
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
วันพุธที่ 29 มกราคม 2568 “ศิลปวัฒนธรรม” ในเครือมติชน สนับสนุนโดย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด จัดกิจกรรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟ SILPA SAVOURY ชิมประวัติศาสตร์ “วัดราชาธิวาส-คฤหาสน์พระยา พาลาซโซ” ชมความงามวัดเก่าแก่ ฟังเกร็ดน่ารู้อาหารชาววัง อร่อยสำรับไทยโบราณ ที่วัดราชาธิวาสวิหาร และ “พระยา พาลาซโซ” คฤหาสน์ร้อยปีริมแม่น้ำเจ้าพระยา
SILPA SAVOURY ชิมประวัติศาสตร์ “วัดราชาธิวาส-คฤหาสน์พระยา พาลาซโซ” เสิร์ฟเน้น ๆ 3 กิจกรรมไฮไลต์ ได้แก่ TOUR “วัดราชาธิวาส ตำนานคณะธรรมยุต” ชมศิลปกรรมล้ำค่า ที่ พิพิธภัณฑ์มหาราชานุสรณ์ ร.4, พระพุทธไสยาสน์แห่งโรงเรียนวัดราชาธิวาส และพระเจดีย์ พระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหาร นำชมโดย ธัชชัย ยอดพิชัย ผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม
TALK “อิ่มเอมตำรับชาววัง” ฟังเกร็ดน่ารู้ตำรับอาหารชาววังโดย ดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์ ฟู้ด สไตลิสต์ อันดับต้นของไทย ดำเนินรายการโดย อัญชัญ พัฒนประเทศ ผู้ประกาศข่าวมติชนทีวี
และ TASTE “สำรับโอชารส” ลิ้มรสอาหารไทยโบราณ ณ ห้องอาหารพระยา ไดนิ่ง ภายในโรงแรมพระยา พาลาซโซ ทุกเมนูล้วนมีที่มา การันตีความอร่อยด้วยการติดโผร้านแนะนำมิชลินไกด์ 7 ปีซ้อน (ค.ศ. 2019-2025)
🟡 TALK อิ่มเอมตำรับชาววัง กับดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์

เวลา 16.45-17.30 น. ณ ห้องร่มโพธิ์ โรงแรมพระยา พาลาซโซ เป็นช่วงของกิจกรรม TALK กับดวงฤทธิ์ แคล้วปลอดทุกข์ ฟู้ด สไตลิสต์ผู้เรียนรู้การทำอาหารจากผู้เชี่ยวชาญอาหารชาววังหลายท่าน ได้เล่าเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับตำรับชาววังแบบ “รู้ลึก รู้จริง” ไว้หลายประเด็น โดยมี อัญชัญ พัฒนประเทศ ผู้ดำเนินรายการ ร่วมพูดคุย ท่ามกลางบรรยากาศผ่อนคลายและเป็นกันเอง
🟡 จุดเริ่มต้นความสนใจด้านอาหาร
คุณดวงฤทธิ์เล่าถึงประสบการณ์ด้านอาหาร ก่อนจะมาเป็น “ฟู้ด สไตลิสต์” ว่า จริง ๆ แล้วไม่ได้เรียนเกี่ยวกับอาหารโดยตรง แต่มีโอกาสได้รู้จักกับ “หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์” ผู้เขียนหนังสือตำราอาหารชาววังเล่มสำคัญอย่าง “ชีวิตในวัง” และ “ชีวิตนอกวัง” ซึ่งท่านมีโอกาสได้เรียนรู้จากบรมครูด้านอาหารหลายท่าน ที่ล้วนสืบทอดความรู้จากพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ยุครุ่งเรืองของอาหารชาววัง
นอกจากหม่อมหลวงเนื่องแล้ว คุณดวงฤทธิ์ยังได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญอาหารชาววังท่านอื่น ๆ อีก เช่น หม่อมหลวงต่อ กฤดากร ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ฯลฯ จึงรับถ่ายทอดประสบการณ์ด้านอาหารและอาศัยการครูพักลักจำจนมีความรู้ความเชี่ยวชาญแตกฉานในด้านนี้
🟡 “อาหารชาววัง” คืออะไร?
สิ่งที่ทำให้อาหารชาววังแตกต่างจากอาหาร “ชาวบ้าน” หรืออาหารทั่วไป คือ ความละเมียดในทุกมิติ ตั้งแต่วัตถุดิบ วิธีการทำ วิธีการกินให้ได้รสชาติครบถ้วน ทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด และ “อูมามิ” รวมถึงการกินเป็นสำรับ และเครื่องภาชนะที่ใส่อาหาร ซึ่งอาหารชาวบ้านไม่สามารถมีรายละเอียดเหล่านี้ครบถ้วน แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือ ไม่ว่าชาววังหรือชาวบ้าน ก็มี “ข้าว” เป็นอาหารหลักเสมอ
อย่างไรก็ตาม คุณดวงฤทธิ์ชี้ว่า ทุกวันนี้ อาหารชาววังไม่ได้วิเศษเลอเลิศอะไรแล้ว หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ภูมิปัญญาทั้งหลายที่เคยจำกัดอยู่ในวังก็แพร่หลายออกมาข้างนอก
🟡 อาหารชาววัง วังใดขึ้นชื่อบ้าง?

