เปิดสูตร “แกงโสนน้อย” อาหารตำรับชาววังอายุกว่า 100 ปี ที่ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้จัก

ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์

หลายเมนูที่ปรากฏหลักฐานในตำราอาหารเก่าแก่ยังคงได้รับความนิยมมาถึงทุกวันนี้ แต่ก็มีบางอย่าง เช่น แกงโสนน้อย อาหารตำรับชาววังอายุ 100 กว่าปี ที่เมื่อพูดชื่อขึ้นมาแล้วแทบไม่มีใครรู้จัก

แกงโสนน้อย อาหารตำรับชาววังอายุทะลุ 1 ศตวรรษ

แกงโสนน้อย ปรากฏใน “ตำราแม่ครัวหัวป่าก์” ซึ่งถือเป็นตำราอาหารเล่มแรกของไทย ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ (พ.ศ. 2390-2454) ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) แต่งตำรานี้ขึ้นจากความรู้และประสบการณ์อาหารที่สั่งสม สอบถามจากผู้รู้ตำราอาหารเก่า และการดูจากตำราต่างประเทศ

ลูกสาวท่านผู้หญิงเปลี่ยน ท่านผู้หญิงเปลี่ยน เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ แกงโสนน้อย อาหารตำรับชาววัง
ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ถ่ายภาพกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

ในตำราระบุสูตรและวิธีทำแกงโสนน้อยไว้ดังนี้

เครื่องปรุง ประกอบด้วย ปลาช่อนหนัก 32 บาท สละหนัก 16 บาท กุ้งสดหนัก 32 บาท น้ำมันหมูหนัก 3 บาท กระเทียมเจียวหนัก 6 บาท เนื้อหมูหนัก 5 บาท น้ำเชื้อหรือน้ำท่าหนัก 30 บาท น้ำปลาดีหนัก 2 บาท พริกสดหนัก 1 บาท ใบผักชีหนักสลึงเฟื้อง พริกไทยหนัก 1 เฟื้อง

ถึงคนยุคปัจจุบันอาจไม่คุ้นกับหน่วยชั่งตวงวัดในตำราอาหารยุคก่อน แต่ในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องใหม่ ที่การทำอาหารมีมาตราชั่งตวงวัดที่ชัดเจนเหมือนตะวันตก (แม้หน่วยวัดจะเป็นแบบไทยก็ตาม)

วิธีทำ เริ่มจากเอากุ้งมาหักหัว ชักไส้ออกแล้วปอกเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำสละมาฝานแล้วผ่าออกเป็น 2 ซีก แกะเม็ดออก นำปลาช่อนมาขอดเกล็ดให้หมด แล่หนัง ผ่าท้อง ชักไส้ออก นำไปล้างน้ำแล้วตัดเป็นท่อนเขื่องๆ นำเนื้อหมูมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ

เวลาจะแกง ให้เอาน้ำมันหมูลงหม้อ นำขึ้นตั้งไฟพอร้อน เอากระเทียมมาปอกเปลือกทุบพอแตก เทลงเจียวไปจนเหลืองจึงค่อยตักกระเทียมขึ้น เอาเนื้อหมู กุ้ง และปลาช่อนที่ทำไว้ เทลงในกระทะผัดไปด้วยกัน จากนั้นค่อยเอาลูกสละลงผัดทีหลัง เอาน้ำเชื้อเติมลง

เมื่อจวนจะเดือดให้เหยาะน้ำปลาดีลงหม้อ ถ้าเค็มจัดไม่ค่อยจะหวานให้เอาน้ำตาลทรายเติมลงบ้างก็ได้ เมื่อสุกทั่วกันดีแล้วยกหม้อลง ตักแกงลงชาม เอาพริกมาผ่าเม็ดออก ผักชีหั่นให้ละเอียด โรยพริกไทยป่น จากนั้นยกไปตั้งให้รับประทาน

