ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“จอร์จ ฟอลคอน” เป็นหนึ่งในตัวละครจาก “พรหมลิขิต” ละครที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และกำลังฉายผ่านทางช่อง 3 ขณะนี้ โดยในเรื่องจอร์จจบชีวิตลงขณะทำภารกิจสำคัญให้กับ “พระเจ้าท้ายสระ”
แล้วจอร์จ ฟอลคอน เสียชีวิตลงในช่วง “พระเจ้าท้ายสระ” ตามที่ละครนำเสนอไว้จริงหรือ?
หากอ้างอิงจากเอกสาร “Journal of the Siam Society” ใน “An Early British Merchant in Bangkok” โดย Moor, R. Adey สรุปได้ว่า จอร์จ ฟอลคอนไม่ได้จบชีวิตลงรัชสมัยของพระเจ้าท้ายสระ แต่เสียชีวิตในสมัยพระเจ้าบรมโกศ อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเอกสารนี้ได้ที่นี่
ทว่ายังมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งปรากฏว่า จอร์จ ฟอลคอนเสียชีวิตในสมัยของพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งตรงกับในละคร
ข้อมูลที่กล่าวว่า จอร์จ ฟอลคอนได้เสียชีวิตตั้งแต่ พ.ศ. 2252 ในช่วงต้นรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ ปรากฏในเอกสารที่มีชื่อว่า “เรื่องผู้ว่าราชการเมืองปอนดีเชรีเจรจาการบ้านเมือง จดหมายมองซิเออร์เกดีถึงมองเซนเยอร์เมโกร เมืองปอนดีเชอรี วันที่ 3 เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1711 (พ.ศ. 2254)” ระบุว่า
“…ครั้นข้าพเจ้าได้ไปเมืองปอนดีเชรี ก็ได้ไปหาเชอวาเลียเฮแบต์เพื่อส่งจดหมายของมองเซนเยอร์เดอซาบูล และเพื่อจะพูดด้วยปากถึงข้อความที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว และจะพูดถึงเรื่องเงินของบุตร์มองซิเออร์คอนซตันซ์ซึ่งได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252) และซึ่งมาดามคอนซตันซ์จะต้องการ เพราะตัวเปนคนยากจนด้วย…”
แม้จากหลักฐานจะแสดงให้เห็นว่า จอร์จ ฟอลคอนอาจไม่มีอายุที่ยืนยาวมากนัก แต่จากเอกสารอีกฉบับก็ช่วยยืนยันได้ว่า เขามีทายาทสืบตระกูล เพราะปรากฏชื่อหลานของคอนแสตนติน ฟอลคอน นามว่า “คอนซตันติน” มารับราชการในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งบุคคลนี้คือบุตรชายของจอร์จนั่นเอง
ดังที่ปรากฏในเอกสาร “เรื่องของถวายพระเจ้าแผ่นดิน จดหมายมองเซนเยอร์เดอโลลีแยร์ ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ วันที่ 4 เดือนมกราคม ค.ศ. 1748 (พ.ศ. 2291)” ความว่า
“…พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้มองซิเออร์คอนซตันติน หลานของมองซิเออร์คอนซตัน ซึ่งเคยมีชื่อเสียงโด่งดังมาแต่ก่อนแล้วนั้น ไปเที่ยวหาคนที่จะทำหีบเพลง (ออกัน) อย่างเยอรมัน…”
นี่จึงเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า จอร์จ ฟอลคอนเสียชีวิตในช่วงต้นสมัยพระเจ้าท้ายสระ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันว่าสาเหตุการตายของจอร์จเป็นอย่างไร เหมือนในละคร พรหมลิขิต หรือไม่?
อ่านเพิ่มเติม :
- จอร์จ ฟอลคอนไม่ได้เสียชีวิตเพราะภารกิจ “พระเจ้าท้ายสระ” แต่มีชีวิตสงบสุขจนบั้นปลาย?
- ก้างก็เยอะ-กินก็ยาก! ทำไมพระเจ้าท้ายสระถึงโปรดเสวย “ปลาตะเพียน”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2566