มันฝรั่งยุคโบราณ แปรเป็น “เฟรนช์ฟรายส์” ได้ไง ดูร่องรอยพืชอัปลักษณ์ สู่เมนูอันโอชา

ชาวเมืองปารีส ในประเทศฝรั่งเศส ต่อแถวซื้อ เฟรนช์ฟรายส์ หรือ french fries (มันฝรั่งทอด) จากร้านริมถนน ถ่ายเมื่อพฤศจิกายน ค.ศ. 1944 ภาพจาก AFP

“มันฝรั่ง” ยุคโบราณ แปรเป็น “เฟรนช์ฟรายส์” ได้อย่างไร? ย้อนดูร่องรอยพืชอัปลักษณ์ สู่เมนูอันโอชา

จานอาหารจากเมนูแบบตะวันตกในยุคปัจจุบันมักปรากฏเครื่องเคียงอย่าง มันฝรั่ง (potato) อยู่เสมอ ไม่เพียงแค่ประสบการณ์จากความทรงจำของคนจำนวนมาก งานวิจัยในรอบทศวรรษหลังมานี้ยังบ่งชี้ว่า มันฝรั่งเป็นพืชสำคัญที่ปลูกแพร่กระจายในทุกภูมิภาคของโลกยกเว้นแค่แอนตาร์กติกา (Antarctica) แต่กว่าที่มันฝรั่งจะกลายมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งบนจานอาหารของคนทั่วโลก ผลผลิตทางการเกษตรชนิดนี้ผ่านเส้นทางในประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาหลากหลายรูปแบบ

ก่อนที่จะพูดถึงเมนูมันฝรั่งซึ่งคนทั่วโลกคุ้นเคยมากที่สุดอย่าง “เฟรนช์ฟรายส์” (French Fries) ข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะปลูกมันฝรั่งเป็นข้อถกเถียงซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปแบบแน่ชัดได้มายาวนานหลายทศวรรษแล้ว หลักฐานด้านต่างๆ ทั้งจากแง่มุมเชิงพันธุกรรม, โบราณคดีสายพฤกษศาสตร์ ไปจนถึงนักวิชาการสายจัดลำดับชั้นของหมวดหมู่พืชและสัตว์ล้วนมีสมมติฐานตามหลักฐานอันแตกต่างกัน

แหล่งกำเนิดการเพาะปลูกมันฝรั่ง

แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับต้นตอของการเพาะปลูกมันฝรั่งมักอ้างอิงหลักฐานทางโบราณคดีในแถบอเมริกาใต้ มีตั้งแต่หลักฐานการปลูกในพื้นที่ของเปรู (ก่อนยุคอินคา) เมื่อกว่า 8,000 ปีก่อน หรือบางรายอ้างอิงถึงหลักฐานการปลูกมันฝรั่งในพื้นที่ทางโบราณคดีในประเทศชิลี อายุราว 12,500 ปี

หรือนักวิทยาศาสตร์บางรายเชื่อกันว่า พืชสายพันธุ์ป่าปรากฏในท้องถิ่นนี้ตั้งแต่ 13,000 ปีก่อน ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายไปสู่อาณาจักรอินคาและไปสู่ยุโรปในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance)

โดยรวมแล้ว การหาข้อสรุปเพื่อบ่งชี้จุดกำเนิดการเพาะปลูกพืชชนิดนี้เป็นเรื่องค่อนข้างยาก จอห์น รีดเดอร์ (John Reader) ผู้เขียนหนังสือ “Potato: A History of the Propitious Esculent” ขยายความเรื่องความยากลำบากในการศึกษาเอาไว้ว่า มันฝรั่งสายพันธุ์ป่า (Wild Relatives) มีหลากหลายมากมาย อย่างน้อยก็ 169 ชนิดเข้าไปแล้วท่ามกลางสภาพภูมิศาสตร์อันกว้างขวางในอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้อง

