เลิฟซีนแรก ของ “หนุมาน” กับ “นางบุษบามาลี” อัปสรต้องคำสาป

หนุมาน นางบุษบามาลี ฉาก บทอัศจรรย์
จิตรกรรม หนุมานเกี้ยวนางบุษบามาลี ที่วัดพระแก้ว (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เลิฟซีนแรก ของ “หนุมาน” กับ “นางบุษบามาลี” อัปสรต้องคำสาป บังเกิดบทอัศจรรย์ในวรรณคดี รามเกียรติ์

หนุมาน ยอดวานรทหารเอกของพระราม ผู้ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องประสบการณ์รักอันลึกซึ้งกับสตรีมากหน้าหลายตา (และหลากเผ่าพันธุ์) ดังปรากฏในเรื่อง “รามเกียรติ์” วรรณคดีฉบับดัดแปลงจาก “รามายณะ” มหากาพย์เรื่องสำคัญของอินเดียที่แพร่หลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยโบราณ

รามเกียรติ์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์และฉบับสำนวนยุคอยุธยาที่ชำระใหม่ ล้วนมี “บทอัศจรรย์” หรือฉากเลิฟซีนแบบลึกซึ้งของตัวละครอยู่ด้วย เมื่อเป็นเรื่องราวที่มีทั้งมนุษย์ อมนุษย์ (เทพ ยักษ์ ลิง ฯลฯ) และลูกผสมของเผ่าพันธุ์ข้างต้น บทอัศจรรย์ในรามเกียรติ์จึงถูกขับเน้นความอัศจรรย์ยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะตัวละครอย่างหนุมาน

ฉากเลิฟซีนแรกของหนุมาน เกิดขึ้นกับนางอัปสรนางหนึ่ง คือ นางบุษบามาลี ผู้ถูกพระอินทร์สาปลงมาอยู่ที่ “เมืองมายัน” จนกว่าจะพบกับทหารเอกของพระนารายณ์จึงจะพ้นคำสาปและได้กลับขึ้นไปเสวยทิพย์วิมานบนสรวงสวรรค์ดังเดิม เรื่องราวข้างต้นคือตอนที่หนุมานซึ่งขณะนั้นรับหน้าที่เดินทางไปถวายแหวนประจำพระองค์ของพระรามแก่นางสีดา ที่ถูกทศกัณฐ์กักตัวไว้ที่กรุงลงกา เพื่อเป็นสัญญาณว่าพระสวามีของพระนางกำลังเดินทางมาช่วยแล้ว ซึ่งเมืองมายันอยู่ระหว่างเส้นทางไปกรุงลงกาพอดี

เมื่อหนุมานมาถึงเมืองมายัน เห็นว่าเมืองร้างผู้คน จึงเข้าไปสำรวจตรวจตราจนได้พบกับนางบุษบามาลี เมื่อลิงหนุ่มวัยกำหนัดเห็นสตรีผู้งดงามราวนางฟ้านางสวรรค์ จึงเกิดชอบพอนางเข้า แรงปรารถนาทางเพศแผ่ซ่านไปทั่วร่าง หนุมานจึงเข้าไปเกี้ยวพาราสีนางบุษบามาลี พร้อมถามไถ่ว่าเหตุใดแม่นางจึงมาอยู่ตัวคนเดียวในพื้นที่เปลี่ยวร้างเช่นนี้ 

นางบุษบามาลีเล่าว่าตนถูกพระอินทร์สาป เหตุสมรู้ร่วมคิดกับท้าวมายันเพื่อเป็นแม่สื่อให้พระองค์สมหวังกับนางสนมของพระอินทร์ เมื่อพระอินทร์ทราบเรื่องเข้าก็พิโรธแล้วลงมือสังหารท้าวมายัน ทำลายเมืองมายันจนพินาศรกร้างผู้คน ก่อนจะสาปให้นางถูกจองจำอยู่ในเมืองนี้มากว่า 30,000 ปี วิธีถอนคำสาปคือต้องโดนทหารเอกของพระนารายณ์อุ้มนางโยนกลับขึ้นไปบนฟากฟ้า

หนุมานได้ฟังดังนั้นจึงแสดงตัวทันทีว่าเขาคือผู้ที่สามารถปลดปล่อยนางจากความทุกข์ตรมนี้ แต่นางบุษบามาลีไม่เชื่อว่าพญาวานรตนนี้คือ หนุมาน ทหารเอกของพระราม หรือพระนารายณ์อวตาร ผู้คลายคำสาปให้นางได้ วานรหนุ่มจึงอ้าปากหาวเป็นดาว-เดือนพิสูจน์ตน และให้คำมั่นว่าจะช่วยนาง แต่ก็ไม่วายที่จะโลมเล้านางต่อ หวังจะได้เสพสมกับนางก่อนถอนคำสาป ทั้งตัดพ้อว่า หากนางกลับขึ้นไปอยู่บนสรวงสวรรค์ไฉนเลยจะชมเชยนางได้

