ความแตกแยกในพรรคก๊กมินตั๋ง ที่แยกสมาชิกเป็นกลุ่มซ้าย ก๊กขวา

พรรคก๊กมินตั๋ง
พรรคก๊กมินตั๋ง ทำกิจกรรมทางการเมืองที่เมืองอุรุมชี มณฑลซินเจียง ปี 1942

การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน เป็นความร่วมมือกันเป็นไปเพื่อกำจัดลัทธิจักรรวรรดินิยม  แต่เมื่อหลังการเสียชีวิตของซุนยัตเซ็น (12 มีนาคม 1925) พรรคก๊กมินต๋งก็แตกออกเป็นฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา  

ฝ่ายขวา มีหูฮั่นหมินเป็นผู้นํา, ฝ่ายซ้าย มีเลี่ยวจงข่าย, วางจิงเว่ย เป็นผู้นำ ขณะซุนยัตเซนยังมีชีวิตอยู่ ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายไม่รุนแรง เนื่องจากความเคารพที่มีต่อซุนยัตเซ็น ซึ่งเขาเองก็ได้ยืนยันต่อสมาชิกก๊กมินตั๋งว่า ยังคงยึดมั่นในลัทธิไตรราษฎร์ของตน และไม่มีวันให้พรรคเป็นคอมมิวนิสต์ แต่จําเป็นต้องให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่ร่วมในพรรคเพื่อประโยชน์ในการปฏิวัติ

(ซ้าย) วางจิงเว่ย (ขวา) เจียงไคเชก เมื่อปี 1926

ภายหลังซุนยัตเซ็นเสียชีวิต อํานาจทางการเมืองของก๊กมินตั๋งอยู่กับวางจิงเว่ยและหูฮั่นหมิน, อํานาจทางการทหารอยู่กับเจียงไคเชก, หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋งคือเลี่ยวจ้งข่าย ฯลฯ ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น วางจิงเว่ยได้เป็นสมาชิกในคณะกรรมการบริหารกลาง ซึ่งเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของพรรค ทําให้ฝ่ายขวาแสดงความไม่พอใจที่พวกฝ่ายซ้ายมีอํานาจภายในพรรค ตามมาด้วยการลอบสังหารเลี่ยวจ้งข่าย(20 สิงหาคม 1925) หนึ่งในผู้ทำงานใกล้ชิดซุนยัตเซ็น ที่หน้าสำนักงานใหญ่พรรคก๊กมินตั๋ง

วันที่ 1-20 มกราคม 1926 มีการประชุมใหญ่พรรคก๊กมินตั๋ง สมาชิกคณะกรรมการกลางฝ่ายขวา “กลุ่มซานซี” เสนอให้ปลดที่ปรึกษาจากสหภาพโซเวียต และขับไล่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ออกจากก๊กหมินตั๋ง แต่ที่ประชุมได้แถลงการว่า มติของกลุ่มซานซีให้เป็นโมฆะเพราะไม่มีองค์ประชุมที่สามารถออกกฎหมายได้ เลขาธิการใหญ่ของก๊กมินตั่ง มีมติให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ร่วมในพรรคก๊กมินตั๋ง ที่ประชุมยังคัดเลือกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เป็นคณะกรรมการกลางของพรรคก๊กมินตั๋งจํานวน 7 คน โดยซึ่ง 3 ใน 7 คน ได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการถาวรด้วย สร้างความไม่พพอใจแก่สมาชิกกลุ่มซานซีอย่างมาก

ส่วนการลอบสังหารเลี่ยวจ้งข่าย ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคือ วางจิงเว่ย, สวี่ฉงจื้อ และเจียงไคเชก ทว่ามีผู้สันนิษฐานว่า เจียงไคเชก ผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารครั้งนี้ ทั้งการสะสางคดียังทำให้เขามีสถานะและอำนาจสูงขึ้น

นอกจากนี้ยังมี “เหตุการณ์เรือรบจงซาน” หรือ “เหตุการณ์ 20 มีนา” เหตุการณ์สำคัญที่สร้างความแตกแยกในพรรคก๊กมินตั๋ง

เหตุการณ์เรือรบจงซานเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ เพราะพัวพันไปถึงผู้นําระดับสูงของรัฐบาลประชาชนที่มณฑลกวางตุ้ง, สั่นคลอนความร่วมมือระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน สุดท้ายได้ส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าของการปฏิวัติประชาชน

เหตุการณ์เริ่มขึ้นวันที่ 18 มีนาคม 1926 มีโจรสลัดปรากฏตัว ขึ้นที่บริเวณปากแม่น้ำจูเจียง เรือพาณิชย์ที่ถูกปล้นร้องขอความช่วยเหลือ ขณะนั้นโรงเรียนทหารหวงผู่ไม่มีเรือรบที่จะส่งไปช่วยได้ จึงโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือจากสํานักงานโรงเรียนทหารที่เมืองกวางเจา โดยพวกฝ่ายขวาได้ถ่ายทอดคําสั่งปลอมของเจียงไคเชกแก่หลี่จือหลง-รักษาการอธิบดีกรมทหารเรือ และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ขอให้ส่งเรือรบทหารไปที่บริเวณหวงผู่

