“ไบเบิลไม่บอกวันประสูติพระเยซู” แล้วคริสต์มาสมาจากไหน??

ซานตาคลอส วันคริสต์มาส เทศกาลคริสต์มาส ชาวคริสต์ เชื่อว่า วันที่ 25 ธันวาคม เป็น วันประสูติของพระเยซู
ซานตาคลอสชาวญี่ปุ่นอวดชามเปล่า ในการแข่งขันกินข้าวโอ๊ตต้มในงาน Santa Clause Winter Games ที่เมืองกัลลิแวร์ ประเทศสวีเดน (ภาพจาก AFP)

ในปัจจุบันผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ในหลายประเทศ หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ใช่ชาวคริสต์อย่างคนไทยหลายคนที่แค่อยากร่วมสนุกในวันอันรื่นเริงต่างๆ ต่างก็ร่วมเฉลิมฉลองงาน วันคริสต์มาส หรือ “วันประสูติของพระเยซู” ในวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี

แต่อันที่จริงแล้ว เรารู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูประสูติในวันที่ 25 ธันวาคม เพราะแม้แต่ในคัมภีร์ไบเบิลก็ไม่มีบันทึกเรื่องนี้เอาไว้!?

ในช่วงศตวรรษที่ 1-2 พบว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บ่งบอกได้ถึง วันประสูติของพระเยซู ได้เลย จะมีก็แต่เนื้อความบางตอนในคัมภีร์ไบเบิลที่พอจะให้เค้าโครงได้บ้าง โดยคัมภีร์ไบเบิลได้บันทึกไว้ว่า ในขณะที่คนเลี้ยงแกะกำลังต้อนแกะในยามกลางคืน ก็เกิดได้ยินข่าวเกี่ยวกับการประสูติของพระเยซู

จากเนื้อความทำให้สันนิษฐานได้ว่า ในช่วงเวลานั้นน่าจะเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูใบไม้ร่วง เพราะถ้าหากเป็นฤดูหนาว แกะก็น่าจะต้องอยู่ในคอกตลอดเวลา เพื่อหลบอากาศที่หนาวเย็น ดังนั้น จากบริบทดังกล่าวก็จะเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่พระเยซูอาจไม่ได้ประสูติในวันที่ 25 ธันวาคม หรือแม้แต่ในช่วงฤดูหนาวเลยเสียด้วยซ้ำไป ยิ่งไปกว่านั้นนักวิชาการก็ยังไม่พบว่ามีหลักฐานที่บ่งบอกถึงการเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสในยุคนั้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ราว ค.ศ. 200 เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย (Clement of Alexandria) นักเทววิทยาชาวกรีก ได้บันทึกว่าในสมัยนั้นมีการเสนอวันประสูติของพระเยซูโดยชาวคริสต์จากหลากหลายกลุ่ม แต่จากบันทึกนี้ก็พบว่าไม่มีชาวคริสต์กลุ่มใดที่เสนอให้วันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันประสูติของพระเยซูเลย

กระทั่งเมื่อเวลาได้ร่วงโรยมาจนถึงในศตวรรษที่ 4 ผู้คนเริ่มให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าวมากขึ้น มีการคาดเดาถึงวันประสูติของพระเจ้า โดยความเชื่อเรื่องวันประสูตินี้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย กล่าวคือ ชาวโรมันตะวันตกเชื่อว่า พระเยซูประสูติในวันที่ 25 ธันวาคม ในขณะที่ทางโรมันตะวันออกเชื่อว่าน่าจะเป็นวันที่ 6 มกราคม ความเชื่อของชาวโรมันตะวันออกดังกล่าวยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่จะเห็นได้ว่าโบสถ์อาร์เมเนียนทุกวันนี้ก็ยังฉลองวันคริสต์มาสในวันที่ 6 มกราคมของทุกปีอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 4 ก็พบว่ามีหลักฐานของโรมันที่บันทึกรายชื่อบาทหลวงและสาวกศาสนาคริสต์พร้อมกับวันเสียชีวิต ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่ารายชื่อแรกที่พบในบันทึกดังกล่าวคือรายชื่อของพระเยซู พร้อมวันประสูติ ไม่ใช่วันสิ้นพระชนม์ ทั้งนี้วันประสูติที่มีบันทึกไว้ก็คือวันที่ 25 ธันวาคม

จากหลักฐานและเรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะเห็นได้ว่ามีกระแสแนวคิดเกี่ยวกับวันประสูติของพระเยซูว่าเป็นวันที่ 25 ธันวาคมเป็นกระแสสำคัญ ทั้งนี้คำถามที่น่าสนใจต่อมาก็คือ

วันประสูติของพระเยซู ทำไมจึงต้องเป็นวันที่ 25 ธันวาคม?

คำตอบของคำถามนี้ยังไม่มีใครรู้ได้แน่ชัด จะมีก็แต่ทฤษฎี 2 ทฤษฎีหลักที่พอจะอธิบายได้ คือ

1. เนื่องจากวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันที่ชาวโรมันโบราณซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนับถือลัทธิเพแกนหรือลัทธินอกศาสนา จะทำการเฉลิมฉลองให้กับพระเจ้าหลายพระองค์ ชาวคริสต์ในขณะนั้นต้องการจะเผยแผ่ศาสนาจึงตั้งใจเลือกให้วันที่ 25 ธันวาคมเป็น “วันประสูติของพระเยซู” เพื่อให้ตรงกับวันเฉลิมฉลองพระเจ้าของลัทธิเพแกน โดยเชื่อว่าวิธีการนี้จะทำให้ชาวลิทธิเพแกนจะร่วมฉลองให้กับวันประสูติของพระเยซู และเปิดใจให้กับศาสนาคริสต์มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการก็ไม่ได้เชื่อแนวคิดดังกล่าวอย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่พบว่ามีหลักฐานทางคริสตศาสนาใดๆ ที่บันทึกเรื่องราวเช่นนี้ไว้เลย แต่สิ่งที่น่าจะมีความเป็นไปได้จากแนวคิดนี้คือ ธรรมเนียมในศาสนาคริสต์นั้นน่าได้รับอิทธิพลจากความเชื่ออื่นๆ โดยเฉพาะความเชื่อในลัทธิเพแกน ดังจะเห็นได้ว่าแม้แต่ต้นคริสต์มาสเองก็คล้ายว่าจะเป็นสิ่งตกทอดมาจากธรรมเนียมของลัทธิเพแกนในยุคกลาง

2. แนวคิดที่ 2 นี้เป็นแนวคิดจาก Louise Duchesne นักวิชาการชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อมาโดยนักวิชาการชาวอเมริกัน Thomas Talley ที่กล่าวว่าพระเยซูน่าจะประสูติวันเดียวกันกับวันที่สิ้นพระชนม์ ทั้งนี้วันที่มีบันทึกว่าพระเยซูโดนตรึงกางเขนนั้นก็คือวันที่ 25 มีนาคม จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าพระองค์น่าจะลงมาจุติบนโลกในวันที่ 25 มีนาคม และประสูติ 9 เดือนหลังจากนั้นคือ วันที่ 25 ธันวาคม

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครรู้ถึงที่มาที่แท้จริงของวันที่ 25 ธันวาคมว่า มาเป็น วันคริสต์มาส หรือเป็นวันประสูติของพระเยซูได้อย่างไร แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรนั้น วันนี้ก็ถือเป็นวันที่มีความสำคัญกับชาวคริสต์ เนื่องจากเป็นวันที่ทำให้สมาชิกครอบครัวที่กระจัดกระจายแยกย้ายกันอยู่คนละที่ ได้กลับมาร่วมสังสรรค์พูดคุยกันอีกครั้งในทุกๆ ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

McGowan, Andrew  How December 25 Became Christmas”. ฺBible History Daily. 25 Dec 2018, <https://www.biblicalarchaeology.org/daily/biblical-topics/new-testament/how-december-25-became-christmas/>

Winters, Riley The true meaning of Paganism”. Ancient Origin. 25 Dec 2018, <https://www.ancient-origins.net/myths-legends/true-meaning-paganism-002306>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2561