“ทศกัณฐ์” โดน “นางมณโฑ” ตบหัว 3 ที ผลจากความแสบของ “หนุมาน”

นางมณโฑ ทศกัณฐ์
นางมณโฑ กับ ทศกัณฐ์ (จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ภายในพระระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

ในสถานการณ์การทำศึกระหว่างกองทัพของ พระราม กับฝ่าย ทศกัณฐ์ ที่บีบคั้นอยู่ทุกขณะ นางมณโฑ อยู่เคียงข้างพระสวามีมาโดยตลอด ให้คำแนะนำกลศึก รวมทั้งนางยังร่วมวงต่อสู้กับกองทัพพระรามด้วย

จะเห็นได้จากเมื่อแสงอาทิตย์และจิตรไพรีพ่ายแพ้กองทัพพระราม ทศกัณฐ์ยกทัพออกมาสู้รบกับพระรามแต่ก็ไม่สามารถมีชัยชนะเหนือพระรามได้ ในตอนนี้นางมณโฑเสนอแนะให้ทศกัณฐ์ชวนสัตลุงและตรีเมฆซึ่งเป็นพระสหายและพระนัดดามาร่วมรบกับพระราม โดยกล่าวว่า “แต่ละองค์ล้วนทรงกำลังฤทธิ์ ทศทิศเลื่องชื่อลือหาญ จงให้ไปหามาคิดการ ช่วยกันรอนราญไพรี”

อย่างไรก็ตาม แม้สัตลุงและตรีเมฆจะมีกำลังฤทธิ์ แต่ก็ต้องมาตายเพราะไม่สามารถสู้กับพระราม พระลักษมณ์ และหนุมานซึ่งมีอานุภาพยิ่งกว่า

นางมณโฑเองครั้นทราบว่าพระสหายและพระนัดดาของทศกัณฐ์ต้องมาสิ้นชีพ ก็คร่ำครวญถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น “ชลนัยน์ไหลนองคลองเนตร แสนเทเวษเศร้าโทมนัสสา” แล้วกราบทูลพระสวามีให้ยุติการทำศึกจะได้ไม่เกิดความเดือดร้อนแก่กรุงลงกามากไปกว่านี้ กระนั้นทศกัณฐ์ก็ยังคงยืนกรานที่จะทำศึกกับพระรามต่อไป

ทศกัณฐ์ดำเนินกลศึกต่อไปโดยการทำพิธีอุโมงค์ “จำกูจะตั้งอาหุดี พิธีอุโมงค์กาลากิจ ให้คงทนศาสตราปัจจามิตร จึ่งจะคิดไปแก้แค้นมัน” การทำพิธีดังกล่าวทำให้นางมณโฑถูกสุครีพ นิลนนท์ และหนุมาน กลั่นแกล้งโดยการพาตัวนางมณโฑมาอยู่เบื้องหน้าทศกัณฐ์

จากนั้นวานรทั้งสามก็ “เย้าหยอกอรไท คว้าไขว่ฉุดคร่าทั้งสามนาย” นางจึงขอให้ทศกัณฐ์ช่วย “ร้องตรีดหวีดขึ้นทันใด ทรามวัยกอดองค์ยักษี จงช่วยเมียด้วยพระภูมี สามกระบี่ไปพาเอาข้ามา” การทำกิจพิธีของทศกัณฐ์จึงต้องประสบความล้มเหลว เพราะพญายักษ์ทนดูเหล่าวานรมาเย้าหยอกเมียรักของตนไม่ได้

นางมณโฑทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทศกัณฐ์อีกครั้ง เมื่อท้าวมาลีวราชพิพากษาคดีความระหว่างทศกัณฐ์กับพระราม

ผลออกมาคือ ทศกัณฐ์เป็นฝ่ายผิด มิหนำซ้ำยังถูกท้าวมาลีวราชสาปให้ต้องตายจากการต่อสู้กับพระรามอีกด้วย สร้างความอัปยศให้แก่ทศกัณฐ์อย่างมาก นางมณโฑได้ปลอบโยนทศกัณฐ์ให้คิดเอาปัญญาแก้ไขสถานการณ์การทำศึกกับพระรามจะได้มีชัยชนะ “จงคิดอ่านในการจะราวี ให้มีชัยแก่พวกพารา”

ในยามที่ทศกัณฐ์ต้องเผชิญปัญหาเช่นนี้ จะเห็นว่าการที่นางมณโฑคอยอยู่เคียงข้างและพูดให้กำลังใจ ส่งผลให้ทศกัณฐ์ผ่อนคลายจากความตึงเครียดได้ดีทีเดียว “ได้ฟังดั่งอมฤตฟ้า มาโสรจสรงกายากุมภัณฑ์”

