ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หากพูดถึงการหักหลังในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองทั่วโลก ไม่ว่าประเทศไหนก็ต้องเคยประสบพบเจอ เช่นเดียวกับประเทศจีน เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์ชิง ผู้คนมากมายต่างแบ่งฝักฝ่าย จำนวนมากยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองได้เข้าสู่อำนาจ หนึ่งในนั้นคือ “วางจิงเว่ย” ชายผู้ยอมถวายชีวาให้กับศัตรูของประเทศ เพียงเพื่ออำนาจของตนเอง
“วางจิงเว่ย” เกิดในมณฑลกวางตุ้ง ได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นผู้มีความกล้าหาญอย่างมากจากวีรกรรมในวัยเยาว์ โดยเส้นทางทางการเมืองของชายผู้นี้ เริ่มต้นหลังจากที่เขาศึกษาในญี่ปุ่น และรับแนวคิดตะวันตกติดตัวกลับมาจีน
วางจิงเว่ยมีแนวคิดว่า “ราชวงศ์ชิง” นั้น เป็นเหมือนโคลนที่ดูดไม่ให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า เขาจึงเข้าร่วมสมาพันธ์ความร่วมมือเพื่อการปฏิวัติประชาธิปไตย (ถงเหมินฮุ่ย) หรือที่รู้จักกันในนามว่า สมาคมลับที่ทำการเคลื่อนไหวใต้ดินต่อต้านราชวงศ์ชิง ซึ่งก่อตั้งโดย “ซุนยัตเซ็น” และ “ซ่งเจียวเหริน” ในปี 1905
หลังจากเข้าร่วมสมาพันธ์ได้ไม่นานนัก เด็กหนุ่มคนนี้ก็เริ่มมีพื้นที่ของตนเองด้วยฝีปากอันจัดจ้าน จิงเว่ยกลายมาเป็นหนึ่งในนักโต้เถียงแนวหน้าของสมาคม
ด้วยความเชื่อมั่นในหลักคิดของสมาคมลับที่ถ่ายทอดให้ตลอดระยะเวลาหลายปี ค.ศ. 1910 จิงเว่ยก็ได้รวบรวมความกล้าหาญของตนเอง คิดการใหญ่ หวังโค่นล้มราชวงศ์ชิงให้ล่มสลาย เขาตัดสินใจจะลอบสังหาร “เจ้าชายไจ่เฟิง” ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ท้ายที่สุดก็โดนจับขังคุก ทั้งยังมีเค้าลางของการโดนประหารชีวิต
ทว่า ความกล้าหาญที่พร้อมยอมตายกับสิ่งที่ตนเองกระทำไป กลับไปเข้าตาผู้มีอำนาจ จึงทำให้ท้ายที่สุดเด็กหนุ่มคนนี้ได้รับการลดโทษจากประหารชีวิต เป็นจำคุกตลอดชีพ
วันเวลาผ่านไปเพียง 1 ปี สวรรค์ก็กลับมาเข้าข้างจิงเว่ยอีกครั้ง เพราะในปี 1911 ราชวงศ์ชิงถูกโค่นอำนาจจากกลุ่มปฏิวัติ ทำให้เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ และตัดสินใจไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสในที่สุด
เมื่อกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนพร้อมกับความรู้เต็มเปี่ยม จิงเว่ยก็กลับมาทำงานกับซุนยัตเซ็นอีกครั้ง เขาได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋งอย่างมาก เนื่องจากคอยช่วยเหลือ และติดตามซุนยัตเซ็นอยู่เป็นประจำ
กระทั่ง ซุนยัตเซ็นเสียชีวิตในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1925 ใครหลายคนต่างมองว่า จิงเว่ยน่าจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจคนต่อไป เพราะนอกจากจิงเว่ยจะเป็นบุคคลหลักที่ร่างพินัยกรรมของหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง เขายังเป็นคนที่ได้รับเลือกเป็นประธานรัฐบาลแห่งมณฑลกวางตุ้งในเวลาอันรวดเร็ว
แต่ทุกอย่างก็ต้องจบสิ้น เมื่อเขามีปัญหากับ “เจียง ไคเชก” สมาชิกผู้ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ “ซุนยัตเซ็น” และทหารคนสำคัญของพรรคก๊กมินตั๋ง ทั้งยังเป็นบุคคลที่หลายคนมองว่าจะได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคไม่ต่างจากวางจิงเว่ย
