ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
โสเภณี เป็นอาชีพเก่าแก่ที่อยู่คู่โลกมาอย่างยาวนาน ในสยามเองก็มีโสเภณี ปรากฏหลักฐานในบันทึกของลาลูแบร์ สมัยกรุงศรีอยุธยา กระทั่งเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ อาชีพนี้ก็ยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่น ทั้งยังมี “ภาษีโสเภณี” หรือชื่อทางการ คือ “ภาษีบำรุงถนน” ยืนยันถึงการมีอยู่อย่างชัดเจน
ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ กล่าวถึงเรื่อง “ภาษีโสเภณี” ไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2411-2503” ว่า ภาษีดังกล่าวปรากฏอยู่ในรูปของระบบเจ้าภาษีนายอากร ที่ให้มีการผูกขาด “ภาษีบำรุงถนน” สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
“ระบบเจ้าภาษีนายอากร” คืออะไร?
อธิบายได้พอเห็นภาพคร่าวๆ คือ รัฐบาลยินยอมให้เอกชนประมูลภาษีแข่งกัน ผู้ชนะประมูลต้องส่งเงินให้รัฐบาลในจำนวนและกรอบเวลาที่ตกลงไว้ ผู้ประมูลได้จะทำหน้าที่เป็น “เจ้าภาษีนายอากร” เรียกเก็บภาษีกับราษฎร นั่นย่อมหมายความว่า ผู้ชนะประมูลเปรียบได้กับตัวแทนของรัฐบาลในการเก็บภาษี
ระบบที่ว่า ปรากฏขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 และเด่นชัดในสมัยรัชกาลที่ 3 จากที่พระคลังมีความสำคัญลดลง และเลิกผูกขาดโดยรัฐบาล เมื่อ พ.ศ. 2398 แต่รัฐบาลเพิ่มภาษีอีก 38 ชนิด
สมัยรัชกาลที่ 3 ภาษีที่นำไปสู่การสนับสนุนอบายมุขถูกยกเลิกไป อาทิ ภาษีฝิ่น อากรค่าน้ำ อากรรักษาเกาะ ขณะที่อากรที่ห้ามประมูล คือ อากรพนันวัว ตีไก่ และกัดปลา ส่วนใหญ่แล้วเหตุผลของการห้ามประมูลนั้นมาจากเรื่องทางศาสนา
กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 รัฐพยายามเร่งเพิ่มรายได้ มีการเพิ่มประเภทภาษีและปรับปรุงอัตราภาษีต่างๆ อย่าง ภาษีฝิ่น ภาษีสุกร ภาษีปลากัด ภาษีปลาทู ภาษีผ้าไหม ภาษีผัก ภาษีถัง อากรการพนัน อากรมหรสพ อากรค่าน้ำ อากรรักษาเกาะ
ดารารัตน์ ตั้งข้อสังเกตว่า การมีภาษีเกี่ยวกับอบายมุข มีน้ำหนักต่อข้อสันนิษฐานว่า ภาษีโสเภณี น่าจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พอถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ภาษีบำรุงถนนก็ถูกทำให้เป็นระบบมากขึ้น
การศึกษาหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 4 พบว่า มีการจัดเก็บภาษีค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหญิงโสเภณีเป็นเงิน 50,000 บาท มากกว่าภาษีอีกหลายชนิด ซึ่งภาษีนี้ย่อมทำเงินให้รัฐบาลได้มากทีเดียว
ทำให้สันนิษฐานได้ว่า นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา มีการเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหญิงโสเภณี เป็นภาษีที่เรียกว่า “ภาษีบำรุงถนน”
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดภาษีบำรุงถนน มาจากกรณีหญิงโสเภณีที่เป็นทาส มักกล่าวโทษนายเงินที่ไถ่เอาหญิงมาเป็นทาสว่าฉ้อฉลเงิน และนายเงินบางรายก็โกงเงินภาษีของรัฐ ดังนั้น ภาษีบำรุงถนนจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ มีรายละเอียดสำคัญ คือ
ห้ามไม่ให้นายเงินบังเงินสิบลดหนึ่งของหลวงและสิบลดสามของทาส ถ้าเป็นความจริงตามที่หญิงทาสฟ้องร้อง ต้องลดค่าตัวทาสครึ่งหนึ่ง และซื้อทรายถมถนน 50 เกวียน และห้ามบังคับทาสให้เป็นหญิงโสเภณี โดยที่หญิงนั้นไม่สมัครใจ
ห้ามนายเงินคิดค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าที่นอนจากหญิงทาส ให้คิดได้เฉพาะค่าน้ำมันและค่าน้ำ อัตราเดือนละ 1 หรือ 2 บาท โดยให้เหตุผลว่า น้ำช่วยให้หญิงสวยงาม น้ำมันช่วยให้ห้องสว่างเป็นที่ต้องใจบุรุษ ถือเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย รวมทั้งห้ามนายเงินซื้อของถูกแล้วขายให้หญิงทาสราคาแพง
ถ้าสงสัยว่าหญิงทาสและนายเงินปิดบังเงินหลวงสิบลดหนึ่ง ให้ปรับเจ้าภาษี 1 ชั่ง และให้นายเงินใช้เงินทุนสินบนที่รัฐประกาศให้เป็นรางวัลแก่ผู้แจ้งข่าว 10 ตำลึง นายเงินซื้อทรายถมถนน 50 เกวียน
นายเงินบังคับหญิงทาสให้เป็นโสเภณี โดยนายเงินต้องการหลีกเลี่ยงภาษีบำรุงถนน ถ้าจับได้ นายเงินถูกปรับ 5 ชั่ง โดยเงินนั้นให้หลวง และลดค่าตัวทาสครึ่งหนึ่ง (ถ้าทาสมาฟ้องเอง หญิงทาสนั้นเป็นไท) นายเงินนำทรายมาถมถนน 50 เกวียน
โรงโสเภณีเถื่อนหรือหญิงโสเภณีจรที่ไม่เสียภาษีบำรุงถนนให้รัฐ ผู้ฝ่าฝืนตั้งโรงเลี้ยงโสเภณีในกำแพงพระนคร จับได้มีโทษและปรับเงินเข้าหลวง
รายละเอียดของข้อกฎหมายเหล่านี้ บ่งชี้ถึงการปรากฏของหญิงโสเภณีในสังคมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้
อ่านเพิ่มเติม :
- ซ่องโสเภณี สมัยกรุงศรีอยุธยา มีแต่ลูกสาวขุนนาง!?
- เรื่องเพศสมัยกรุงเก่า “รับจ้างทําชําเราแก่บุรุษ” มีเจ้าของ “ซ่อง” เป็นถึง “ออกญา”
- ขุนนางสยามชี้ “ย่านปทุมวัน” เหมาะทำเป็น “นครโสเภณี” มากกว่า “เมืองมหาวิทยาลัย”
- “ตรอกน่ำแช” แหล่งโรงโสเภณีโคมเขียวแห่งสำเพ็ง รับเฉพาะลูกค้ากระเป๋าหนัก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. “โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2411-2503”. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2567