กลศึกแนวสวาทระหว่าง “หนุมาน-นางมณโฑ-ทศกัณฐ์” พล็อตพิสดารในรามเกียรติ์?

ทศกัณฐ์ นางมณโฑ รามเกียรติ์ จิตรกรรม
นางมณโฑ กับ ทศกัณฐ์ (จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ภายในพระระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

…ในสถานการณ์การทำศึกระหว่างกองทัพของพระรามกับฝ่ายทศกัณฐ์ที่บีบคั้นอยู่ทุกขณะ นางมณโฑ อยู่เคียงข้างพระสวามีมาโดยตลอด ให้คำแนะนำกลศึก รวมทั้งนางยังร่วมวงต่อสู้กับกองทัพพระรามด้วย จะเห็นได้จากเมื่อแสงอาทิตย์และจิตรไพรีพ่ายแพ้กองทัพพระราม ทศกัณฐ์ยกทัพออกมาสู้รบกับพระรามแต่ก็ไม่สามารถมีชัยชนะเหนือพระรามได้ ในตอนนี้นางมณโฑเสนอแนะให้ทศกัณฐ์ชวนสัตลุงและตรีเมฆซึ่งเป็นพระสหายและพระนัดดามาร่วมรบกับพระราม โดยกล่าวว่า

“แต่ละองค์ล้วนทรงกำลังฤทธิ์ ทศทิศเลื่องชื่อลือหาญ จงให้ไปหามาคิดการ ช่วยกันรอนราญไพรี”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แม้สัตลุงและตรีเมฆจะมีกำลังฤทธิ์ แต่ก็ต้องมาตายเพราะไม่สามารถสู้กับพระราม พระลักษมณ์ และหนุมานซึ่งมีอานุภาพยิ่งกว่า นางมณโฑเองครั้นทราบว่าพระสหายและพระนัดดาของทศกัณฐ์ต้องมาสิ้นชีพ ก็คร่ำครวญถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น “ชลนัยน์ไหลนองคลองเนตร แสนเทเวษเศร้าโทมนัสสา” แล้วกราบทูลพระสวามีให้ยุติการทำศึกจะได้ไม่เกิดความเดือดร้อนแก่กรุงลงกามากไปกว่านี้ กระนั้นทศกัณฐ์ก็ยังคงยืนกรานที่จะทำศึกกับพระรามต่อไป

ทศกัณฐ์ดำเนินกลศึกต่อไปโดยการทำพิธีอุโมงค์ “จำกูจะตั้งอาหุดี พิธีอุโมงค์กาลากิจ ให้คงทนศาสตราปัจจามิตร จึ่งจะคิดไปแก้แค้นมัน” การทำพิธีดังกล่าวทำให้นางมณโฑถูกสุครีพ นิลนนท์ และหนุมาน กลั่นแกล้งโดยการพาตัวนางมณโฑมาอยู่เบื้องหน้าทศกัณฐ์ จากนั้นวานรทั้งสามก็ “เย้าหยอกอรไท คว้าไขว่ฉุดคร่าทั้งสามนาย” นางจึงขอให้ทศกัณฐ์ช่วย “ร้องตรีดหวีดขึ้นทันใด ทรามวัยกอดองค์ยักษี จงช่วยเมียด้วยพระภูมี สามกระบี่ไปพาเอาข้ามา” การทำกิจพิธีของทศกัณฐ์จึงต้องประสบความล้มเหลว เพราะพญายักษ์ทนดูเหล่าวานรมาเย้าหยอกเมียรักของตนไม่ได้

นางมณโฑทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทศกัณฐ์อีกครั้ง เมื่อท้าวมาลีวราชพิพากษาคดีความระหว่างทศกัณฐ์กับพระราม ผลออกมาคือ ทศกัณฐ์เป็นฝ่ายผิด มิหนำซ้ำยังถูกท้าวมาลีวราชสาปให้ต้องตายจากการต่อสู้กับพระรามอีกด้วย สร้างความอัปยศให้แก่ทศกัณฐ์อย่างมาก นางมณโฑได้ปลอบโยนทศกัณฐ์ให้คิดเอาปัญญาแก้ไขสถานการณ์การทำศึกกับพระรามจะได้มีชัยชนะ “จงคิดอ่านในการจะราวี ให้มีชัยแก่พวกพารา”

