“อัมเบดการ์” บิดารัฐธรรมนูญอินเดีย ใช้กฎหมายช่วยคนทุกชนชั้น

อัมเบดการ์
ดร. ภีมราว รามยี อัมเบดการ์ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

อัมเบดการ์ (Ambedkar) จัณฑาลผู้มีอุดมการณ์แรงกล้าในการต่อสู้ เพื่อสร้างสังคมอินเดียที่ปลดแอกจากระบบวรรณะ เป็นบุคคลสำคัญในการวางกรอบรัฐธรรมนูญอินเดีย จนได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย” เพราะช่วยให้ชาวอินเดียทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย หากแต่นั่นยังไม่เพียงพอสำหรับอัมเบดการ์ เพราะระบบวรรณะยังคงฝังรากลึกเป็นอุปสรรคขวางกั้นความก้าวหน้า เขาจึงรื้อฟื้นศาสนาพุทธในอินเดีย เพื่อเป็นศาสนาทางเลือกใหม่ของผองชนผู้ถูกกดขี่

ถูกเหยียดหยามเพราะเป็น จัณฑาล 

ภีมราว รามยี อัมเบดการ์ (Bhimrao Ramji Ambedkar) เกิดเมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1891 ในตระกูลสังข์ปาล (Sakpal) ซึ่งเป็นจัณฑาล กลุ่มคนที่มีสถานะต่ำต้อยที่สุดในศาสนาฮินดู ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ที่เมือง Mhow พ่อของอัมเบดการ์ทำงานเป็นทหารอังกฤษ และมีความก้าวหน้ากว่าจัณฑาลกลุ่มอื่น ครอบครัวสังข์ปาลจึงเห็นความสำคัญของการศึกษา และเขี่ยวเข็ญให้ลูกๆ ได้เล่าเรียนหนังสือ ถึงขั้นที่เมื่อครอบครัวสังข์ปาลต้องย้ายไปบอมเบย์ (ปัจจุบันคือมุมไบ) และเริ่มประสบปัญหาทางการเงิน พี่ชายของอัมเบดการ์ต้องยอมเลิกเรียนหนังสือไปทำงานในโรงงานเพื่อช่วยค้ำจุนบ้าน และส่งเสียให้อัมเบดการ์ได้เรียนหนังสือ

อัมเบดการ์ต้องเผชิญกับการกีดกันทางวรรณะที่แสนเลวร้าย เพราะนามสกุลเดิมอย่างสังข์ปาล หรือนามสกุลใหม่ของครอบครัวที่ตั้งตามภูมิลำเนาอย่าง อัมบาวาเดการ์ (Ambavadekar) ยังแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นจัณฑาลอย่างชัดเจน

ในชั้นเรียน อัมเบดการ์ถูกเลือกปฏิบัติหลายอย่าง เช่น ถูกครูสั่งให้นำผ้าปูพื้นเก่า ๆ มานั่งแยกจากเพื่อนนักเรียน ไม่มีเพื่อนมาพูดคุยหรือเล่นด้วย ไม่ได้กินข้าวกับเพื่อน ๆ จำเป็นต้องกินน้ำโดยไม่มีแก้ว และถูกห้ามเรียนภาษาสันสกฤต เพราะความเชื่อที่ว่าจัณฑาลต่ำต้อยและแปดเปื้อนเกินกว่าจะศึกษาภาษาสันสกฤตอันศักดิ์สิทธิ์ได้ อัมเบดการ์จึงเติบโตกับการถูกเลือกปฏิบัติโดยการตีตราทางวรรณะ 

แต่เขายังได้รับโอกาสที่ดี เมื่อ กฤษณาจี เคชาฟ อัมเบดการ์ (Krishnaji Keshav Ambedkar) ครูวรรณะพราหมณ์ซึ่งเอ็นดูเขาเป็นพิเศษ อนุญาตให้เขาใช้นามสกุล “อัมเบดการ์” จนหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า อัมเบดการ์เป็นคนในวรรณะพราหมณ์ ซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานที่ต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี อัมเบดการ์จึงยกย่องสรรเสริญครูคนนี้มาก เพราะนามสกุลดังกล่าวช่วยเบิกทางให้เขากลายเป็นผู้นำคนสำคัญในการต่อสู้เพื่อปลดแอกระบบวรรณะ 

