“Golden Boy” รูปสนองพระองค์ชัยวรมันที่ 6 ไม่ใช่ศิลปะบาปวน แต่เป็นศิลปะพิมาย!

ประติมากรรมสำริด โกลเด้นบอย ปราสาทหินพิมาย ตัวแทน ศิลปะพิมาย
(ซ้าย) ประติมากรรมสำริด Golden Boy (ขวา) ปราสาทหินพิมาย (ภาพจาก The Met และ เพจ อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย Phimai Historical Park)

รูปประติมากรรมสำริด “โกลเด้นบอย” (Golden Boy) ถูกด่วนสรุปว่าเป็นศิลปะเขมรแบบ “บาปวน” ซึ่งเป็นศิลปะยุคก่อนศิลปะแบบ “นครวัด” หรือจุดสูงสุดของวัฒนธรรมเขมรโบราณ แต่การศึกษาอย่างเจาะลึก ทำให้นักวิชาการพบข้อสังเกตใหม่ที่น่าสนใจว่า ประติมากรรมสำริดชิ้นงามที่เราได้คืนมานี้ อาจเป็นตัวแทนศิลปะช่วงก่อนนครวัด ที่ “ข้ามพ้น” ศิลปะบาปวนมาแล้ว นั่นคือ “ศิลปะพิมาย”

“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี ชวนเจาะลึก “Golden Boy” โดยเฉพาะประเด็นรูปแบบศิลปกรรมของตัวประติมากรรมสำริด ที่แสดงออกถึงพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญของศิลปะที่ต่างไปจากแบบ “บาปวน” คือเรียกได้ว่าเป็น “ศิลปะพิมาย”

อาจารย์ทนงศักดิ์เล่าว่า คำถามที่ว่า โกลเด้นบอย คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 กษัตริย์แห่งราชวงศ์มหิธรปุระและผู้สถาปนาปราสาทพิมายหรือไม่นั้น จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับหลักฐานโบราณคดีที่แสดงออกผ่านศิลปกรรม โดยเฉพาะลวดลายที่ปรากฏบนประติมากรรมสำริดโกลเด้นบอย

เริ่มจาก “ทรงผม” อาจารย์ทนงศักดิ์ชี้ให้เห็นว่า ลวดลายทรงผมของโกลเด้นบอยนั้นแตกต่างอย่างชัดเจนกับรูปประติมากรรมสำริดสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในศิลปะแบบบาปวน คือเป็นทรงผมถักเปีย เรียงเป็นแถว เหมือนลายก้างปลา ขณะที่ประติมากรรมสระกำแพงใหญ่จะเป็นลายดอกไม้ขนาดใหญ่สลับกับดอกขนาดเล็กเรียงเป็นแถว

ลักษณะข้างต้นของทรงผมในศิลปะบาปวนถูกใช้อย่างต่อเนื่อง จนถึงยุคที่มีการสร้างปราสาทพิมาย ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ปรากฏว่าประติมากรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสำริดและหิน ล้วนถูกใช้ลายถักเปียเหมือนโกลเด้นบอย ต่างจากสระกำแพงใหญ่ กระทั่งถึงยุคนครวัด จึงไม่พบลายถักเปียอีกต่อไป  กลายเป็นลายขนานเส้นตรงแทน

“พัฒนาการของเส้นผมก็เห็นได้ชัดแล้วนะครับว่าไม่เหมือนกันเลย” อาจารย์ทนงศักดิ์กล่าว

ต่อมาคือ “เข็มขัด” สายเข็มขัดในศิลปะบาปวนจะเป็นรูปวงรีเรียงซ้อนสลับเป็นแถวบน-ล่าง ช่องว่างระหว่างวงรีเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และลายรูปตัวหนอน เหมือนตัว S ซึ่งปรากฏชัดบนปราสาทแทบทุกหลังในสมัยบาปวน รวมถึงปราสาทหินพิมายก็ยังพบอยู่ แม้ในรูปโกลเด้นบอยจะไม่พบลายรูปตัวหนอนแล้ว แต่ประดับด้วยลายขีดแทน

อาจารย์ทนงศักดิ์ให้ข้อสังเกตเพิ่มว่า “เข็มขัดศิลปะบาปวนจะผูกด้านหน้าเหมือน ‘ประคดพระ’ ลายประติมากรรมสระกำแพงใหญ่ก็ยังเห็นเส้นประคดผูกด้านหน้าอยู่ ขณะเดียวกันตัวลายของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (โกลเด้นบอย) จะไม่เป็นแบบนั้นแล้ว”

เราจึงพบพัฒนาการทรงผม 3 รูปแบบ จาก 3 ช่วงเวลา ได้แก่ ลายดอกไม้ในศิลปะบาปวน (เก่าแก่ที่สุด) ลายถักเปียที่ปราสาทพิมาย รวมถึงตัวโกลเด้นบอย และลายขนานเส้นตรงในศิลปะนครวัด

กับรูปแบบเข็มขัดของประติมากรรมสระกำแพงใหญ่ (บาปวน) ที่ตรงกันกับประติมากรรมปราสาทพิมาย เป็นลายรูปตัวหนอน แต่โกลเด้นบอยมีเอกลักษณ์เฉพาะต่างออกไป คือเป็นลายขีด

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ปราสาทพิมายนั้นสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และเป็นช่วงเวลาก่อนการสถาปนาปราสาทนครวัด “ความสอดคล้อง” บางประการ ของประติมากรรมสำริดโกลเด้นบอย กับที่ปราสาทพิมาย และ “ผ่าเหล่า” ไปจากประติมากรรมสำริดสระกำแพงใหญ่ จึงสะท้อนว่า อาจจะต้องทบทวนการนิยามรูปแบบศิลปะของโกลเด้นบอยกันใหม่เสียแล้ว

เมื่อความแตกต่างสะท้อนพัฒนาการทางศิลปะแบบคนละกลุ่มกัน ผนวกกับข้อสังเกตของนักวิชาการที่มองว่าโกลเด้นบอยคือรูปสนองพระองค์ หรือแทนองค์กษัตริย์ จึงแปลความได้ว่านี่คือกษัตริย์องค์สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับปราสาทพิมายมากที่สุด นั่นคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 6

และยิ่งมีการค้นพบประติมากรรมสำริดอีกชิ้นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ ประติมากรรมจากปราสาทเขาพนมบายัง (กัมพูชา) ซึ่งจารึกพระนาม พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 พระเชษฐาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ผู้ครองราชย์สืบต่อจากพระองค์ ยิ่งตอกย้ำพัฒนาการของลวดลายที่ “ต่อยอด” จากโกลเด้นบอยไปอีกลำดับหนึ่ง และเป็น “รอยต่อ” ระหว่างศิลปะบาปวนกับศิลปะนครวัดอย่างชัดเจน นั่นคือ “ศิลปะพิมาย”

ดังที่อาจารย์ทนงศักดิ์สรุปประเด็นนี้ว่า “ไม่ใช่ ศิลปะบาปวน แต่เป็น ศิลปะพิมาย จึงจำเพาะเจาะจงได้ว่าประติมากรรมชิ้นนี้เป็นรูปสนองพระองค์ ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 6”

ติดตามเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ใน SILPA PODCAST GOLDEN BOY EP.4 “โกลเด้นบอย” ภารกิจตามรอยมรดกไทย กับเบื้องหลังการได้คืน! โดย ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ที่ YouTube : Silpawattanatham

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2567