ในยามที่ทศกัณฐ์ต้องเผชิญปัญหาเช่นนี้จะเห็นว่าการที่นางมณโฑคอยอยู่เคียงข้างและพูดให้กำลังใจ ส่งผลให้ทศกัณฐ์ผ่อนคลายจากความตึงเครียดได้ดีทีเดียว “ได้ฟังดั่งอมฤตฟ้า มาโสรจสรงกายากุมภัณฑ์”

เมื่อผ่อนคลายจากความทุกข์ใจแล้ว ทศกัณฐ์ก็เตรียมทำพิธีเผารูปเทวดาและชุบหอกกบิลพัท แต่ก็ถูกเทพบุตรพาลีและเทวดาซึ่งแปลงเป็นพลวานรมาทำลายล้างพิธีอีก ในคราวนี้นางมณโฑทูลแนะนำให้ทศกัณฐ์ตัดศึกโดยการสังหารพิเภกเสีย เพราะหากสังหารพิเภกได้แล้วก็เท่ากับสามารถล้างผลาญศัตรูให้หมดสิ้นไปได้

ทศกัณฐ์เห็นชอบด้วยกับคำแนะนำดังกล่าว จึงนำทัพออกสู้รบกับกองทัพพระราม เพื่อจะสังหารพิเภก ทศกัณฐ์ได้พุ่งหอกกบิลพัทไปยังพิเภก พระลักษมณ์ใช้คันศรปัดหอกไม่ให้ต้องกายพิเภก แต่หอกกบิลพัทได้ปักเข้าที่อกของพระลักษมณ์แทน พระรามเห็นอนุชาต้องอาวุธของข้าศึกก็กริ้วโกรธอย่างมาก จึงแผลงศรพรหมาสตร์ไปยังทศกัณฐ์

ฝ่ายทศกัณฐ์เองก็เจ็บช้ำทั้งกายแล้วกลับมายังกรุงลงกา สถานการณ์ทางฝ่ายพระรามดูเหมือนจะเพลี่ยงพล้ำ เพราะพระลักษมณ์เสียทีแก่ข้าศึก พิเภกกราบทูลพระรามให้ทรงทราบถึงวิธีการแก้ไข โดยให้ไปหายาแก้หอกกบิลพัท ประกอบด้วย ต้นสังกรณีและต้นตู่ตัวตรีชวา ซึ่งอยู่ที่เขาสัญชีพสัญญี มูลโคพระศุลี ที่ถ้ำคีรีอินทกาล หินบดยาใต้บาดาล ซึ่งพญากาลนาครักษาไว้ ส่วนลูกหินสำหรับบดยาอยู่ที่นครลงกา ทศกัณฐ์นำมาใช้เป็นหมอนหนุนนอน

หนุมานไปเก็บต้นยา ไปเอามูลโคอุสุภราช และลงไปใต้บาดาลไปเอาหินบดยา และลำดับสุดท้ายจึงไปยังกรุงลงกาเพื่อไปเอาลูกหินบดยา หนุมานร่ายเวทวิทยาสะกดนิทราให้อสุรีต่างหลับใหลไม่มีสติรู้สึกตัว ด้วยความแค้นของหนุมานเมื่อเห็นทศกัณฐ์อยู่กับองค์อัครชายา “อย่าเลยจะทำประจาน ให้อัประมาณเทวาทุกราศี ทั้งเวทมนตร์ของมันบรรดามี ก็จะอัปรีย์ไปทุกสิ่งอัน”