ปี 1907 อัมเบดการ์เรียนจบโรงเรียนมัธยมปลายเอลฟินสโตน นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับจัณฑาลที่สามารถไต่เต้าเข้าสู่การศึกษาระดับสูง เมื่อมีงานเลี้ยงฉลองเรียนจบ อัมเบดการ์ก็ได้รู้จักกับพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกจาก กฤษณจี อรชุน เกลุสการ์ (Krishnaji Arjun Keluskar) นักเขียนนวนิยายภาษามราฐีและนักสังคมสงเคราะห์ ที่นำหนังสือพุทธประวัติที่เขาเป็นผู้เขียนมอบให้อัมเบดการ์ ตอนนั้นอัมเบดการ์สนใจเรื่องพระพุทธเจ้าอย่างมาก แต่เขาก็ยังคงนับถือศาสนาฮินดูตามเดิม

ความเป็นคนตั้งใจศึกษาหาความรู้ ทำให้อัมเบดการ์ได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอมเบย์ จาก มหาราชาสายาจีราว คายกวาทที่ 3 (Maharaj Sayajirao Gaekwad III) กษัตริย์ผู้ปกครองรัฐบาโรดา หลังเรียนจบแล้ว ในปี 1913 เขาได้ทำงานตอบแทนมหาราชาแห่งรัฐบาโรดา แต่โดนย้ายตำแหน่งงานใหม่เรื่อย ๆ โดยไม่มีงานถาวร ประกอบกับพ่อของเขาเสียชีวิต อัมเบดการ์จึงตัดสินใจลาออก แต่เดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน อัมเบดการ์ได้รับทุนของมหาราชาสายาจีราว คายกวาทที่ 3 อีกครั้ง เพื่อเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องกลับมาทำงานใช้ทุนทันทีหลังเรียนจบ 

ในสหรัฐอเมริกา อัมเบดการ์สามารถคบหาผู้คนได้มากมาย เพราะปราศจากการกีดกันทางวรรณะ ซึ่งช่วยให้อัมเบดการ์เห็นศักยภาพของประชาธิปไตยที่จะทำให้สังคมมีความเสมอภาคมากขึ้น พร้อมกับเรียนรู้ความสำคัญเรื่องสิทธิ เป็นฐานของการขับเคลื่อนสังคมอินเดียให้ก้าวหน้าต่อไป 

อัมเบดการ์เรียนจบปริญญาโทในปี 1916 ทว่าเขากลับตัดสินใจขอเรียนต่อที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยขยายทุนอีก 1 ปี แต่ก็เรียนไม่จบจึงต้องกลับอินเดียเพื่อทำงานใช้ทุนมหาราชา

ชีวิตใหม่ที่บอมเบย์

อัมเบดการ์กลับอินเดียในปี 1917 เข้าทำงานเป็นเลขานุการกองทัพของมหาราชาบาโรดา แต่หนีการถูกเหยียดวรรณะไม่พ้น เพราะคนวรรณะพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของอัมเบดการ์ต่างรังเกียจเขา อัมเบดการ์ร้องเรียนเรื่องนี้ต่อมหาราชา แต่ทุกอย่างยังคงเงียบงัน ช่วงนั้นเขายังโดนชาวปาร์ซีกลุ่มหนึ่งขับไล่ออกจากหอพัก หลังทราบว่าเขาเป็นจัณฑาล ทำให้อัมเบดการ์ตัดสินใจเดินทางออกจากบาโรดา และไปอยู่ที่บอมเบย์  

