“เจียงไคเชก” ปฎิเสธตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” เพราะไม่มีอำนาจที่แท้จริง

เจียงไคเชก-ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในภาพให้การต้อนรับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ระหว่างที่เยือนไทเปไต้หวันในเดือนมิถุนายน 1960

ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 พรรคก๊กมินตั๋งจัด “การประชุมสภาประชาชนเพื่อบังคับใช้รัฐธรรมนูญ” ขึ้นที่กรุงนานกิง ญัตติหลักของการประชุมครั้งนี้คือการเลือกตั้ง “ประธานาธิบดี” และ “รองประธานาธิบดี” ก่อนการประชุมผู้คนมีความเห็นกันโดยทั่วไปว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ไม่มีอะไรต้องกังวล เจียงไคเชกต้องได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแน่นอน

แต่หลังการประชุมพวกเขาก็พบว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้น

แน่นอนว่าอำนาจบารมีและฐานะของเจียงไคเชกขณะนั้น ไม่มีใครสามารถแข่งกับเขาในการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีได้ ดังนั้นก่อนเปิด “การประชุมสภาประชาชนเพื่อบังคับใช้รัฐธรรมนูญ” หลีจงเหริน-หัวหน้าขุนศึกฝ่ายมณฑลกวางสีในพรรคก๊กมินตั๋งตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดี และชักชวนให้หูซื่อออกมาลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เพื่อแสดงออกถึงกฎการเลือกตั้งตามแนวทางการเมืองประชาธิปไตย

ขณะที่เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศจีน หรือแม้แต่แฮร์รี เอส. ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเองก็จับตาสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และแสดงเจตนารมย์ว่ารัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งควรยอมรับ “บุคคลที่ฝักใฝ่ลัทธิเสรีนิยม” ได้

หลังการประชุมสภาประชาชนเจียงไคเชกใช้แผนซ้อนแผน

เจียงไคเชกกล่าวว่าได้เตรียมเชิญหูซื่อมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วนตนเองจะเป็นประธานสภาบริหาร ทั้งยังได้ส่งคนสนิทไปพูดคุยเรื่องดังกล่าวกับหูซื่อ และคืนวันที่ 3 เมษายน เขาก็ไปคุยกับหูซื่อด้วยตนเอง ทำให้หูซื่อคิดว่าตนเองเป็นที่โปรดปราน และรู้สึกดีใจ หูซื่อบอกผู้ช่วยของเขาว่า

“เมื่อคืน คุณเจียงไคเชกนัดผมไปบ้านพักประจำตำแหน่งของเขาเพื่อพูดคุยกันเป็นเวลานาน เขาจะเสนอชื่อผมในฐานะผู้สมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ในที่ประชุมรวมคณะกรรมการกลางบริหารพรรคก๊กมินตั๋ง เขาบอกว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อำนาจบริหารสูงสุดที่แท้จริงของประเทศอยู่ที่สภาบริหาร เขาไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีที่ไม่มีอำนาจที่แท้จริงได้

ดังนั้นจึงยอมมอบตำแหน่งประธานาธิบดีให้ผม ส่วนตัวเขาเองจะเป็นประธานสภาบริหาร หรือไม่ก็เป็นประธานาธิบดี แล้วให้ผมเป็นประธานสภาบริหาร คุณเจียงมีท่าทีที่จริงใจเช่นนี้ทำให้ผมรู้สึกซาบซึ้งใจมาก ดังนั้นผมจึงพูดว่า ‘คุณเจียงตัดสินใจเถิด’ ผมเป็นฮ่องเต้ได้ แต่เป็นอัครเสนาบดีไม่ได้ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่สภาบริหาร ผมสามารถเป็นประธานาธิบดีที่ไม่มีบทบาทอะไรได้ แต่เป็นประธานสภาบริหารที่มีความสามารถไม่ได้”

วันที่ 4 เมษายน เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคก๊กมินตั๋ง

เมื่อคณะกรรมการกลางบริหารพรรคก๊กมินตั้งสมัยที่ 6 จัดการประชุมรวมเฉพาะกิจที่กรุงนานกิง เรื่องการเสนอชื่อผู้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีโดยเฉพาะ ที่ประชุมเสนอชื่อเจียงไคเชกเป็นผู้ลงสมัครเลือกตั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่เจียงไคเชกปฏิเสธและเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเสนอชื่อบุคคลภายนอกพรรคลงสมัครเลือกตั้งแทน หากข้อเสนอของเขา สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งคัดค้านจึงไม่ผ่านการเห็นชอบ

เจียงไคเชกไม่ได้ไม่อยากเป็นประธานาธิบดีจริงๆ แต่ติดที่ว่าอำนาจของประธานาธิบดีน้อยเกินไป

ด้วยข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญสาธารณจีน ซึ่งได้รับการเห็นชอบจาก “การประชุมสภาประชาชนเพื่อบัญญัติรัฐธรรมนูญ” ในปลาย ค.ศ. 1946 แล้ว อำนาจของประธานาธิบดีมีข้อจำกัดหลายประการ ทำให้เจียงไคเชกผู้เคยชินกับวิธีเผด็จการนั้นรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจ “ถอยเพื่อรุก” โดยกล่าวว่าตนเองยอมลดตัวลงมารับตำแหน่งประธานสภาบริหารซึ่งมี “อำนาจที่แท้จริง” ทว่าจะไม่เป็นประธานาธิบดีที่ “ครองตำแหน่งแต่ไร้อำนาจ”