จุดที่ทำให้ทั้งคู่บาดหมางกันนั้น เกิดมาจากเหตุการณ์ที่เรียกว่า “เหตุการณ์เรือรบจงซาน” ในปี 1926 เจียง ไคเชก ประกาศสภาวะฉุกเฉินในเมืองกวางเจาโดยพลการ โดยไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกลาง พรรคก๊กมินตั๋ง ทั้งยังจับกุมสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หลายคน ยึดเรือรบจงซานและกรมทหารเรือ รวมถึงส่งทหารไปปิดล้อมคณะกรรมการ ฯลฯ เพียงเพราะได้ยินข่าวลือว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะก่อความวุ่นวาย และโค่นล้มรัฐบาล
เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคก๊กมินตั๋งสั่นคลอน รวมถึงความสัมพันธ์ภายในพรรคอีกด้วย วางจิงเว่ยมองว่า การที่เจียง ไคเชก ปฏิบัติเช่นนี้ เหมือนกับทำการกบฏและไม่ให้เกียรติตน เขาจึงตัดสินใจออกนอกประเทศ โดยหวังว่า การถอยครั้งนี้จะทำให้เขามีอำนาจมากกว่าเดิม
ทว่า ทุกอย่างไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อเข้าปี 1927 เจียง ไคเชก ก็ได้ก้าวสู่สถานะผู้ปกครองประเทศทั้งแผ่นดินอย่างมั่นคง ปราศจากใบหน้าของวางจิงเว่ย
ท้ายที่สุด เมื่อเห็นคนที่เคยบาดหมางขึ้นสู่อำนาจ จิงเว่ยก็ต้องกลับมาเพื่อทวงคืน เขาพยายามเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านเจียง ไคเชก ทุกรูปแบบ หวังดึงอำนาจกลับสู่มือ แต่ไม่สำเร็จ จนต้องจำใจเข้าร่วมแทน
ขณะเดียวกันในช่วงที่จิงเว่ยเข้าสู่ใต้อำนาจของเจียง ไคเชก เป็นช่วงที่ “ญี่ปุ่น” กำลังเข้ามารุกราน และยั่วยุให้จีนมีสงครามพอดิบพอดี จึงทำให้ชายหนุ่มผู้เคยต่อต้านต้องรับหน้าที่ดูแลกิจการด้านการทูตทั้งหมด แต่ลึก ๆ เขาก็ทราบอยู่เต็มอกว่า ตนเองนั้นเป็นแค่หุ่นเชิดของผู้นำคนใหม่เท่านั้น เนื่องจากเจียง ไคเชก ต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการสะสางเรื่องสงครามกลางเมืองที่กำลังคุกรุ่นอยู่
ความเคียดแค้นที่สะสมมาตั้งแต่ต้น เริ่มสุมอกมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งจิงเว่ยถูกลอบสังหารในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1935 และได้รับท่าทีเฉยชาจากผู้นำประเทศ สิ่งที่เคยทับถมในจิตใจก็ปะทุออกมา จิงเว่ยเริ่มคิดหาวิถีทางให้เขามีอำนาจเหนือเจียง ไคเชก
แล้วเขาก็ได้หนทาง เมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นก่อสงครามรุกรานจีนรอบด้าน ทำให้ผู้รับหน้าที่ทางการทูตแสร้งเสนอแนวทางเหมือนดั่งที่ประชาชนจีนใฝ่ฝันนั่นคือ “ทุกคนร่วมรบต่อต้านญี่ปุ่น ทุกแห่งร่วมกันต่อต้านข้าศึก” ทว่า ลึก ๆ จิงเว่ยกลับคิดว่าหากจีนพ่ายแพ้ เขาก็สามารถใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่มีกับญี่ปุ่นในการพลิกสถานการณ์สงครามได้
ตัวเขาเองจะกลายเป็น “วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่” กอบกู้แผ่นดินจีน และอำนาจของเจียง ไคเชก ก็จะหมดลงทันที
ส่วนฟากฝั่งญี่ปุ่นก็ปรับกลยุทธ์การรุกรานจีน โดยพยายามชักจูงบุคคลสำคัญในพรรคก๊กมินตั๋งให้ยอมแพ้ และมาเป็นฝ่ายของตน ถึงขั้นแถลงว่า “จะเรียกชาวจีนระดับแนวหน้าที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งให้กลับมาทำงานใหม่”
ยิ่งนานวันเข้า ญี่ปุ่นก็เริ่มประกาศแถลงครั้งที่ 2 ว่าด้วยเรื่องที่อยากให้ชาวจีนผ่อนปรนความตึงเครียดระหว่างกัน ขอให้รัฐบาลประชาชนยกเลิกนโยบายต่อต้านญี่ปุ่น เปลี่ยนตัวบุคคลในหน่วยงาน และเข้าร่วมการสร้างระเบียบใหม่ของวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชีย เพื่อให้จีนและญี่ปุ่นยุติสงคราม