ปีแรกที่บอมเบย์ของอัมเบดการ์ช่างยากลำบาก เพราะไม่มีใครรับทำงาน แต่ต่อมาวิทยาลัยการพาณิชย์และเศรษฐศาสตร์ซิดแนมเสนอให้เขารับตำแหน่งอาจารย์ด้านเศรษฐกิจการเมืองเป็นเวลา 2 ปี อัมเบดการ์ตอบตกลงทันที และเริ่มงานตั้งแต่ 11 พฤศจิกายน ปี 1918 เขาทุ่มเทกับการสอนหนังสืออย่างจริงจังกระทั่งมีชื่อเสียงโด่งดัง ดึงดูดนักศึกษาจากสถาบันอื่นให้มาฟังเขาบรรยายได้อย่างล้นหลาม กระนั้นเพื่อนร่วมงานวรรณะสูงบางคนก็ยังเหยียดเขาอยู่ 

อัมเบดการ์ที่เข้าใจดีถึงการกดขี่ทางวรรณะ จึงเริ่มเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องระบบวรรณะ เรียกร้องให้ชาวอินเดียโดยเฉพาะคนวรรณะสูงและอภิสิทธิ์ชนเปลี่ยนทัศนคติ ให้นึกถึงสิทธิของคนที่ถูกกดขี่ ไล่เลี่ยกันนั้นก็ตัดสินใจลาออกก่อนหมดสัญญาจ้าง พกทุนรอนก้อนหนึ่งย้ายไปเป็นข้าราชการในเมืองโครักขปุระตามคำเชิญของ มหาราชาชาหุที่ 1 ผู้ทรงสนับสนุนสิทธิของจัณฑาล 

มหาราชาพระองค์นี้ออกทุนให้อัมเบดการ์เขียนและตีพิมพ์วารสารรายสัปดาห์ชื่อ มุขนายก ในบอมเบย์เมื่อปี 1920 อัมเบดการ์ใช้วารสารฉบับนี้โจมตีนักการเมืองอนุรักษนิยมที่ไม่แยแสต่อการกดขี่คนวรรณะต่ำ แต่วารสารนี้กลับต้องปิดตัวลงในเวลาไม่นานด้วยขาดสภาพคล่องทางการเงิน

แม้การเคลื่อนไหวช่วงแรกจะเต็มไปด้วยปัญหา แต่เขาก็ยังไม่ละทิ้งความมุ่งมั่น เมื่ออัมเบดการ์เก็บหอมรอมริบได้จำนวนหนึ่ง และจากการหยิบยืมเงินจากเพื่อนและมหาราชา ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอกที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ พร้อมกับพยายามสอบเนติบัณฑิต 

เขาใช้ชีวิตในอังกฤษอย่างแร้นแค้นถึง 3 ปี จนสามารถเรียนจบปริญญาโท ปริญญาเอก และสอบผ่านเนติบัณฑิตอังกฤษได้ในที่สุด

“อัมเบดการ์” ต่อสู้เพื่อปลดแอกระบบวรรณะ 

อัมเบดการ์กลับอินเดีย เริ่มต้นทำงานเป็นทนายความในศาลสูงบอมเบย์ในปี 1924 ทำให้มีโอกาสช่วยเหลือเรื่องกฎหมายให้ผู้ด้อยโอกาส เขาได้ทำตามความฝันอีกครั้ง นั่นคือ การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้สังคมอินเดียมองเห็นปัญหาของระบบวรรณะ ควบคู่กับการเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ

อัมเบดการ์เห็นว่า “ระบบวรรณะ” คือสิ่งชั่วร้ายที่ขัดขวางความก้าวหน้าของสังคมอินเดีย อีกทั้งคำเรียกผองชนผู้ไร้วรรณะอย่าง “จัณฑาล” เป็นคำเรียกอย่างรังเกียจเดียดฉันท์ จึงเลือกใช้คำว่า “ทลิต” (Dalit) อันมีความหมายว่า แตกหัก หรือ สลาย ในภาษาสันสกฤต เป็นคำเรียกผองชนทั้งมวลที่ถูกกดขี่ในสังคมอินเดีย ไม่ใช่เพียงชาวฮินดูเท่านั้น หากยังรวมถึงคนด้อยโอกาสต่าง ๆ ด้วย