การเคลื่อนย้ายมันฝรั่งเข้ามาในยุโรปพอมีหลักฐานบ่งชี้ว่า ปรากฏมันฝรั่งในแถบยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 16 แต่หากจะให้บ่งชี้ที่มาที่ไปว่า ใครคือผู้นำเข้ามาหรือคำถามลึกไปกว่านั้น เรื่องนี้ก็ยากบ่งชี้เช่นกัน บันทึกของ Redcliffe N. Salaman นักพฤกษศาสตร์บริติชเมื่อปี 1949 ให้เครดิตเซอร์ฟรานซิส เดรค (Sir Francis Drake) นักสำรวจชาวอังกฤษยุคปลายศตวรรษที่ 16 ว่าเป็นผู้ทำให้ชาวอังกฤษรู้จักมันฝรั่ง หรือบางแหล่งก็ยกเครดิตให้เซอร์วอลเตอร์ ราลีจ์ห (Sir Walter Raleigh)

รายชื่อทั้งสองนี้ก็ยังถูกตั้งคำถามถึงน้ำหนักของข้อมูลอยู่ดี ตามความเห็นของจอห์น รีดเดอร์ เขายกตัวอย่างข้อบ่งชี้หนึ่งว่า พวกนักสำรวจนักผจญภัยชาวสเปนนำพันธุ์ปลูกของมันฝรั่งมาจากแถบอเมริกา อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ 1562

นักวิจัยบางรายระบุว่า หลักฐานเกี่ยวกับมันฝรั่งในยุโรปที่ปรากฏแบบจารึกบันทึกเอาไว้ซึ่งเก่าแก่ที่สุดปรากฏเมื่อปี 1567

ขณะที่เอกสารรายงานเรื่องการขนส่งสินค้าที่มี “พืชหัวใต้ดิน” หลากหลายชนิดจากเกาะ Gran Canary Island ระบุจุดหมายไปที่เบลเยียม ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามันฝรั่งเข้ามาถึงเกาะ Canary อย่างน้อยที่สุดคือปี 1562 และอีก 11 ปีให้หลังจึงปรากฏรายงานเกี่ยวกับมันฝรั่งในสเปนเมื่อค.ศ. 1573

มีรายงานหลักฐานเกี่ยวกับมันฝรั่งปรากฏในผลงานของนักบันทึกชาวสเปนซึ่งบ่งบอกถึงความสำคัญของพืชชนิดมีหัวใต้ดินภายในอาณาจักรของอินคา เจฟฟ์ แชปแมน (Jeff Chapman) เจ้าของบทความ “อิทธิพลของมันฝรั่ง” (The Impact of the Potato) ในนิตยสาร History Magazine อธิบายว่า ชาวอินคาเรียนรู้กรรมวิธีถนอมอาหารเก็บรักษามันฝรั่งโดยการสกัดน้ำออก (dehydrating) และบดมันฝรั่งแปรรูปเป็นมวลอีกแบบซึ่งเรียกกันว่า Chuñu สามารถเก็บรักษาในห้องได้หลายปี ถือเป็นแหล่งอาหารสำรองกรณีเก็บพืชผลไม่ได้ตามเป้า ชาวอินคายังมีความเชื่อว่ามันฝรั่งช่วยเรื่องมีบุตรให้ง่ายขึ้นและรักษาอาการบาดเจ็บ

เจฟฟ์ แชปแมน (Jeff Chapman) อธิบายต่อว่า นักสำรวจดินแดนชาวสเปนค้นพบเกี่ยวกับ “มันฝรั่ง” เป็นครั้งแรกคือเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงเปรู เมื่อ ค.ศ. 1532 ในทริปเดินทางค้นหาทองคำ และบันทึกไว้ว่าชาวอินคาบริโภคสิ่งที่เรียกว่า Chuñu

ภายหลังจากมันฝรั่งเข้ามาในสเปนในปี 1570 เกษตรกรในสเปนเริ่มเพาะปลูกมันฝรั่งในระดับย่อมๆ และจากการเข้ามาในสเปน มันฝรั่งก็เริ่มกระจายไปในหลายประเทศแถบยุโรปช่วงปลายทศวรรษ 1500s กระทั่งในช่วงทศวรรษ 1600 มันฝรั่งปรากฏในสเปน, ออสเตรีย, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมนี, โปรตุเกส และไอร์แลนด์ แต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก

ชาวยุโรปยังมองมันฝรั่งว่ามีรสชาติไม่ดี แม้แต่คนชนบทยังไม่รับประทานพืชหัวใต้ดินที่ออกมามีรูปทรงอัปลักษณ์และมาจากแหล่งวัฒนธรรมของคนนอกศาสนา มันฝรั่งจึงถูกใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ และแหล่งอาหารสำรองกรณีอาหารไม่เพียงพอมากกว่า กระทั่งชนชั้นสูงของยุโรปเริ่มเล็งเห็นประโยชน์ของมันฝรั่งก่อนชนชั้นล่างเสียอีก และเป็นชนชั้นสูงที่กระตุ้นให้เพาะปลูกมันฝรั่ง

ในปี 1662 ราชสมาคม (Royal Society) ออกคำแนะนำให้ปลูกพืชหัวใต้ดินแก่รัฐบาลอังกฤษ แต่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ เจฟฟ์ แชปแมน (Jeff Chapman) ให้ข้อมูลว่า มันฝรั่งเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายสืบเนื่องจากการขาดแคลนอาหารช่วงสงครามการปฏิวัติ (Revolutionary Wars) รัฐบาลอังกฤษจึงเริ่มสนับสนุนให้ปลูกมันฝรั่ง

ไม่ว่าการเคลื่อนย้ายจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โดยใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อเครดิตเหล่านี้ แต่หลักฐานที่พอจะมีน้ำหนักคือ มันฝรั่งกลายเป็นที่รู้จักในอังกฤษแล้วในช่วงเปลี่ยนผ่านมาถึงศตวรรษที่ 17 ผลงานบทละคร The Merry Wives of Windsor ของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ปรากฏคำว่า “มันฝรั่ง” (potatoes) แล้ว

เจฟฟ์ แชปแมน (Jeff Chapman) อธิบายเพิ่มเติมว่า ปรากฏการณ์เกี่ยวกับการสนับสนุนปลูกมันฝรั่งเริ่มกระจายในหลายประเทศในยุโรป แต่มีบางประเทศที่พัฒนาการยังเป็นไปอย่างช้า ๆ อาทิ กรณีฝรั่งเศส ประชากรยังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการบริโภคมันฝรั่งอยู่ กระทั่งพระนาง Marie-Antoinette และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นำดอกของมันมาใช้ประดับ โดยนักประวัติศาสตร์ชี้ว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นำดอกของมันมาใส่รังดุมบนฉลองพระองค์ ส่วนพระนางมารี นำดอกสีม่วงมาประดับศีรษะ

ชนชั้นสูงอีกกลุ่มที่สนับสนุนการปลูกมันฝรั่งคือ พระเจ้าเฟรเดอริก มหาราช แห่งปรัสเซีย (Frederick the Great) พระองค์เห็นว่ามันฝรั่งสามารถช่วยแก้ปัญหาปากท้องในประเทศและลดราคาขนมปังได้

ผลกระทบจากอิทธิพลของมันฝรั่ง

ข้อถกเถียงหนึ่งเกี่ยวกับอิทธิพลของมันฝรั่งในหมู่นักวิจัยหรือผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ยุโรป คือแง่มุมว่าด้วยอิทธิพลของมันฝรั่งต่อการยุติภาวะขาดแคลนอาหารในยุโรปตอนเหนือ นักประวัติศาสตร์บางรายอย่างวิลเลียม เอช. แมกนีล (William H. McNeill) ยังมองไปไกลกว่านั้นว่า เมื่อมันฝรั่งสามารถเป็นแหล่งอาหารในประเทศที่อัตราการเพิ่มของประชากรเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สภาวะนี้เปิดประตูโอกาสให้บางชาติในยุโรปกลายเป็นชาติที่มีอิทธิพลต่อการปกครองดินแดนเกือบทั้งหมดในโลกในช่วง 1750 และ 1950 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า แหล่งอาหารสำคัญนี้มีอิทธิพลต่อการก้าวขึ้นมามีอิทธิพลของแดนตะวันตก

ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกยกนำมาใช้ศึกษาคือ กรณีของอังกฤษและเวลส์ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า มันเป็นต้นเหตุหรือผลกระทบจากการเติบโตของประชากรในยุคอุตสาหกรรมของอังกฤษและเวลส์?