นั่นก็คือ เอาผมของนางมณโฑผูกติดกับเศียรของทศกัณฐ์ พร้อมกับสาปไม่ให้มีเวทมนตร์ใดจะแก้ไขได้ นอกจากคำจารึกที่จารไว้ที่หน้าของทศกัณฐ์ “ว่าถ้าใคร่จะแก้ผม ก้มให้มณโฑมเหสี ตบหัวมึงลงสามที ผมนี้จึ่งหลุดออกไป” หนุมานหยิบเอาหินบดยาไปไม่รอช้า ไม่ได้รอดูเหตุการณ์อันอัปยศที่จะเกิดขึ้นกับทศกัณฐ์แต่อย่างใด

กลศึกของนางมณโฑที่ช่วยทศกัณฐ์ต่อสู้กับกองทัพของพระราม คือ การทำพิธีสัญชีพ ทศกัณฐ์ได้ถามนางมณโฑถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งก่อนที่นางเป็นข้ารับใช้พระอุมาเทวีว่าพระเทวีได้ประทานสิ่งวิเศษหรือมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ประการใดแก่นางบ้าง นางมณโฑตรึกตรองเห็นว่ามีมนตร์พิธีที่พระอุมาเคยประทานไว้ให้นาง มนตร์นี้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง หากทำพิธีสำเร็จจะเกิดน้ำทิพย์ปลุกคนที่ตายไปแล้วให้ฟื้นคืนชีพมาได้อีกครั้ง และมีอานุภาพมาก ทว่าไม่สามารถเจรจาได้เท่านั้น ดังที่นางบอกเรื่องมนตร์ที่ว่าแก่ทศกัณฐ์ดังนี้

เมื่ออยู่กับพระอุมาเทวี
ยังที่ไกรลาสราชฐาน
นวดฟั้นคั้นบาทมาช้านาน
นงคราญก็ทรงพระเมตตา
จึ่งประทานพระมนต์อันหนึ่ง
ลึกซึ้งสุขุมหนักหนา
ให้ทำตบะกิจวิทยา
ชื่อว่าสญชีพพิธี
จะเกิดน้ำทิพย์อันวิเศษ
ดั่งอมฤตตรีเนตรเรืองศรี
บรรดาใครม้วยช่วยชีวี
รดด้วยน้ำนี้ก็เป็นมา
จะใช้สิ่งใดก็ใช้ได้
เรืองฤทธิไกรแกล้วกล้า
ทั้งรู้เหาะเหินเดินฟ้า
แต่เจรจาไม่ได้ดั่งใจคิด [11]

อย่างไรก็ตาม การทำพิธีหุงน้ำทิพย์จะเสื่อมความขลัง หากประกอบกามกิจในการประกอบพิธี ดังที่นางมณโฑบอกทศกัณฐ์ถึงข้อจำกัดของการทำพิธีไว้ว่า “แต่ในลัทธิวิทยา ห้ามความเสน่หายิ่งนัก”

สิ่งที่นางกำชับก็คือให้พระสวามีห้ามใจไม่กำหนัดในรสรัก “จงทรมานอดใจให้จงหนัก อย่าอาลัยในที่รสรัก จงยกพลยักษ์ไปชิงชัย”

อนึ่ง สิ่งที่นางมณโฑขอร้องให้ทศกัณฐ์ระงับความต้องการที่จะร่วมรักกับนาง น่าจะฟ้องรสนิยมทศกัณฐ์เป็นอย่างดี คือ การเสพติดเรื่องเสพสวาทกับสตรีเพศอย่างหนัก เพราะก่อนหน้านั้นพระสวามีของนางก็ไปหลงมัวเมากับสตรีเพศเป็นเวลานาน และความต้องการที่จะเชยชมนางสีดาก็เป็นพลังงานขับเคลื่อนให้ทศกัณฐ์ต้องทำศึก โดยแลกกับความสูญเสียอันใหญ่หลวง เพียงเพราะสนองความต้องการในเรื่องความกำหนัดของตน