แกงรัญจวน แกงโสนน้อย อาหารตำรับชาววัง
แกงรัญจวน อาหารชาววังที่ปัจจุบันยังได้รับความนิยม

แม้อาจจะพอเรียกได้ว่าเป็นเมนูที่สูญหายจากความรับรู้ของผู้คนไปแล้ว แต่ กฤช เหลือลมัย คอลัมนิสต์ด้านอาหารชื่อดัง ที่มีผลงานในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ก็พอจะเทียบเคียงรสชาติแกงโสนน้อยให้นึกออกได้บ้างว่า น่าจะเป็นแกงที่เผ็ดพริกนิดๆ เปรี้ยวเนื้อลูกสละแค่อ่อนๆ รสคงคล้ายๆ ต้มส้มแบบจีนที่ไม่ใส่ขิงซอย

“แกงนี้น่าจะคล้าย ‘เลียงส้ม’ แบบชาวบ้านโบราณชอบกิน เดี๋ยวนี้ตามต่างจังหวัดก็ยังพอมีคนแก่ๆ ทำกินอยู่ เคยเห็นชาวบ้านที่เมืองจันทบุรีทำ ‘เลียงส้มระกำ’ เขาใส่ต้นบุก อาจใส่ปลานิดหน่อย เดาว่ารสชาติน่าจะใกล้ๆ กัน คือเปรี้ยวอ่อนๆ ด้วยระกำ หรือลูกสละ แล้วเครื่องปรุงไม่มาก น้ำใสๆ โปร่งๆ”

หมูผัดส้มเสี้ยว แกงโสนน้อย อาหารตำรับชาววัง
หมูผัดส้มเสี้ยว อีกหนึ่งอาหารชาววังสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ส่วนเหตุผลที่ทำไมทุกวันนี้ แกงโสนน้อย อาหารตำรับชาววัง ถึงไม่เป็นที่รู้จัก ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์ ฟู้ด สไตลิสต์อันดับต้นๆ ของไทย เคยให้เหตุผลถึงเรื่อง “การคงอยู่” และ “การสูญหาย” ของอาหารชาววัง ในงานที่ศิลปวัฒนธรรมจัดขึ้นว่า

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณค่าและความทรงจำเกี่ยวกับอาหารชาววังหลายเมนูไม่เลือนหายไปคือ “ความอร่อย” เพราะแต่ละเมนูล้วนผ่านการตกตะกอนจากในวังมาก่อนแล้ว เป็นเสมือนการการันตีรสชาติได้ทางหนึ่ง ส่วนเมนูที่ไม่อร่อยก็เป็นธรรมดาที่จะไม่ได้รับความนิยม จนต้องเลือนหายไปตามกาลเวลา

อย่างไรก็ตาม บางเมนูก็หายไปเพราะเหตุผลด้านการอนุรักษ์ เช่น “ไข่จะละเม็ด” เมนูที่ทำจากไข่เต่าทะเลอย่างไข่เต่ามะเฟือง เต่าตนุ ซึ่งเคยเป็นเมนูขึ้นชื่อและเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายสมัยก่อนหลายพระองค์ แต่ต้องปรับเปลี่ยนวัตถุดิบเพราะเรื่องทางศีลธรรมและการรักษาพันธุ์เต่า ทำให้คนรุ่นใหม่แทบไม่รู้จักเมนูนี้แล้ว

แกงโสนน้อย ที่ได้รับความนิยมในยุคสมัยหนึ่ง เมื่อเวลาผ่าน ความชื่นชอบด้านอาหารการกินของผู้คนเปลี่ยน จึงค่อยๆ เลือนหายไปในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เปลี่ยน ภาสกรวงศ์, ท่านผู้หญิง. ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ เล่มที่ 3 ใน, แม่ครัวหัวป่าก์ เล่มที่ 1-5. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: สมาคมกิจวัฒนธรรม, 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2568