“พระเจ้าตากสินมหาราช” เสด็จพระราชสมภพที่ไหนกันแน่?

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตาก วงเวียนใหญ่ ประกอบ พระเจ้าตากสินมหาราช พระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จพระราชสมภพที่ใดกันแน่?
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

พระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จพระราชสมภพที่ใดกันแน่? จีน พระนครศรีอยุธยา หรือ บ้านตาก แขวงเมืองตาก

จิตรกรรมเขียนขึ้นใหม่ ภาพเหตุการณ์ “สมรภูมิปากพิง” แขวนอยู่ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วัดปากพิงตะวันตก จังหวัดพิษณุโลก ภาพ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จฯ นำกองทัพเรือมาถึงบ้านปากพิง เมืองพิษณุโลก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2556)

หลายคนน่าจะเชื่อว่าพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จพระราชสมภพที่ประเทศจีน เนื่องด้วยจดเหตุราชวงศ์ชิง ว่าด้วยจดหมายเหตุเกาจง คำให้การของ Tjoseeko พ่อค้าชาวจีนจากเมืองปาเล็มบัง รวมถึงจดหมายเหตุกุ่ยซื่อเล่ยเก่า ที่กล่าวไว้ว่าพระเจ้าตากเสด็จพระราชสมภพที่เมืองจีน 

ทว่าพงศาวดารราชวงศ์ชิง บรรพเมืองขึ้น ในรัชกาลของจักรพรรดิเฉียนหลง จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของจีน กลับระบุว่า พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่ไทย ทำให้ข้อสันนิษฐานว่าพระองค์ทรงเติบโตที่จีนเป็นอันตกไป 

สรุปแล้ว…หากเป็นที่ไทยจริง “พระเจ้าตากสินมหาราช” เสด็จพระราชสมภพที่ใดกันแน่?

เรื่องภูมิสถานพระราชสมภพของพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นที่โต้เถียงกันอยู่ 2 ทาง ฝ่ายหนึ่งคาดว่าพระองค์น่าจะเสด็จพระราชสมภพที่ “พระนครศรีอยุธยา” ส่วนอีกฝั่งก็มองว่าพระองค์น่าจะเสด็จพระราชสมภพที่ “บ้านตาก แขวงเมืองตาก”

คนที่สนับสนุนความเห็นที่ “พระนครศรีอยุธยา” ได้ยกหลักฐานที่เด่นชัด ทั้งใน “หนังสือปฐมวงศ์” และ “หนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ” ที่พูดถึงไว้ว่า พระราชบิดาของพระเจ้าตากอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่หน้าจวนเจ้าพระยาจักรีคนเก่า (นอกราชการ) บริเวณใกล้กำแพงเมืองนครศรีอยุธยา 

รวมถึงในหลักฐาน “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับปลีก หมายเลข ๒/ก. ๑๐๑” ก็ได้ระบุไว้ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเป็นบุตรของจีนคลองสวนพลู

นี่จึงทำให้หลายคนคาดว่า พระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จพระราชสมภพที่ “พระนครศรีอยุธยา”

ส่วนคนที่เชื่อว่าพระองค์เสด็จพระราชสมภพที่ “เมืองตาก” ก็ได้อ้างอิงหลักฐานอย่าง “ต้าหนานฉือลู่” (พงศาวดารยาลอง) ซึ่งให้ข้อมูลว่า พระราชบิดาของพระเจ้าตากอพยพย้ายมาอยู่ที่สยาม เป็นหัวหน้าของหมานซะ (คาดการว่าคือเมืองตาก) ต่อมาเมื่อพระราชบิดาของพระองค์สิ้น พระองค์ก็สืบทอดตำแหน่งแทน

อนุสาวรีย์​พระเจ้า​ตากสิน ที่​วงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร
อนุสาวรีย์​พระเจ้า​ตากสิน ที่​วงเวียนใหญ่ กรุงเทพมหานคร

ส่วน “พงศาวดารสยาม อย่างย่อ” ก็ว่าไม่ต่างกันกับหลักฐานข้างต้น ให้ความว่า…

“พระยาตาก (Pin Tat)…เกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เรียกว่า บ้านตาก ทางภาคเหนือของสยาม ตรงละติจูด ๑๖ องศาเหนือ…เมื่อครั้งเสียกรุงเขามีอายุ ๓๓ ปี ก่อนหน้านั้นเคยเป็นปลัดเมืองตาก และต่อมาก็ได้เป็นเจ้าเมืองบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง โดยได้รับราชทินนามเป็นพระยาตาก อันเป็นชื่อที่คนรู้จักมากระทั่งทุกวันนี้” 

นอกจากนี้ “พงศาวดารเขมร ฉบับปลีก” (คาดว่าเขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก็ให้ความว่า พระเจ้าตากเสด็จพระราชสมภพที่ “เมืองตาก” เช่นเดียวกัน ดังนี้…

“ครั้งนั้นมีบุตรจีนผู้หนึ่งเป็นชาวเมืองตาก เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา พระยาตากอยู่นาน แล้วเลื่อนที่เป็นพระยากำแพงเพชร”

อย่างไรก็ตาม หากมาวิเคราะห์กันแล้ว จะเห็นว่าพงศาวดารทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีอายุไล่เลี่ยกัน แต่ถ้ามองเรื่องการแก้ไข หนังสือปฐมวงศ์ อภินิหารบรรพบุรุษ รวมไปถึงพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับปลีก จะถูกแก้ไขในหลายครั้ง 

ผิดกับพงศาวดารราชวงศ์ยาลอง หรือพงศาวดารสยาม อย่างย่อ ที่ไม่เคยผ่านการแก้ไขมาก่อนแม้แต่ครั้งเดียว

จึงทำให้วงวิชาการคาดว่า “พระเจ้าตากสินมหาราช” น่าจะเสด็จพระราชสมภพที่ “บ้านตาก แขวงเมืองตาก” มากกว่าที่จะเป็น “พระนครศรีอยุธยา”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์. “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ‘ลูกจีนกู้ชาติ’ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2551.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2567