โป๊ะแตก! แฉเบื้องหลังหนังสือหายากของกาลิเลโอ กว่า 300 ปีก่อน คือฉบับปลอมเนียน

กาลิเลโอ กาลิเลอี หนังสือ Sidereus Nuncius
(ซ้าย) ภาพวาด กาลิเลโอ (ขวา) หนังสือ Sidereus Nuncius ฉบับแรก

กาลิเลโอ เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักคณิตศาสตร์ชื่อดังก้องโลก อะไรที่เกี่ยวข้องกับเขาย่อมเป็นที่ต้องการของนักสะสม ซึ่งสิ่งที่บรรดานักสะสมของโบราณของหายากทั้งหลายระมัดระวังกันเป็นพิเศษย่อมเป็นของปลอมแปลง ซึ่งบางครั้งก็ยากจะสังเกต และอาจเกิดกรณีเดียวกับ “หนังสือ” ดาราศาสตร์ ที่หายากอย่างยิ่งเล่มหนึ่ง อย่างสำเนาหนังสือของ กาลิเลโอ ที่เผยแพร่เมื่อศตวรรษที่ 17 ซึ่งมีข้อบ่งชี้ทั้งลายเซ็นและลายวาดที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของเขา แต่ปรากฏว่าหนังสือเล่มนั้นก็ถูกวินิจฉัยว่าเป็นของปลอมแปลงขึ้นในภายหลัง

กาลิเลโอ นักดาราศาสตร์จากอิตาลีในช่วงศตวรรษที่ 17 สร้างสรรค์ผลงานที่พลิกโฉมวิทยาศาสตร์เมื่อหลายร้อยปีก่อน ผลงานหนึ่งคือการเผยแพร่หนังสือ Sidereus Nuncius (Starry Messenger) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อแปลไทยว่า “ผู้ส่งสารแห่งดวงดาว” เมื่อ ค.ศ. 1610 ซึ่งมีสำเนาหลงเหลือมาถึงปัจจุบันไม่เกิน 150 เล่มเท่านั้น ขณะที่ในช่วงการเผยแพร่ เชื่อว่ามีตัวเล่มออกมาเผยแพร่ประมาณ 550 เล่ม

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อธิบายว่า หนังสือ Sidereus Nuncius บันทึกการค้นพบใหม่ในช่วงเวลานั้น รวมไปถึงภาพสเก็ตช์ของดวงจันทร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีพื้นผิวขรุขระ ไปจนถึงข้อมูลจากการสังเกตตำแหน่งของดาวพฤหัส เป็นผลงานที่ทำให้เขาเป็น “นักดาราศาสตร์” ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น

เมื่อปี 2005 มีรายงานการค้นพบสำเนาหนังสือ Sidereus Nuncius จากศตวรรษที่ 17 ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือหายาก และมีค่าอย่างยิ่ง การค้นพบเมื่อเวลานั้นถูกขนานนามว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญแห่งศตวรรษเลยทีเดียว และถูกเปิดเผยโดยกลุ่มผู้ค้าขายหนังสือเก่าที่มีชื่อเสียงในวงการรายหนึ่งในนิวยอร์ก

สมุดเล่มที่ถูกเปิดเผยเมื่อปี 2005 มีลายเซ็นของกาลิเลโอ และลายประทับจากสถาบันวิทยาศาสตร์ Lincean จากห้องสมุดแห่งโรม ซึ่งกาลิเลโอเป็นสมาชิกอยู่ รายงานจากพีบีเอส ผู้ผลิตสารคดีเกี่ยวกับกาลิเลโอ ระบุว่า สำเนาหนังสือเล่มอื่นจากยุคนั้นมีการแกะลายรูปข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์ แต่หนังสือฉบับที่ถูกเปิดเผยเมื่อเวลานั้นปรากฏเป็นสีน้ำ ซึ่งในเวลานั้นคาดว่าจะเป็นฝีมือของกาลิเลโอ

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ปีหลังจากการค้นพบก็เริ่มมีข้อสังเกตและหลักฐานที่เริ่มบ่งชี้ว่า หนังสือเล่มที่กล่าวอ้างกันนั้นเป็นเล่มที่ถูกปลอมแปลงขึ้น แม้จะเป็นที่เข้าใจกันว่า หนังสือจากศตวรรษที่ 17 เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะปลอมแปลง เนื่องจากกรรมวิธีการพิมพ์ที่เฉพาะตัว แต่ตัวเล่มที่เป็นปัญหานี้ เมื่อพิจารณาจากลักษณะโดยทั่วไปก็ไม่พบเห็นสิ่งบ่งชี้ที่ผิดปกติ นอกเหนือจากแค่แหล่งที่มาของหนังสือเล่มที่มีปัญหาค่อนข้างไม่ชัดเจน

