“วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ” พระอารามหลวงสมัยก่อนสุโขทัย แหล่งรวมสถาปัตยกรรมอันงดงามที่สมบูรณ์ที่สุด!

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร หรือ วัดใหญ่ พิษณุโลก ประดิษฐาน พระพุทธชินราช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มาทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธชินราชจําลอง ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๙ ตุลาคม รศ.๑๒๐ พ.ศ.๒๔๔๔ (ภาพ : FB วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ พิษณุโลก)

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร หรือ วัดใหญ่ เป็นศาสนสถานที่อยู่คู่กับชาว “พิษณุโลก” มาเป็นระยะเวลานาน ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญมากมาย เช่น พระพุทธชินราช, พระเหลือ ฯลฯ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ จ. พิษณุโลก บริเวณริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ไม่ปรากฏหลักฐานว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อใด แต่จากการสันนิษฐานเชื่อว่าเกิดขึ้นมาก่อนช่วงสุโขทัย เนื่องจากพบหลักฐานใน “สุโขทัยหลักที่ 2” กล่าวว่า พ่อขุนศรีนาวนำถมทรงสร้าง “พระทันตธาตุสุคนธเจดีย์”

ขณะเดียวกันก็พบข้อความเกี่ยวกับวัดใหญ่ในพงศาวดารเหนือว่า “ในราวพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาลิไท) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก

พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร ๔ ทิศ มีพระระเบียง ๒ ชั้นและทรงรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง ๓ หลัง”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกวัดแห่งนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก เมื่อปี 2458 ภายในวัดมีโบราณสถานและพระพุทธรูปสำคัญมากมาย อย่าง พระปรางค์ ที่สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) ซึ่งพระองค์ทรงประสงค์ให้พระปรางค์เป็นประธานของวัด และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 

พระปรางค์มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม สร้างครอบเจดีย์แบบเดิมในสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถม ครั้งเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จขึ้นไปครองราชสมบัติที่เมืองพิษณุโลก ได้บูรณะพระปรางค์ให้เป็นแบบขอมตามพระราชนิยมในสมัยกรุงศรีอยุธยา

นอกจากนี้ ยังมีพระวิหารอัฎฐารศ สถานที่ประดิษฐานพระอัฎฐารศ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน และพระวิหารพระพุทธชินราช ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัยที่มีความสง่างามและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพิษณุโลก. กรมศิลปากร: กรุงเทพฯ, 2544.

https://phitsanulok.prd.go.th/th/content/category/detail/id/282/iid/8426


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ธันวาคม 2566