Golden Boy รูปแทนองค์ “ชัยวรมันที่ 6” (?) ผู้สร้างปราสาทพิมาย ต้นแบบนครวัด

ประติมากรรมสำริด โกลเด้นบอย (Golden Boy) ตีความ เป็น พระเจ้าชัยวรมันที่ 6
ประติมากรรมสำริด โกลเด้นบอย (Golden Boy) ที่ถูกตีความว่าเป็น พระเจ้าชัยวรมันที่ 6

ประติมากรรมสำริด “โกลเด้นบอย” (Golden Boy) ถูกตีความอย่างมากมายหลายหลากทฤษฎีว่า ภายใต้รูปอันงดงามนั้น ประติมากรรมรูปนี้หมายถึงใคร หรือเป็นอะไรกันแน่? โดยหนึ่งในข้อสันนิษฐานที่ได้รับความเชื่อถือกันมากที่สุด ซึ่งตั้งต้นมาจากการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ The Met สหรัฐอเมริกา ก็คือ เป็นรูปสนองพระองค์ของ “พระเจ้าชัยวรมันที่ 6” ผู้สถาปนา ปราสาทพิมาย

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวถือว่าตั้งอยู่บนความเป็นไปได้ไม่น้อย เพราะตัวตนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 เอง ถือว่าเป็นกษัตริย์องค์สำคัญและยิ่งใหญ่ของเขมรโบราณสมัยพระนคร ซึ่งมีร่องรอยหลักฐานของพระองค์ที่สัมพันธ์กับในดินแดนอีสานใต้ อันเป็นพื้นที่ที่พบ “โกลเด้นบอย” ด้วย

ที่สำคัญคือในยุคสมัยของพระองค์ มีการสร้างปราสาทที่สำคัญอย่าง ปราสาทพิมาย ซึ่งนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์กันว่าเป็น “ต้นแบบ” ก่อนการสร้าง ปราสาทนครวัด อันยิ่งใหญ่แห่งเมืองพระนคร

“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกและประวัติศาสตร์กัมพูชา ชวนแกะรอยโกลเด้นบอย โดยเฉพาะการพาไปรู้จักกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ในฐานะกษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ผู้มี “พื้นเพ” อยู่ในพื้นที่แคว้นมหิธรปุระ ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่แถบอีสานใต้ของไทย ว่าพระองค์มีความสำคัญต่อการปะติดปะต่อเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างไร หาก โกลเด้นบอย คือ “รูปแทน” ของพระองค์จริง ๆ

อาจารย์ศานติ เล่าว่า มีหลักฐานจำนวนหนึ่งในพื้นที่ประเทศไทยที่เล่าถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำมูล หรือตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เช่น จารึกปราสาทพระขรรค์ จารึกปราสาทพนมรุ้ง กล่าวถึงบรรพบุรุษของพระองค์ที่แคว้นมหิธรปุระ โดยเท้าความไปถึงกษัตริย์องค์หนึ่งชื่อ “หิรัณยวรมัน” เป็นผู้ปกครองพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำมูล หรือแคว้นมหิธรปุระ

หลักฐานข้างต้นระบุว่า หิรัณยวรมัน มีพระราชโอรสได้เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรพระนคร คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 กับพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1

อาจารย์ศานติ เล่าว่า “ในจารึกปราสาทพระวิหาร มีการกล่าวถึงว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ และสามารถขยายอำนาจไปจนสุดทะเล” ซึ่งนั่นหมายความว่า พระราชอำนาจของพระองค์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่แคว้นมหิธรปุระในอีสานใต้ แต่มีเหนืออาณาจักรเขมรทั้งหมด

ความเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ยังสัมพันธ์กับการอุบัติขึ้นของ ปราสาทพิมาย ดังเห็นได้จากจารึกบริเวณกรอบประตูระเบียงคดของปราสาท กล่าวถึงนามของชนชั้นสูงระดับเจ้าเมืองว่าเป็นผู้ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ที่นั่นพร้อมระบุปีศักราชไว้ชัดเจน ทำให้นักประวัติศาสตร์ทราบว่าปราสาทพิมายเริ่มสร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 คือสร้างก่อนปราสาทนครวัด

จากข้อมูลข้างต้น อาจารย์ศานติชี้ว่า “สอดคล้องกับหลักฐานรูปแบบศิลปกรรม ถึงแม้บางครั้งเราจะจัดว่าปราสาทพิมายเป็นศิลปะแบบนครวัด แต่จริง ๆ เราจะพบว่า มันเป็นช่วงรอยต่อของความคลี่คลายจากศิลปกรรมแบบบาปวน (ก่อนนครวัด) มาสู่นครวัด” 

ติดตามเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST GOLDEN BOY EP.1 “เขมรโบราณ” ถิ่นอีสานใต้ แหล่งกำเนิด “Golden Boy” โดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ ที่ YouTube : Silpawattanatham

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2567