นางมณโฑตั้งพิธีในกรุงลงกา เพื่อที่จะ “ส่งทิพย์วารีออกไปให้” ในการทำศึกขณะที่นางมณโฑทำพิธีหุงน้ำทิพย์ ทางฝ่ายของทศกัณฐ์มีทศคีรีวัน ทศคีรีธร และทศกัณฐ์ยกทัพออกไปชิงชัยกับกองทัพพระราม ทศคีรีวัน ทศคีรีธรนั้นเป็นบุตรของทศกัณฐ์อันเกิดจากนางช้าง ซึ่งครั้งก่อนทศกัณฐ์ได้ไปเสพสวาทกับนางช้างนั่นเอง

เมื่อฝ่ายทศกัณฐ์ไม่อาจจะชิงชัยกองทัพฝ่ายพระรามได้ ก็รอรับน้ำทิพย์จากนางมณโฑ น้ำทิพย์ที่ผ่านการประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้กองทัพทศกัณฐ์มีความน่าเกรงขามและน่าสยดสยองยิ่งขึ้น เพราะน้ำทิพย์ของนางมณโฑปลุกโคตรวงศ์ยักษ์ที่ตายไปแล้วให้ฟื้นขึ้นมา “บรรดาที่ม้วยบรรลัย ครั้นได้น้ำทิพย์วาริน ตายเก่าตายใหม่ทั้งไพร่นาย ก็เป็นอสุรกายขึ้นสิ้น ผุดลุกขึ้นจากแผ่นดิน ดั่งหนึ่งว่ามีวิญญาณ”

ในช่วงเวลานี้กองทัพพระรามจึงเหนื่อยอ่อนและไม่สามารถที่จะทำลายกองทัพทศกัณฐ์ให้สิ้นซากได้เลย แม้พระรามจะแผลงศรพลายวาตอันมีฤทธิ์ร้ายแรง แต่อสูรครั้นได้รับน้ำทิพย์ อสูรที่ตายก็กลับมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง “เกลื่อนกลาดขึ้นมาไม่นับได้ สำแดงแผลงฤทธิ์เกรียงไกร กลับเข้าชิงชัยด้วยวานร”

พระรามจึงถามพิเภกถึงสาเหตุที่อสูรยังไม่สิ้นฤทธิ์ เมื่อทรงทราบว่านางมณโฑทำพิธีหุงน้ำทิพย์ ซึ่งกลแก้ศึกก็คือทำลายจุดอ่อนของพิธีนี้ที่ห้ามในเรื่อง “ความประดิพัทธ์เสน่หา” พระรามจึงมีคำสั่งให้หนุมานพานิลนนท์ และชมพูพาน พร้อมด้วยสมุนวานรไปทำลายพิธีนางมณโฑ

หนุมานใช้อุบายทำลายล้างพิธีหุงน้ำทิพย์นางมณโฑโดยแปลงกายเป็นทศกัณฐ์ นิลนนท์แปลงกายเป็นพญาช้าง ชมพูพานแปลงกายเป็นการุณราช ซึ่งเป็นควาญช้าง

วานรทั้งหลายแปลงกายเป็นอสุรา แล้วพากองทัพกลับเข้ากรุงลงกาทำทีว่ามีชัยชนะเหนือกองทัพพระราม หนุมานในร่างแปลงแสดงความประสงค์ “ขอชมเทวีให้สำราญ” โดยที่นางมณโฑสำคัญว่าเป็นทศกัณฐ์ และมีชัยชนะกลับมาจริง จึงร่วมรักกับหมุมานด้วยความยินดี

“ค่อยประคองต้องดวงปทุมาลย์ ซาบซ่านในรสกรีฑา ภุมรินร่อนลงประจงเคล้า เรณูเสาวคนธ์บุปผา เป็นละอองต่องทั่วกายา ก็สมเจตนาวานร”

เป็นอันว่าข้อห้ามในระหว่างปฏิบัติกิจทำพิธีหุงน้ำทิพย์โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเสพสังวาสในเวลานี้ หนุมานใช้แผนลวงนางมณโฑแล้วปฏิบัติกิจร่วมรักกับนางมณโฑสำเร็จตามความมุ่งหวัง

