เบื้องหลังชื่อ“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” ย่านท่าพระจันทร์ กว่าจะได้มาเปลี่ยนไปหลายรอบ

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
ภาพมุมสูง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (ภาพจากเพจ งานสมโภชพระอารามหลวง ๓๓๘ ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ )

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ตั้งอยู่ที่ถนนมหาราช ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร เป็นวัดเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีการจัดงานสมโภชพระอารามครบ 338 ปี ไปเมื่อต้นปี 2567 แต่กว่าจะได้ชื่อ “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” วัดแห่งนี้ต้อง “เปลี่ยนชื่อ” หลายครั้ง น่าจะเป็นหนึ่งในวัดที่เปลี่ยนชื่อบ่อยครั้งที่สุดในประเทศ 

ชื่อแรกของวัดมหาธาตุฯ คือ “วัดสลัก” บ้างเรียกว่า “วัดฉลัก” มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อรัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ วัดสลักที่ตั้งอยู่ระหว่าง วังหลวง-พระบรมมหาราชวัง และวังหน้า-พระราชวังบวรสถานมงคล ได้รับผลกระทบจากการขยายพื้นที่ของพระราชวังบวรฯ ซึ่งกระทบกับพื้นที่ทางด้านเหนือของวัดสลัก จึงโปรดให้ทำผาติกรรมเอาเนื้อที่ทางตอนใต้ของวัดเพิ่มให้แก่วัด

เมื่อดำเนินการเรียบร้อย สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท มีพระราชประสงค์ให้ชื่อ “วัดพระศรีสรรเพชญ” เพราะสิ่งก่อสร้าง เช่น พระมณฑป เป็นการถ่ายแบบจากวัดพระศรีสรรเพชญ ซึ่งเป็นวัดหลวงในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา และมีพระราชประสงค์ที่ทรงสร้างเพื่อบรรจุพระอัฐิของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระอัฐิส่วนของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) แบบเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ หากติดขัดที่วัดมิได้อยู่ในพระบรมมหาราชวังเช่นวัดพระศรีสรรเพชญ

รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้ขนานนามว่า “วัดนิพพานาราม” หากประชาชนในสมัยนั้นยังคุ้นกับขนบของกรุงศรีอยุธยา ที่เรียกนามวัดหลวงในวังหลวงว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ” ดังนั้น “วัดพระศรีรัตนศาสดาราม” หรือ “วัดพระแก้ว” ในพระบรมมหาราชวัง สมัยรัตนโกสินทร์ จึงถูกเรียกนามว่าวัดพระศรีสรรเพชญเป็นส่วนใหญ่

หากรัชกาลที่ 1 ไม่โปรดให้เรียกขานเช่นนั้น ด้วยวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้เก็บพระอัฐิอย่างวัดพระศรีสรรเพชญที่อยุธยา ประกอบกับชื่อวัดนิพพานารามไม่มีแบบแผน จึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อวัดนิพพานารามเป็น “วัดพระศรีสรรเพชญ” 

ถึงปี 2346 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต รัชกาลที่ 1 โปรดให้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดมหาธาตุ” การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า

“วัดมหาธาตุ ฤๅถ้าเรียกเต็มตามแบบว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นหลักของพระนคร ย่อมมีทุกราชธานีในประเทศนี้ จำต้องมีในพระนครอมรรัตนโกสินทร์นี้ประการ 1 พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระมณฑป (คือในโบสถ์พระธาตุ) เป็นพระศรีรัตนมหาธาตุมีอยู่ในพระอารามแล้วประการ 1 เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช [ขณะนั้น คือ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นเจ้าอาวาสวัดพระศรีสรรเพชญ] เหมือนวัดมหาธาตุที่กรุงเก่า นี้อีกประการ 1…ด้วยประการฉะนี้ จึงพระราชทานนามว่า วัดมหาธาตุ”

ปี 2437 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สวรรคต รัชกาลที่ 5 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อุทิศพระราชทานให้ปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุจนสำเร็จ

รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้เพิ่มสร้อยต่อชื่อวัดเดิม เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ “วัดมหาธาตุ” จึงมีชื่อใหม่ว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประพัฒน์ ตรีณรงค์. ประวัติหลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ, สมาคมศิษย์เก่าวัดมหาธาตุ พระนคร จัดพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2512.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2567