ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
ปลาบ้า ไม่ได้เที่ยวไล่กัดใครต่อใครที่ลงเล่นน้ำแล้วทำให้น้ำลายฟูมปากเหมือนอย่างหมาบ้า หรือทำลายตัวเอง ทำลายสัตว์อื่นในน้ำ ฯลฯ ทั้งรูปร่างและพฤติกรรมของปลาบ้าก็ปกติ ไม่ต่างจากปลาอื่นแต่อย่างใด
ปลาบ้า เป็นปลาน้ำจืดอยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) วงศ์ย่อยปลาซิว (Danioninae) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ย่อยนี้ ปลาบ้ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Leptobarbus hoevenii ส่วนชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปมีหลากหลาย เช่น ปลาบ้า, ปลาไอ้บ้า, ปลาพวง, ปลาโพง ส่วนภาษาอังกฤษมักเรียกว่า Mad carp-ปลาคาร์พบ้า, Sultan fish-ปลาสุลต่าน และ Gold shark-ปลาฉลามทอง
รูปร่างหน้าตาของปลาบ้า คือ มีลักษณะลำตัวยาวคล้ายปลากระบอกค่อนข้างกลม ขนาดความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร หัวโต นัยน์ตาค่อนข้างโต ปากกว้าง มีหนวดขนาดเล็ก 2 คู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่ ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนของหลังมีสีดำปนเทา ท้องสีขาวจาง ครีบหางสีชมพู ครีบอื่นสีแดงจาง ๆ
ลักษณะพฤติกรรมของปลาบ้า คือ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไปทั้งที่เป็นน้ำไหลและน้ำนิ่ง ไม่ว่าจะเป็น ลำห้วยในป่าดงดิบ หนองน้ำขนาดเล็ก ไปจนถึงแม่น้ำสายใหญ่ ๆ อาหารของปลาบ้าคือสัตว์น้ำขนาดเล็ก และเมล็ดพืชต่าง ๆ แต่ที่ปลาบ้าชอบกินคือ เมล็ดกระเบา เมล็ดลำโพง (ภาคเหนือเรียก มะเขือบ้า) ซึ่งพืชดังกล่าวมีสารพิษ
ลำโพง เมล็ดและใบของมันมีพิษ โดยอาการจะปรากฏภายในเวลา 5-10 นาที หลังกินเข้าไป คือ ปากและคอแห้งกระหายน้ำอย่างรุนแรง กลืนน้ำลายยากและพูดไม่ชัด ม่านตาขยาย สู้แสงไม่ได้ ผิวหนังร้อนแดงและแห้ง ตัวร้อน และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนกระเบา เมล็ดมีพิษทำให้ปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียน และรุนแรงถึงตายได้เช่นกัน
แต่ปลาบ้าที่กินพืชมีพิษอย่างลำโพงหรือกระเบาเข้าไป กลับไม่ตาย แต่สะสมพิษไว้ในร่างกาย ดังนั้นเมื่อใครนำปลาบ้ามากินก็จะได้รับพิษของลำโพงหรือกระเบาที่สะสมอยู่ในตัวปลาเป็นของแถม จะทำให้มีอาการปากคอแห้ง กระหายน้ำ กลืนอาหารลำบาก อาการต่อมาคือสายตาพร่ามัว ระบบประสาทกลางถูกกระตุ้น มีอาการเคลิบเคลิ้มเป็นสุข ต่อมาเกิดอาการเพ้อคลั่ง มีอาการประสาทหลอน
เมื่อปลาบ้ามีอันตรายเช่นนี้ แล้วทำไมยังมีคนกินปลาบ้า คำตอบสั้นคำเดียวก็คือ “อร่อย” คงเหมือนกับปลาปักเป้าที่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็ยังเป็นที่นิยมของคนชอบกินปลา เนื้อปลาบ้าก็รสชาติดีมากเช่นกัน ที่มาเลเซียมันถูกขนานนามว่า “ปลาสุลต่าน” ก็เพราะเนื้อที่อร่อยนั่นเอง
ในอดีตปลาบ้าจึงไม่เป็นที่นิยมกินเท่าใดนัก ด้วยเรื่องของพิษจากปลา แต่ปัจจุบันต้นลำโพง, ต้นกระเบาริมน้ำแทบจะไม่มีให้เห็น นอกจากนี้ปลาบ้ารวมทั้งปลาน้ำจืดอื่นๆ ที่อยู่ในท้องตลาดส่วนใหญ่ ก็ไม่ใช่ปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่เป็นปลาเลี้ยงในระบบปิดจากบ่อปลา ด้วยเหตุนี้ จึงไม่เป็นอันตรายต่อคนกินเหมือนในอดีตอีกต่อไป และยังนิยมเลี้ยงปลาบ้าเป็นปลาสวยงามอีกด้วย โดยมีชื่อในแวดวงว่า “ปลาแซมบ้า”
อ่านเพิ่มเติม :
- แกงเทโพ อาหารคุ้นเคยที่ทำจากปลาเทโพ ความอร่อยที่ร. 2 พระราชนิพนธ์ถึง
- “ริวกิว” ชื่อปลาในไทย และชื่ออาณาจักรโบราณในญี่ปุ่น เกี่ยวข้องกันไหม? อย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สุวรรณดี ขวัญเมือง สุชาติ ไกรสุรสีห์ และคณะ. อ๋า….. มีด้วยหรือ ? ปลาบ้า, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสตูล.
https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20171115171811_1_file.pdf สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2566