ตามรอยญวนอพยพในไทย สู่การตั้งถิ่นฐานในสกลนคร และประเพณีแห่ดาวของชาวคริสต์ท่าแร่

ภาพการติดดาวตกแต่งประเพณีแห่ดาวของชุมชนบ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร ถ่ายโดย Matichon online

เวียดนามเป็นชาติพันธุ์หนึ่งในอุษาคเนย์ที่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แม้ในยุคแรกจะได้รับอิทธิพลภาษาเขียนจากจีน แต่ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาภาษาเขียนแบบเวียดนามขึ้นมาใช้ และถึงแม้ว่าเวียดนามจะเคยถูกยึดครองโดยชนชาติอื่นทั้งจีนและฝรั่งเศส รวมทั้งการถูกรุกรานจากสหรัฐฯ แต่หลังจากนั้นเวียดนามก็ได้รวมชาติและประกาศตัวเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่เวียดนามถูกยึดครองโดยมหาอำนาจต่างชาตินั้น มีชาวเวียดนามจำนวนไม่น้อยที่ต้องหลบหนีจากบ้านเกิดเมืองนอนของตน เพื่อไปตั้งรกรากใหม่และหลบหนีไปตั้งหลักเพื่อกลับไปสู้กับผู้รุกรานใหม่อีกครั้ง โดยในบรรดาผู้ที่จากประเทศเวียดนามไปเพื่อตั้งหลักต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 40 ปี ที่เรารู้จักกันดีก็คือ โฮจิมินห์ ผู้เป็นวีรบุรุษในการประกาศเอกราชให้กับเวียดนาม การเดินทางของโฮจิมินห์ไปยังพื้นที่ต่าง โดยเฉพาะลาวและไทย ถือเป็นการอพยพของคนเวียดนามมายังแผ่นดินใหม่ เพื่อช่วยเหลือพันธมิตรและกลับไปเรียกร้องเอกราชของตนเองคืนมาอีกครั้ง

ชุมชนท่าแร่ : ความเป็นมาของชาวญวนอพยพ

ชาวไทยเชื้อสายเวียดนามได้อพยพย้ายถิ่นมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยหลายครั้งตามแต่ละช่วงเวลา ด้วยแรงจูงใจหรือสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ช่วงสมัยอยุธยากลางศตวรรษที่ 17 เพื่อหลีกหนีการถูกกดดันทางศาสนา ซึ่งคนเหล่านี้เป็นชาวเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิก ช่วงสมัยกรุงธนบุรี ช่วงกลางสมัยรัตนโกสินทร์หรือปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยนับตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้ปรากฏชุมชนชาวเวียดนามอยู่นอกกำแพงพระนครอยู่แล้ว ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีถึงต้นรัตนโกสินทร์ ผู้นำเวียดนามบางคน ดังเช่น องเชียงซุนและองเชียงสือก็ได้หนีศึกภายในเวียดนามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์สยาม (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2546, . 61)

กลุ่มชาวเวียดนามที่เข้ามาก่อนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง เรียกว่า กลุ่มญวนเก่า และกลุ่มที่เข้ามาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรียกว่า กลุ่มญวนใหม่ หรือญวนอพยพ อันเป็นช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างชาวเวียดนามกับชาวฝรั่งเศส ประกอบด้วย สามรุ่นด้วยกัน คือ รุ่นที่ 1 รุ่นบิดามารดา ซึ่งมิได้เกิดบนแผ่นดินไทย แต่ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาในประเทศไทย รุ่นที่ 2 หรือรุ่นลูก ซึ่งมิได้เกิดบนแผ่นดินไทยแต่ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาในประเทศไทย และรุ่นที่ 3 หรือรุ่นหลาน หมายถึง รุ่นหลานของบิดามารดานั่นเอง ในด้านกฎหมายชาวเวียดนามอพยพ รุ่นที่ 1 เป็นรุ่นที่ได้รับสถานะผู้เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือสถานะคนต่างด้าวส่วนรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 เป็นกลุ่มที่จะได้สัญชาติไทยหากยื่นคำร้องขอ (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2548)

องเชียงสือเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 1 วาดโดยพระเชียงอิน ใน ค.ศ. 1887 ถ่ายโดยอภินันท์ โปษยานนท์ (ภาพจาก หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง)

อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาความเป็นมาของคนเวียดนามที่ชุมชนท่าแร่แล้ว ผู้ศึกษาพบว่า ชาวเวียดนามได้เดินทางเข้ามาอาศัยในบริเวณดังกล่าวในช่วงเวลาที่ต่างกันและเข้ามาด้วยสาเหตุที่ต่างกันออกไป ซึ่งอาจสามารถแบ่งชาวเวียดนามที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งที่ชุมชนท่าแร่ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามมิติทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าถึงความเป็นมา ดังนี้