คุณดวงฤทธิ์อธิบายอาหารของวังเจ้านายแต่ละวังว่ามีความหลากหลายและสร้างสรรค์สูงมาก เพราะแต่ละวังจะมีสูตรเฉพาะของตนเอง และคำว่า “อาหารชาววัง” นั้นไม่จำกัดว่าต้องเป็นพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวงเท่านั้น เพราะสมัยก่อนมีวังเล็กวังน้อย พระตำหนักต่าง ๆ เยอะมาก ที่โดดเด่นด้านอาหาร เช่น วังวรดิศ วังบางขุนพรหม วังพญาไท วังสวนสุนันทา เป็นต้น
ที่มาของความหลากหลายด้านสำรับอาหารของแต่ละวัง ยังเกี่ยวข้องกับเชื้อสายหรือต้นตระกูลของแต่ละวังด้วย เช่น หากเป็นวังของพระภรรยาเจ้าฝั่งสกุลบุนนาค จะเด่นเรื่องอาหารที่มีรสจัด เน้นเครื่องเทศ แบบอาหารของแขก เนื่องจากสายสกุลนี้สืบมาจากเฉกอะหมัด ผู้มีเชื้อสายเปอร์เซีย
🟡 สมัยรัชกาลที่ 5 ยุครุ่งเรืองของอาหารชาววัง
เมื่อเราพูดถึงอาหารชาววัง ยุคสมัยที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นสมัยรัชกาลที่ 5 คุณดวงฤทธิ์เผยว่า เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะยุคนี้มีการประชันกันทำอาหารของวังต่าง ๆ ทำให้เกิดเมนูใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย หลายเมนูที่คนสมัยเราเชื่อว่าเป็นอาหารโบราณก็ถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 หม่อมหลวงเนื่องยังเคยเล่าให้คุณดวงฤทธิ์ฟังด้วยว่า เมนูขึ้นชื่ออย่าง “แกงรัญจวน” ก็เกิดขึ้นในสมัยของท่าน ไม่ได้เก่าโบราณอย่างที่บางคนเข้าใจ
บุคคลสำคัญด้านอาหารที่คุณดวงฤทธิ์ยกตัวอย่างคือ พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ แห่งวังสวนสุนันทา พระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการทำอาหารสูงมาก จึงทรงมีหน้าที่ควบคุมดูแลห้องพระเครื่องต้น ของเสวยคาวหวาน
ความโดดเด่นของอาหารชาววังสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นยุคที่มีการรวบรวมและจดบันทึกจนเกิดเป็นตำราอาหารหลายเล่ม ทำให้องค์ความรู้เหล่านี้ไม่ได้เลือนหายไปไหน
🟡 การสืบสานอาหารไทยโบราณให้อยู่คู่สังคม

เป็นที่ทราบกันว่าทุกวันนี้อาหารชาววังยังได้รับความนิยมแพร่หลาย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณค่าและความทรงจำเกี่ยวกับอาหารเหล่านี้ไม่เลือนหายไปตามความเห็นของคุณดวงฤทธิ์คือ “ความอร่อย” เพราะแต่ละเมนูล้วนผ่านการตกตะกอนจากในวังมาก่อนแล้ว ส่วนเมนูที่ไม่อร่อยก็เป็นธรรมดาที่จะไม่ได้รับความนิยมจนต้องเลือนหายไปตามกาลเวลา
อย่างไรก็ตาม บางเมนูก็หายไปเพราะเหตุผลด้านการอนุรักษ์ เช่น “ไข่จะละเม็ด” เมนูที่ทำจากไข่เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เคยเป็นเมนูขึ้นชื่อและเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายสมัยก่อนหลายพระองค์ แต่ต้องปรับเปลี่ยนวัตถุดิบเพราะเรื่องทางศีลธรรมและการรักษาพันธุ์เต่า ทำให้คนรุ่นใหม่แทบไม่รู้จักเมนูนี้แล้ว
นอกจากนี้ คุณดวงฤทธิ์ยังมองว่า อาหารชาววังหลายเมนูมีศักยภาพพอที่จะโด่งดังระดับโลกและเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้ ซึ่ง “แกงมัสมั่น” เป็นตัวอย่างชั้นดี คือเป็นเมนูที่มีเอกลักษณ์ตรงครื่องแกงที่ค่อนข้างจัด รสชาติเข้มข้น แต่การจะผลักดันเมนูใดก็ตาม ต้องรู้จักปรับให้ง่ายต่อคนในวัฒนธรรมอื่น เช่น ฝรั่งต่างชาติทานเผ็ดแบบคนไทยไม่ไหว ก็แก้ไขที่ระดับความเผ็ด แต่คงรสดั้งเดิมเอาไว้
ยังมีเกร็ดความรู้ด้านอาหารไทยอีกมากมายที่ทั้งสนุกและน่าสนใจตลอดการพูดคุยในครั้งนี้ ทั้งหมดล้วนชี้ว่า อาหารชาววังคือมรดกทางภูมิปัญญาอันล้ำค่าของไทยอย่างแท้จริง
จากนั้นเป็นช่วง TASTE “สำรับโอชารส” ผู้ร่วมงานรับประทานอาหารที่ “ห้องอาหารพระยา ไดนิ่ง” อิ่มอร่อยไปกับอาหารเลิศรส เมนูเซ็ตสุดพิเศษสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ ในบรรยากาศสุดลักชัวรี ประสบการณ์แสนพิเศษและน่าประทับใจแบบนี้ มีเพียง SILPA SAVOURY ชิมประวัติศาสตร์ “วัดราชาธิวาส-คฤหาสน์พระยา พาลาซโซ” เท่านั้น!
อ่านเพิ่มเติม :
- สืบที่มา “พระเจดีย์” และพระพุทธรูปภายในซุ้มเจดีย์ วัดราชาธิวาสวิหาร
- “พระอุโบสถ วัดราชาธิวาสวิหาร” บูรณาการทางศิลปะอันยอดเยี่ยมของ “สมเด็จครู”
- “พระพุทธไสยาสน์” โรงเรียนวัดราชาธิวาส เอกลักษณ์เด่น พุทธศิลป์ประยุกต์แบบ “กรีก”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2568