ชาติไหนเป็นเจ้าของ “น้ำพริกเผา”?

น้ำพริกเผา

ใน เกาะลังกา เขามีน้ำพริกเผาอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็น “ลังก๊าลังกา” คือเป็นของพื้นเมืองแท้ๆ ไม่มีใครเหมือน เขาเรียกว่า “สีนิสม์โพล์” (ออกเสียงว่า Seeni Sambol) คนไทยเจอะเข้าก็มักชอบรสชาติแล้วทักกันว่า “อ๋อ น้ำพริกเผา นั่นเอง!”

ปัญหามีอยู่ว่า ทำไมชาวเกาะเห็นเป็นของพื้นเมืองเฉพาะ แต่คนไทยจับได้ว่าเป็นน้ำพริกเผาธรรมดาๆ? คำตอบอยู่ที่

Advertisement

1. สายตาสั้น (หรือมองเฉพาะโลกตะวันตก ไม่ค่อยสนใจไยดีกับสัมพันธ์ที่เขาเคยมีกับโลกตะวันออก)

2. ความสับสนทางภาษา

(ซ้าย) น้ำพริกเผาสูตรลังกา
(ขวา) น้ำพริกเผาสูตรจีน

ภาษาสิงหลของชาวลังกามีปัญหากับการออกเสียงวรรค “จ/ช” คล้ายคนลาว (ชาติ>ซาด) ชาวลังกาเรียกพระจันทร์ว่า “สันทะ” (เขาไม่มีตัว “ซ”) เรียก “จารีต” ว่า “สารีต” เป็นต้น

น้ำพริกเผาที่เขาเรียกว่า “สีนิสม์โพล์” ประกอบด้วยคำว่า “สม์โพล์” ซึ่งแปลว่า “น้ำพริก” ส่วนคำว่า “สีนิ” นั้นแปลได้ 2 อย่าง คือ “จีน” หรือ “น้ำตาลทรายขาว”

แต่เดิมชาวลังการู้จักเฉพาะน้ำตาลต้นตาล ซึ่งเป็นน้ำสีน้ำตาล จึงเหมาเรียกว่า “แปนนี” (น้ำผึ้ง) ต่อมามีสำเภาจีนเข้ามาขายน้ำตาลทรายขาว เขาจึงเรียกว่า “สีนิ” (จีน) ทำนองเดียวกับภาษาอังกฤษเรียกถ้วยชามรวมว่า China เพราะใน 300-400 ปีที่ผ่านมา เครื่องเคลือบชั้นเยี่ยม (ลายคราม) มาจากจีน

มาในปัจจุบันน้ำพริกเผาลังกา “สีนิสม์โพล์” หนักไปทางเผ็ด แต่ชาวบ้านมักเติมน้ำตาลทรายขาวเข้าไปเล็กน้อยตามชื่อของมัน โดยลืมแล้วว่า “สีนิ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “น้ำตาลทรายขาว” แต่ควรแปลว่า “จีน”

ว่าโดยสรุปเบื้องต้น ชาวลังกาลืมที่มาของน้ำพริกเผา และคิดว่าเป็นของเขาโดยเฉพาะ เพราะภาษาพาหลง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ“ชาติไหนเป็นเจ้าของน้ำพริกเผา” เขียนโดย ไมเคิล ไรท ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2561