พระเจ้าท้ายสระ ส่งทัพหนุนเจ้ากัมพูชา “ตีเมืองคืน” จากญวน หวังขยายอำนาจกรุงศรีอยุธยา?

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ขุนหลวง ท้ายสระ พระเจ้าท้ายสระ ละครพรหมลิขิต
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ในละครพรหมลิขิต (ภาพจาก Facebook: Ch3Thailand)

รัชสมัย สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (ครองราชย์ พ.ศ. 2251-2275) กษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยา มีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวพันกับกัมพูชาและญวน คือ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงส่งกองทัพออกไปทำสงคราม หนุน “พระธรรมราชา” เจ้ากัมพูชา ให้ “ตีเมืองคืน” จากเจ้ากัมพูชาอีกองค์หนึ่ง ที่มีพวกญวนหนุนหลัง

การที่สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงเข้าข้างพระธรรมราชา จึงอาจเป็นไปได้ว่า ทรงต้องการจะแผ่ขยายอำนาจของกรุงศรีอยุธยาเข้าไปยังกัมพูชาให้มั่นคงอีกครั้ง เพราะช่วงนั้น “ญวน” สั่งสมอำนาจในกัมพูชาอยู่ไม่น้อย

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทรงช่วย “เจ้ากัมพูชา” ไว้ว่า

“เมื่อปีขาล โทศกก่อนปีเถาะ ตรีศก นักเสด็จเจ้ากัมพูชาธิบดีชื่อพระธรรมราชาวังกะดาน วิวาทกันกับนักแก้วฟ้าจอก จักทำสงครามแก่กัน นักแก้วฟ้าจอกไปเมืองญวน ลอบขอพลญวนได้มากแล้วกลับมาตีเอาเมืองกัมพูชาได้ นักเสด็จกับพระองค์ทองพาบุตรภรรยา ข้าคนเป็นอันมาก หนีมายังกรุงเทพมหานคร ขอให้ท่านเสนาบดีกราบทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททุกประการ ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทราบความแล้วให้นักเสด็จนั้นเข้ามาเฝ้า จึงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคและบ้านเรือน ให้อยู่ ณ ตำบลใกล้วัดค้างคาว

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพมหานครทรงพระราชดำริ โปรดให้นักเสด็จไปตีเอาเมืองกัมพูชาคืน จึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งให้มหาดไทยกลาโหมเกณฑ์ทัพสองหมื่นเศษ พร้อมด้วยช้าง ๓๐๐ ม้า ๔๐๐ เศษ พร้อมทั้งเครื่องศัตราวุธต่างๆ ให้พระพิชัยรณฤทธิ์เป็นนายพลทหารทัพหน้า ให้พระวิชิตณรงค์เป็นยกกระบัตรทัพ ให้พระพิชัยสงครามเป็นนายกองเกียกกาย ให้พระรามกำแหงเป็นนายกองทัพหลัง แล้วจึงให้พระยาโกษาธิบดีจีนเป็นแม่ทัพเรือ ถือพลทหารหมื่นหนึ่งเรือรบ ๑๐๐ เศษ พร้อมด้วยพลแจว และเครื่องสรรพาวุธต่างๆ”

พระราชพงศาวดารระบุต่อว่า เมื่อจัดแจงทัพบกและทัพเรือเสร็จแล้ว พระเจ้าท้ายสระทรงย้ำว่า “ให้ไปตีเมืองกัมพูชาคืนให้จงได้” จากนั้นแม่ทัพนายกองทั้งหลายก็ยกทัพออกไปพร้อมรบ ทัพบกไปทางเสียมราบ ส่วนทัพเรือไปทางพุทไธมาศ

“ฝ่ายพลทหารญวนยกกองทัพเรือมา พบกองทหารไทยที่ปากน้ำพุทไธมาศตีฆ้องกลองยิงปืนใหญ่ยกเข้าตีกองทัพเรือพระยาโกษาธิบดีจีน ฝ่ายกองทัพเรือทหารไทยจัดแจงแต่งตัวพร้อมแล้ว ทัพหน้าก็แยกเรือรบออกเป็นสามแห่ง ให้ยิงปืนใหญ่สามนัดโห่สามลาเอาชัยแล้ว ให้พลทหารแจวเรือรบเข้าไป ต่อต้านทานกำลังกับพลทหารญวน เข้าปะทะถึงเรือกัน ยิงแทงฟันกันเป็นสามารถฆ่าญวนตายเป็นอันมาก เรือรบทหารญวนเข้าช่วยอุดหนุนกันมาก