เวียดนามรุ่นแรก อพยพเข้ามาในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (.. 2394 -2411) ซึ่งได้มีพวกเวียดนามลี้ภัยการเมืองและศาสนาอาศัยอยู่ในสยามเป็นจำนวนมาก และนับเป็นครั้งแรกที่สยามได้แสดงความเอาใจใส่เรื่องการลี้ภัยของคนเวียดนาม และกระตือรือร้นเตรียมรับเหตุการณ์ที่จะมีการลี้ภัยขึ้นอย่างจริงจัง โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินดีรับเอาชาวเวียดนามเอาไว้ในประเทศ ดังปรากฏให้เห็นได้จากพระบรมราชโองการว่า

“…พวกญวนเข้ารีตที่เมืองเว้  เมืองโจดก และไซ่ง่อน  มีมากตลอดขึ้นมาถึงเมืองโจด ลำน้ำ (เข้าใจว่าเป็นเมืองล่านำหรือแง่อาน) เมืองตังเกี๋ย เมืองกวางเบือง ต่อเขตแดนแขวงเมืองพวร แลหัวเมืองลาวฟากโขงตะวันออก ถ้าญวนเข้ารีตทนฝีมือญวนไม่ได้คงพาครอบครัวหลบหนีมาทางเมืองมหาไชย เมืองพวน เมืองพวนกับเมืองหลวงพระบาง หนองคาย นครพนมเขตแดนติดต่อกัน ให้เจ้าเมืองหลวงพระบาง พระพนมนคราปุริก พระประทุมเทวาภิบาล ท้าวเพี้ยมีปัญญา คุมไพร่ออกลาดตระเวนพบปะญวนเข้ารีตแตกหนีมาก็ให้พูดจาชักชวนเข้ามาไว้ในเมืองหลวงพระบาง เมืองหนองคาย เมืองนครพนมให้ได้จงมาก…” (ประวัติศาสตร์การอพยพของชาวเวียดนาม, 2558)

พวกเวียดนามลี้ภัยทางศาสนาส่วนมากอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามเดินทางโดยทางเรือ เลียบมาทางชายฝั่งเขมรมายังบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของสยาม และได้กระจายกันอยู่เป็นกลุ่มตามเมืองสำคัญ เช่น จันทบุรี ขลุง ตราด ระยอง ชลบุรี สมุทรสงคราม ส่วนพวกที่เข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยาได้ขึ้นบกที่กรุงเทพฯ อยุธยา และนครสวรรค์ (ปากน้ำโพ)  อีกทั้งยังมีพวกเวียดนามที่ลี้ภัยทางการเมืองภัยทางศาสนาจากเมืองในเขตอันนัมตอนเหนือ เช่น เมืองทันหัว (Thanh Hua) แง่อาน (Nghe An) และฮาตินฮ์ (Ha Tinh) เดินทางเข้ามาโดยผ่านทางอาณาจักรลาวและมาอยู่ในบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำโขง พวกเวียดนามจำนวนมากได้อาศัยอยู่ที่เมืองท่าอุเทน ไชยบุรี หนองคาย นครพนม

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระบรมราชโองการให้จัดลาดตระเวนเกลี้ยกล่อมพวกเวียดนามลี้ภัยที่เดินทางเข้ามาทางเขตลาวให้เข้ามาอยู่ในเขตสยามให้ได้มากเช่นกัน โดยโปรดเกล้าให้ทำมาหากินอยู่ในเขตเมืองนครพนมและสกลนคร พวกเวียดนามที่เกลี้ยกล่อมมาเหล่านี้ล้วนเป็นพวกเวียดนามที่หนีความอดอยากมาทั้งสิ้น เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดภัยแล้งในเวียดนามเป็นระยะเวลานาน (ประวัติศาสตร์การอพยพของชาวเวียดนาม, 2558)

มูลเหตุสำคัญของการลี้ภัยมายังสยามของชาวเวียดนามนั้น เนื่องจากบริบทการเมืองภายในของเวียดนามที่พระจักรพรรดิมินมางทรงนำนโยบายการกดขี่ข่มเหงพวกที่นับถือคริสต์ศาสนากลับมาใช้อีกครั้ง พระองค์ทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาลัทธิขงจื๊อและนิยมชมชอบวัฒนธรรมจีนอย่างมาก พระองค์ทรงศึกษาลัทธิขงจื๊อเพื่อนำมากำหนดระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการ

ในขณะเดียวกันก็ทรงเกรงว่าศาสนาคริสต์ซึ่งเป็นอุดมการณ์ใหม่ของชาวคาทอลิกเวียดนามจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ โดยการเข้าไปแทนที่อุดมการณ์แบบขงจื๊อและจะไปทำลายพื้นฐานทางศีลธรรมของลัทธิขงจื๊อในที่สุด ดังนั้น จึงได้ออกประกาศทรงออกพระราชกฤษฎีกาจนถึงขั้นประหัดประหารพวกที่นับถือคริสต์ศาสนาโดยทั่วไปใน .. 2377 ซึ่งทางการได้ห้ามไม่ให้ชาวเวียดนามนับถือคาทอลิกและจับคริสตชนเวียดนามลงโทษในรูปแบบต่าง ทั้งนี้การเบียดเบียนศาสนาคาทอลิกดังกล่าวนั้นเป็นผลมาจากนโยบายปิดประเทศของราชสำนักราชวงศ์เหงียนที่ไม่ติดต่อค้าขายกับต่างชาติ โดยเฉพาะชาติตะวันตก นโยบายดังกล่าวทำให้รัฐบาลมีความคิดล้าหลังและต่อต้านการปฏิรูป จักรพรรดิมินมางของราชวงศ์เหงียนได้ส่งเสริมให้มีการศึกษาลัทธิขงจื๊อ เพื่อช่วยสนับสนุนระบบการปกครองของตน (สุด จอนเจิดสิน, 2544, . 6)