เมื่อผ่อนคลายจากความทุกข์ใจแล้ว ทศกัณฐ์ก็เตรียมทำพิธีเผารูปเทวดาและชุบหอกกบิลพัท แต่ก็ถูกเทพบุตรพาลีและเทวดาซึ่งแปลงเป็นพลวานรมาทำลายล้างพิธีอีก ในคราวนี้นางมณโฑทูลแนะนำให้ทศกัณฐ์ตัดศึกโดยการสังหารพิเภกเสีย เพราะหากสังหารพิเภกได้แล้วก็เท่ากับสามารถล้างผลาญศัตรูให้หมดสิ้นไปได้

ทศกัณฐ์เห็นชอบด้วยกับคำแนะนำดังกล่าว จึงนำทัพออกสู้รบกับกองทัพพระราม เพื่อจะสังหารพิเภก ทศกัณฐ์ได้พุ่งหอกกบิลพัทไปยังพิเภก พระลักษมณ์ใช้คันศรปัดหอกไม่ให้ต้องกายพิเภก แต่หอกกบิลพัทได้ปักเข้าที่อกของพระลักษมณ์แทน พระรามเห็นอนุชาต้องอาวุธของข้าศึกก็กริ้วโกรธอย่างมาก จึงแผลงศรพรหมาสตร์ไปยังทศกัณฐ์

ฝ่ายทศกัณฐ์เองก็เจ็บช้ำทั้งกายแล้วกลับมายังกรุงลงกา สถานการณ์ทางฝ่ายพระรามดูเหมือนจะเพลี่ยงพล้ำ เพราะพระลักษมณ์เสียทีแก่ข้าศึก พิเภกกราบทูลพระรามให้ทรงทราบถึงวิธีการแก้ไข โดยให้ไปหายาแก้หอกกบิลพัท ประกอบด้วย ต้นสังกรณีและต้นตู่ตัวตรีชวา ซึ่งอยู่ที่เขาสัญชีพสัญญี มูลโคพระศุลี ที่ถ้ำคีรีอินทกาล หินบดยาใต้บาดาล ซึ่งพญากาลนาครักษาไว้ ส่วนลูกหินสำหรับบดยาอยู่ที่นครลงกา ทศกัณฐ์นำมาใช้เป็นหมอนหนุนนอน

หนุมานไปเก็บต้นยา ไปเอามูลโคอุสุภราช และลงไปใต้บาดาลไปเอาหินบดยา และลำดับสุดท้ายจึงไปยังกรุงลงกาเพื่อไปเอาลูกหินบดยา หนุมานร่ายเวทวิทยาสะกดนิทราให้อสุรีต่างหลับใหลไม่มีสติรู้สึกตัว ด้วยความแค้นของหนุมานเมื่อเห็นทศกัณฐ์อยู่กับองค์อัครชายา “อย่าเลยจะทำประจาน ให้อัประมาณเทวาทุกราศี ทั้งเวทมนตร์ของมันบรรดามี ก็จะอัปรีย์ไปทุกสิ่งอัน”

นั่นก็คือ เอาผมของนางมณโฑผูกติดกับเศียรของทศกัณฐ์ พร้อมกับสาปไม่ให้มีเวทมนตร์ใดจะแก้ไขได้ นอกจากคำจารึกที่จารไว้ที่หน้าของทศกัณฐ์

“ว่าถ้าใคร่จะแก้ผม ก้มให้มณโฑมเหสี ตบหัวมึงลงสามที ผมนี้จึ่งหลุดออกไป”

หนุมานหยิบเอาหินบดยาไปไม่รอช้า ไม่ได้รอดูเหตุการณ์อันอัปยศที่จะเกิดขึ้นกับทศกัณฐ์แต่อย่างใด

ท้ายสุด ทศกัณฐ์ต้องตามพระฤาษีมาให้ช่วย พระฤาษีเข้ามาที่กรุงลงกา แต่ก็ไม่สามารถหาทางแก้ผมให้หลุดจากกันได้ เมื่อพบอักษรบนหน้าผากทศกัณฐ์ ก็รู้วิธีแก้ตามที่เขียนบอกไว้

สุดท้าย “ทศกัณฐ์” จำใจบอกให้นางมณโฑตบหัวตนเอง 3 ที จนผมหลุดจากกัน 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งมาจากบทความ “ตัวข้าชื่อว่ามณโฑ ภิญโญยศยอดสงสาร : วิพากษ์ชีวิตนางมณโฑ ชีวิตที่ถูกลิขิตโดยผู้ใด?” เขียนโดย นิพัทธ์ แย้มเดช ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2564