ระหว่างปี 1800-1851 อังกฤษและเวลส์ประสบภาวะการเติบโตของประชากรอย่างมาก ประชากรรวมของทั้งสองพื้นที่รวมกันแล้วพุ่งไปเกือบ 18 ล้านคน

แต่ไม่ว่าจะถูกมองอย่างไร มันฝรั่ง ล้วนเข้าไปมีส่วนในประวัติศาสตร์ยุโรปอยู่หลายครั้ง อีกหนึ่งตัวอย่างสำคัญของอิทธิพลของการรับประทานมันฝรั่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือกรณีของเภสัชกรฝรั่งเศสนามว่า Antoine-Augustin Parmentier

แม้จะศึกษาด้านเภสัชมา แต่ในช่วงสงคราม 7 ปี เขารับใช้กองทัพและตกเป็นนักโทษในคุกปรัสเซียหลายครั้ง ช่วงเวลาที่เขาถูกจองจำ เขารับประทานมันฝรั่งซึ่งกลายเป็นอาหารที่ช่วยให้เขารักษาชีวิตเอาไว้ได้ ตัวเขาเองก็ประหลาดใจกับผลลัพธ์ของการทานพืชชนิดนี้ ภายหลังได้รับปล่อยตัวในปี 1763 เขากลายเป็นนักโภชนาการที่มีอิทธิพลสำคัญภายหลังสงครามจบลง เขาใช้เวลาที่เหลือในการเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์จากพืชสายพันธุ์ S. tuberosum ซึ่งมีมันฝรั่งเป็นพืชที่รู้จักกันมากที่สุด

เขายังมีบทบาทในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ประโยชน์ของมันฝรั่งในการแก้ปัญหาราคาขนมปังในฝรั่งเศส ว่ากันว่า เขาใช้มันฝรั่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในอาหารที่ใช้เลี้ยงมื้อเย็นในหมู่ชนชั้นสูง ซึ่งมีตำนานเรื่องเล่าว่า โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) เป็นหนึ่งในแขกที่ประทับใจอาหารเหล่านี้ ความเชื่อมโยงนี้เองอาจเป็นต้นตอส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าของการนำ “เฟรนช์ฟรายส์” (French fries) เข้าสู่อเมริกา ข้อสันนิษฐานหนึ่งเกี่ยวกับที่มาของการเรียกชื่อมันฝรั่งทอดว่า “เฟรนช์ฟรายส์” ส่วนหนึ่งก็ปรากฏคำบอกเล่าว่า อาจมาจากความเชื่อมโยงในเรื่องเล่าแบบปากต่อปากเรื่องนี้ (แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับข้อสันนิษฐานอื่นที่ล้วนยากจะสรรหาหลักฐานอันมีน้ำหนักมายืนยันหักล้างข้อสันนิษฐานอื่นได้)

มันฝรั่ง เฟรนช์ฟรายส์
เมนู เฟรนช์ฟรายส์ (French fries) แบบที่คุ้นตา

ข้อพิพาทเรื่องชื่อมันฝรั่งทอด “เฟรนช์ฟรายส์”

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ยุคหลังบางรายให้ความเห็นว่า มีหลายประเทศรวมถึงเบลเยียมที่ต่างเคลมว่าเป็นต้นตอของเมนู “มันฝรั่งทอด” Albert Verdeyen นักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือ Carrément Frites ซึ่งค้นหาประวัติศาสตร์ของการทอด ยกตำนานเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมาว่า มันฝรั่งทอดกำเนิดที่ Namur ในเบลเยียม ซึ่งคนท้องถิ่นนิยมทอดปลา เมื่อแม่น้ำ Meuse กลายเป็นน้ำแข็งเนื่องจากฤดูหนาวเมื่อ 1680 คนท้องถิ่นจึงทอดมันฝรั่งแทนทอดปลา

เรื่องเล่าเหล่านี้ไม่เพียงบอกถึงท้องถิ่นกำเนิดของการทอดมันฝรั่ง แต่ยังเล่าไปถึงต้นตอชื่อเรียก “เฟรนช์ฟรายส์” เรื่องเล่าบอกกันว่า เป็นเพราะทหารอเมริกันที่ประจำการในพื้นที่ซึ่งผู้คนพูดภาษาฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เรียกเมนูชนิดนี้ว่า “เฟรนช์ฟรายส์”