หลากหลายวาระโอกาสที่อัมเบดการ์พยายามต่อสู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพให้กลุ่มคนด้อยโอกาสเช่น ในปี 1927 อัมเบดการ์ทำพิธีสัตยาเคราะห์ ดื่มน้ำในสระโชว์ดาร์ที่เมืองมหัท (Mahad) ซึ่งเดิมห้ามคนวรรณะต่ำใช้น้ำในสระ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ทลิตเข้าไปใช้น้ำในสระสาธารณะโชว์ดาร์ได้ 

ช่วงแรกอัมเบดการ์มีเจตนารมณ์ถอดรากถอนโคนระบบวรรณะให้สิ้นซาก ปรากฏชัดในงานเขียน The Annihilation of Caste (วรรณะวินาศ) ซึ่งมีเนื้อหาแข็งกร้าว รุนแรง ปลุกระดมให้ชาวทลิตและผู้ด้อยโอกาสตระหนักรู้ ต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตน  

อัมเบดการ์จึงกลายเป็นผู้นำของชาวทลิตในการต่อสู้ล้มล้างระบบวรรณะ และมีบทบาทในการเรียกร้องเอกราชของอินเดีย โดยเป็นผู้แทนชาวทลิตหารือเรื่องเอกราชอินเดียร่วมกับผู้แทนกลุ่มอื่น ๆ กับอังกฤษ 

แต่เมื่อรัฐบาลอังกฤษเห็นด้วยกับอัมเบดการ์ว่าทลิตควรมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน เช่นที่ชาวมุสลิมและซิกซ์มี กลุ่มฮินดูอนุรักษนิยมกลับไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าการมีผู้แทนทลิตจะก่อให้เกิดความแตกแยก จึงกดดันให้อัมเบดการ์ยกเลิกข้อเรียกร้องเรื่องผู้แทนชาวทลิต อัมเบดการ์ซึ่งกลัวว่าข้อเรียกร้องจะทำให้ชาวทลิตถูกคนฮินดูหมู่มากเพ่งเล็ง จึงยอมถอนข้อเรียกร้อง และยอมลดระดับความเคลื่อนไหวเป็นในทางประนีประนอมมากขึ้น 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้อัมเบดการ์เห็นว่า ภายใต้กรอบของศาสนาฮินดู ไม่มีทางที่ชาวทลิตจะยกสถานภาพของตัวเองได้เลย จึงประกาศความตั้งใจละทิ้งศาสนาฮินดูไปนับถือศาสนาอื่น ตัวแทนศาสนาทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นอิสลาม ซิกข์ และคริสต์ ต่างพยายามเกลี้ยกล่อม แต่อัมเบดการ์ได้ปฏิเสธข้อเสนอทั้งหมดอย่างนุ่มนวล 

อัมเบดการ์ บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย

ปี 1947 หลังอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ อัมเบดการ์ได้รับเชิญจากพรรคคองเกรส เข้าร่วมกับคณะรัฐมนตรีของ ยวาหลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย ร่วมกับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด 296 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรคคองเกรส แต่ยังมีทลิตอีก 29 คน ช่วยร่างรัฐธรรมนูญ 

อัมเบดการ์ในฐานะประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ทำให้ “รัฐธรรมนูญอินเดีย” กลายเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการสร้างสังคมอินเดียสมัยใหม่ ที่ประชาชนทุกคนต่างเสมอภาคกันด้วยกฎหมาย รัฐธรรมนูญอินเดียคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพชาวอินเดียทุกคน ทั้งการนับถือศาสนา การยกเลิกระบบวรรณะ และยกเลิกการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ไม่ว่าด้วยเหตุแห่งวรรณะ ศาสนา เพศ เชื้อสาย และภูมิลำเนา เหล่านี้คือมรดกสำคัญ ซึ่งทำให้อัมเบดการ์ได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย”  

