ทำไมต้องเรียก “พิษณุโลก” ว่า “สองแคว” ?

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ริมแม่น้ำน่าน เมือง พิษณุโลก สองแคว
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุริมแม่น้ำน่านช่วงกลางเมืองพิษณุโลก ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

“พิษณุโลก” เป็นเมืองที่มีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทยมาอย่างยาวนาน หลายคนรู้จักชื่อเมืองนี้ในอีกนามหนึ่งว่า “สองแคว” แล้วเหตุใดถึงได้เรียกเช่นนี้ ?

เหตุที่เรียกว่าสองแคว เป็นเพราะสมัยก่อน บริเวณดังกล่าวมีแม่น้ำ 2 สายไหลผ่านเมือง นั่นคือ “แม่น้ำน่าน” และ “แม่น้ำแควน้อย” 

โดย แม่น้ำน่าน ไหลผ่านเข้าในตัวเมือง (จวบจนปัจจุบันก็ยังไหลในเส้นทางนี้อยู่) ส่วน แม่น้ำแควน้อย เปลี่ยนทิศในการไหลผ่าน จากเดิม ไหลลงใต้ขนานกับแม่น้ำน่าน ผ่าน เมืองสองแคว หรือ เมืองพิษณุโลก และไหลลงแม่น้ำน่านใต้ ไปที่ท่าฬ่อ จ. พิจิตร ปัจจุบันได้ไหลลงจากเทือกเขาทางทิศตะวันออกลงแม่น้ำน่านเหนือตัวเมือง ขึ้นไปประมาณ 20 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม ก็แสดงให้เห็นว่า แต่เดิม เมืองพิษณุโลกนั้น มีแม่น้ำไหลผ่าน 2 สาย จึงได้รับการขนานนามว่าเมือง “สองแคว” นั่นเอง

ชื่อสองแคว ถือเป็นชื่อที่เก่าที่สุด ตั้งแต่ก่อตั้งบ้านเมืองขึ้น ในแคว้นสุโขทัย ทั้งยังเป็นที่รู้จักของคนต่างถิ่น ไม่ว่าจะเป็นทิศเหนือ หรือใต้ เรียกขานกันมายาวนาน และมีชื่อเต็มปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัย บางหลักว่า “สรลวงสองแคว”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ศาสนาและการเมืองในประวัติศสตร์ สุโขทัย-อยุธยา. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566