อย่างไรก็ตาม จากความคิดเห็นของ Albert Verdeyen นักประวัติศาสตร์มองว่า เรื่องเล่านี้ไม่น่าเป็นไปได้ อันดับแรกก่อน สมมติว่าหากเรื่องเล่านี้เป็นความจริง เวลาที่เกิดก็ไม่น่าใช่ 1680 แต่เป็นปี 1739 มากกว่า เขาให้เหตุผลว่า มันฝรั่งยังไม่เป็นที่รู้จักในท้องถิ่นนั้นจนกระทั่งปี 1735

หรือเมื่อเบลเยียมมีมันฝรั่งแล้ว ก็ใช่ว่าพวกเขาจะทอดมันฝรั่งจนสุก Albert Verdeyen ให้ความเห็นว่า ในศตวรรษที่ 18 อาหารจำพวกที่มีไขมันหรือน้ำมันเป็นของสำหรับคนมีฐานะ เนยเป็นของราคาแพง ดังนั้น ไขมันหรือน้ำมันจากพืชก็รับประทานอย่างประหยัด จึงเป็นไปได้ยากที่คนชนบทจะทอดมันฝรั่งจนกรอบ

สำหรับคนฝรั่งเศส พวกเขามีเรื่องเล่าอีกแบบหนึ่งว่า รูปแบบแรกของ “เฟรนช์ฟราย” คือ pomme Pont-Neuf มันฝรั่งทอดที่ขายบนรถเข็นตั้งอยู่บนสะพาน Pont Neuf สะพานเก่าแก่ที่สุดในปารีสช่วงปลายศตวรรษที่ 18

เชื่อกันว่า ในปี 1795 มันฝรั่งเป็นที่นิยมกันมากแล้ว Leclercq แสดงความคิดเห็นว่า ปริศนาของผู้ริเริ่มนำมันฝรั่งไปทอดจะดำรงสถานะปริศนาแบบนั้นต่อไป เป็นเรื่องยากที่จะระบุตัวตนคนนั้น แต่เขามองว่า หากให้เดาอาชีพของบุคคลที่ริเริ่ม อาชีพของเขาน่าจะเป็นพ่อค้าเร่ และเดาว่าภูมิหลังของเขาก็น่าจะเป็นชาวปารีส

ปัญหาประการแรกคือหลักฐาน แม้แต่หลักฐานประเภทบันทึกที่มีน้ำหนักพอก็ตาม บันทึกแบบเป็นตัวอักษรเกี่ยวกับ “เฟรนช์ฟราย” ปรากฏครั้งแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในเอกสารแนวคู่มือของเบลเยียม เรียกกันว่า Traité d’économie domestique et d’hygiène (บทความเกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในท้องที่และสุขอนามัย) แต่ Leclercq มองว่าหลักฐานชิ้นนี้ก็ไม่เพียงพอต่อการยืนยันเบื้องหลังความเชื่อมโยงระหว่างเฟรนช์ฟรายกับเบลเยียม เขาเชื่อว่า ไม่ควรจะสรุปและปักใจเชื่อโดยอ้างอิงจากข้อความเพียงชิ้นเดียว เขายังอ้างอิงไปถึงกรรมวิธีทอด 2 ครั้งในฝรั่งเศส ซึ่งปรากฏในเมนูมันฝรั่งทอดอีกชนิดที่เรียกว่า pommes soufflées (มันฝรั่งทอดทรงกลมซึ่งทอด 2 ครั้ง โดยชิ้นมันฝรั่งทรงกลมจะพองตัวขึ้นในการทอดครั้งที่ 2)

แม้ว่าการระบุต้นตอของกำเนิดเมนูนี้จะเป็นเรื่องยาก แต่หากเปลี่ยนคำถามไปอีกแบบว่า ใครทำให้เมนูนี้กลายเป็นที่จดจำในเชิงสัญลักษณ์ (ทอดมันฝรั่ง) มากที่สุด คำตอบนี้สำหรับบางคนจะบอกว่าเป็นชาวอเมริกัน แต่ในขณะเดียวกัน แคนาดา เพื่อนบ้านของสหรัฐฯ ยังมีเมนู Poutine ซึ่งประกอบไปด้วยมันฝรั่งทอด, ชีส และราดน้ำเกรวี่ เชื่อกันว่าปรากฏใน Québec ตั้งแต่ยุค 50s แต่หาต้นตอที่มาได้ไม่ชัดเจนเช่นเดียวกับ “เฟรนช์ฟราย”

