กิน-ดื่มอย่างอียิปต์ยุคดึกดำบรรพ์ กินอะไร ดื่มอะไร

ภาพวาด ชาวนา อียิปต์โบราณ อาหาร
วิถีชีวิตชาวนาอียิปต์โบราณขึ้นกับวงจรการเกษตร ภาพวาดกำแพงสุสานคนตายสะท้อนภาพเป็นจริงของชาวนา ตั้งแต่การเพาะปลูก จนถึงการถูกเรียกเก็บภาษีพืชผลจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ภาพจิตรกรรม ภาพสลักของ อียิปต์โบราณ ล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ อาหาร ทั้งสิ้น ภาพจิตรกรรมในสุสานฝังศพหลายแห่งแสดงการปรุงและเตรียมเสบียงอาหารจำนวนมาก เพื่อผู้ตายในโลกอนาคต

อียิปต์โบราณ กินอะไรเป็นอาหาร?

ชาวอียิปต์ที่กินดีอยู่ดีใช้ระยะเวลาตลอดชีวิตเตรียมตัวเผชิญกับความตาย โดยหวังว่าจะนำทรัพย์สินทุกอย่างที่เคยเสพสุขติดตัวไปเมื่อสิ้นใจ ในพิธีศพของผู้มั่งมีจึงแสดงให้เห็นตำแหน่งเชื้อสายของตระกูล โดยเฉพาะการสวดอ้อนวอนให้มีการอุทิศส่วนกุศลเป็นอาหารอย่างต่อเนื่อง

Advertisement
ภาพสลักในสุสานฝังศพราโฮเทป ที่เมย์ดัม แสดงอาหารชนิดต่างๆ ที่ใช้เป็นเครื่องสังเวยศพ

อักษรภาพเฮโรกลิฟ แสดงให้เห็เครื่องสังเวยเป็นอาหาร ตั้งแต่อาหารหลักทั่วไปอย่างขนมปังและเบียร์ ไปจนถึงเนื้อสัตว์, ผัก, ผลไม้, น้ำมันพืช ฯลฯ

โดยมีข้าวสาลีหรือข้าวบาร์เลย์เป็นวัตถุดิบสำคัญ ซึ่งในยุคแรกสุดไม่มีข้อแตกต่างระหว่างข้าวทั้งสองพันธุ์ ที่ต่างถูกเรียกชื่อเพียงว่า “ข้าว” โดยไม่แบ่งแยกชนิด

ข้าว คืออาหารหลักและสำคัญต่อการบำรุงร่างกาย โดยกำหนดให้เป็นรายการใหญ่ในการปันส่วนอาหาร สำหรับจ่ายเป็นค่าจ้างแรงงานของราชวงศ์ ภาพตลาดที่เห็นจากสุสานฝังศพแสดงการแลกเปลี่ยนกระสอบข้าวกับสินค้าทุกประเภท

ข้าวเป็นพืชผลที่ใช้ชำระภาษี แต่ละปีผู้ประเมินราคาจะวัดขนาดทุ่งนาและเก็บตัวอย่างเมล็ดข้าว เพื่อประมาณการพืชผล เมื่อต้องการจะเรียกเก็บภาษี และในฤดูเก็บเกี่ยว คนเก็บภาษีจะกลับมาจดบันทึกและตรวจยุ้งข้าว พร้อมทั้งกำกับดูแลการขนส่งภาษีไปยังที่ทำการของรัฐหรือฉางของวิหาร

พื้นที่แผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลสำหรับการเพาะปลูก ทำให้อียิปต์สามารถส่งข้าวเป็นสินค้าออกจำนวนมาก โดยเฉพาะสู่กรุงโรมในยุคหลังสุด

ฟายัม (Fayum) คือพื้นที่การเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร น้ำจากทะเลสาบมูริส (Moeris) ถูกชักมาใช้สำหรับการชลประทาน กษัตริย์ อียิปต์โบราณ หรือฟาโรห์หลายพระองค์ในราชวงศ์ที่ 12 ทรงดำริให้ถมทะเลเป็นแผ่นดินเพื่อการเกษตรกรรม เพื่อลดระดับน้ำทะเลสาบ และเพื่อเพิ่มพื้นที่ดินสำหรับการเพาะปลูก ในระหว่างยุคสมัยปโตเลมี ฟายัมเป็นอาณาบริเวณที่อุดมสมบูรณ์และมีประชากรหนาแน่นที่สุดของอียิปต์