กระทั่งในปี 2012 มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในอิตาลีจับกุมนายมาริโน มาสซิโม เด คาโร อดีตผู้อำนวยการห้องสมุดจิโรลามินี (Girolamini) ในเมืองเนเปิลส์ เขาตกเป็นผู้ต้องสงสัยขโมยหนังสือจากห้องสมุดไปขาย ซึ่งนายเด คาโร เป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ขายหนังสือ Sidereus Nuncius ไปให้กลุ่มผู้ซื้อ-ขายหนังสือเก่ารายหนึ่ง นั่นทำให้หนังสือเล่มนั้นถูกตั้งข้อสงสัยทันทีว่า อาจเป็นหนังสือที่ถูกขโมยหรือถูกปลอมแปลงขึ้นมา

นิค ไวลดิง นักวิชาการที่ศึกษางานของกาลิเลโอ และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐจอร์เจีย ให้สัมภาษณ์พีบีเอส ระหว่างการถ่ายทำสารคดี Galileo’s Moon ซึ่งออกอากาศในวันที่ 2 กรกฎาคม (ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา) เปิดเผยว่า เมื่อเขาตรวจสอบหนังสือ เขาพบจุดต้องสงสัยในส่วน “ตราห้องสมุด” ซึ่งอาจบ่งชี้ว่า ตราประทับนี้ไม่ใช่ของจริง

รายงานข่าวจาก Livescience อธิบายเพิ่มเติมว่า เหล่านักปลอมแปลงของเก่ามักปลอมตราประทับของห้องสมุดชื่อดังเพื่อเพิ่มมูลค่าของหนังสือ แต่ในเมื่อหนังสือฉบับที่พบเมื่อ 2005 มีลายเซ็นของกาลิเลโอ อยู่ด้วยแล้ว คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ทำไมต้องเสี่ยงความแตกด้วยการปลอมตราประทับอีก

ไวลดิง ตั้งสมมติฐานว่า ลายเซ็นถูกทำขึ้นในเวลาเดียวกันและเป็นลายเซ็นปลอมด้วยหรือไม่ ลายรูปข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์ก็อาจเป็นของปลอมด้วยอีกหรือไม่

โอเว่น จินเกริช ศาสตราจารย์กิตติคุณ ด้านดาราศาสตร์และนักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แสดงความคิดเห็นว่า ลายรูปข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์บนหนังสือที่เป็นปัญหา ไม่น่าจะใช่ผลงานของกาลิเลโอ เพราะพบข้อผิดพลาดเกี่ยวกับข้อมูลทางดาราศาสตร์

ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องมาโป๊ะแตก เมื่อไวลดิงค้นเจอภาพถ่ายหน้าหนังสือจากสำเนาหนังสือ Sidereus Nuncius อีกเล่มที่เด คาโร พยายามขายให้ผู้ซื้อ-ขายของเก่า 2 รายเมื่อปี 2005 ซึ่งมีรอยบางอย่างบนหน้าหนังสือ รอยลักษณะนี้ไม่ปรากฏในหนังสือเล่มที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นเล่มของเก่าจริง ไวลดิง สืบค้นที่มาของรอยนี้จนไปพบในภาพสแกนหน้ากระดาษจากหนังสือเล่มจริง ซึ่งสแกนไว้เมื่อปี 1964

ไวลดิง พบว่า รอยแต้มที่เห็นจากภาพถ่ายหน้าหนังสือเวอร์ชั่นหนึ่งที่เด คาโร พยายามขายให้ผู้ซื้อกลุ่มหนึ่ง มีรอยเว้าแหว่งเหมือนกับถูกกดลงในกระดาษด้วยแม่พิมพ์ ทำให้เชื่อได้ว่า เด คาโร ลอกเลียนแบบแม่พิมพ์โดยกรรมวิธีแบบ 3 มิติ ด้วยการสแกนภาพ (จากภาพสแกนหนังสือเล่มจริง) และเผลอใส่รอยแต้มที่มาจากภาพสแกนลงในแม่พิมพ์ จึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าสำเนาเล่มที่ปรากฏเป็นของปลอม ขณะเดียวกัน เด คาโร ก็รับสารภาพว่า เขาปลอมแปลงสำเนาหนังสือขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง ฉบับที่เป็นของปลอมน่าจะวนเวียนอยู่ในตลาดมืดแล้ว

ไวลดิง ให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นว่า ถ้าพบว่ามีสำเนาหนังสือปลอมอยู่หลายชิ้น ย่อมชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่การหลอกลวงแบบเคสเดียวแล้ว แต่เป็นแคมเปญหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการขโมยหนังสือหลายพันเล่ม ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นหนังสือจากห้องสมุดของรัฐ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2562