คานธีเริ่มต้น “สัตยาเคราะห์” เพราะคนงานอินเดียในแอฟริกาที่ถูกใช้เยี่ยงทาส

ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่ของ มหาตมะ คานธี ถ่ายในนิวเดลี ประเทศอินเดีย (ภาพจาก AFP PHOTO)

โมฮันดาส เค. คานธี หรือที่รู้จักในนาม “มหาตมะคานธี” เกิดในครอบครัวชาวฮินดูเก่าแก่ที่ประเทศอินเดีย คานธีศึกษาด้านกฎหมายที่อังกฤษ เมื่อสำเร็จการศึกษาในปี 1894 เขาเริ่มอาชีพนักกฎหมายที่นาตาล ประเทศแอฟริกาใต้ คานธีไปที่นั่นเพราะชาวอินเดียจำนวนมากเป็นคนงานในไร่อ้อยตามสัญญาการจ้างงาน

ที่นี่คือจุดเริ่มต้นของ “สัตยาเคราะห์” แนวความคิดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุด

เมื่อคานธีพบกับ “บาลาซัมดาราม” คนงานผู้ติดสัญญาจ้างซึ่งถูกทารุณกรรม คานธีเล่าว่า “มีชายคนหนึ่ง [บาลาซัมดาราม] ใส่เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่งมายืนร้องไห้ตัวสั่นอยู่ตรงหน้าข้าพเจ้า เขาถือหมวกอยู่ในมือ ฟันสองซี่ด้านหน้าหัก และมีเลือดกบปาก”

แม้บาลาซัมดารามจะถูกนายจ้างทุบตีอย่างทารุณ แต่เขาก็ไม่มีทางออก เพราะหากหนีออกไปจากไร่ก็จะถูกดำเนินคดีและจำคุก คานธีมองว่า การจ้างงานมีลักษณะ “เกือบจะเลวร้ายพอๆ กับระบบทาส ทาสผู้ติดสัญญาจ้างก็เหมือนกับทาสตรงที่เป็นทรัพย์สินของนายจ้างนั้นเอง”

เริ่มแรกมีการนำชาวอินเดียเข้าไปตัดอ้อยที่นาตาล ชาวผิวขาวซึ่งเข้าไปตั้งรกรากในนาตาลพอใจที่มีแรงงานชาวอินเดียราคาถูก แต่พวกเขาก็คัดค้านหัวชนฝาไม่ยอมให้ชาวอินเดียอยู่ร่วมอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น พวกเขาจึงทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อให้ชาวอินเดียท้อแท้หมดกำลังใจ ด้วยการทุบตี จับกุม และกักบริเวณคนงาน

รัฐบาลสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ก็ออกกฎหมายฉบับใหม่ที่ทำให้ชีวิตของชาวอินเดียลำบากมากขึ้นไปอีก คือถ้าหากคนงานซึ่งมีสัญญาผูกมัดเลือกที่จะอยู่ต่อและตั้งรกรากหลังหมดสัญญา พวกเขาจะต้องจ่ายภาษีประจำปี ซึ่งเป็นภาระอันหนักสำหรับชาวอินเดียผู้แทบจะเอาตัวไม่รอดจากค่าแรงที่ได้รับ เพราะรัฐบาลมีวัตถุประสงค์ชัดเจน คือเรานำคุณเข้ามาที่นาตาลในฐานะคนงานเท่านั้น พวกคุณไม่มีสิทธิอยู่ที่นี่

ชาวอินเดียในนาตาลเข้าใจความหมายของชาวผิวขาวที่สื่อออกมาทำงานได้แต่อย่าตั้งรกรากอยู่ที่นี่

อย่างไรก็ดี หนังสือสัญญาจ้างไม่ใช่ตัวกำหนดว่าชาวอินเดียเป็นสิ่งของ พวกเขาต้องการได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจเจกชน เป็นพลเมืองซึ่งมีสิทธิและความเท่าเทียมกัน พวกเขาไม่ต้องการการปฏิบัติในฐานะพลเมืองชั้นสองของสังคม