ไม่แน่ชัดว่า สัดส่วนการปลูกข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลีอย่างใดจะมากกว่า แต่กระนั้นข้าวทั้งสองพันธุ์ข้าวถูกนำมาใช้ทำขนมปัง นอกจากนี้ข้าวบาร์เลย์ยังใช้ทำเบียร์ได้อีกด้วย

มีการศึกษาวิเคราะห์ขนมปัง รวมทั้งสิ่งของที่ฝังรวมอยู่กับสุสาน และพบว่า ขนมปังทำจากข้าวสาลีมากกว่าเพื่อน อาจเป็นเพราะข้าวสาลีทำขนมปังได้ดี และเหมาะสำหรับการอุทิศให้ศพ ส่วนขนมปังที่ทำจากข้าวบาร์เลย์มักจะใช้บริโภคในครอบครัวคนจนมากกว่าขนมปังข้าวสาลี

ข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลีใช้ประโยชน์อื่นได้มากมาย โดยเฉพาะเมล็ดสามารถนำไปใช้หุงต้มกับเนื้อหรือผัก หรือใช้ปรุงน้ำแกงให้เข้มข้นหรือเคี่ยวทำเป็นโจ๊ก เมล็ดยังสามารถบดหุงเป็นข้าวต้มได้ ดังเช่นสำรับอาหารสำหรับศพในสุสานสมัยราชวงศ์ที่ 2 ที่ซัคคารา

นอกจากนี้ ขนม เช่นขนมแป้งจี่ หรือขนมข้าวโอ๊ต ก็ทำจากเมล็ดข้าวบดผสมกับน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ แต่อาหารสำคัญที่ผลิตจากข้าวคือ ขนมปัง

ภาพสลัก รูปจำลองและภาพจิตรกรรมของทุกยุคทุกสมัย ล้วนแต่แสดงว่ามีการบดข้าวให้เป็นแป้งปริมาณมากเป็นประจำทุกวัน ในทุกครัวเรือนของชาวอียิปต์

ขั้นแรก เมล็ดข้าวถูกตำด้วยครกหินปูนที่วางบนพื้น ต่อจากนั้นก็จะโม่ข้าวบนหินลาดเอียงทรงจานซึ่งหมุนได้ เครื่องมือโม่ข้าวชนิดนี้ยังไม่ได้แพร่เข้าสู่อียิปต์จนกระทั่งถึงยุคกรีกโรมัน

โม่ข้าว ถูกค้นพบที่ คาฮูน (Kahun) หมู่บ้านช่างก่อสร้างพีระมิด ในสมัยราชวงศ์ที่สิบสอง และที่อมาร์นา (Amarna) หมู่บ้านกรรมกรก่อสร้างที่ใช้แรงงานสร้างเมืองของพระเจ้าอัคเฮนาเตน (Akhenaten) ในสมัยราชวงศ์ที่ 18

นอกจากนี้ ยังพบร่องรอยการสึกกร่อนอันผิดปกติของฟันมัมมี่ สันนิษฐานว่าเกิดจากแร่ที่ไม่บริสุทธิ์เจือปนอยู่ในขนมปังโบราณของอียิปต์ ซึ่งเป็นอาหารหลักของชนทุกชั้น การติดเชื้ออาจมาจากลมทะเลทรายที่พัดพามาในระหว่างการเก็บเกี่ยวข้าว การเก็บรักษาข้าว หรือการสีข้าว หรือว่าเกิดจากชนิดของหินที่นำมาใช้ทำโม่ข้าว

ค.ศ. 1986-1987 สมาคมการสำรวจอียิปต์ ภายใต้การดำเนินงานของหัวหน้าคณะคือ แบร์รี เคมป์ (Barry Kemp) ได้ทดลองหลายวิธีเกี่ยวกับการเตรียมทำขนมปังจากแป้งที่ผลิตจากโม่ข้าว และค้นพบว่า ปราศจากเม็ดทรายและกรวดเจือปน ผิดจากที่คาดคิดไว้มาก