ดังนั้น พิธีหุงน้ำทิพย์จึงเสื่อมลงทันที เมื่อทางฝ่ายนางมณโฑไม่ได้ส่งน้ำทิพย์มาให้แก่ทศกัณฐ์ กองทัพยักษ์จึงกลับกลายเป็นรองฝ่ายพระราม ทศกัณฐ์ครั้นรู้ว่ามีเหตุการณ์ผิดสังเกตจึงเลิกทัพกลับมายังกรุงลงกา ทั้งนางมณโฑและทศกัณฐ์จึงตระหนักได้ว่าเสียรู้แก่กลลวงของฝ่ายพระรามแล้ว โดยเฉพาะนางมณโฑเมื่อรู้ว่าพระสวามีที่ตนร่วมรักด้วยนั้นเป็นหนุมานที่แปลงกายเข้ามา ก็ตกใจเพียงสิ้นชีวิต เกิดความละอายใจจนไม่อาจมองหน้าทศกัณฐ์ได้เลย “กัลยาเพียงสิ้นชีวี คิดความอัปยศอดสู ไม่แลดูพักตร์ท้าวยักษี กอดบาทภัสดาเข้าโศกี สลบไปในที่ไสยา”

อย่างไรเสีย แม้นางมณโฑจะเสียตัวแก่หนุมาน ดังที่ทศกัณฐ์กล่าวว่า “ถึงเจ้าเสียกลเสียตัว” แต่ทศกัณฐ์ก็ไม่ติว่านางเป็นหญิงชั่ว “จะตรีชาว่าชั่วก็หาไม่” ยังคงรักนางมณโฑเช่นเดิม

แม้ความอัปยศอดสูจะบาดใจนางมณโฑที่เสียรู้ข้าศึกจนต้องเสียตัว แต่ก็ไม่เจ็บปวดรวดร้าวเท่ากับการสูญเสียพระสวามี เพราะหลังจากฝ่ายพระรามทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์นางมณโฑสำเร็จแล้ว ทศกัณฐ์ออกรบอีกเป็นครั้งที่ 5 ก็เสียรู้กลอุบายแก่หนุมานตามเดิม ถูกหนุมานลวงเอากล่องดวงใจของทศกัณฐ์มาได้สำเร็จ

ทศกัณฐ์รู้แน่ชัดว่าไม่สามารถจะสู้กับศัตรูได้แล้ว เพราะหัวใจของตนอยู่ในเงื้อมมือศัตรู ก็กลับมายังกรุงลงกาเพื่อที่จะบอกลานางมณโฑ “อันตัวของพี่จะบรรลัย ทรามวัยค่อยอยู่ให้จงดี”

นางมณโฑวิงวอนให้ทศกัณฐ์ยั้งคิดส่งตัวนางสีดากลับคืนไป เพื่อรักษาชีวิตของตนไว้ “อย่าเพ่อออกไปราญรอน ภูธรยั้งคิดดูให้ดี จงส่งนางสีดาโฉมฉาย ไปถวายพระรามเรืองศรี พระองค์ก็จะคงชีวี ภูมีจะได้อยู่ด้วยเมียรัก” แต่ทศกัณฐ์ก็ยังคงยืนยันที่จะสู้กับพระรามโดยให้เหตุผลไว้ว่า “ถึงกรรมจำสิ้นชีวี มารศรีจะให้ส่งนางสีดา จะรู้ที่ส่งไปกระไรได้ ดวงใจพี่ยอดเสน่หา”

และเพื่อธำรงศักดิ์ศรีแห่งสุริยวงศ์ซึ่งต้องรักเกียรติมากกว่าความขี้ขลาด “เราเป็นสุริยวงศ์พรหมินทร์ จะให้โลกดูหมิ่นนั้นจนใจ สู้ตายไม่เสียดายชีวัน จะย่อท้อต่อมันกระไรได้ ตัวพี่ก็ชายอาชาไนย ไม่คิดอาลัยแก่ชีวี”