ขณะที่คานธีเองก็เดินทางกลับไปอินเดียและได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ราชการของอังกฤษ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบคนอินเดียที่นาตาล ปรากฏว่า ในยุคที่ยังใช้โทรเลขกันอยู่นั้น ข่าวเรื่องคานธีไปพบกับเจ้าหน้าที่อังกฤษกลับไปเข้าหูคนที่แอฟริกาใต้อย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวผิวขาวที่นั่นเดือดดาล เมื่อคานธีโดยสารเรือกลับไปในช่วงคริสต์มาส มีกลุ่มคนที่โกรธแค้นรออยู่ที่ท่าเรือและเข้าล้อมคานธี และขวางเขาด้วยก้อนหินและไข่ จนภรรยาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในท้องที่ช่วยกันคานธีออกมา คานธีถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจ โดยปลอมตัวใส่เครื่องแบบตำรวจและผ่านเข้าไปทางประตูด้านข้าง

คานธีเริ่มมองเห็นทางว่าชาวอินเดียซึ่งมีสัญญาจ้างงานผูกมัดเหล่านั้นสามารถทำให้ตัวเองแข็งแกร่งได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งมีดพร้าและปืน เขาตระหนักว่าอิสรภาพไม่ได้เกิดขึ้นจากการลุกขึ้นต่อต้านผู้กดขี่ข่มเหงหรือผู้ปกครองเผด็จการเท่านั้น คานธีมองว่า ทางออกนั้นอาจจะอยู่ที่ตัวเราเองด้วย

แม้เจ้าของไร่อ้อยปฏิบัติต่อคนงานราวกับพวกเขาเป็นทรัพย์สมบัติ แต่ไม่ได้หมายความว่า ชาวอินเดียจะต้องยอมรับการตีความเช่นนั้น

วันที่ 11 กันยายน ปี 1906 ตัวแทนชาวอินเดียจำนวนมากมาชุมนุมกันที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ในโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อฟังคำบรรยายเกี่ยวกับกฎหมายทมิฬ (Black Act) กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในปีถัดไป โดยให้ชาวอินเดียทุกคน ทั้ง ชาย หญิง และเด็กที่อายุมากกว่า 8 ปี ไปลงทะเบียนและพิมพ์ลายนิ้วมือ ใครที่ไม่มีทะเบียนถูกต้องอาจจะถูกปรับ จำคุก หรือถูกเนรเทศ

ชาวอินเดียรู้สึกว่านั่นเป็นสัญลักษณ์ของการเหยียดสีผิวที่น่าอับอาย และปฏิบัติกับพวกเขาราวกับอาชญากร

คานธีที่นั่งอยู่บนเวทีเพื่อรอเวลากล่าวปราศรัย เมื่อถึงลำดับของเขาคานธีเชื้อเชิญให้ผู้ฟังในโรงภาพยนตร์ร่วมกล่าวคำสัตย์กับเขา โดยปฏิญาณว่าจะไม่ยอมลงทะเบียนหรือยอมรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ของรัฐบาล แม้จะถูกลงโทษอย่างรุนแรงก็ตาม คานธีย้ำว่าทุกคนต้องคิดทบทวนให้ดีและตัดสินใจเอง “แต่ละท่าน” ต้องให้คำสัตย์ปฏิญาณด้วยตัวเอง บางหนึ่งของคำปฏิญาณมีเนื้อหาว่า

“…มันไม่ใช่การเผชิญหน้ากับเพื่อนบ้านแต่เป็นการเผชิญหน้ากับพระเจ้า และไม่ใช่การทำไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเหนือใคร แต่เป็นอำนาจเหนือตัวของเขาเอง…เพราะอำนาจของคำสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นเครื่องหมายแสดงถึงสิ่งที่คนคนหนึ่งให้สัญญาว่าจะทำ รวมทั้งแสดงถึงความเต็มใจที่จะเผชิญกับความทุกข์ อันได้แก่ การดูถูกเหยียดหยาม การกักขัง การถูกใช้แรงงานอย่างหนัก การเฆี่ยนตี การถูกปรับ การเนรเทศ และแม้แต่การเสียชีวิต”