อย่างไรก็ดี ในสมัยพระจักรพรรดิมินมาง การข่มเหงพวกที่นับถือคริสต์ศาสนาไม่เด็ดขาดรุนแรงเท่ากับในรัชกาลต่อมา คือ สมัยพระจักรพรรดิตือดึ๊ก (.. 2391 – 2426) พระจักรพรรดิตือดึ๊กทรงใช้นโยบายนี้ตอบโต้การแทรกแซงทางการเมืองการปกครองเวียดนามของพวกบาทหลวงและนักสอนศาสนาชาวตะวันตก โดยให้ทำลายชีวิตและหมู่บ้านพวกเวียดนามที่นับถือคริสต์ศาสนา ชาวเวียดนามเข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนาหลายพันคนถูกประหารชีวิต เมื่อฝรั่งเศสใช้กำลังบุกเมืองท่าตูราน (ดานัง) เป็นครั้งแรกใน .. 2401 และรุกรานจนได้เข้าครอบครองแคว้นโคชินจีนนั้น พระจักรพรรดิทรงเข้าพระทัยว่าพวกเวียดนามที่นับถือคริสต์ศาสนาสนับสนุนพวกฝรั่งเศส จึงทรงกดขี่กระทำการทารุณกรรมพวกเวียดนามเหล่านี้รุนแรงขึ้น (สุด จอนเจิดสิน, 2544, . 8)

จักรพรรดิมิญ หมั่ง หรือพระเจ้ามินมาง กษัตริย์เวียดนาม

เวียดนามรุ่นที่สอง อพยพเข้ามาประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่ท่าแขกหรือวันท่าแขกแตกซึ่งเป็นกลุ่มชาวเวียดนามที่ทางการไทยเรียกว่าญวนอพยพการหนีข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวมาฝั่งไทยครั้งนี้เป็นการหนีการปราบปรามของกองกำลังฝรั่งเศสจากเวียงจันทน์ สะหวันเขตและท่าแขก แขวงคำม่วน มายังหนองคาย มุกดาหาร (สมัยนั้นเป็นอำเภอหนึ่งของนครพนม) ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นได้ยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 และต้องถอนตัวออกจากลาวและเวียดนาม ซึ่งมีผลให้ฝรั่งเศสพยายามกลับเข้ามายึดครองเวียดนามและลาวอีกครั้ง

การปราบปรามนี้มุ่งไปที่การปราบปรามชาวเวียดนามในเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงฝั่งลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองท่าแขก เพราะที่ท่าแขกนี้เป็นที่รวมตัวของชุมชนชาวเวียดนามรักชาติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวช่วยเหลือและร่วมมือกับชาวลาวรักชาติเพื่อต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส จึงก่อให้เกิดการปราบปรามและกวาดล้างชาวเวียดนามผู้ต่อต้านที่รุนแรงและโหดเหี้ยมที่สุดอย่างนึกไม่ถึง และยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของชาวเวียดนามที่อยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้นยังไม่ลืมเลือน ผู้หนีตายมาจากเหตุการณ์นี้หนีมาอย่างมือเปล่า ทิ้งบ้านเรือน รวมไปถึงทรัพย์สินที่ได้สะสมไว้ข้างหลัง โดยไม่มีโอกาสได้ข้ามกลับไปอีกเลย หลายคนบ้านแตกสาแหรกขาดและต้องสูญเสียญาติพี่น้อง (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2546, . 62)

จากเหตุการณ์ที่ท่าแขกในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2489 ครั้งนั้น นับเป็นการอพยพครั้งใหญ่ของชาวเวียดนามมายังไทย ทำให้ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ที่ท่าแขกได้หนีข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งไทยประมาณ 50,000 คน รวมทั้งชาวลาวอีก 4,000 คน โดยชาวเวียดนามเกือบทั้งหมดยังคงลี้ภัยและพำนักอาศัยอยู่ในภาคอีสานของไทยต่อมาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งเมื่อรวมกับชาวญวนที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยจึงมีชาวญวนอพยพจำนวนมาก ในขณะที่ชาวลาวนั้นจะข้ามกลับไปหลังจากเหตุการณ์สงบลง