เมื่อเมล็ดข้าวถูกบดแตกแล้วก็จะนำไปร่อนในตะแกรง ซึ่งก็ยังไม่ละเอียดพอที่จะทำเป็นแป้งนุ่มๆ ดังนั้น จึงต้องชุบน้ำให้เปียก แล้วนำมาตากแห้งบนเสื่อ ก่อนนำไปสีเป็นครั้งสุดท้าย

ขนมปังก้อนแบน คือ ขนมปังที่กินกันทั่วไปในอียิปต์ ซึ่งมีวิธีการผลิตไม่แตกต่างกับในปัจจุบันนี้มากเท่าใดนัก แป้งถูกนำมาผสมกับน้ำและใส่เกลือเล็กน้อยในภาชนะขนาดใหญ่ ขนมปังนิ่มทำจากแป้งสาลีและปั้นด้วยมือ ก่อนนำไปอบในเตาไฟที่ทำจากดินเผา

วิธีการทำขนมปังนิ่มแบบเดิมอาจเปลี่ยนแปลงไป เพราะวิธีการทำของชาวอียิปต์ในสมัยต่อๆ มา ภาชนะขนาดใหญ่บรรจุแป้งถูกล้างด้วยน้ำ เพื่อชำระคราบแป้งที่ติดเกรอะกรังอยู่ตามผิวถาดออก แป้งสาลีที่มีการผสมให้มีรสเปรี้ยวถูกนำมาทำเป็นขนมปังในวันรุ่งขึ้น ด้วยวิธีนี้ ขนมปังจะถูกใส่เชื้อเจือปนมานานนับพันๆ ปีในอียิปต์แล้ว

ตัวอย่างการวิเคราะห์ขนมปังและเบียร์ พิสูจน์ว่าชาวอียิปต์รู้จักวิธีใช้ยีสต์ผสมแป้งขนมปังไม่น้อยกว่า 1,500 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว เชื้อชนิดนี้อาจเป็นฟองของเหลว ซึ่งนำมาจากโรงเหล้าอันเป็นกิจการที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับร้านทำขนมปัง

นักเขียนสมัยใหม่บางคน อาทิ ชไวน์เฟอร์ธ (Schweinfurth) และเรซินสกี (Wresinski) อ้างว่า มีการใช้เห็ดราที่ขึ้นตามต้นไม้และก้อนหิน ในการทำขนมปังในอียิปต์ แต่จากเห็ดราซึ่งค้นพบในสุสานฝังศพสมัยราชวงศ์ที่ 21 ที่เดเออร์ เอล-บาห์รี (Deir el-Bahri) ล้วนมีกำเนิดจากยุโรป ไม่มีเห็ดราชนิดที่ใช้สำหรับการปรุง อาหาร เจริญงอกงามในอียิปต์ แหล่งที่มาของเห็ดราใกล้ที่สุดคือแถบภูเขาของโมร็อกโก และพื้นที่บางส่วนบริเวณที่ราบสูงเอธิโอเปีย จึงเกิดข้อสงสัยว่า มีเหตุผลอะไรที่ต้องนำเห็ดรามาจากดินแดนอันห่างไกล

เห็ดราอาจถูกนำเข้ามาใช้สำหรับผลิตน้ำหอมและวัสดุห่อหุ้มมัมมี่ ถึงแม้ว่าการเติมเห็ดราลงไปในขนมปัง อาจช่วยควบคุมคุณภาพและป้องกันแมลงหรือเชื้อรา บางทีชาวอียิปต์อาจไม่ได้นำเข้าเห็ดราจากกรีซในปริมาณมากเพียงพอสำหรับความต้องการพื้นฐานในการใช้ทำขนมปังแต่ละวัน