ผู้ฟังทุกคนทั้งชายและหญิงต่างพร้อมใจกันยกมือขึ้นปฏิญาณ

คานธีรวมคนเพื่อดำเนินตามแนวทางใหม่ที่เขาเรียกว่า “สัตยาเคราะห์-พลังแห่งความจริง” หรือ “อารยะขัดขืน” บางที่ยังเรียกว่า “พลังแห่งความรัก” ที่มีจุดเริ่มต้นจากการคานธีได้พบกับ บาลาซัมดาราม วัตถุประสงค์ของสัตยาเคราะห์คือการโน้มน้าวหรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามเปลี่ยนใจ “เราต้องเหนี่ยวรั้งเขาจากความผิดพลาดโดยใช้ความอดทนและความเห็นอกเห็นใจ” คนที่เชื่อในสัตยาเคราะห์จะไม่ใช้การต่อสู้ทางกาย แต่จะใช้วิธีการต่อต้านด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาอาจจะต้องถูกจำคุกหรือถูกทำร้าย แต่วัตถุประสงค์ของการใช้ความรุนแรงคือเพื่อเอาชนะและกำราบศัตรู

วันที่ 16 สิงหาคม ปี 1908 ชาวอินเดียนับพันคนรวมตัวกันที่มัสยิดฮามีดา ในสวนสาธารณะโจฮันเนสเบิร์ก พวกเขายื่นคำขาดให้รัฐบาลแอฟริกาใต้เลิกล้มกฏหมายทมิฬ ที่กำลังจะมีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ต่อไป มีการเผาเอกสารรับรองของชาวอินเดียจำนวน 2,300 คน ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการที่สำคัญครั้งแรกโดยใช้สัตยาเคราะห์ชาวอินเดีย เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ฉันไม่ใช่วัตถุสิ่งของ” พวกเขายืนยันให้เห็นว่า “ฉันไม่ใช่เหยื่อของคุณ” และพิสูจน์ให้เห็นว่า “ฉันมีจิตสำนึก”

พลังเงียบของชุมชนชาวอินเดียทำให้รัฐบาลแอฟริการะส่ำระสายทีเดียว ในเดือนมิถุนายน ปี 1914 รัฐบาลระงับใช้กฎหมายทมิฬ ชาวอินเดียยืนกรานว่า พวกเขาไม่ใช่แค่คนงานรับจ้าง แต่ยังเป็นพลเมืองด้วย และในที่สุดรัฐบาลก็ต้องยอมรับ

สัตยาเคราะห์กลายเป็นอาวุธที่มีประสิทธิผลในการใช้ต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดีย

เมื่อคานธีก็สอนให้คนอินเดียใช้วิธีขัดขืนไม่ให้ความร่วมมือ เขาบอกให้ชาวอินเดียเลิกซื้อสินค้าซึ่งผลิตโดยอังกฤษ และพลังแห่งความรักของคานธีก็ประสบความสำเร็จ ในปี 1947 อินเดียเป็นอาณานิคมแห่งแรกของอังกฤษที่ได้อิสรภาพหลังจากสหรัฐอเมริกา ในที่สุดการไม่ใช้ความรุนแรงและการต่อต้านอย่างสงบจะแพร่หลายออกไปในโลก ทำให้มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้รับแรงบันดาลใจในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในอเมริกา

 


ข้อมูลจาก :

มาร์ค แอรอนสัน, มารินา ปูโดส- เขียน, วิสาสินี เดอเบส-แปล. น้ำตาลเปลี่ยนโลก, สำนักพิมพ์มติชน กรกฎาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2564