เหตุใด “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ถึงขั้นคิดนำพระบรมศพ “พระเจ้าท้ายสระ” ทิ้งน้ำ!?

สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าท้ายสระ ขุนหลวงท้ายสระ พระมหากษัตริย์ กรุงศรีอยุธยา รับบทโดย เกรท วรินทร ละคร พรหมลิขิต โปรดเสวย ปลาตะเพียน
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระในละครเรื่อง "พรหมลิขิต" ออกอากาศทางช่อง 3 เอชดี (ภาพจาก ช่อง 3)

เหตุใด พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จัดงานพระบรมศพ พระเจ้าท้ายสระ พระมหากษัตริย์ “กรุงศรีอยุธยา” พระองค์ก่อนหน้า ไม่สมพระเกียรติ ทั้งที่เป็นพี่น้องกัน ทั้งยังถึงขั้นจะนำพระบรมศพทิ้งน้ำ!

งานพระเมรุมาศ และ พระเมรุ มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อส่งเจ้านายพระองค์ที่ล่วงลับเสด็จสู่สวรรคาลัย แต่กระนั้นก็มีเหตุขัดข้องในการจัดงาน ซึ่งกระทบต่อพระเกียรติยศอยู่เสมอ ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยา จวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีความขัดแย้งถึงกับประกาศ “ไม่เผาผี” อย่างในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เช่น กรณี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ

ใคร “ไม่เผาผี” ใคร? อะไรเป็นเหตุ?

ผศ. ดร. นนทพร อยู่มั่งมี อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความ “‘พระโกษฐลั่นยินแสยงพอแจ้งเหตุ’ : การ ‘ไม่เผาผี’ ในงานพระเมรุวังหน้า สมัยรัชกาลที่ 1” (ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2551) ว่า ก่อนจะ “ไม่เผาผี” จะต้องมีการ “เผาผี” ก่อนเสมอ ทั้ง 2 คำนี้เป็นภาษาพูดหรือภาษาปาก ที่แสดงการรับรู้เกี่ยวกับพิธีศพในสังคมไทย ซึ่งมีความหมายดังนี้

เผาผี, ปลงศพ คือ ทำให้ซากศพคนตายถูกไฟไหม้เป็นเถ้าไป, คนเอาศพวางลง แล้วเอาฟืนใส่เข้า เอาไฟใส่เข้าให้ไหม้นั้น [1]

ไม่เผาผี เป็นสำนวน หมายถึง คำประกาศตัดญาติขาดมิตรโดยหมายว่า แม้ผู้นั้นจะตายแล้วก็ไม่ให้อภัย [2]

ความหมายของคำ เผาผี เป็นการบอกวิธีการเผาศพอย่างสามัญ ที่ปฏิบัติกันตั้งแต่ราษฎรไปจนถึงเจ้านาย เป็นคำกลางๆ ที่เข้าใจโดยทั่วไป ส่วนคำ ไม่เผาผี มีความหมายในเชิงความสัมพันธ์ทางสังคม เพราะงานศพเป็นโอกาสสุดท้าย ที่ญาติมิตรจะแสดงความไว้อาลัย หรือขออโหสิกรรมต่อผู้ล่วงลับ ไม่ว่ายามเมื่อยังมีชีวิตจะขัดแย้งมากน้อยเพียงไรก็ตาม

การไม่เผาผี จึงเป็นมาตรการลงโทษทางสังคม หรือจากเครือญาติขั้นรุนแรงที่สุด

การผลัดแผ่นดินของพระมหากษัตริย์สมัย กรุงศรีอยุธยา มีทั้งวิธีสืบราชสมบัติและแย่งชิงราชสมบัติ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า การปราบดาภิเษก พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยามี 34 พระองค์ ผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน 33 ครั้ง ด้วยวิธีการสืบราชสมบัติ 21 ครั้ง และวิธีการชิงราชสมบัติ 12 ครั้ง

