักจะถือสัญลักษณ์ของพระศิวะ และไม่ปรากฏพระเนตรที่สามบนพระนลาฏ
แล้วบอกอีกว่า Golden Boy จึงอาจหมายถึงรูปบุคคลในสถานะเทพ หรืออาจมีความเป็นไปได้ว่า ถูกสร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์ 2 อย่าง คือ เป็นรูปเคารพเพื่อบูชาในศาสนสถานประจำราชวงศ์ หรือเป็นรูปเคารพของบูรพกษัตริย์
อ่านเพิ่มเติม :
- ใครคือ “Golden Boy” ? รู้จักพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ต้นวงศ์มหิธรปุระแห่งพิมาย
- รู้ได้อย่างไร “Golden Boy” เป็นของไทย ไม่ใช่เขมร?
- น่าสงสัย!? ประติมากรรม “Golden Boy” เก่าแก่กว่ายุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 6
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2567