ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“สำเพ็ง” ยุคนี้ คือแหล่งรวมสินค้าหลากหลาย มีทั้งค้าปลีกและค้าส่งให้เลือกช้อปกันเต็มอิ่ม แต่ถ้าย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน สำเพ็งไม่ได้เป็นแค่แหล่งการค้าสุดคึกคักของชาวจีน แต่ยังเป็นแหล่งโลกียสำราญ เพราะเป็นที่ตั้งของ “โรงโสเภณี” เลื่องชื่อ โดยเฉพาะที่ “ตรอกน่ำแช” ซึ่งบรรดาลูกค้ากระเป๋าหนักมักมารวมตัวกันที่นี่
สันต์ สุวรรณประทีป เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความ “ลำเลิกอดีต” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2525 ว่า
ยุคนั้น มีตรอกที่ทุกคนย่านนั้นรู้จักกันในชื่อ “ตรอกน่ำแช” ซึ่งคำว่า “น่ำแช” แปลว่า “โคมเขียว” โรงโสเภณีโรงไหนที่แขวนโคมเขียวไว้ด้านหน้า จะรู้กันว่าเป็นโรงโสเภณีของคนจีน ผู้ให้บริการก็เป็นคนจีนทั้งสิ้น อายุแค่ 10-12 ปี เท่านั้น
โรงโสเภณีแบบนี้รับแต่คนจีน คนไทยไม่รับ เหตุผลเพราะคนไทยมีลักษณะที่ถูกนิยามเป็นวลีว่า “เดี๋ยวจับนมเดี๋ยวดมหน้า หกสลึงแอ๊คหกท่า” มีนัยถึงความเจ้าบทบาทของคนไทยที่ชอบบรรเลงไปเอื้อนไปอยู่นั่น
แต่หากคนไทยต้องการจะเข้าไปใช้บริการก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง โดยต้องเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์ และมีคนจีนที่เจ้าสำนักรู้จักเป็นผู้นำเข้าไป สนนราคาค่าใช้บริการโรงโสเภณีโคมเขียวนับว่าแพงกว่าที่อื่น เพราะคิดราคา 6 สลึง ขณะที่โรงโสเภณีที่อื่นราคา 2 สลึง
เมื่อเป็นแหล่งเริงสตรี ชายทั้งหลายก็เข้าไปหาความสำราญที่ตรอกน่ำแช รวมทั้งพวกนักเลง จนทางการต้องจัดตั้งเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลรักษาความสงบในย่านสำเพ็ง
ความที่สำเพ็งเป็นแหล่ง “โรงโสเภณี” จึงเป็นที่มาของคำว่า “สำเพ็ง” ในบริบทการด่าอย่างรุนแรงและเป็นการดูถูกเหยียดหยาม เพราะหมายถึงผู้หญิงที่ค้าบริการทางเพศ
อ่านเพิ่มเติม :
- สำเพ็ง เป็นภาษามอญ? สำรวจความเป็นมาของชื่อที่มีหลายข้อสันนิษฐาน
- วิถี “ตลาดน้อย” ยุคตั้งต้น ชุมชน “จีน” กับความเฟื่องฟูที่ถูกผนวกรวมกับย่านสำเพ็ง
- “เผยอิง” โรงเรียนที่ผลิต “เจ้าสัว” มากที่สุดในเมืองไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สันต์ สุวรรณประทีป. “ลำเลิกอดีต”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2525
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤษภาคม 2567