เมื่อถึงคราวผลัดเปลี่ยนแผ่นดินแต่ละครั้ง ลูกต่างแม่ น้องชาย พี่ชาย มักก่อเหตุแย่งชิงบัลลังก์จากพระมหากษัตริย์ผู้เป็นลูกชาย ซึ่งสืบต่อราชสมบัติ ด้วยวิธีการนำกองกำลังที่ตนมีอยู่เข้าแย่งชิงราชสมบัติ เกิดการต่อสู้รบพุ่งจนเสียชีวิตเลือดเนื้อไพร่พลทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อฝ่ายแย่งชิงได้ชัยชนะ เสนาบดีมุขอำมาตย์จึงตั้งพิธีการปราบดาภิเษก [3]

เจ้านายฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำ มักจบลงที่การถูกสำเร็จโทษอาจจะด้วยท่อนจันทน์ หรือวิธีอื่นๆ ตามแต่ผู้มีชัยจะเห็นสมควร ซึ่งพิธีศพมักจะไม่ถูกกล่าวถึง แต่สันนิษฐานว่า พระศพของเจ้านายจะถูกฝังในบริเวณที่เรียกว่า โคกพระยา หรือหากมีการจัดงานถวายก็คงเป็นแบบเรียบง่ายที่สุด

ในบางครั้งมีการจัดงานพระบรมศพหรือพระศพ แต่ก็พบว่าไม่ถูกต้องตามแบบแผนพระราชพิธี อันถือเป็นการลดพระเกียรติยศ เช่นคราวที่ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงจัดการ พระบรมศพ พระเจ้าท้ายสระ

เรื่องมีอยู่ว่า พระเจ้าท้ายสระ ทรงแต่งตั้ง “เจ้าฟ้าพร” พระอนุชา ให้เป็นวังหน้า ซึ่งมีนัยหมายถึงการเป็นว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป แต่พอถึงปลายรัชกาล พระองค์กลับมอบราชสมบัติให้ “เจ้าฟ้าอภัย”พระราชโอรสองค์ที่ 2 ของพระองค์ เจ้าฟ้าอภัยได้ขึ้นราชาภิเษก ทำให้วังหน้าไม่พอพระทัย กลายเป็นศึกกลางเมือง

ท้ายสุด เจ้าฟ้าพรเป็นฝ่ายชนะ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่เหตุการณ์ที่พระเจ้าท้ายสระทรงกระทำกับพระองค์ยังฝังอยู่ในพระราชหฤทัย เมื่อต้องจัดการพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน พระราชพงศาวดารได้บันทึกว่า

“ทรงพระกรุณาตรัสว่า จะเอาพระบรมศพทิ้งน้ำเสีย ไม่เผาแล้ว พระยาราชนายกว่าที่กระลาโหมนั้น กราบทูลเป็นหลายครั้ง พระเจ้าอยู่หัวจึงให้ทำพระเมรุขนาดน้อย ขื่อห้าวาสองศอก ถวายพระเพลิงตามประเพณี” [4]

ข้อความข้างต้นบ่งชี้ว่า หากเจ้านายเป็นศัตรูทางการเมือง จะไม่มีการจัดงานพระบรมศพหรือพระศพ ซึ่งรวมถึงกรณีสำเร็จโทษเจ้านายด้วย แต่กรณีนี้การที่ทรงจัดพระเมรุขนาดน้อยถวาย นับว่าผิดแบบแผนงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ เพราะถ้าจัดอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว จะต้องเป็น พระเมรุขนาดใหญ่ หรือ พระเมรุเอก ใช้ขื่อยาว 7 วา [5]

และอาจถือได้ว่า เป็นครั้งแรกที่เจ้านายประกาศ “ไม่เผาผี” ด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งจะมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ในสมัยต่อมา

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] แดนบีช แบรดเลย์. อักขราภิธานศรับท์. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2514), น. 432.

[2] พจนานุกรมฉบับมติชน. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2547), น. 696.

[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บรรณาธิการ. อยุธยา : Discovering Ayutthaya. พิมพ์ครั้งที่ 5. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550), น. 242-243, 246.

[4] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์เจ้ากรม (จาด) และ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2543), น. 238.

[5] คำให้การขุนหลวงหาวัด, พิมพ์ครั้งที่ 1. (นนทบุรี : โครงการเลือกสรรหนังสือมหาวิทยาลัยสุโขทัย    ธรรมาธิราช, 2547), น. 227.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2566