“แห่ดาวคริสต์มาส” ประเพณี “ชาวคริสต์ท่าแร่” แห่งสกลนคร สะท้อนอัตลักษณ์ชาวเวียดนามอพยพ

ประเพณี แห่ดาวคริสต์มาส ชาวคริสต์ท่าแร่ ตำบลท่าแร่ สกลนคร
ประเพณีแห่ดาวคริสต์มาสของชาวคริสต์ท่าแร่ จังหวัดสกลนคร (ภาพจากมติชนออนไลน์ https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1286341)

“แห่ดาวคริสต์มาส” เป็นประเพณีที่ “ชาวคริสต์ท่าแร่” หรือชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ที่อาศัยอยู่ในตำบลท่าแร่ จังหวัดสกลนคร จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเทศกาลคริสต์มาส มีการตกแต่งประดับประดาไฟอย่างสวยงาม ท่ามกลางบรรยากาศความสุขที่อบอวล

นอกจาก “แห่ดาวคริสต์มาส” จะบ่งบอกความศรัทธาในศาสนาคริสต์ของชาวท่าแร่แล้ว อีกแง่หนึ่ง “ดาว” ก็ยังสามารถสะท้อนอัตลักษณ์ของชาวเวียดนามอพยพได้เช่นกัน

Advertisement

เวียดนามอพยพ

ทัศนพงศ์ สมศรี เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความ “ตามรอยญวนอพยพในไทย สู่การตั้งถิ่นฐานในสกลนคร และประเพณีแห่ดาวของชาวคริสต์ท่าแร่” ตอนหนึ่งว่า ที่มาของชาวเวียดนามอพยพเข้ามาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ย้อนไปได้ถึงช่วงสมัยอยุธยากลางศตวรรษที่ 17 เพื่อหลีกหนีการถูกกดดันทางศาสนา ชาวเวียดนามเหล่านี้นับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก

ช่วงสมัยกรุงธนบุรี ช่วงกลางสมัยรัตนโกสินทร์ หรือปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยนับตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้ปรากฏชุมชนชาวเวียดนามอยู่นอกกำแพงพระนครอยู่แล้ว ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีถึงต้นรัตนโกสินทร์ ผู้นำเวียดนามบางคน ดังเช่น องเชียงซุนและองเชียงสือก็ได้หนีศึกภายในเวียดนามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์สยาม

เวียดนามรุ่นที่สอง อพยพเข้ามาในไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลสืบเนื่องมาจาก “เหตุการณ์ที่ท่าแขก”หรือ “วันท่าแขกแตก” ซึ่งเป็นกลุ่มชาวเวียดนามที่ทางการไทยเรียกว่า “ญวนอพยพ”

การหนีข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวมาฝั่งไทยครั้งนี้ เป็นการหนีการปราบปรามของกองกำลังฝรั่งเศสจากเวียงจันทน์ สะหวันเขตและท่าแขก แขวงคำม่วน มายังหนองคาย มุกดาหาร (สมัยนั้นเป็นอำเภอหนึ่งของนครพนม) ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นได้ยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 และต้องถอนตัวออกจากลาวและเวียดนาม ซึ่งมีผลให้ฝรั่งเศสพยายามกลับเข้ามายึดครองเวียดนามและลาวอีกครั้ง

ทัศนพงศ์ เล่าว่า การปราบปรามนี้มุ่งไปที่การปราบปรามชาวเวียดนามในเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงฝั่งลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองท่าแขก เพราะที่ท่าแขกเป็นที่รวมตัวของชุมชนชาวเวียดนามรักชาติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวช่วยเหลือ และร่วมมือกับชาวลาวรักชาติ เพื่อต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส จึงก่อให้เกิดการปราบปรามและกวาดล้างชาวเวียดนามผู้ต่อต้านที่รุนแรงและโหดเหี้ยมที่สุดอย่างนึกไม่ถึง และยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของชาวเวียดนามที่อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้นยังไม่ลืมเลือน