นอกจากนี้ ในฝั่งบริติชยังมีเมนู “ฟิช แอนด์ ชิปส์” (fish and chips) ที่เป็นปลาทอดกับมันฝรั่งทอด แม้ตัว “ชิปส์” มันฝรั่งทอดจะมีลักษณะรูปทรงแตกต่างจาก (เฟรนช์)“ฟรายส์” ที่คนจดจำอยู่บ้าง แต่ก็ยากปฏิเสธว่ามันมีลักษณะคล้ายคลึงกันพอสมควร

สำหรับมันฝรั่งทอดในเมนูแบบอเมริกันจนถึงบริติชแล้ว “เฟรนช์ฟรายส์” มักเป็นเครื่องเคียงสำหรับอาหารอย่างเบอร์เกอร์ ปลาทอด สเต๊ก หรือชีส มีเพียงเบลเยียมที่ “มันฝรั่งทอด” เป็นเมนู(หลัก)ในตัวมันเอง มันฝรั่งทอดแบบเบลเยียม เดิมทีแล้วมักใช้มันฝรั่งแบบ Dutch Bintje ทอด 2 ครั้งในไขมันวัว นำมาใส่โคนกระดาษแล้วราดด้วยมายองเนส (mayonnaise)

อาหารหลักสู่ปัญหาในไอร์แลนด์

อีกหนึ่งตัวอย่างของอิทธิพลจากมันฝรั่ง คือกรณีที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์ ซึ่งมีมันฝรั่งเป็นอาหารหลักนับตั้งแต่ปี 1800 เป็นต้นมา

ในช่วงปี 1780-1841 ประชากรของไอร์แลนด์เพิ่มสูงขึ้นไปแตะตัวเลข 8 ล้านรายโดยที่ไม่ได้ปัจจัยเรื่องการขยายตัวของอุตสาหกรรมหรือการปฏิวัติเทคนิคการเกษตรเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผลผลิตมันฝรั่งเป็นจำนวนมากทำให้ประชากรที่มีสถานะไม่ค่อยดีก็สามารถมีอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพได้ดีมากเกินกว่าระดับที่พวกเขาต้องการด้วยซ้ำ มันฝรั่ง(กับนม)กลายเป็นอาหารหลักไม่กี่ชนิดของชาวไอร์แลนด์

แต่เมื่อประชากรส่วนใหญ่พึ่งพิงมันฝรั่ง ปรากฏการณ์นี้สะท้อนด้านลบของมันให้เห็นจากโศกนาฏกรรมในทศวรรษ 1840s การปลูกมันฝรั่งในไอร์แลนด์ได้รับผลกระทบอย่างนักจากเชื้อรา อัตราการเสียชีวิตของประชากรในช่วงเวลานั้นถึงกับสูญเสียไป 1 ใน 4 เลยทีเดียว (เสียชีวิตราว 1 ล้านราย อพยพอีกราว 1 ล้านราย)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Chapman, Jeff. “The Impact of the Potato”. History Magazine. Online. Access 8 MAR 2021. <http://www.history-magazine.com/potato.html>

Charles C. Mann. “How the Potato Changed the World”. Smithsonian. Online. Published NOV 2011. Access 8 MAR 2021. <https://www.smithsonianmag.com/history/how-the-potato-changed-the-world-108470605/>

Fiegl, Amanda. “A Brief History of the Potato”. Smithsonian. Online. Published 17 MAR 2009. Access 8 MAR 2021. <https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/a-brief-history-of-the-potato-54839408/>

Monaco, Emily. “Can Belgium claim ownership of the French Fry”. BBC. Online. Published 31 JUL 2018. Access 8 MAR 2021. <http://www.bbc.com/travel/story/20180730-can-belgium-claim-ownership-of-the-french-fry>

Stef de Hann. “Potato Origin and Production”. Advances in Potato Chemistry and Technology. Academic Press, 2016. pp. 1-32. Online.  <https://www.researchgate.net/publication/303414974_Potato_Origin_and_Production>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มีนาคม 2564