อัมเบดการ์ยังทำให้อินเดียมีระบบโควตาในระบบราชการ โรงเรียน และมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ด้อยโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอัมเบดการ์ ในการต่อสู้เพื่อสร้างสังคมอินเดียที่มีความเสมอภาค 

ถึงอย่างนั้น อัมเบดการ์ยังคงไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญอินเดีย เพราะมีหลายส่วนในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปดังใจเขา และยังคงแสวงหาหนทางที่จะทำให้ชาวทลิตขึ้นมามีบทบาทในสังคมอินเดียมากขึ้น

อัมเบดการ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ผลักดันร่างกฎหมายกฎบัตรฮินดู (Hindu Code Bill) เพื่อแทนที่จารีตฮินดู ซึ่งผู้หญิงตกเป็นเบี้ยล่างมาตลอด ด้วยกฎหมายที่มอบสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกับผู้ชาย โดยเฉพาะเรื่องมรดก การแต่งงาน และเศรษฐกิจ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวกลับล้มเหลว เพราะถูกต่อต้านจากนักการเมืองส่วนใหญ่ในสภา อัมเบดการ์จึงลาออกจากรัฐบาลในปี 1951 

เขาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 1952 และแพ้การเลือกตั้ง แต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปีเดียวกัน และเป็นวุฒิสมาชิกจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต 

ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาคืนสู่มาตุภูมิ

หลังจาก อัมเบดการ์ ใช้เวลาศึกษาลัทธิการเมืองและศาสนาต่าง ๆ เขาก็หันเข้าสู่ศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นหนทางใหม่ในการปลดแอกชาวทลิตจากระบบวรรณะ เพราะศาสนาพุทธเปิดกว้างต่อผู้คนทุกชนชั้นวรรณะ

ราวปี 1950 อัมเบดกาเดินทางไปประเทศศรีลังกา เพื่อเข้าร่วมการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (World Fellowship of Buddhists) และประกาศว่า กำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เมื่อเขียนเสร็จเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธอย่างเป็นทางการ จากนั้นในปี 1954 เขาเดินทางไปเมียนมาร์เพื่อเข้าร่วมการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ที่กรุงย่างกุ้ง ต่อมาในปี 1955 ก็ก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งอินเดีย (Bharatiya Bauddha Mahasabha) 

ทว่าปี 1956 สุขภาพของอัมเบดการ์ย่ำแย่ลงด้วยโรคเบาหวานต้องนอนติดเตียงอยู่ในบ้านที่เดลี และมีสายตาที่แย่ลงจากผลข้างเคียงของยาเบาหวาน อัมเบดการ์อุทิศเวลาช่วงสุดท้ายให้กับพระพุทธศาสนา โดยเขียนต้นฉบับหนังสือ The Buddha and His Dhamma (พระพุทธเจ้ากับพระธรรม) จนจบ ตีความศาสนาพุทธเสียใหม่ โดยไม่ได้อิกับนิกายเถรวาทหรือมหายาน ศาสนาพุทธแบบใหม่ในอินเดียจึงถือกำเนิดขึ้นเป็น “พุทธนวยาน” อันมีความหมายว่า แนวทางใหม่

ปีเดียวกันนั้น ตรงกับ พ.ศ. 2499 (หรือ พ.ศ. 2500 เพราะอินเดียนับพุทธศักราชเร็วกว่าไทย 1 ปี เช่นเดียวกับพม่าและลังกา) รัฐบาลอินเดียได้เฉลิมฉลองเนื่องในวาระพุทธศาสนาอายุครบ 2500 ปี โดยจัดงานเฉลิมฉลองวนเวียนตามรัฐต่าง ๆ ตลอด 1 ปีเต็ม  

รัฐบาลอนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือศาสนาพุทธในด้านต่าง ๆ  เช่น ตัดถนนเข้าสู่พุทธสังเวชนียสถาน สร้างธรรมศาลา อำนวยความสะดวกแก่ผู้มาร่วมงานพุทธชยันตีจากประเทศต่าง ๆ จัดพิมพ์หนังสือสดุดีพระพุทธศาสนา และจัดทำหนังสือวิชาการพระพุทธศาสนา 

ในงานฉลองพุทธชยันตีที่เมืองนาคปุระ รัฐมหาราษฏระ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ปี 1956 อัมเบดการ์ได้นำชาวทลิตกว่า 5 แสนคน เข้าร่วมพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะพร้อมกัน โดยกล่าวคำปฏิญาณตน 22 ข้อ และกล่าวว่า 

ข้าพเจ้าเกิดมาจากตระกูลที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ข้าพเจ้าจะขอตายในฐานะพุทธศาสนิกชน

เพียงสามเดือนหลังพิธีประกาศตนเป็นพุทธมามกะ อัมเบดการ์ได้เสียชีวิตอย่างกะทันหันในเช้ามืดวันที่ 6 ธันวาคม ปี 1956 เป็นการสิ้นสุดชีวิตของนักต่อสู้เพื่อปลดแอกระบบวรรณะ บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย และผู้ฟื้นฟูศาสนาพุทธในอินเดีย 

ในฐานะ “นักต่อสู้เพื่อปลดแอกระบบวรรณะ” อัมเบดการ์ทำได้อย่างดีเยี่ยมเท่าที่เขาทำได้ภายใต้กรอบของฮินดู ในฐานะ “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย” อัมเบดการ์ทำให้ประชาชนอินเดียเท่าเทียมกันใต้กฎหมาย และในฐานะ “ผู้ฟื้นฟูศาสนาพุทธในอินเดีย” อัมเบดการ์ได้อุทิศตนเพื่อฟื้นฟูศาสนาพุทธให้หวนคืนสู่แผ่นดินอินเดียอีกครั้ง 

คุณนานัปประการของอัมเบดการ์ที่มีต่อชาวอินเดีย ทำให้เขาได้รับการยกย่องและเคารพรักจากชาวอินเดียจำนวนมาก ผู้คนนิยมเรียกเขาว่า “บาบาซาเฮบ” มีความหมายว่า พ่อ ผู้มีความรอบรู้ที่นำอินเดียสู่ยุคสมัยใหม่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Dhananjay Keer, Dr. Babasaheb Ambedkar: Life and Mission (Mumbai: Popular Prakashan, 1954, 2016

พิทธิกรณ์ ปัญญามณี. 2560. “ปัญหาของการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์อินเดีย: อัมเบดการ์ศึกษา, ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนนอกวรรณะ และการศึกษาซับบอลเทิร์น: ทางเลือกของการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์อินเดีย”. วารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 3 (1):245-81. https://doi.org/10.14456/thammasat-history.2016.6.

พิทธิกรณ์ ปัญญามณี. 2560. “การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และความคิดของ ดร.อัมเบดการ์: การสำรวจเชิงวิเคราะห์” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560. 

สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. อัมเบดการ์ : ผู้แสวงหาเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพในอินเดีย (ตอนที่ 19). 3 ตุลาคม 2563. https://curadio.chula.ac.th/Program-Detail.php?id=10266 (21 พฤศจิกายน 2565 ที่เข้าถึง).

อรุรธตี รอย. บัณฑิตกับนักบุญ. แปลโดย รวิวาร รวิวารสกุล และ ชวาร์ เกษมสุข. กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา, 2564.

https://www.drbrambedkarcollege.ac.in/bharat-ratna-dr-bhim-rao-ambedkar

https://www.lse.ac.uk/alumni-friends-and-partners/LSE-alumni-shaping-the-world/World-leaders-and-politicians/Dr-Bhimrao-Ramji-Ambedkar


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กรกฎาคม 2566