“เสียมกุก” ชาวสยามจากแอ่งสกลนคร ศูนย์กลางที่ “เวียงจันทน์”

เสียมกุก ลายเส้น จากภาพสลัก ปราสาทนครวัด
“เสียมกุก” ถอดแบบลายเส้นจากภาพสลักบนระเบียงปราสาทนครวัด (โดย อ. คงศักดิ์ กุลกลางดอน คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

“เสียมกุก” คือชาวสยามที่ปรากฏอยู่บนภาพสลักระเบียงประวัติศาสตร์ หรือระเบียงคดของปราสาทนครวัด เป็นข้อความว่า “เนะ สยำ กุก” อันแปลความได้ว่า “นี่(ไง) พวกสยาม” เพราะ “สยำ” คือเสียมหรือสยาม ส่วน “กุก” สันนิษฐานว่ารับอิทธิพลจากภาษาจีน คือ “ก๊ก” หมายถึง พวก หมู่ เหล่า ชาว ฯลฯ

ภาพสลัก “เสียมกุก” โด่งดังอย่างมากในแวดวงนักวิชาการประวัติศาสตร์และผู้สนใจทั้งหลาย ในฐานะหลักฐานการมีอยู่ของชนชาติสยาม บนโบราณสถานอันยิ่งใหญ่ของอารยธรรมเขมรโบราณ ณ เมืองพระนคร (นครวัด) หรือพระบรมวิษณุโลก

Advertisement

หากว่ากันด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ภาพสลัก เสียมกุก คือสัญลักษณ์ขบวนเกียรติยศของกลุ่มเครือญาติ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ระหว่างพิธีกรรมสำคัญบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นพิธีบรมราชาภิเษก หรือพิธีสถาปนาเป็นพระวิษณุสถิตบรมวิษณุโลก เท่ากับว่า “ชาวเสียม” หรือชาวสยาม ย่อมต้องเป็นเครือญาติใกล้ชิดของกษัตริย์เขมรโบราณพระองค์นี้ เช่นเดียวกับขบวนทัพของพวกละโว้ และพิมาย ที่ปรากฏเป็นขบวนพยุหยาตราเรียงรายอยู่บนระเบียงคดด้วยเช่นกัน ซึ่งดินแดนเหล่านี้ล้วนเป็นเครือญาติกับกษัตริย์เขมรแห่งเมืองพระนครทั้งสิ้น

สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า สยาม มีรากจากคำพื้นเมืองบริเวณลุ่มน้ำสาละวิน-ลุ่มน้ำโขง ว่า ซำ หรือ ซัม หมายถึง พื้นที่มีน้ำพุ หรือน้ำผุดจากใต้ดิน ซึ่งบางท้องถิ่นเรียกน้ำซับน้ำซึม ครั้นนานปี (หรือนานเข้า) น้ำเหล่านั้นไหลนองเป็นหนองหรือบึงขนาดน้อยใหญ่ กลายเป็นแหล่งปลูกข้าว ในที่สุดทำนาทดน้ำ ผลิตข้าวได้มากไว้เลี้ยงคนจำนวนมาก ทำให้ชุมชนหมู่บ้านเริ่มแรกเมื่อติดต่อชุมชนห่างไกลก็เติบโตเป็นเมือง, รัฐ, อาณาจักร”

“สยาม เป็นชื่อดินแดน ที่คนพวกอื่นซึ่งอยู่ภายนอกใช้เรียกบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำโขงตอนบนอย่างกว้าง ๆ หลวม ๆ … สยามไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์หนึ่งใดโดยเฉพาะ แต่ใช้เรียกกลุ่มคนที่อยู่ดินแดนสยามว่า ‘ชาวสยาม’ โดยไม่จำกัดชาติพันธุ์หรือชาติภาษา แต่มักสื่อสารกันทั่วไปด้วยตระกูลภาษาไทย-ลาว ซึ่งเป็นภาษากลางทางการค้าภายในสมัยโบราณ”

แม้ความเชื่อที่ว่า เสียมกุก คือชาวสยามและบรรพบุรุษสาขาหนึ่งของคนไทยนั้นค่อนข้างเป็นเอกฉันท์ แต่คำอธิบายเชิงว่าด้วย “ตัวตน” ที่แท้จริงของพวกเขาว่าเป็นคนกลุ่มไหน หลักแหล่งแห่งที่คือบริเวณใดของประเทศไทย หรืออุษาคเนย์ ประเด็นนี้ยังถูกย่อยออกเป็นหลายทิศทาง