การใช้ดินแดนสยามโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นฐานนอกประเทศในการต่อสู้กับการยึดครองเวียดนามของฝรั่งเศส ซึ่งได้ดำเนินการเคลื่อนไหวบนแผ่นดินไทย เช่น นครพนม สกลนคร อุดรธานี และจังหวัดอื่น ต่างมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านฝรั่งเศสที่ได้กับเข้ามายึดครองอินโดจีนภายหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2  และต้องยอมถอนกำลังทหารออกไปทั้งหมด ทั้งนี้เพราะพื้นที่ภาคอีสานเป็นที่ห่างไกลจากกองกำลังฝรั่งเศส รวมไปถึงยังเป็นพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจในกรุงเทพฯ อีกด้วย ทำให้การดำเนินการเคลื่อนไหวทำได้สะดวกกว่าพื้นที่ในจีนตอนใต้ และในลาวซึ่งมีกองกำลังของฝรั่งเศสอยู่กลาดเกลื่อน จึงได้ส่งผลให้ภาคอีสานของไทยเป็นศูนย์รวมของกลุ่มผู้นำขบวนการกู้ชาติเวียดนาม

การปรับตัวของญวนอพยพภายใต้นโยบายของรัฐไทย

นโยบายของรัฐบาลไทยต่อชาวเวียดนามในประเทศแต่ละยุคแต่ละสมัยมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับทัศนคติ สถานการณ์ทางการเมืองภูมิภาคและโลก รวมไปถึงนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลไทย ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะมีผลต่อการกำหนดชีวิตความเป็นอยู่และโชคชะตาของชาวเวียดนามอพยพในประเทศไทย

ภายใต้บริบทแห่งการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 กระบวนการสร้างตัวตนทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวได้มีส่วนสำคัญในการสร้างภาวะชายขอบให้เกิดขึ้นแก่กลุ่มคนเชื้อชาติอื่น ที่อยู่ในประเทศไทยทั้งสองทิศทาง คือ ผนวกเข้าทางภูมิศาสตร์และกีดกันทางสังคมวัฒนธรรม กล่าวคือไม่เพียงแต่โดยการผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรและกระบวนการรวบอำนาจในการจัดการพื้นที่และทรัพยากรจากหัวเมืองเหล่านั้นเข้าสู่ศูนย์กลางแล้วเท่านั้น

รัฐไทยยังมีการจัดการกลุ่มชนต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรม ด้วยการพยายามที่จะบูรณาการให้เป็นหนึ่งเดียวกันโดยมีส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ เป็นต้นแบบ รวมถึงการใช้กลไกหลักที่ทรงประสิทธิภาพอีกอันหนึ่งในการสร้างตัวตนทางสังคมวัฒนธรรมก็คือ การเขียนประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นไปในลักษณะเส้นทางตรงสายเดียว ไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับกลุ่มชนหลากเชื้อชาติหลายวัฒนธรรมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพรมแดนของประเทศสยามเลย (สุริชัย หวันแก้ว, 2550, . 66)

ทั้งนี้พื้นที่ชายขอบก็ยังมีความหมายโดยตัวเองว่าเป็นพื้นที่ซึ่งห่างไกลออกไปจากศูนย์กลาง ทั้งในแง่ของภูมิศาสตร์และทัศนวิสัยทางสังคมวัฒนธรรม กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้จึงดูเสมือนถูกผลักให้ไปอยู่ชายขอบทางสังคมวัฒนธรรมมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ ไม่ได้รับการยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนไทยทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยและวัฒนธรรมไทยที่มีแกนกลางหรืออุดมคติอยู่ที่คนไทย เชื้อชาติไทย

รวมไปถึงความเป็นไทยที่มีลักษณะเป็นเนื้อเดียว นอกจากนี้ด้วยนโยบายของรัฐไทยที่มุ่งส่งเสริมพุทธศาสนา ยังได้มีส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มชนศาสนาอื่น ถูกผลักดันให้เป็นชนชายขอบทางสังคมวัฒนธรรมที่ได้รับการนิยามให้เป็นคนอื่นในสังคม อันเป็นผลมากจากคติความเชื่อและแบบแผนการดำรงชีวิตที่ต่างออกไปจากวัฒนธรรมกระแสหลักของรัฐไทย

ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเวียดนามอพยพในอีสานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีต ต้องประสบกับความกดดัน การกดขี่ การปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยและประชาชนในสังคมไทยบางส่วนในบางช่วงเวลา อันสืบเนื่องมาจากนโยบายต่อชาวเวียดนามอพยพของรัฐบาลไทยในแต่ละช่วงเวลา ความรุนแรงและความเข้มข้นในมาตรการควบคุมกวดขันหรือลงโทษในแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกันไปตามนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์และความอ่อนไหวของสถานการณ์โลกในขณะนั้น ซึ่งได้เกิดภัยคอมมิวนิสต์เข้าคุกคามประเทศในภูมิภาคอินโดจีนและกำลังย่างกรายเข้ามาในประเทศไทย

การอพยพของชาวเวียดนามระลอกใหญ่ได้เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากเหตุการณ์ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งช่วงแรกที่อพยพเข้ามาชาวเวียดนามอพยพได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลของ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นอย่างดี โดยรัฐบาลได้อนุมัติเงินช่วยเหลือ จัดหางานให้ทำ และสั่งการให้ช่วยจัดหาที่พักชั่วคราวให้ตามวัดและโรงเรียน นอกจากนี้ชาวไทยอีสานหลายครอบครัวรวมทั้งชาวเวียดนามเก่าก็ได้ให้อาหารและที่พักพิงชั่วคราวแก่ชาวเวียดนามอพยพด้วย (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2548, . 24)

กองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่กองทัพกู้ชาติเวียดนามที่ยุทธภูมิเดียนเบียนฟู เมื่อ 7 พฤษภาคม 1954 ทำให้ฝรั่งเศสต้องถอนตัวออกจากเวียดนาม และเป็นจุดเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคนี้ ในภาพเป็นการเชิญธงฝรั่งเศสลงจากยอดเสาในกรุงฮานอย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวนี้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเกิดการรัฐประหารใน .. 2490 และการเมืองไทยเปลี่ยนมาสู่ยุครัฐบาลจอมพล . พิบูลสงคราม (.. 2491-2500) ในขณะที่โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็น โดยรัฐบาลไทยเลือกสังกัดอยู่ฝ่ายสหรัฐอเมริกา ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามเหนือได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้นโยบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อชาวเวียดนามอพยพเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลไทยหันไปใช้นโยบายและมาตรการที่เข้มงวดต่าง ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของชาวเวียดนามอพยพ

อีกทั้งยังได้ประกาศให้ชาวเวียดนามอพยพอาศัยอยู่ได้ในเขตจำกัด 5 จังหวัดเท่านั้น คือ หนองคาย นครพนม สกลนคร อุบลราชธานี และปราจีนบุรี (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2546, . 67) ซึ่งส่งผลให้ชาวเวียดนามอพยพต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของกฎหมายและระบบราชการที่ลิดรอนสิทธิต่าง อันจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพที่ดี อาทิ สิทธิในการเดินทางออกจากเขตจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่ สิทธิในการถือครองทรัพย์สินบางประเภท เช่น ที่ดิน อาคารพาณิชย์ ฯลฯ สิทธิในการ ประกอบอาชีพบางสาขา ฯลฯ

ใน .. 2496 รัฐบาลจอมพล . พิบูลสงคราม ได้ดำเนินโครงการเคลื่อนย้ายชาวเวียดนามอพยพไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ แม้โครงการนี้จะไม่สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ในปีเดียวกันนี้ก็มีการอพยพเคลื่อนย้ายชาวเวียดนามอพยพในภาคอีสานจำนวนมากไปจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากไม่ไว้วางใจและเกรงว่าชาวเวียดนามเหล่านี้ซึ่งใกล้ชิดกับขบวนการเวียดมินห์จะเคลื่อนไหวต่อต้านและเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ

นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังมีนโยบายส่งเสริมให้ชาวเวียดนามอพยพเดินทางกลับไปอาศัยอยู่ในประเทศเวียดนามใต้แทนที่จะเป็นประเทศเวียดนามเหนือ ซึ่งชาวเวียดนามอพยพส่วนใหญ่ไม่ต้องการไปอาศัยอยู่ในประเทศเวียดนามใต้ ซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นเขตที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาที่มารุกรานชาวเวียดนามและเป็นศัตรูสำคัญที่สุดของชาติ (ธนนันท์ บุ่นวรรณา, 2545, . 110) นโยบายนี้จึงกระทบกระเทือนจิตใจของชาวเวียดนามอพยพอย่างรุนแรง พร้อมกันนั้นชาวเวียดนามอพยพก็เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของตนเองและครอบครัวเป็นอย่างมาก

สถานการณ์และความตึงเครียดในทางการเมืองของสังคมโลกยังคงทวีความรุนแรง ซึ่งภายใต้การนำของรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (.. 2501-2506) ที่มีความสนิทสนมกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกามากเป็นพิเศษ ถึงขนาดตกลงให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้ามาสร้างฐานทัพในประเทศไทย เพื่อทำสงครามกับเวียดนามเหนือ ส่งผลให้ชาวเวียดนามอพยพถูกควบคุมอย่างเข้มงวดยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา เช่น ประกาศห้ามชาวเวียดนามประกอบอาชีพต่าง ถึง 25 อาชีพด้วยกัน เช่น ถ่ายรูป ซ่อมวิทยุ ซ่อมรถยนต์ ช่างไฟ ตัดผม ร้านขายยา ซ่อมจักรยานยนต์ ช่างตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี ทำนา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการเรียกเก็บภาษีจากชาวเวียดนามที่ประกอบอาชีพเป็นเงินถึง 1,000 บาทต่อปี ในกรณีที่ชาวเวียดนามอพยพมีร้านค้า นอกจากจะต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีทะเบียนการค้าตามปรกติแล้วยังต้องเสียภาษีพาณิชย์อีกหัวละ 500 บาทต่อปี (ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2548, . 92) ซึ่งเงินจำนวน 1,000 บาท หรือ 500 บาทนี้มีมูลค่าสูงมากในสมัยนั้น เนื่องจากค่าแรงของกรรมกรตกประมาณวันละ 8-10 บาทเท่านั้น จึงสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวเวียดนามอพยพและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตให้อัตคัดขาดแคลนยิ่งกว่าเดิม

ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ชาวเวียดนามอพยพมีสถานะเป็นเพียงผู้อพยพที่ไม่มีสิทธิในฐานะพลเมืองของไทย เช่น ไม่สามารถเป็นเจ้าของบ้าน ตึกแถว และที่ดิน ไม่มีสิทธิเดินทางออกไปนอกเขตที่รัฐกำหนดให้พักอาศัยและไม่มีสิทธิรับราชการ อย่างไรก็ตาม ชาวเวียดนามอพยพก็มิได้ยอมจำนนต่อสภาวะที่ด้อยโอกาสของตนแต่อย่างใด แม้ไม่มีทุนรอนเพียงพอที่จะใช้ในการลงทุน แต่ชาวเวียดนามอพยพก็สามารถขายแรงงานโดยรับจ้างทำทุกอย่างที่มีคนจ้างให้ทำ เช่น เป็นแรงงานสร้างถนน ทำไร่ ทำนา หรือเป็นพ่อค้าเร่ที่หาบสินค้าไปขายในหมู่บ้านต่าง หรือขายเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตรที่กำลังเป็นที่ต้องการของคนในชนบท โดยขายสินค้าที่ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก บางคนนำสินค้าจากชนบทมาขายในเมือง เช่น ข้าว ผ้า ฝ้าย หมากพลู หน่อไม้ เห็ด  น้ำผึ้ง ฯลฯ

จนเมื่อสามารถสะสมทุนได้บ้างแล้ว ก็นำมาลงทุนค้าขายในตลาดสดซึ่งเก็บค่าเช่าที่ถูกและเก็บค่าเช่าเป็นรายวัน เช่น ขายผัก ปลา หมู หรือสินค้าเบ็ดเตล็ดต่าง โดยอาศัยความอดทนและอดออมอย่างยิ่งยวด ทำให้ชาวเวียดนามอพยพสามารถสะสมทุนรอนได้บ้าง (ศริญญา สุขรี, 2559, . 9)

ภาพถ่ายสนามบินตาคลีในช่วงสงครามเวียดนาม (ภาพจากเว็บไซต์ Smithsonian’s National Air and Space Museum)

ประเพณีแห่ดาวคริสต์มาส : จากวัฒนธรรมชายขอบสู่วัฒนธรรมศูนย์กลาง

ในช่วง พ.ศ. 2518-2519 รัฐบาลไทยและรัฐบาลเวียดนามได้พยายามดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันอีกครั้ง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มีผลโดยตรงต่อชาวเวียดนามอพยพในประเทศไทย แม้ว่าทัศนคติของนักการเมือง ข้าราชการ คนท้องถิ่นบางส่วนจะยังไม่ดีขึ้น แต่ก็มิได้เข้มงวดกับกฎข้อบังคับต่าง หรือเพิ่มมาตรการกดดันชาวเวียดนามอพยพดังเช่นในอดีต

สถานการณ์แวดล้อมที่เคยกดดันชาวเวียดนามอพยพในไทยได้เริ่มผ่อนคลายลงหลังจากที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศนโยบาย 66/23 (ศริญญา สุขรี, 2559, . 25) (ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้อภัยโทษแก่ผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่กลับมามอบตัวและร่วมพัฒนาชาติไทย) นโยบายดังกล่าวนี้นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสลายตัวลง ส่งผลให้ความรู้สึก ทัศนคติ ความน่ากลัวของคอมมิวนิสต์ค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย ซึ่งส่งผลดีต่อชาวเวียดนามอพยพที่มีภาพลักษณ์ที่ถูกผูกติดกับความเป็นคอมมิวนิสต์ตลอดมา

ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2530 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในโอกาสทางชีวิตของชาวเวียดนามอพยพ จากการที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี (.. 2531-2534) มีแนวนโยบายให้สัญชาติไทยแก่ชาวเวียดนามอพยพภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจนำการเมือง โดยนโยบายให้สัญชาติแก่บุตรหลานชาวเวียดนามอพยพประสบความสำเร็จใน .. 2535 สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน (ศริญญา สุขรี, 2559, . 27) ต่อมาใน .. 2540 ก็มีการพิจารณามอบสถานะคนต่างด้าวแก่ชาวเวียดนามอพยพรุ่นบิดามารดา การพิจารณาให้สัญชาติและสถานะคนต่างด้าวแก่ชาวเวียดนามอพยพนี้ ทำให้ความกดดันและความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตของชาวเวียดนามอพยพหมดไปในที่สุด

นอกจากนี้ในช่วงกลางทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเปิดประเทศค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเต็มที่โดยมีการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลไทย ซึ่งทำให้ชาวญวนอพยพได้มีโอกาสทางการค้ามากยิ่งขึ้น และยังเป็นโอกาสให้กลุ่มญวนอพยพสร้างตัวตนตามชุดความคิดแบบใหม่ที่ว่าด้วยคนไทยเชื้อสายเวียดนามเป็นคนในที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย มิใช่คนอื่นอย่างเช่นในอดีตที่ถูกกดทับด้วยวาทกรรมของการเป็นคนชายขอบของสังคม

ปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้ชุดความคิดแบบใหม่สามารถสถาปนาขึ้นมาได้ เป็นผลมาจากบริบทของโลกทุนนิยมและกระแสของการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่รัฐไทย ส่งผลให้วัฒนธรรมแบบเวียดนามซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ได้รับความสนใจและถูกหน่วยงานต่าง ของรัฐนำเสนอแก่สายตานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวชม ทั้งนี้วัฒนธรรมดังกล่าวได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย คนไทยเชื้อสายเวียดนามจึงได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมากขึ้น ทำให้ทัศนคติทางลบที่มีต่อความเป็นเวียดนามและคอมมิวนิสต์ญวนที่เคยมีมาแต่ในอดีตลบเลือนจางหายไปตามกาลเวลา ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของชาวญวนในสังคมไทย

ประเพณีแห่ดาวคริสต์มาสของชาวคริสต์ท่าแร่ ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรม เพื่อใช้ในการต่อรองและสร้างพื้นที่ทางสังคม อันเป็นรูปแบบของการสร้างประเพณีประดิษฐ์เพื่อนิยาม รวมไปถึงสร้างตัวตน สร้างเกียรติภูมิ ผ่านข้อมูลทางคติชนที่บอกเล่าถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมแบบเวียดนามที่ถูกนำมาผลิตซ้ำ โดยมีการใช้รูปดาวมาเป็นสัญญะแห่งอัตลักษณ์ที่สื่อความหมายได้สองทาง ทั้งในแง่ของความเป็นคริสต์ศาสนิกชน และความเป็นชาติเวียดนาม ฉะนั้นดาวจึงเป็นรูปสัญญะ เพื่อการสืบทอดอัตลักษณ์และตัวตนของชาวคริสต์ท่าแร่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการผลิตซ้ำและสร้างใหม่ในชุมชนข้ามถิ่นที่ของกลุ่มผู้อพยพที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศมาตุภูมิได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับเขตแดนแบบรัฐชาติดังเช่นแต่ก่อน

ปัจจุบัน บริบทการท่องเที่ยวของโลกได้ปรับเปลี่ยนไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น ซึ่งการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ให้ความเคารพแก่อัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ที่มีวิถีชีวิตและจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป อันทำให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดสำนึกและความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมประเพณีของตน

ภายใต้บริบทของการท่องเที่ยวเช่นนี้ ชาวชุมชนท่าแร่ซึ่งเป็นกลุ่มชาวคริสต์ที่มีภูมิหลังแต่บรรพบุรุษอพยพมายังเวียดนาม ได้ปรับตัวและผสมผสานสำนึกอัตลักษณ์ในความเป็นไทยเข้ากับความเป็นญวนเวียดนาม ภายใต้ชุดความคิดคนไทยเชื้อสายเวียดนามท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวเรื่องการทารุณกรรมสุนัขที่ทำให้สังคมมองภาพของคนท่าแร่ในฐานะที่เป็นคนป่าเถื่อนโหดร้าย อย่างไรก็ตาม ชาวท่าแร่ก็ได้เลือกที่จะนำเสนออัตลักษณ์ของตนเองในฐานะชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสกลนครและภูมิภาค โดยเฉพาะการเป็นแหล่งรวมสถาปัตยกรรมโบราณที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน โบสถ์ โรงเรียน และศาสนสถานอื่น อันมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากชุมชนท้องถิ่นอีสานโดยทั่วไป เพื่อแสดงให้กลุ่มคนภายนอกเห็นว่าชาวชุมชนท่าแร่นั้นมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ดีงาม และมีความเป็นสากล ตลอดจนเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรมของสังคมไทยด้วยเช่นกัน (ปฐม หงส์สุวรรณ,  2554, .134)

จากลักษณะดังที่กล่าวไป ทำให้เห็นภาพของการประดิษฐ์ประเพณีขึ้นมาใหม่ ภายใต้บริบทของสถานการณ์ทางสังคมที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิมคือ จากชุมชนชายขอบ” (ท่าแร่) ไปสู่ชุมชนศูนย์กลาง” (สกลนคร) ซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนจากการแห่ดาวดวงเล็กภายในชุมชนไปสู่การเคลื่อนตัวและขยับขยายด้วยอิทธิพลของระบบทุนนิยมและกระแสของการท่องเที่ยวภายในประเทศไทย ที่มีองค์กรของรัฐอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นผู้ผลักดัน

สืบเนื่องมายังทศวรรษ 2540 นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่าง “Amazing Thailand” ได้นำเอาประเพณีแห่ดาวเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ งานประเพณีต่าง ได้ถูกแปรรูปให้กลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมซึ่งมีสร้างมูลค่าและรายได้ให้แก่ชุมชนและรัฐ ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและจากทั่วทุกมุมโลกให้เดินทางเข้ามาบริโภคความสุขจากความบันเทิงในการชมศิลปวัฒนธรรม ทำให้การแห่ดาวของชาวคริสต์ท่าแร่ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันภายใต้บริบทใหม่ อันเป็นพัฒนาเพื่อสร้าง ผลิตซ้ำ และปรับเปลี่ยนระบบคุณค่าให้สอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