ภาพสลักการทำขนมปังจากสุสานฝังศพพระเจ้าราเมสที่ 3 ในยุคอาณาจักรสมัยใหม่ตอนปลาย แสดงให้เห็นไม้เรียวยาวใช้ดึงและผลักขนมปังเข้าออกเตาอบ รูปทรงขนมปังโดยทั่วไปเป็นรูปครึ่งวงกลม ซึ่งอักษรภาพเฮโรกลิฟแสดงด้วยพยัญชนะตัวที (T) คำศัพท์ที่ใช้เรียกขนมปังคือ ทา (ta) ขนมปังชนิดนี้วางรวมอยู่ในสุสานฝังศพสมยราชวงศ์ที่ 18 ของพระเจ้าทุทันคามัน (Tutankhamun)

ขนมปังรูปไข่ รูปสามเหลี่ยมและรูปสี่เหลี่ยม ล้วนแต่ปรากฏรวมอยู่กับเครื่องสังเวย บางก้อนมีรอยเฉือนทั่วเปลือกขนมปัง ซึ่งช่วยให้ผิวราบเรียบสม่ำเสมอ ขนมปังบางก้อนทำเป็นรูปสัตว์ รูปคน หรือรูปทรงประหลาดอื่นๆ ที่นิยมใช้กันในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่นเทศกาลเนื่องในศาสนา ขนมปังบางก้อนอาจมีรสหวานและปรุงผสมด้วยถั่วและเครื่องเทศ

หม้อซึ่งปั้นจากดินโคลนบนแกนไม้หมุน ส่วนมากจะแตกเพราะแรงอัดของขนมปัง บริเวณภาคกลางของอมาร์นาค้นพบเศษชิ้นส่วนของแบบพิมพ์ขนมปังทิ้งกระจายอยู่นับพันชิ้น ใกล้กับแหล่งผลิตที่อยู่ข้างวิหารใหญ่ การทดลองทำขนมปังโดยใช้แบบพิมพ์เหล่านี้ ปรากฏว่าได้ผลดีและกินได้ ซึ่งชาวอียิปต์เรียกว่าคือ “ขนมปังเทศกาล”

รูปจำลองสุสานฝังศพและภาพจิตรกรรมจำนวนมาก แสดงแบบพิมพ์ขนมปังที่ถูกเผาบนเตาไฟ เป็นไปได้ว่า การเผาหม้อให้ร้อนก่อนช่วยเร่งการผิงขนมปัง การหล่อลื่นภายในหม้อโดยเพิ่มอุณหภูมิความร้อนและเผาซ้ำหลายครั้ง เพื่อทำให้ผิวหม้อไม่ติดแป้ง ขนมปังผิงจากหม้อจำนวนมากพบอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมเปลือก ซึ่งแสดงว่าขนมปังมิได้ติดแบบพิมพ์แม้สักก้อน แบบพิมพ์ด้านในยังมีลวดลายนูนที่ผิวเพื่อทำให้ขนมปังมีลวดลายแปลกๆ

ยังมีขนมปังทำจากแป้งสาลีปรุงรสด้วยไขมัน นม ไข่ หรือผลไม้ อาทิ ขนมปังที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เกษตรกรรมดอกกี้ (Dokki Agriculture Museum) ในกรุงไคโร ทำจากอินทผลัมป่นสอดไส้เป็นชั้นระหว่างแป้งแผ่นกลมสองชิ้น กองขนมปังรูปสามเหลี่ยมสีน้ำตาลที่วางสุมอยู่ท่ามกลางเครื่องสังเวย สันนิษฐานว่าคือขนมเค้กน้ำผึ้ง ซึ่งเป็น อาหาร ฟุ่มเฟือยที่นิยมกันแพร่หลาย โดยมีรูปทรงแบบต่างๆ ทำจาก “ร้านทำขนม”

อักษรภาพเฮโรกลิฟ ระบุชนิดของขนมปังไว้มากกว่า 32 อย่าง ขนมเค้กและขนมปังกรอบเป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเรียกชื่อเฉพาะแต่ละชนิดได้ทั้งหมด เพราะมีทั้งที่ทำจากลูกเบอร์รี่ และลูกปาล์ม เป็นต้น แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าขนมปังเหล่านั้นมีวิธีทำอย่างไร หรือผลไม้ถูกนำไปผสมกับแป้งได้อย่างไร หรือกับส่วนผสมอื่นๆ มีอะไรบ้าง