นักวิชาการตะวันตกเชื่อว่าเสียมกุกคือกองทัพสยามจากรัฐสุโขทัย ส่วน จิตร ภูมิศักดิ์ เสนอว่า เป็นชาวสยามแห่งลุ่มน้ำกก บริเวณจังหวัดเชียงราย ขณะที่เอกสารจีนเองเรียกผู้คนในแคว้นสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ว่าพวก “เสียน” หรือ “เสียม” เช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีความไม่สอดคล้องบางประการในแนวคิดเหล่านี้ เพราะกลางพุทธศตวรรษที่ 17 หรือช่วงเวลาที่เกิดภาพสลัก “เสียมกุก” บนระเบียงประวัติศาสตร์นั้น ทั้งสุโขทัย ดินแดนลุ่มน้ำกก และแคว้นสุพรรณภูมิ ยังไม่ใช่บ้านเมืองใหญ่โตหรือรัฐขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรัฐสุโขทัย ซึ่งเพิ่งมาสถาปนาหลังจากนั้นเกือบ 100 ปี

ขบวนแห่ของชาวสยามหรือ “เสียมก๊ก” สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยกล่าวว่า คนกลุ่มนี้เป็นพวกที่อยู่รัฐและบ้านเมืองบริเวณสองฝั่งโขงที่เป็นเครือญาติใกล้ชิดสนิทสนมของกษัตริย์กัมพูชาในยุคนั้น ไม่ใช่ “กองทัพเมืองขึ้นของขอม” ตามคำอธิบายของนักวิชาการเจ้าอาณานิคมตะวันตก

เสียมกุก ชาวสยามจากลุ่มน้ำโขง

สุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอว่า เสียมกุก คือชาวสยามจากแคว้นศรีโคตรบูร บริเวณแอ่งสกลนคร และมีศูนย์กลางอยู่ที่เวียงจันทน์ (ต้นฉบับสะกด “เวียงจัน”)

เป็นไปได้ว่าชาวสยามจากดินแดนนี้คือเครือญาติกษัตริย์เขมรแห่งเมืองพระนคร โดยเป็นกองทัพจากกลุ่มเมืองอีสานเหนือ “เวียงจัน-ศรีเชียงใหม่” ซึ่งรับวัฒนธรรมทวารวดีจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว ความเจริญดังกล่าวขยายขึ้นไปถึงแอ่งสกลนครและสองฟากแม่น้ำโขง ทำให้บริเวณเวียงจันทน์กับอำเภอศรีเชียงใหม่ (จังหวัดหนองคาย) มีเมืองโบราณขนาดใหญ่อยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเก่าแก่ราวพุทธศตวรรษที่ 14

เวียงจัน-ศรีเชียงใหม่ จึงมีลักษณะเป็นเมืองอกแตก (แม่น้ำโขงผ่ากลางเมือง) รูปร่างไม่สม่ำเสมอแบบเมืองสมัยทวารวดีทั่วไป การตรวจสอบทางโบราณคดีพบรอยคูน้ำคันดินชัดเจนบางตอน ขณะที่ฝั่งอำเภอศรีเชียงใหม่ลบเลือนไปหมดแล้ว แต่มีหลักฐานสำคัญคือศิลปกรรมแบบทวารวดีที่พบได้ทั่วทั้งสองฟากแม่น้ำโขง และหลักฐานจากเอกสารจีนที่กล่าวถึงเมืองสำคัญแห่งหนึ่ง ชื่อ “เหวินถาน” หรือ เวินตาน (Wen Tan) อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงตรงตำแหน่งที่เป็นเวียงจันทน์ในปัจจุบัน ทำให้เชื่อได้ว่า บริเวณนี้มีบ้านเมืองมาตั้งแต่ยุคเจนละ หรือก่อนอาณาจักรเขมรสมัยพระนครแล้ว

นักวิชาการจีนหลายคนเชื่อว่า เหวินถาน ก็คือ ว่านเซี่ยง หรือเมืองเวียงจันทน์ เมืองสำคัญที่เคยติดต่อกับราชสำนักจีนอยู่บ่อยครั้ง