ประเพณีแห่ดาวของชาวคริสต์ท่าแร่ในฐานะที่เป็นประเพณีประดิษฐ์ จึงมีการดัดแปลง ปรุงแต่ง และเสริมเติมสิ่งใหม่ เข้าไป เพื่อสื่อสารและบอกเล่าถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมของชาวเวียดนามอพยพให้กลุ่มคนอื่น ในสังคมได้มองเห็นและสัมผัสผ่านประเพณีแห่ดาวได้ อีกทั้งยังมีการนำเสนอภาพความเป็นพลเมืองไทยผ่านการใช้ข้อมูลทางคติชนและวัฒนธรรม เพื่อบ่งบอกว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ของแปลกหากแต่เป็นวัฒนธรรมไทยอีกรูปแบบหนึ่ง (ปฐม หงส์สุวรรณ,  2554, .140) นอกจากนี้ยังมีการสร้างสรรค์ประเพณีแห่ดาวให้มีความผสมผสานกลมกลืนกับความเป็นไทยที่เป็นท้องถิ่นอีสานอีกด้วย รวมทั้งยังต้องการนำเสนอภาพเพื่อให้เห็นมิติของความเป็นสากลด้วยอีกประการหนึ่งเช่นกัน

สิ่งที่กล่าวข้างต้นทั้งหมดได้บ่งชี้ให้เห็นว่า ชุมชนท่าแร่นั้นมีความแตกต่างในความเชื่อ โลกทัศน์ และขนบธรรมเนียมทางวัฒนธรรมจากชุมชนอื่น ที่เกิดขึ้น อันเป็นผลจากการหลอมรวมระหว่างเชื้อชาติ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อต่าง ตามหลักศาสนาคริสต์ที่ผนวกเข้ากับชีวิตประจำวันของคนท่าแร่มาอย่างยาวนาน โดยสามารถแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแบบชนชาติไทยได้อย่างกลมกลืน ซึ่งการนิยามและสร้างตัวตนผ่านข้อมูลทางคติชน ก่อให้เกิดลักษณะเฉพาะตนหรืออัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนไทยเชื้อสายเวียดนามในประเทศไทยที่เป็นสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ฉะนั้นการผสานหรือหลอมรวมทางวัฒนธรรมเช่นนี้ จึงถือว่าเป็นเสน่ห์แบบท่าแร่ที่เต็มไปด้วยความน่าค้นหาและสัมผัส

ทว่าเสน่ห์ของชุมชนท่าแร่นั้นกลับถูกบดบังไปด้วยการนำเสนอโหมกระพือของสังคมภายนอกในรูปแบบของความจริงเพียงด้านเดียวผ่านวิธีคิดและวิธีมองชุดเดียวภายใต้การนำเสนอของสื่อมวลชนที่เน้นเพียงการนำเสนอประเด็นการทารุณสุนัขของคนสกลนครไปอย่างกว้างขวาง จึงกลายเป็นการตีตราให้คนในพื้นที่นี้ได้รับการภาพจำเสมือนเป็นคนโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ทั้ง ที่ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีทั้งประวัติศาสตร์และมีความเป็นพหุลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย การถูกจดจำเพียงเรื่องเดียวผ่านวาทกรรมคนสกล กินหมาจึงอาจเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธัญญาทิพย์ ศรีพนา. (2546). ชาวเวียดนามอพยพในภาคอีสานของไทย. วารสารอินโดจีนศึกษา. ปีที่ 3-4 (..2545-..2546) : 59-75.

ธัญญาทิพย์ ศรีพนา. (2548). เหวียตเกี่ยว ในประเทศไทยกับความสัมพันธ์ไทยเวียดนาม. กรุงเทพฯ: หน่วยปฎิบัติการวิจัยแม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศริญญา สุขรี. (2559). ไทยใหม่ : จากชาวเวียดนามอพยพสู่ชนชั้นนำใหม่ในเมืองนครพนม. มนุษยศาสตร์สาร. ปีที่ 17 (ฉบับที่ 1) : 11-43.

ปฐม หงส์สุวรรณ. (2554). ประเพณีแห่ดาวของชาวคริสต์ท่าแร่: เวทีการต่อรองเพื่อนิยามตัวตนความเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรม. วารสารศิลปวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ปีที่ 1 (ฉบับที่ 1) : 112-154.

สุด จอนเจิดสิน. (2544). ประวัติศาสตร์เวียดนามตั้งแต่สมัยอาณานิคมฝรั่งเศสถึงปัจจุบัน. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุริชัย หวันแก้ว. (2550). คนชายขอบ จากความคิดสู่ความจริง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธนนันท์ บุ่นวรรณา. (2545). นโยบายชาวเวียดนามอพยพของรัฐบาลจอมพล . พิบูลสงคราม .. 2491–2500. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. (2558). ประวัติศาสตร์การอพยพของชาวเวียดนาม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2561. จาก http://catholichaab.com/main/index.php


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 เมษายน 2565