แต่สำหรับพวกที่ติดตามเจียงไคเชกมาหลายปีแต่เพียงผู้เดียว นี่เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ พวกเขาเห็นว่าเจียงไคเชกจะต้องเป็นประธานาธิบดี แต่เจียงไคเชกกลับไม่ยอมเป็นประธานาธิบดีที่ “ครองตำแหน่งแต่ไร้อำนาจ” เมื่อเป็นเช่นนี้วิธีที่ง่ายดายที่สุดคงไม่พ้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจของประธานาธิบดี แต่รัฐธรรมนูญเพิ่งผ่านการรับรองจากสภา ถ้าจะแก้ไขตอนนี้อาจจะดูไม่เหมาะสมเท่าใดนัก

ในที่ประชุมคณะกรรมการกลางบริหารพรรคก๊กมินตั๋ง ช่วงเช้าของวันต่อมา ลูกน้องเก่าของเจียงไคเชกชื่อจางฉวินกล่าวว่า

“ท่านประธานพรรคไม่ได้ไม่อยากเป็นประธานาธิบดี แต่ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจที่แท้จริงเลย ประธานาธิบดีเป็นเพียงประมุขของประเทศ แต่ไม่ใช่หัวหน้าฝ่ายบริหาร ดังนั้นท่านประธานพรรคจึงไม่ยอมดำรงตำแหน่งนี้ซึ่งมีเพียงชื่อ แต่ไร้อำนาจที่แท้จริง

หากคณะกรรมการกลางบริหารพรรคสามารถคิดหาวิธีให้อำนาจพิเศษแก่ประธานาธิบดีได้ ท่านประธานพรรคก็ยังยินดีที่จะเป็นผู้ลงสมัครเลือกตั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี”

เมื่อเป็นเช่นนี้ หวังฉงชุ่ยจึงเสนอในที่ประชุมว่า

“พวกเราสามารถเลี่ยงข้อกำหนดของมาตราในรัฐธรรมนูญได้ โดยสภาประชาชนมีมติเห็นชอบมาตราเฉพาะกาลหนึ่งมาตรา มอบอำนาจจัดการเหตุการณ์เมื่อเกิดภาวะคับขันในช่วงเวลาพิเศษแก่ประธานาธิบดี”

หลังจากนั้นคณะกรรมการกลางบริหารพรรคก๊กมินตั๋งก็มีมติว่า “เสนอให้การประชุมสภาประชาชนครั้งนี้เห็นชอบให้เพิ่ม ‘มาตราเฉพาะกาลในช่วงเวลาปราบปรามจลาจล’ โดยกำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถจัดการเหตุการณ์เมื่อเกิดภาวะคับขันในช่วงเวลาปราบปรามจลาจลได้”

หลังการจัดฉากครั้งนี้ เจียงไคเชกก็แสดงท่าที “เคารพ” และ “ยอมรับ” การตัดสินใจขงอคณะกรรมการกลางบริหารพรรคก๊กมินตั๋ง

วันที่ 18 เมษายน สภาประชาชนมีมติเห็นชอบญัตติว่าด้วยมาตราเฉพาะกาลในช่วงเวลาการระดมพลเพื่อปราบปรามจลาจล ญัตติดังกล่าวกำหนดว่า

“ในช่วงเวลาการระดมพลเพื่อปราบปรามจลาจล ประธานาธิบดีจักต้องจัดการเหตุการณ์ในภาวะคับขันโดยผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาบริหาร เพื่อไม่ให้ประเทศและประชาชนประสบภัยพิบัติในยามคับขัน หรือเพื่อรับมืออุบัติภัยร้ายแรงทางการเงินและเศรษฐกิจ”

อำนาจของประธานธิบดีไม่ถูกจำกัด จากข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของรัฐธรรมนูญแล้ว นับเป็นความพยายามอย่างยิ่งของพรรคก๊กมินตั๋ง ที่ผลักดันให้เจียงไคเซกขึ้นไปนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีซึ่งมีอำนาจที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม เจียงไคเชกจะเป็นผู้ลงสมัครเลือกตั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงหนึ่งเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องมีบุคคลอื่นร่วมแข่งขันด้วยเพื่อสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย

เจียงไคเชกต้องการให้จวีเจิ้ง-ผู้อาวุโสในพรรคก๊กมินตั๋งและประธานสภาตุลาการในขณะนั้นมาลงแข่งเลือกตั้งกับเขา ส่วนจวีเจิ้งเองก็รู้อยู่แก่ใจดีว่าตนเองไม่ได้มีกำลังความสามารถอะไร ในเมื่อเป็นละครฉากหนึ่งก็แสดงเป็นเพื่อนเจียงไคเชกไปแล้วกัน

วันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1948 มีการจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการขึ้น ผลก็คือเจียงไคเชกได้รับคะแนนเสียง 2,430 เสียง ส่วนจวีเจิ้งได้รับคะแนนเสียง 269 เสียง ในที่สุดเจียงไคเชกก็เป็นประธานาธิบดีผู้มีอำนาจที่แท้จริงอย่างถูกกฎหมาย โดยผ่านกระบวนการทาง “ประชาธิปไตย”


ข้อมูลจาก

เส้าหย่ง, หวังไท่เผิง เขียน, กำพล ปิยะศิริกุล แปล, หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน, สำนักพิมพ์มติชน, ตุลาคม 2560


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2563