ขนมปังขิง คุกกี้อันแสนหอมหวาน ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส

ขนมปังขิง (Gingerbread)
ขนมปังขิงรูปทรงต่าง ๆ (ภาพจาก : pixabay)

ขนมปังขิง (Gingerbread) คุกกี้สุดแสนอร่อย ที่หอมกรุ่นไปด้วยกลิ่นเครื่องเทศ แล้วทุกคนสงสัยไหมว่าทำไมขนมปังขิงถึงเป็นของคู่กันกับเทศกาลคริสต์มาส ?

ทุกคนคงมีภาพจำว่าเทศกาลคริสต์มาสต้องมีซานตาคลอส กวางเรนเดียร์ ต้นสน ไวน์ร้อน กลิ่นอบเชยอันแสนหอมหวาน และอีกหนึ่งสิ่งที่ทุกคนต้องนึกถึง นั่นคือ ขนมปังขิง

ขนมปังขิง (Gingerbread) เป็นขนมที่ได้รับความนิยมในอเมริกาเหนือและยุโรป โดยเฉพาะช่วงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศ ก็มีขนมปังขิงในชื่ออื่นอีกด้วย เช่น ขนมเล็บคูเคนของเยอรมัน (Lebkuchen) มารานิโตสของเม็กซิโก (Marranitos) พรียานิกิของรัสเซีย (Pryaniki) และ เปปปาร์คาโกร์ของสวีเดน (Pepparkakor)

สูตรขนมปังขิงแบบดั้งเดิมประกอบด้วยแป้ง เนย ไข่ น้ำเชื่อม (บางที่ใช้น้ำผึ้ง) และขิง รวมทั้งเครื่องเทศที่ให้ความร้อนอื่น ๆ เช่น กานพลู ซินนามอน ลูกจันทน์เทศ บางครั้งอาจมีการเติมผลไม้ตระกูลส้ม วานิลลา ส่วนขิงอาจใช้ในรูปแบบสด ผง หรือเชื่อม โดยบางสูตรอาจใช้การผสมผสานของขิงหลายรูปแบบ 

สมัยอียิปต์และกรีกโบราณ มักใช้ขนมปังขิงในพิธีกรรมทางศาสนาเป็นหลัก แต่ประเทศสวีเดนมักใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง เพราะขิงเป็นพืชที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค

แต่ในปัจจุบัน บริบทของขนมปังขิงเปลี่ยนไป เดิมใช้เพื่อพิธีกรรมทางศาสนาและการรักษาทางการแพทย์ กลายเป็นขนมที่ใช้เฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสในการกลับมาของครอบครัว ที่ทำงานมาตลอดทั้งปี โดยที่ทุกคนในบ้านจะมาช่วยกันทำขนมปังขิงและอาหารอื่น ๆ เพื่อเป็นการใช้เวลาร่วมกัน

เมืองหลวงขนมปังขิง ณ เยอรมนี

ตลาดคริสต์มาส (Christkindlesmarkt) ณ ประเทศเยอรมนี (ภาพจาก : pixabay)

เมืองนูเรมเบิร์ก (Nürnberg) ประเทศเยอรมนี กลายเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองหลวงของขนมปังขิง โดยขนมปังขิงในนูเรมเบิร์กมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 มีการพัฒนาสูตรและเทคนิคการทำอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยรสชาติที่เข้มข้น หอมเครื่องเทศ มีเนื้อสัมผัสที่นุ่มละลายในปาก จากต่างที่อื่น ๆ

ที่นี่ยังมีตลาดคริสต์มาส (Christkindlesmarkt) อันเลื่องชื่อ และมีพิพิธภัณฑ์ขนมปังขิงที่จัดแสดงประวัติศาสตร์และกระบวนการผลิตขนมปังขิง รวมถึงมีการสาธิตการทำขนมปังขิงให้ผู้ชมได้ชมกันสด ๆ อีกด้วย

ขนมปังขิงกับประเทศอังกฤษ

มนุษย์ขนมปังขิง (Gingerbread)(ภาพจาก : pixabay)

ในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ (Queen Elizabeth I) ช่วงปี 1558–1603 ผู้คนมักจะกินขนมปังขิงเป็นของหวานหลังมื้ออาหาร เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร อีกทั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ประดิษฐ์มนุษย์ขนมปังขิง เนื่องจากพระนางสั่งให้คนทำขนมทำคุกกี้ให้มีรูปร่างเหมือนกับขุนนางที่มาเข้าเฝ้า ณ พระราชสำนัก และจะมอบเป็นของที่ระลึกแก่ผู้มาเยี่ยมชม

ภายหลังพระนางวิกตอเรียแห่งอังกฤษ (Queen Victoria) ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งเยอรมนี (Prince Albert of Saxe-Altenburg) ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เจ้าชายอัลเบิร์ตได้นำวัฒนธรรมการกินขนมขิงเล็บคูเคนไปเผยแพร่ที่อังกฤษ ทำให้ผู้คนนิยมกินขนมปังขิงมากขึ้น

ช่วงปี 1800 ผู้อพยพจากยุโรปนำสูตรขนมปังขิงและประเพณีเข้ามาในสหรัฐอเมริกาด้วย ทำให้ขนมปังขิงกลายเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเทศกาลคริสต์มาสในสหรัฐอเมริกา 

สุดท้ายแล้วในศตวรรษที่ 21 ศิลปะการทำขนมปังขิงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก สามารถเห็นได้จากรายการโทรทัศน์อย่าง Holiday Baking Championship และ Holiday Gingerbread Showdown อีกทั้ง ทุก ๆ วันเสาร์ที่สองของเดือนธันวาคมได้รับการขนานนามว่าเป็น “วันตกแต่งบ้านขนมขิง” (Gingerbread Decorating Day)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.britannica.com/topic/gingerbread-cake


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 2567