ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
หนังสือกับข้าวสอนลูกหลาน กับ ผลไม้ ของว่าง และขนม ของ ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร คือหนึ่งในตำราอาหารชาววังที่ทรงคุณค่า เทียบได้กับตำราอาหาร “แม่ครัวหัวป่าก์” ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ทั้งมีความเก่าแก่ร่วมร้อยปี และเป็นตำราอาหารที่มีกลิ่นอายความเป็นจีน แต่ถูกปรับให้เป็นไทยอย่างลงตัว

ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร เป็นธิดาของหมื่นนรารักษ์ (ปิ่น บางยี่ขัน) กับนางหุ่น สมรสกับพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) เมื่อ พ.ศ. 2419 เพราะได้รับการเลี้ยงดูโดยเจ้าจอมในรัชกาลที่ 3-4 ท่านจึงได้เรียนรู้วิถีชาววัง รวมถึงการทำอาหาร และเขียนเป็นตำราอาหารคือ หนังสือกับข้าวสอนลูกหลาน เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านอาหารเป็นมรดกในตระกูลไกรฤกษ์และตระกูลที่เกี่ยวข้อง
เนื่องจากตระกูลไกรฤกษ์สืบเชื้อสายมาจากชาวจีนปลายสมัยอยุธยา ตำราของท่านจึงมีกลิ่นอายอาหารจีนดังที่กล่าวไปข้างต้น ประกอบกับท่านเติบโตในช่วงที่อิทธิพลตะวันตกแพร่เข้ามาสู่สยามแล้ว ตำราของท่านจึงมีแนวคิดอาหารอย่างตะวันตกปะปนอยู่ด้วย

ตอนท้ายของ หนังสือกับข้าวสอนลูกหลาน ท่านผู้หญิงกลีบยังแทรก “ข้อควรสังเกต” 8 ประการ ในการประกอบอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานน่ารู้สำหรับคนทำครัวทั่ว ๆ ไป จึงขอหยิบมานำเสนอไว้ ดังนี้
1. หมู หากจะทำยำและผัดให้ใช้สามชั้น ปั้นลูกชิ้น ใช้เนื้อ 2 ส่วน มัน 1 ส่วน และต้องทำให้สุกสนิท มันหมูแข็งทั้งแกงและยำควรลวกก่อนจึงหั่น ตับเหล็ก หั่นแล้วจึงลวกให้สุกแล้วแกง ส่วนเซ่งจี๊นั้นซาวเกลือแล้วลวก เครื่องในหมู (เนื้อ) ล้างด้วยน้ำปูนจึงจะสะอาด
2. เนื้อ ทอดหรือย่างไฟแรง (ไม่ให้น้ำตก) สุกเป็นสีชมพูดีกว่าทอดหรือย่างจนแห้งแข็ง นอกจากเนื้อสัน เนื้อหน้าอกใต้คอก็ใช้ได้ดี
3. ไก่ ต้องเลือกไก่อ่อน, เป็ด ใช้เป็ดแก่
4. กุ้ง เผาในไฟให้หัวสุกมากกว่าตัวและไม่แห้ง
5. ปลา เมื่อจะแกงใส่ในน้ำหรือน้ำแกงที่ปรุงแล้ว และกำลังเดือดพล่าน ไม่ต้องคน ปลาช่อนย่างไฟแรงทั้งเกล็ด ลอกเกล็ดแล้วปิ้งไฟอ่อนอีกครั้ง ปลาดุกต้องลนไฟลุก ๆ ก่อนจนแตกมัน แล้วจึงย่างไฟอ่อน
6. แกงจืด ใช้น้ำกระดูกไก่ น้ำปลาดี จึงจะหอม
7. แกงคั่ว ไม่ต้องผัดเครื่องแกง แกงเผ็ด ต้องผัดเครื่องแกงให้หอมก่อน
8. แกงที่ใช้ 3 รส เช่น แกงจีจ๋วน (แกงจีนจ๊วน) มัสหมั่น เทโพ ให้ใช้เค็ม เปรี้ยว หวาน ยิ่งหย่อนตามลำดับ แต่ให้เกือบเท่ากัน

หนังสือกับข้าวสอนลูกหลาน ยังอุดมไปด้วยความรู้มากมายเกี่ยวกับอาหารไทยโบราณ โดยเน้นไปที่การจัดการวัตถุดิบหลักว่าสามารถนำมาทำเมนูอะไรได้บ้าง เลือกใช้อย่างไร ใช้เครื่องปรุงอะไร และมีวิธีการทำอย่างไร รวมถึงการทำเครื่องจิ้ม-เครื่องเคียงต่าง ๆ ด้วย แม้จะแต่งขึ้นมาร่วมร้อยปี แต่ก็ยังคงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำอาหารยุคนี้ได้เป็นอย่างดี
อ่านเพิ่มเติม :
- ชีวิตสาวชาววัง ใครว่าสบาย? อาหาร-เครื่องแต่งกายล้วนละเอียดซับซ้อน
- อาหารชาววัง ไม่ได้เน้นรสหวาน! อาหารชาววังแท้จริงเป็นอย่างไร?
- ตำรับอาหารของท่านผู้หญิงกลีบ จากอิทธิพลอาหารชาววัง คลุ้งกลิ่นอาย ไทย จีน แขก ฝรั่ง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กลีบ มหิธร, ท่านผู้หญิง. (2504). หนังสือกับข้าวสอนลูกหลาน กับ ผลไม้ ของว่าง และขนม. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร. ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ.
กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. ตำรับอาหารของท่านผู้หญิงกลีบ จากอิทธิพลอาหารชาววัง คลุ้งกลิ่นอาย ไทย จีน แขก ฝรั่ง. วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563. จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_45837
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2568