พระยาโกษาธิบดีจีนแม่ทัพไม่ชำนาญในการพิชัยสงคราม ขลาดไม่กล้าแข็งย่อท้อแก่สงคราม ไม่ช่วยอุดหนุนเพิ่มเติมแก้ไข ถอยเรือหนีไปทิ้งทหารเสีย ฝ่ายทหารญวนได้ทีก็หักเอาทหารไทย ฆ่าฟันกันเป็นสามารถ ฝ่ายทหารไทยเห็นศึกนั้นหนักเหลือมือเหลือกำลัง แม่ทัพก็หนีไปแล้ว และเห็นคนทหารก็เสียมากก็ถอยเรือล่าแตกหนีมา เสียเรือรบและผู้คนปืนใหญ่น้อยเป็นอันมากแก่กองทัพญวน

ฝ่ายพระยาจักรีโรงฆ้อง ยกกองทัพบกไปถึงเมืองกัมพูชา ให้ตั้งค่ายหลวงลงใกล้เมืองประมาณ ๘๐ เส้น ๙๐ เส้น รักษาอยู่ในที่นั้น พระพิชัยรณฤทธิ์เป็นแม่กองทัพหน้า ถือพลทหาร ๓๐๐ เศษไปก่อน ได้รบกันกับเขมรญวน ฆ่าเขมรญวนตายเป็นอันมาก มีชัยได้ทีตีทัพเขมรญวนแตกพ่ายเป็นหลายแห่ง ให้ทหารเร่งรีบไล่ติดตามเข้าไป ได้หัวเมืองน้อยใหญ่เป็นอันมาก

ทัพหลวงก็ให้เร่งรีบยกพลทหารทุกทัพทุกกองไปช่วยอุดหนุนเพิ่มเติมตีตัดลัดทาง ให้ข้าศึกอัตคัดขัดขวางคับแคบสะดุ้งตกใจกลัว มิได้สู้รบต้านทานได้ รบครั้งใดก็มีชัยชนะทุกครั้งทุกแห่ง ได้ผู้คนช้างม้าเครื่องศัตราวุธต่างๆ เป็นอันมาก เขมรและญวนจะต้านทานมิได้ ก็แตกพ่ายพังหนีไป กองทัพทั้งปวงไล่ติดตามเข้าไป ตั้งค่ายล้อมเมืองกัมพูชาไว้มั่นคง แต่ฝ่ายเขมรถือว่าญวนจะให้กำลังก็ยังตึงแข็งอยู่

เจ้าพระยาจักรีจึงคิดอุบายจะให้ได้ราชการเป็นพระเกียรติยศโดยสะดวก จึงให้แต่งศุภอักษรฉบับหนึ่ง แล้วส่งให้ทูตถือศุภอักษรนั้นไปบอกความเมืองแก่นักแก้วฟ้า โดยทางชวนให้อ่อนน้อมด้วยดี นักแก้วฟ้าครั้นได้แจ้งในศุภอักษรจึงเห็นเป็นดีด้วย จะได้พ้นภัยอันตรายเป็นความสบายในอนาคต จึงรับว่าจะถวายดอกไม้ทองเงินเป็นเมืองขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร เจ้าพระยาจักรีได้ความดังนั้นมั่นคงแล้ว จึงสั่งให้นักแก้วฟ้าจัดดอกไม้ทองเงินส่งเข้ามาทูลเกล้าถวายตามคำปฏิญาณนั้นแล้ว จึงเลิกทัพกลับมายังกรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้ทราบความดังนั้นทรงพระโสมนัส จึงพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่เจ้าพระยาจักรีและนายทัพนายกองเป็นอันมากตามสมควร และทรงพระพิโรธพระยาโกษาธิบดีจีน ให้ใช้ปืนน้อยใหญ่และดินประสิวลูกกระสุนเรือรบ ซึ่งเสียไปแก่ญวนนั้นให้สิ้นเชิง”

หมายเหตุ : ในเครื่องหมายคำพูด มีการจัดย่อหน้าและเว้นวรรคใหม่ เพื่อความสะดวกในการอ่าน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. พระนคร: ศิวพร. พ.ศ. 2511. หน้า 582-584


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2566