เมื่อนางบุษบามาลีถูกเย้าหยอกมากเข้าก็บังเกิดแรงปรารถนาทางเพศร่วมด้วยขึ้นมา และยอมมีสัมพันธ์สวาทกับหนุมานในที่สุด

หนุมาน นางบุษบามาลี รามเกียรติ์ จิตกรรรม
จิตรกรรม หนุมานเกี้ยวนางบุษบามาลี ที่วัดพระแก้ว (ภาพจาก Wikimedia Commons / Creative Commons CC0 1.0 Universal Public Domain Dedication)

บทอัศจรรย์ของทั้งคู่มีทั้งพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 และสำนวนกรุงศรีอยุธยา สำหรับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 ทรงเปรียบเทียบ “กิจกรรม” ของทั้งคู่ว่าดุจดังคลื่นลมพายุฝนที่สาดซัดแผ่นดิน ทั้งหลังจากนางเทพอัปสรและพญาวานรได้ปลดปล่อยความใคร่เสพสังวาสกันแล้ว นางบุษบาลีมาลียังบังเกิดความผูกพันกับหนุมาน เพราะรสสวาทและประสบการณ์ทางเพศที่วานรหนุ่มมอบให้นางนั้น ทำให้นางสุขสมเสียยิ่งกว่าได้อยู่บนสรวงสวรรค์เสียอีก ดังบทโอ้โลมปฏิโลมและบทอัศจรรย์ต่อไปนี้

“๏ สุดเอยสุดสวาท  แสนฉลาดลิ้นลมคมสัน

ลวงล่อเลือกว่าสารพัน  ถ้าเช่นนั้นโฉมฉายสบายใจ

ขึ้นอยู่ถึงสวรรค์ชั้นอินทร์พรหม  ใครจะตามไปชมเชยได้

จะลวงกันให้เก้อเอออะไร  พอรู้เท่าเข้าใจอยู่ดอกน้อง

ว่าพลางทางทำทอดสนิท  แนบชิดเชยชมสมสอง

ระทวยทอดกอดเกี่ยวกรตระกอง  ตามทำนองเสน่หาประสาลิง

บังเกิดเป็นคลื่นคลั่งฝั่งสมุทร  กุมภาผุดฝ่าระลอกกลอกกลิ้ง

ฟ้าลั่นครั่นครื้นดังปืนยิง  พยุยิ่งฮือฮือกระพือพัด

ประเดี๋ยวดลฝนตกลงซู่ซู่  ท่วมคูขอบวังทั้งจังหวัด

ถ้อยทีภิรมย์โสมนัส  ตามกำหนัดเสน่หาอาวรณ์ ฯ

๏ เมื่อนั้น  นางบุษบามาลีษรีสมร

ร่วมภิรมย์สมสวาทวานร  อังอรประดิพัทธ์ผูกพัน

ลืมถวิลสิ้นกังวลที่ทนทุกข์  เป็นสุขกว่าได้ไปสวรรค์

อิงแอบแนบนั่งนวดฟั้น  เกษมสันต์สมถวิลยินดี

เห็นวานรหลอนหลอกหยอกเอิน  นางอายเอียงเมียงเมินพักตร์หนี

สัพยอกหยอกหยิกซิกซี้  แย้มสรวลลยวนยีปรีดา ฯ”

ส่วนสำนวนกรุงศรีอยุธยาที่ชำระใหม่ มีบทอัศจรรย์ซึ่งเผยลีลาสังวาสที่ค่อนข้างตื่นเต้นเร้าใจไม่แพ้กันเลย ดังนี้

“๏ อุระแอบแนบทรวงสายสวาท  สมภาสภิรมณ์เกษมสานติ์

สองสมร่วมภิรมย์หัทยางค์  ไม่เสื่อมสร่างในรสะฤๅดี

เพอิญเมฆพิรุณปรายเป็นสายฝน  ให้มืดมนบังแสงพระสูรศรี

เมขลาล่อแก้วในเมฆี  รามสูรไล่ขยี้ขยิกไป

ขว้างขวานประหารกลางเวหา  ดินฟ้าสะท้านลั่นหวั่นไหว

สาครเป็นระลอกกระฉอกไป  มัจฉาว่ายดำผุดในมุจลินท์

มังกรคาบเหราขึ้นชูร่อน  เงือกงูวู่ว่อนในชลสินธุ์

พระพายชายพัดมารวยริน  โกสุมแย้มขยายกลิ่นผกากาง

ก็บ่ายเบี่ยงเลี่ยงไปตามสายลม  จนโพยมมัวมืดสว่างสาง

ต่างเชยต่างชมไม่วายวาง  ก็เสื่อมสร่างในรสราคา ฯ”

