ทศกัณฐ์คลั่งรัก? “มีเมียเป็นช้าง เป็นปลา” ฟัดนางสวรรค์หกชั้นฟ้า

จิตรกรรม รามเกียรติ์ นางมณโฑ ทศกัณฐ์
นางมณโฑ กับ ทศกัณฐ์ (จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ภายในพระระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

ทศกัณฐ์ ใน รามเกียรติ์ ผู้คลั่งรัก? มีเมียเป็นช้าง เป็นปลา ทั้งยังฟัดนางสวรรค์หกชั้นฟ้า! 

ในวัดพระแก้วมียักษ์ทวารบาลอยู่ 6 คู่, ด้านตะวันตก (คือด้านที่นักท่องเที่ยวเข้า) มี 3 คู่ คือ จักรวรรดิ-อัศกรรณมารา, ทศกัณฐ์-สหัสสเดชะ (อยู่ประตูที่นักท่องเที่ยวเข้า) และ มัยราพณ์-วิรุณจำบัง

ด้านตะวันออก (ด้านกระทรวงกลาโหม) สุริยาภพ-อินทรชิต อยู่ประตูหน้าปราสาทเทพบิดร, มังกรกัณฑ์-วิรุฬหก (ประตูหน้าพระอุโบสถพระแก้ว) วนขวามาด้านใต้สุดระเบียงก็จะมีประตูออกไปพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยและพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องออกประตูนี้

ที่หน้าประตูนี้แหละครับ (ด้านใน) จะมียักษ์หน้าตาประหลาดคู่หนึ่ง ซึ่งบรรดาท่านทั้งหลายน้อยคนนักที่จะเคยเห็น เพราะโขนไม่เคยนำมาเล่น คือ ตัวเป็นยักษ์แต่หน้าเป็นช้าง คือ จมูกเป็นงวงช้าง ยักษ์ 2 ตนนี้เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน ตนพี่ชื่อ ทศคีรีวัน ตนน้องชื่อ ทศคีรีธร

นี่เป็นชื่อที่เราเรียกตามถนัดปากแบบลากเข้าความซึ่งตนเข้าใจ แต่ชื่อที่แท้ของเขานั้นคือ ทศกิริวัน-ทศกิริธร เพราะแม่ของเขาเป็นช้าง (กรี = ช้าง) แต่ชาวบ้านไม่เข้าใจศัพท์ กรี หรือ กิริ, เลยลากเข้าศัพท์ คีรี (ภูเขา) ไป ส่วนพ่อของเขาคือ ทศกัณฐ์

“ถ้างั้นทศกัณฐ์ก็มีเมียช้างนะซิ” ท่านอาจจะถาม

ก็ต้องขอตอบว่า “ใช่ครับ”

อย่าว่าแต่ช้างเลยครับ ลงพ่อหน้ามืดขึ้นมา ปลาก็เอา ก็นางสุพรรณมัจฉานั่นไงละ ลูกใคร

อาการคลั่งรักของ “ทศกัณฐ์” ใช่ว่าจะเกิดตอนหนุ่มๆ นะครับ เมียก็มีแล้วถึง 2 คน คือ นางกาลอัคคี ธิดาพญานาค กับ นางมณโฑ แล้วก็ยังนางสนมกำนัลอีกนับพัน ก็ยังไม่หายง่าน

นางมณโฑกับทศกัณฐ์ (จิตรกรรมฝาผนังเรื่อง รามเกียรติ์ ภายในพระระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

ก่อนหน้านี้ ทศกัณฐ์ก็ไปฟัดนางสวรรค์จนเกลี้ยง 6 ชั้นฟ้า (ฉกามาพจร) มาแล้ว

ลองมาดูวิธีทำของท่านซิ ว่าท่านทำยังไง

“ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ
เสวยสุขสวรรยาโอฬาร
ด้วยฝูงบริวารนารี
มิได้อิ่มใจในรสรัก
พระยายักษ์จะใคร่เกษมศรี
ด้วยเทพธิดากัลยาณี
อสุรีเหาะไปเมืองฟ้า
มาถึงพิภพมัฆวาน
ในสถานดาวดึงสา (ชั้นของพระอินทร์)
จึงอ่านพระเวทอันศักดา
แปลงเพศกายากุมภัณฑ์
อ่าองค์ทรงโฉมประโลมใจ
ดั่งองค์สหัสสนัยน์รังสรรค์”
แบบนี้มีเท่าไหร่ก็หมด.