เช้าวันรุ่งขึ้น (19 มีนาคม) หลี่จือหลงลงนามในคําสั่งระดมกําลังส่งเรือรบจงซานและเรือรบเป่าปี้ออกไป เมื่อเรือรบแล่นถึงหวงผู่ก็ไปรายงานตัวกับโรงเรียนทหาร แต่ไม่มีคนมารับรอง หลังจากขอคําแนะนําจากเจียงไคเชกแล้ว เรือรบจงซานก็แล่นกลับไปยังเมืองกวางเจา เจียงไคเซกแปลกใจว่าเขาไม่ได้สั่งให้ส่งเรือรบออกมา และเขียนไว้ในบันทึกประจําวันว่า

ขณะนั้นเขารู้สึกว่าที่ปรึกษาชาวโซเวียตไม่พอใจเขาและกําลังคิดหาวิธีกําจัดเขาทิ้ง เขาเห็นว่าการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของเรือรบจงซานครั้งนี้ เป็นเจตนาของที่ปรึกษาชาวโซเวียตที่ต้องการใช้อํานาจบีบบังคับจี้ตัวเขาออกนอกประเทศ

ขณะนั้นเกิดข่าวลือในกลุ่มคนสนิทของเจียงไคเชกว่า “พรรคคอมมิวนิสต์ได้วางแผนร้ายก่อความวุ่นวายเพื่อโค่นล้มรัฐบาล พวกเขายุยงให้เรือรบจงซานแล่นเข้ามาในบริเวณหวงผู่เพื่อจี้ตัวผู้บัญชาการโรงเรียนเจียงไคเชก และส่งตัวเขาไปเมืองวลาดีวอสตอค…”

พวกคนสนิทของเจียงไคเชกจึงเสนอให้เขารีบลงมือชิงความได้เปรียบเสียก่อน

วันที่ 20 มีนาคม 1926 เจียงไคเชกประกาศภาวะฉุกเฉินในเมืองกวางเจาโดยพลการ (ไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกลาง พรรคก๊กมินตั๋ง) เขาอ้างว่ามีข่าวลือว่า “พรรคคอมมิวนิสต์จีนกําลังก่อกบฏ พวกเขาวางแผนปลุกระดมกรมทหารเรือให้ก่อรัฐประหารแบบติดอาวุธ”

เจียงไคเชกจับกุมตัวหลี่จือหลงรักษาการอธิบดีกรมทหารเรือและเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย, ยึดเรือรบจงซานและกรมทหารเรือ, ส่งทหารไปปิดล้อมคณะกรรมการประท้วงหยุดงานเมืองกวางเจาและฮ่องกง, ปิดล้อมบ้านพักของที่ปรึกษาชาวโซเวียต, คุมขังสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ทํางานด้านการเมืองในโรงเรียนทหารหวงผู่ และในกองทัพที่หนึ่งของกองทัพปฏิวัติประชาชน

หลังจากเกิดเหตุการณ์ วางจิงเว่ย หัวหน้ารัฐบาลประชาชน และประธานคณะกรรมการการทหารโกรธมาก เขาพูดกับคนใกล้ชิดว่า “อย่างนี้ไม่เรียกว่าก่อกบฏหรือ”

อันที่จริงเหตุการณ์เรือรบจงซานไม่ใช่แผนร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและเจียงไคเชก แต่เป็นหลุมพรางของฝ่ายขวาในพรรคก๊กมินตั๋งที่ต้องการโจมตีพรรคคอมมิวนิสต์จีน

พอหลังการประชุมใหญ่พรรคก๊กมินตั๋งในเดือนมกราคม 1926 พวกฝ่ายซ้ายได้รับชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ ในหน่วยงานต่างๆ ของ พรรคก๊กมินตั๋งที่จัดตั้งขึ้นภายหลังล้วนมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนดํารงตําแหน่งผู้บริหาร ในกองทัพปฏิวัติประชาชนเองก็มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนกว่า 1,000 คน วางจิงเว่ยก็เอนเอียงไปทางฝ่ายซ้ายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

วางจิงเว่ยขณะนั้นเป็นทั้งหัวหน้ารัฐบาลประชาชน, ประธานคณะกรรมการกลางการเมืองพรรคก๊กมินตั๋ง และประธานคณะ กรรมการการทหาร เมื่อถึงพวกฝ่ายขวาในพรรคก๊กมินตั้งทนเห็นพรรคคอมมิวนิสต์เติบโตไม่ได้ ทางออกในเวลาจึงออยู่ที่ “เจียงไคเชก”

หลังเกิดเหตุการณ์เรือรบจงซาน เจียงไคเชกได้ใช้อํานาจทางทหาร สั่งจับสมาชิกก๊กหมินตั๋งฝ่ายซ้าย และสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์บางส่วน, สั่งปลดที่ปรึกษาของโซเวียตและองค์การคอมมิวนิสต์สากลออกจากทุกตําแหน่ง


ข้อมูลจาก

เส้าหย่ง, หวังไห่เผิง (เขียน) กำพล ปิยะศิริกุล (แปล). หลังสิ้นบัลลังก์มังกร, สำนักพิมพ์มติชน 2560

ทิพย์สุดา ปิยะพันธ์. บทบาทการเมืองของพรรคกั๋วหมินตั่งก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1912-1949, สารนิพนธ์ศิลปศาสตร์มาหบัณฑิต สาขาวิชากประวัติศาสตร์เอเชีย พฤษภาคม 2551, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2563