วางจิงเว่ยเริ่มแสดงท่าทีตอบรับการกระทำของญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดเคยเรียกร้องให้เจียง ไคเชก ลาออก และกล่าวกับผู้นำประเทศจีนว่า
“ตั้งแต่ซุนยัตเซ็นซึ่งเป็นบิดาแห่งสาธารณรัฐเสียชีวิตไปกว่าสิบสองปี ภารกิจหลักของพรรคและประเทศก็ตกอยู่กับคุณและผมสองคนมาโดยตลอด…ตอนนี้สถานการณ์สงครามเละเทะไม่มีชิ้นดี เพื่อนร่วมชาติถูกฆ่าล้างอย่างน่าเวทนา พวกเรารู้สึกละอายใจต่อบิดาแห่งสาธารณรัฐจีนและประชาชน ดังนั้นพวกเราควรลาออกจากตำแหน่งพร้อมกัน เพื่อขอรับผิดและขอโทษประชาชน”
แต่เจียง ไคเชก กลับไม่เห็นด้วย และให้เหตุผลว่าหากพวกเราทั้งหมดลาออกก็ไม่มีใครรับผิดชอบบ้านเมือง
ท้ายที่สุด วางจิงเว่ยก็ต้องปฏิบัติแผนการลับอย่างเงียบ ๆ เขาสั่งให้ “เกาจงอู่” และ “เหมยซือผิง” สมาชิกคลับตีเตี้ยวผู้ต้องการให้จีนยอมแพ้ ไปแอบเจรจาลับ ๆ กับผู้แทนของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า “คะเงะซะ ซาดากิ” และ “อิมะเอะ ทะเกะโอ” ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ รวมถึงให้ญี่ปุ่นติดต่อกับเขาผ่าน “ฝั่วไห่” ซึ่งเป็นคนสนิทของเขาเอง
พวกเขาได้บรรลุบันทึกข้อตกลงระหว่างญี่ปุ่นกับจีน รวมถึงบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ก่อนที่จิงเว่ยและพรรคพวกจะออกเดินทางไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และทิ้งจดหมายอำลา 1 ฉบับถึงเจียง ไคเชก เกี่ยวกับเส้นทางเดินที่แตกต่างกัน พร้อมลงท้ายว่า “คุณทำสิ่งง่าย ส่วนผมทำสิ่งยาก” เพราะการต่อต้านญี่ปุ่นนั้นเป็นเรื่องที่ได้รับการยอมรับในประเทศจีน แต่การต้องเจรจากับศัตรูนั้นเป็นสิ่งที่ลำบาก
ในที่สุด ฝ่าเท้าของจิงเว่ยก็ได้แตะกับพื้นดินแดนใหม่ พร้อมกับการประกาศแถลงการณ์ของ โคะโนะเอะ ฟุมิมะโระ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ต่อประเทศจีนสามครั้งในวันที่ 22 ธันวาคม ว่า จีนและญี่ปุ่นได้บรรลุหลักสันติภาพสามประการ คือ “เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ร่วมป้องกันพรรคคอมมิวนิสต์จีน และร่วมมือด้านเศรษฐกิจ” และจิงเว่ยก็ยอมรับและยินดีกับ “เจรจาสันติภาพ” กับญี่ปุ่น ตามหลักการของ โคะโนะเอะ ฟุมิมะโระ
นับตั้งแต่นั้นมา “วางจิงเว่ย” ก็กลายเป็นบุคคลที่หลายคนมองว่าทรยศต่อประเทศ ทำให้บ้านเมืองเสื่อมเสียเกียรติ เพียงเพราะความกระหายอำนาจของตนเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “ซุนยัตเซ็น” กับประสบการณ์ถูก “ลักพาตัว” ที่อังกฤษ ดังกระฉ่อนโลก
- “เจียงไคเชก” ปฎิเสธตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” เพราะไม่มีอำนาจที่แท้จริง
- ทำไมก๊กมินตั๋งล้มไม่เป็นท่า ในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจีนปี 1948
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เล้าหย่ง, หวังไห่เผิง. แปลโดย กำพล ปิยะศิริกุล. หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน. กรุงเทพฯ: มติชน, 2560.
www.silpa-mag.com/history/article_51737
https://www.britannica.com/biography/Wang-Ching-wei
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2566