“ยุรยาตรนาดกรจรจรัล
เข้าวิมานสุวรรณรุจี
ครั้งถึงนั่งแนบนางฟ้า
ไขว่คว้าด้วยใจเกษมศรี
สัพยอกหยอกเย้าในที
ร่วมรสฤาดีภิรมย์ใจ”
เห็นไหม.

“แล้วเที่ยวไปชมสมพาส
ทุกวิมานมาศน้อยใหญ่
เชยแก้มแนบเนื้ออรไท
ลูบไล้ชมทิพย์สุมามาลย์
เที่ยวไปถึงหกชั้นฟ้า
อสุราเป็นสุขเกษมสานต์
เพลินใจในรสฤดีดาล
ช้านานถึงเจ็ดราตรี”

แล้วอะไรจะเหลือ

ฝ่ายนางฟ้าทั้งหลาย เมื่อรู้ว่าทศกัณฐ์ปลอมเข้ามาเสพสมก็แทบจะสิ้นชีวัน ทั้งโกรธทั้งอาย แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรได้ เพราะเพื่อนนั้นมีฤทธิ์เกินเทวดาสามัญ

รสสวาทของนางสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นฟ้ายังไม่สะใจ, แสวงหารสแปลกใหม่อีก

“แล้วแปลงเป็นมัจฉาไป
ร่วมพิสมัยกับนางปลา
จนเกิดบุตรีวิลาวัณย์
ชื่อนางสุพรรณมัจฉา
แล้วแปลงเป็นพระยาคชา
เที่ยวไปในป่าหิมพานต์
เข้าร่วมภิรมย์สมพาส
สังวาสด้วยนางคชสาร
เป็นสุขสนุกสำราญ
เกิดสองกุมารฤทธี
ชื่อว่ากิริธรกิริวัน
กายนั้นเป็นเพศยักษี
ดวงพักตร์นั้นเหมือนชนนี
อัศกรรณอสุรีไปเลี้ยงไว้”

นี่คือผลงานจากเมียช้างและเมียปลา ส่วนเมียอื่นๆ นั้น

“ฝ่ายนางมณโฑนงลักษณ์
มีโอรสรักพิสมัย
ยิ่งกว่าสริย์วงศ์ในเวียงชัย
ให้ชื่อรณพักตร์กุมารา
อันนางสนมพันอนงค์
ก็ทรงครรภ์คลอดโอรสา
ชื่อสหัสสกุมารอสุรา
พระยายักษ์รักตามอันดับกัน”.

เมียและลูกของทศกัณฐ์ตามบัญชีข้างบนนี้ยังขาดไปคู่หนึ่ง คือ นางกาลอัคคี ราชธิดาของพญากาลนาคราชที่ผมได้กล่าวไว้ข้างต้น นางนี้ได้ก่อนนางมณโฑอีก

ครั้งนั้นพญากาลนาคราชเกิดแค้นเคืองท้าวสหมลิวัน ที่มาตั้งเมืองอยู่ใกล้พิภพบาดาลของตน ซึ่งคาดว่าต่อไปข้างหน้าอาจจะเกิดรุกล้ำเบียดเบียนกันขึ้นได้ ก็คิดกำจัดเสียแต่ต้นมือ ก็ยกนาคโยธามารุกไล่เมืองท้าวสหมลิวัน พวกท้าวสหมลิวันสู้ไม่ได้ก็ไปขอร้องหลานชาย คือ ท้าวลัสเตียน (พ่อของทศกัณฐ์) มาช่วย ท้าวลัสเตียนก็มา และแผลงศรเป็นพญาครุฑจับพญานาคไว้ ฝ่ายพญากาลนาคก็…