ภาพสลักแสดงวิธีการทำขนมปังและเบียร์ จากสุสานฝังศพในวิหารเฮเทปเฮราคท์

นอกจากนี้ยังมีขนมปังชนิดอื่นได้แก่ขนมปังที่ทำจากข้าวบาร์เลย์หยาบ ซึ่งใช้ในการทำเบียร์ และเบียร์คือเครื่องดื่มของคนทั่วไป และคือเครื่องดื่มสามัญประจำที่ใช้สังเวยพิธีศพ ความแรงของเบียร์สังเกตจากสี เบียร์แดงเป็นที่นิยมดื่มกันทั่วไป แต่เบียร์ดำแรงที่สุด ทุกครัวเรือนจะเตรียมสำรองเบียร์ไว้ดื่มกันจำนวนมากตลอดเวลา ขณะที่คนร่ำรวยสามารถสั่งและนำเบียร์จากซีเรียและนูเบียเข้ามาในอียิปต์ได้

กระบวนการผลิตเบียร์คล้ายคลึงอย่างมากกับวิธีการที่ชาวซูดานเคยทำเครื่องดื่มมึนเมา ที่เรียกว่าบัวซา (Bouza) ขนมปังหนาฟูถูกอบเพียงบางส่วน เพื่อไม่ให้ทำลายเอนไซม์ ซึ่งช่วยให้เกิดส่าเหล้า ขนมปังถูกผสมน้ำละลายลงเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และบางทีก็ปนกับเมล็ดข้าวบาร์เลย์ที่ป่นแล้ว เพื่อทำแป้งเป็นเหล้าในสภาพอากาศอบอุ่น น้ำที่เคี่ยวข้นหนาจะไหลกรองผ่านตะแกรงสู่หม้อต้มหมักขนาดใหญ่ แล้วจึงรินใส่ไหขนาดเล็ก

บางครั้งอาจเติมผักหรือผลไม้ลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติให้แก่เบียร์ ซึ่งโดยปกติจะได้แก่อินทผลัม แต่ดอกฮอพ ซึ่งใช้ปรุงเบียร์ยุคปัจจุบัน ยังไม่เป็นที่รู้จักของชาวอียิปต์ในเวลานั้น

ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ฮีโรโดตัส (Herodotus) เอ่ยถึงไวน์อียิปต์ ที่ทำมาจากข้าวบาร์เลย์ด้วย หากบันทึกการสังเกตการณ์ของเขา เบียร์เป็นเครื่องดื่มมึนเมาที่หาง่ายที่สุด และผลิตในอียิปต์

ดิโอโดรัส (Diodorus) บันทึกไว้ในศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาลว่า เบียร์อียิปต์มีรสชาติและกลิ่นไม่ด้อยกว่าไวน์เท่าใดนัก

ชาวอียิปต์เห็นว่าเบียร์เป็นสิ่งหนึ่งสำหรับดื่มให้มึนเมา เพื่อความสำราญแก่ชีวิต และในเทศกาลบูชาเทพธิดาฮาเธอร์ (Hathor) ที่เดนดีรา (Dendera) มีเบียร์จำนวนมากบริการแก่ผู้แสวงบุญ อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการดื่มของมึนเมาก็มีเช่นกัน ดังข้อความตอนหนึ่งในเอกสารของนักเรียนในสมัยราชวงศ์ที่ 19 ตักเตือนให้เห็นความชั่วร้ายของเบียร์ว่า

“ข้าพเจ้าถูกสอน…เมื่อเดินผ่านถนนสู่ถนนที่มีกลิ่นเบียร์เหม็นคลุ้ง เบียร์จะทำให้เราหมดสิ้นความเป็นผู้ชาย และทำให้วิญญาณของเราตกนรก เราก็เหมือนกับเรือไม่มีหางเสือเหมือนกับเจ้าไม่มีศาล เหมือนกับบ้านไม่มีขนมปัง”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก บุญยก ตามไท. “กิน-ดื่ม อย่างอียิปต์ยุคดึกดำบรรพ์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2536 (ซึ่งแปลและเรียบเรียงจาก Egyptian Food and Drink by Hilary Wilson)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2565