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่า เมืองเวียงจันทน์ มีกำเนิดและพัฒนาการขึ้นพร้อมบ้านเมืองในแอ่งสกลนคร คือบริเวณจังหวัดหนองคาย อุดรธานี นครพนม และสกลนคร อีกนัยหนึ่งคือ มีบ้านเมืองบริเวณสองฟากแม่น้ำโขงบริเวณแอ่งสกลนครมาก่อนลาวล้านช้างจะเคลื่อนย้ายลงมาจากทางเหนือ บริเวณนี้เองเป็นสถานที่ตั้งของแคว้นศรีโคตรบูร

ตำนานอุรังคธาตุ ระบุว่า แคว้นศรีโคตรบูรมีเมืองสำคัญอยู่บริเวณเมืองมรุกขนคร หรือนครพนม และเมืองหนองหานหลวง หรือสกลนคร ภายหลังจึงโยกย้ายไปสถาปนาศูนย์กลางแห่งใหม่ที่เวียงจันทน์ สอดคล้องกับร่อยรอยที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารเหนือ เรื่อง พระยาโคตรบอง

สุจิตต์ วงษ์เทศ ชี้ว่า “เมืองเวียงจันสมัยศรีโคตรบูร คือแว่นแคว้นของชาวเสียม หรือสยาม ที่พัฒนาขึ้นในระยะแรก ๆ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-15 ในสองฟากแม่น้ำโขงของแอ่งสกลนคร ต่อมามีการขยายตัวอย่างใหญ่โตในพุทธศตวรรษที่ 16-17 จึงมีชื่อชาวเสียมหรือ สยาม ในจารึกจามและกัมพูชา โดยเฉพาะ จารึก ‘สยำ กุก’ หรือ “กองทัพสยาม” ที่ระเบียงประวัติศาสตร์ของปราสาทนครวัด คือกองทัพของชาวสยามจากเวียงจัน ชาวสยามจากแคว้นศรีโคตรบูรที่แอ่งสกลนครนี่แหละ ที่ไปสถาปนาแคว้นสุโขทัย”

ข้อสังเกตอีกประการจากภาพสลัก “เสียมกุก” คือการนุ่งผ้าโสร่งแบบให้เชิงผ้าด้านล่างผายเล็กน้อย เป็นผ้านุ่งแบบ “ผู้ไท” ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่พูดภาษาไทย-ลาว และนับเป็นชาวสยามสาขาหนึ่งของพื้นที่แถบนี้ ชาวผู้ไทกระจายตัวอยู่ตลอดแนวเส้นทางการค้าของดินแดนภายในจากลุ่มแม่น้ำแดง-ดำในเวียดนาม ถึงลุ่มน้ำโขง

ชาวสยามแห่งลุ่มน้ำโขง (ผู้ไทและชาติพันธุ์อื่น ๆ) ยังมีเครือข่ายและการติดต่อสัมพันธ์กับชาวสยามในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือแคว้นสุพรรณภูมิ ที่ต่อมาสามารถสถาปนาอำนาจในกรุงศรีอยุธยาแทนที่วงศ์ละโว้ รัฐอยุธยาจึงใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลาง ภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์ และเป็นที่รู้จักในเอกสารชาติตะวันตกว่า “ราชอาณาจักรสยาม”

ภาพถ่ายนครวัด เมื่อ ค.ศ. 1866 โดย Emile Gsell

สยำ กุก” ที่ระเบียงคดปราสาทนครวัด จึงไม่ใช่คนสยามจากสุโขทัย เพราะยังไม่มีรัฐสุโขทัย รวมถึงไม่ใช่คนสยามจากลุ่มน้ำกกหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่เป็นกองทัพสยามจากแคว้นศรีโคตรบูร แอ่งสกลนคร อันมีศูนย์กลางอยู่ที่ “เวียงจัน-ศรีเชียงใหม่” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2549). “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน.

มติชนสุดสัปดาห์. ผู้ไท ‘ชาวสยาม’ ลุ่มน้ำโขง-เจ้าพระยา. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 – 22 กรกฎาคม 2564. จาก https://www.matichonweekly.com/sujit/article_444394


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2566