จุดร่วมที่เหมือนกันระหว่างพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 กับฉบับสำนวนกรุงเก่าฯ คือ ความอิ่มอกอิ่มเอมใจหลัง “กิจกรรม” ระหว่างนางบุษบามาลีกับหนุมาน เมื่อนางเทพอัปสรได้ลิ้มลองรสชาติแห่งกามารมณ์ก็บังเกิดจิตลุ่มหลงในความสุขสมทางเพศ ไม่ต่างกับหนุมาน ผู้บรรลุเจตนารมณ์และแรงปรารถนา ได้เสพสุขกับนางบุษบามาลีที่งามสะพรั่งอย่างนางฟ้านางสวรรค์ 

อารมณ์ร่วมของคู่หญิง-ชาย ทำให้พวกเขาลืมสิ้นภาวะแวดล้อม ตัวตน และภาระหน้าที่แท้จริงของตนเอง เพราะต่างหลงอยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความสุข อาจเรียกได้ว่าเป็นอาการ “ข้าวใหม่ปลามัน” ดังนี้

“๏ เมื่อนั้น  นางบุษบามาลีเสน่หา

ร่วมภิรมย์ชมรสปรีดา  ด้วยวายุบุตรวุฒิไกร

หัวเหิ่มเริ่มแรกสมรัก  นงลักษณ์สมสนิทพิศมัย

นางรักลุ่มหลงปลงใจ  ไม่คำนึงถึงองค์พระอิศรา

นางลืมไกรลาสสุราไลย  วายุบุตรลืมนารายณ์นาถา

คลึงเคล้าเย้ายวนนางกัลยา  นางลืมนางฟ้าในตรึงศ์ไตร

อนุมานลืมองคตอนุชา  ลูกพระสุริยาเป็นใหญ่

นางลืมทรงบุปผาสุมาไลย  ลูบไล้สุคนธรวยรื่น

ลูกพระพายลืมนารายณ์ใช้มา  ถวายผ้าธำมรงค์ก็ลืมสิ้น

ลืมนิกายกระบี่พลพฤนท์  นางลืมถิ่นราชฐานสวรรยา”

หลังจากได้สติตื่นจากภวังค์แห่งความใคร่ หนุมานจึงส่งนางบุษบามาลีกลับขึ้นไปเสวยทิพย์วิมานบนสรวงสวรรค์ดังเดิม แม้เรื่องราวของนางบุษบามาลีกับหนุมานจะดูเป็นรักที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ แต่กวีก็ได้รังสรรค์เนื้อหาตอนนี้ได้อย่างงดงาม

หนุมาน นางบุษบามาลี รามเกียรติ์ จิตกรรรม
จิตรกรรม หนุมานส่งนางบุษบามาลีกลับสวรรค์ (ภาพจาก Wikimedia Commons / Creative Commons CC0 1.0 Universal Public Domain Dedication)

กล่าวได้ว่า นางบุษบามาลีเป็น “รักแรก” ของหนุมาน แต่หาใช่ “รักเดียว” หรือรักสุดท้ายของทหารเอกพระรามผู้นี้แต่อย่างใด เพราะหนุมานในรามเกียรติ์ ที่ไม่ใช่ “รามายณะ” ยังมี “เมีย” อันหมายถึงสตรีที่ “ได้เสีย” กันอีกกว่า 5,005 คน (ตน) ซึ่งจะนำมาเสนอในอนาคต ขอโปรยไว้ก่อนว่า นอกเหนือจากนางบุษบามาลีแล้ว ยังมีนางเบญจกาย (ยักษ์) นางสุพรรณมัจฉา (ยักษ์ครึ่งปลา) นางวานรินทร์ (ลิง/อัปสรต้องสาป) นางมณโฑ (อัปสร) และสุวรรรณกันยุมา (ยักษ์) กับสนมที่พระรามมอบให้หนุมานหลังเสร็จศึกทศกัณฐ์อีก

เห็นแบบนี้บอกเลยว่า “ไม่เบาเลยนะพ่อ…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุพรรณ พันธุ์ศรี. (2548). “บท (X) อัศจรรย์ในวรรณคดี”. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2566