“ครั้นครุฑฉุดฉวยอินทรีย์
เจ็บดั่งชีวีจะบรรลัย
จวนตัวกลัวแก่ความตาย
จะคิดอายอัปยศก็หาไม่
ร้องขอชีวิตวุ่นไป
พระองค์จงได้เมตตา”

ด้วยความเมตตา ท้าวลัสเตียนก็ปล่อย พญากาลนาคก็รำลึกพระคุณ

“ไม่มีสิ่งใดฉลองบาท
องค์พระภูวนาถนาถา
จะขอถวายราชธิดา
ไว้ใต้บาทาพระภูมี”

ท้าวลัสเตียนก็ยกให้เป็นมเหสีทศกัณฐ์ เมื่อคราวมอบเมืองให้ มีลูกด้วยกันตนหนึ่งชื่อ บรรลัยกัลป์ ตัวเป็นยักษ์ หัวเป็นนาค ท่านตาขอไปเลี้ยงไว้ในบาดาล.

ลูกนางมณโฑที่ชื่อ รณพักตร์ นั้นภายหลังรบชนะพระอินทร์ จึงได้ชื่อว่า อินทรชิต

บรรดาลูกของทศกัณฐ์เหล่านี้ต้องมาตายในสงครามนางสีดาทั้งสิ้น ยกเว้นนางสุพรรณมัจฉาตัวเดียวที่ถูกเสด็จพ่อใช้ให้ไปทำลายถนนพระราม เลยถูกหนุมานจับเอาทำเมีย, ชั่วแป๊บเดียวมีลูกด้วยกันตัวหนึ่งชื่อมัจฉานุ. เช่นนั้น มัจฉานุก็คือหลานตาของทศกัณฐ์. กรมหลวงพิชิตปรีชากรท่านกล่าวประวัติของมัจฉานุไว้ดี๊ดี

“หลานลมหลานราพณ์ทั้ง   หลานปลา
หลานมนุษย์บุตรมัจฉวา-   นเรศพ้อง
ยลหางอย่างมัตสยา   กายเศวต สวาแฮ
นามมัจฉานุป้อง   กึ่งหล้าบาดาล”

อย่างยอดเลยครับ โคลงบทเดียวบอกได้หมด โคตรวงศ์ทั้งสองฝ่าย เพศ ผิวพรรณ ชื่อ และตำแหน่งงาน

หลานลม ก็คือ หลานพระพาย พ่อหนุมาน (หลานปู่).
หลานราพณ์ ก็คือ หลานทศกัณฐ์ ผู้เป็นพ่อของนางสุพรรณมัจฉา (หลานตา).
หลานปลา ก็คือ หลานของปลาผู้ซึ่งเป็นแม่ของนางสุพรรณมัจฉา (หลานยาย).
หลานมนุษย์ ก็คือ หลานของนางสวาหะผู้เป็นแม่ของหนุมาน (หลานย่า).
บุตรมัจฉ ก็คือลูกปลา-คือนางสุพรรณมัจฉาเอง, วานเรศ = วานร คือหนุมาน.
ยลหางอย่างมัจฉา กายเศวตสวา ก็คือ ตัวเป็นลิงสีกายขาว แต่หางเป็นปลา.
นามมัจฉานุป้องกึ่งหล้าบาดาล คือ มัจฉานุมีหน้าที่ปกป้องภัยที่จะมากระทบเมืองบาดาล และได้ครองเมืองกึ่งหนึ่งด้วย, นี่คือ ตำแหน่ง และหน้าที่.

เมื่อเสร็จสงครามนางสีดาแล้ว แม้จนกระทั่งสิ้นชีวิตของพิเภกแล้ว ใครว่าสิ้นวงศ์ยักษ์ อย่างน้อยเชื้อสายยักษ์ก็ยังมีอยู่ในตัวมัจฉานุนี้ตัวหนึ่ง และอีกตัวหนึ่งก็คืออสุรผัด เพราะเป็นลูกของนางเบญกาย หลานพิเภก

ของพรรณนี้มันไม่สิ้นกันง่ายๆ หรอกครับ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2561