ผู้หนีตายมาจากเหตุการณ์นี้หนีมาอย่างมือเปล่า ทิ้งบ้านเรือน รวมไปถึงทรัพย์สินที่ได้สะสมไว้ข้างหลัง โดยไม่มีโอกาสได้ข้ามกลับไปอีกเลย หลายคนบ้านแตกสาแหรกขาดและต้องสูญเสียญาติพี่น้อง ซึ่ง “เหตุการณ์ที่ท่าแขก” นับเป็นการอพยพครั้งใหญ่ของชาวเวียดนามมายังไทย ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ที่ท่าแขกได้หนีข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทยประมาณ 50,000 คน รวมทั้งชาวลาวอีก 4,000 คน

ชาวเวียดนามเกือบทั้งหมดลี้ภัยและพำนักอาศัยอยู่ในภาคอีสานของไทยต่อมาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งเมื่อรวมกับชาวญวนที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีชาวญวนอพยพจำนวนมาก ในขณะที่ชาวลาวจะข้ามกลับไปหลังจากเหตุการณ์สงบลง

ในช่วง พ.ศ. 2518-2519 รัฐบาลไทยและรัฐบาลเวียดนามได้พยายามดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันอีกครั้ง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศเวียดนาม

ทัศนพงศ์ บอกอีกว่า ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลโดยตรงต่อชาวเวียดนามอพยพในประเทศไทย แม้ว่าทัศนคติของนักการเมือง ข้าราชการ คนท้องถิ่นบางส่วนจะยังไม่ดีขึ้น แต่ก็มิได้เข้มงวดกับกฎข้อบังคับต่าง ๆ หรือเพิ่มมาตรการกดดันชาวเวียดนามอพยพดังเช่นในอดีต

สถานการณ์แวดล้อมที่เคยกดดันชาวเวียดนามอพยพในไทยได้เริ่มผ่อนคลายลง หลังจาก พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศนโยบาย 66/23 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้อภัยโทษแก่ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่กลับมามอบตัวและร่วมพัฒนาชาติไทย ส่งผลให้ความรู้สึก ทัศนคติ ความน่ากลัวของคอมมิวนิสต์ค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย ซึ่งส่งผลดีต่อชาวเวียดนามอพยพที่มีภาพลักษณ์ที่ถูกผูกติดกับความเป็นคอมมิวนิสต์ตลอดมา

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2530 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในโอกาสทางชีวิตของชาวเวียดนามอพยพ จากการที่ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2531-2534) มีแนวนโยบายให้สัญชาติไทยแก่ชาวเวียดนามอพยพภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจนำการเมือง โดยนโยบายให้สัญชาติแก่บุตรหลานชาวเวียดนามอพยพประสบความสำเร็จใน พ.ศ. 2535 สมัยรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน

“แห่ดาวคริสต์มาส” จากวัฒนธรรมชายขอบสู่วัฒนธรรมศูนย์กลาง

“ช่วงกลางทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเปิดประเทศค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่ โดยมีการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลไทย ซึ่งทำให้ชาวญวนอพยพได้มีโอกาสทางการค้ามากยิ่งขึ้น และยังเป็นโอกาสให้กลุ่มญวนอพยพสร้างตัวตนตามชุดความคิดแบบใหม่ที่ว่าด้วย ‘คนไทยเชื้อสายเวียดนาม’ เป็น ‘คนใน’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย มิใช่ ‘คนอื่น’ อย่างเช่นในอดีตที่ถูกกดทับด้วยวาทกรรมของการเป็น ‘คนชายขอบของสังคม’” ทัศนพงศ์ ระบุ

ปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้ชุดความคิดแบบใหม่สามารถสถาปนาขึ้นมาได้ เป็นผลมาจากบริบทของโลกทุนนิยมและกระแสของการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่รัฐไทย ส่งผลให้ “วัฒนธรรมแบบเวียดนาม” ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในไทย ได้รับความสนใจ และถูกหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐนำเสนอแก่สายตานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวชม

วัฒนธรรมดังกล่าวได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย คนไทยเชื้อสายเวียดนามจึงได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมากขึ้น ทำให้ทัศนคติทางลบที่มีต่อ “ความเป็นเวียดนาม” และ “คอมมิวนิสต์ญวน” ที่เคยมีมาแต่ในอดีต ลบเลือนจางหายไปตามกาลเวลา ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของชาวญวนในสังคมไทย

ประเพณี “แห่ดาวคริสต์มาส” ชาวคริสต์ท่าแร่ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรม เพื่อใช้ในการต่อรองและสร้างพื้นที่ทางสังคม อันเป็นรูปแบบของการสร้างประเพณีประดิษฐ์เพื่อนิยาม รวมไปถึงสร้างตัวตน สร้างเกียรติภูมิ ผ่านข้อมูลทางคติชนที่บอกเล่าถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมแบบเวียดนามที่ถูกนำมาผลิตซ้ำ

มีการใช้รูปดาวมาเป็น “สัญญะแห่งอัตลักษณ์” ที่สื่อความหมายได้สองทาง ทั้งในแง่ของความเป็นคริสต์ศาสนิกชน และความเป็นชาติเวียดนาม

ฉะนั้น “ดาว” จึงเป็นรูปสัญญะ เพื่อการสืบทอดอัตลักษณ์และตัวตนของชาวคริสต์ท่าแร่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการผลิตซ้ำและสร้างใหม่ในชุมชนข้ามถิ่นที่ของกลุ่มผู้อพยพ ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศมาตุภูมิได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับเขตแดนแบบรัฐชาติดังเช่นแต่ก่อน

ทัศนพงศ์ ยังเสนออีกว่า จากลักษณะดังที่กล่าวไป ทำให้เห็นภาพของการประดิษฐ์ประเพณีขึ้นมาใหม่ ภายใต้บริบทของสถานการณ์ทางสังคมที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิมคือ จาก “ชุมชนชายขอบ” (ท่าแร่) ไปสู่ “ชุมชนศูนย์กลาง” (สกลนคร) ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนจากการแห่ดาวดวงเล็กภายในชุมชนไปสู่การเคลื่อนตัวและขยับขยายด้วยอิทธิพลของระบบทุนนิยมและกระแสของการท่องเที่ยวภายในประเทศไทย ที่มีองค์กรของรัฐอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นผู้ผลักดัน

สืบเนื่องมายังทศวรรษ 2540 นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่าง “Amazing Thailand” ได้นำเอาประเพณีแห่ดาวเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ งานประเพณีต่าง ๆ ได้ถูกแปรรูปให้กลายเป็น “สินค้าทางวัฒนธรรม” ซึ่งสร้างมูลค่าและรายได้ให้แก่ชุมชนและรัฐ ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและจากทั่วทุกมุมโลกให้เดินทางเข้ามาบริโภคความสุขจากความบันเทิงในการชมศิลปวัฒนธรรม ทำให้การแห่ดาวของชาวคริสต์ท่าแร่ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้บริบทใหม่ อันเป็นพัฒนาเพื่อสร้าง ผลิตซ้ำ และปรับเปลี่ยนระบบคุณค่าให้สอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ประเพณีแห่ดาวของชาวคริสต์ท่าแร่ ในฐานะที่เป็นประเพณีประดิษฐ์ จึงมีการดัดแปลง ปรุงแต่ง และเสริมเติมสิ่งใหม่ ๆ เข้าไป เพื่อสื่อสารและบอกเล่าถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวเวียดนามอพยพให้กลุ่มคนอื่น ๆ ในสังคมได้มองเห็นและสัมผัสผ่านประเพณีแห่ดาวได้ อีกทั้งยังมีการนำเสนอภาพความเป็นพลเมืองไทยผ่านการใช้ข้อมูลทางคติชนและวัฒนธรรม เพื่อบ่งบอกว่าสิ่งนี้ “ไม่ใช่ของแปลก” หากแต่เป็นวัฒนธรรมไทยอีกรูปแบบหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างสรรค์ประเพณี แห่ดาวคริสต์มาส ให้มีความผสมผสานกลมกลืนกับความเป็นไทยที่เป็นท้องถิ่นอีสานอีกด้วย รวมทั้งยังต้องการนำเสนอภาพเพื่อให้เห็นมิติของความเป็นสากลด้วยอีกประการหนึ่งเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2566