สงครามระหว่างฝ่ายพระรามกับทศกัณฐ์หลังจากที่ยืดเยื้อมาเนิ่นนานก็ถึงครายุติ เมื่อพระรามแผลงศรต้องอกทศกัณฐ์ พร้อมกับที่หนุมานขยี้ดวงใจทศกัณฐ์จนแหลกเหลว ทศกัณฐ์ขาดใจตายในทันที

นางมณโฑครั้นได้ทราบแน่ชัดว่าทศกัณฐ์ตายแล้ว ก็ครวญอาลัยรักทศกัณฐ์ เจ็บปวดรวดร้าวใจยิ่งนัก นางตระหนักดีว่าหนทางต่อไปในกาลข้างหน้าเมื่อไม่มีทศกัณฐ์แล้วก็ย่อมมีแต่ความลำบาก เนื่องด้วยไม่มีที่พึ่งพิง คงกล้ำกลืนฝืนทนด้วยความทุกข์ทุกเวลา

นางมณโฑว่าโอ้พระทรงฤทธิ์
ทั่วทั้งทศทิศไม่หาได้
ควรหรือมาสวรรคาลัย
หนีไปฟากฟ้าดุษฎี
ทิ้งข้าน้อยไว้ให้ลำบาก
จำจากใต้เบื้องบทศรี
อยู่หลังตั้งแต่จะโศกี
แสนทวีด้วยเทวษทุกเวลา [12]

หลังจากทศกัณฐ์ตายไปแล้ว ชีวิตนางมณโฑยังคงโลดแล่นต่อไป เพียงแต่ขาดสีสันและความมีชีวิตชีวาเป็นอันมาก นางอยู่ภายใต้การครอบครองของพิเภก ผู้เป็นน้องของพระสวามีองค์ก่อน

เมื่อครั้งที่ทศกัณฐ์จะตายนั้น นางมณโฑตั้งครรภ์มาก่อนแล้ว 1 เดือน พอพิเภกได้รับการแต่งตั้งจากพระรามให้ครองกรุงลงกา นางมณโฑก็ประสูติไพนาสุริยวงศ์ ภายหลังไพนาสุริวงศ์ได้รับนามใหม่ว่าทศพิน ลูกของนางได้สร้างความร้าวฉานให้แก่พิเภก และสร้างความลำบากใจให้แก่นางมณโฑ เพราะทศพินก่อชนวนเหตุแห่งสงครามไม่สิ้นสุด และภายหลังทศพินก็ถูกสำเร็จโทษถึงแก่ประหารชีวิต

เป็นอันว่าลูกของนางมณโฑจึงเหลือเพียงองคตที่เกิดแต่พาลีซึ่งยังมีชีวิตอยู่ กับนางสีดาบุตรีที่พรากจากนางไปตั้งแต่ยังไม่รู้เดียงสา ซึ่งภายหลังนางสีดาก็ได้ครองรักกับพระรามอย่างมีความสุข โดยไม่ได้เฉลียวใจแต่อย่างใดเลยว่าใครคือแม่บังเกิดเกล้าของนาง

กล่าวได้ว่าเมื่อทศกัณฐ์ตายไป นางมณโฑเป็นพระมเหสีของพิเภก บทบาทความสำคัญของนางก็ลดลงอย่างชัดเจน เนื้อเรื่องตอนท้ายบทละครรามเกียรติ์ไม่ได้กล่าวถึงนางมณโฑอีกเลย…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[11] กรมศิลปากร กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ (หมวดบันเทิงคดี) บทละครเรื่องรามเกียรติ์ : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2540), น. 289.

[12] เรื่องเดียวกัน, น. 406.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตัวข้าชื่อว่ามณโฑ ภิญโญยศยอดสงสาร : วิพากษ์ชีวิตนางมณโฑ ชีวิตที่ถูกลิขิตโดยผู้ใด?” เขียนโดย นิพัทธ์ แย้มเดช ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564