ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
การสร้าง “นุสันตารา” เมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย เพื่อนบ้านสมาชิกอาเซียนของเรา น่าจะอยู่ในการรับรู้และความสนใจของคนไทยมาระยะหนึ่งแล้ว
เมื่อผู้นำอินโดนีเซียเล็งเห็นมาหลายทศวรรษแล้วว่า เมืองที่ขยายตัวกับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของพวกเขา จะสร้างปัญหาตามมามากมายในอนาคต เป็นที่มาของเมกะโปรเจกต์เมืองหลวงแห่งใหม่ ทางตะวันออกของเกาะบอร์เนียว ในจังหวัดกาลิมันตัน
รัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจโก วีโดโด (Joko Widodo) ผลักดันและดำเนินแผนการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปนุสันตาราอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน (พ.ศ. 2562)
ความหมายของ “นุสันตารา”
แต่ประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตคือ เหตุใดรัฐบาลของนายวีโดโด จึงเลือกชื่อแสนเรียบง่ายอย่าง “นุสันตารา” (Nusantara) ที่แปลว่า “หมู่เกาะ” ในภาษาชวา มาตั้งเป็นชื่อเมืองหลวงใหม่?
เพราะเมืองหลวง (ใหม่) ของหลาย ๆ ประเทศมักจะมีความหมายทางอัตลักษณ์บางอย่างของประเทศและผู้คนเสมอ เช่น เนปิดอว์ (Naypyidaw) เมืองหลวงใหม่ของเมียนมา แปลว่า “บัลลังก์แห่งกษัตริย์” หรือปุตราจายา (Putrajaya) เขตปกครองพิเศษและศูนย์ราชการแห่งใหม่ของมาเลเซีย มีความหมายว่า “ชัยชนะแห่งเจ้าชาย”
ประเด็นนี้รัฐบาลอินโดนีเซียเคยให้เหตุผลไว้ว่า ที่ใช้ชื่อเมืองแห่งใหม่นี้ว่านุสันตารา เพราะเป็นชื่อที่ง่ายต่อการจดจำ และสะท้อนความเป็นอินโดนีเซียได้ดีที่สุด จากลักษณะเฉพาะตัวทางภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซีย ซึ่งมีสภาพเป็นประเทศหมู่เกาะจริง ๆ
อนึ่ง คำว่า “นุสันตารา” ในภาษาชวายังมีความหมายครอบคลุมหมู่เกาะอินโด-มาเลเซียทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยหลายประเทศในภาคพื้นสมุทรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ติมอร์-เลสเต บรูไน และปาปัวนิวกินี (ไม่รวมฟิลิปปินส์) เป็นคำที่เก่าแก่กว่าชื่อประเทศของพวกเขาอย่าง “อินโดนีเซีย” ซึ่งเป็นคำใหม่ที่เพิ่งบัญญัติขึ้นในยุคล่าอาณานิคมโดยชาติตะวันตก
นอกจากนี้ นุสันตาราในภาษาชวาโบราณยังสื่อความหมายได้ถึง “พันธมิตร หรือข้าราชบริพาร” (ของชวา) ชื่อเมืองหลวงแห่งใหม่จึงไม่ใช่เพียงคำศัพท์ทางภูมิศาสตร์ แต่มีความหมายทางรัฐศาสตร์ (อาณาจักร) ด้วย
การหวนกลับไปใช้ชื่อเมืองในภาษาชวาโบราณ จึงเป็นความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซียอยู่กลาย ๆ ที่จะยึดโยงเมืองใหม่กับประวัติศาสตร์ยุคจารีต ก่อนยุคล่าอาณานิคม
คาดการณ์ว่าการก่อสร้างและย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซียจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2578 เมื่อถึงตอนนั้น กรุงนุสันตาราจะเป็นเมืองหลวงใหม่แห่งล่าสุดของประชาคมโลก
อ่านเพิ่มเติม :
- “เกาะบอร์เนียว” เกาะใหญ่อันดับ 3 ของโลก ที่ไม่ได้มีแค่อินโดนีเซีย แล้วมีประเทศไหนอีกบ้าง?
- การต่อสู้ของซูการ์โน บุรุษกู้ชาติแห่งอินโดนีเซีย แต่ถูกกลบฝังให้ลืม
- เดวี ซูการ์โน จากสาวทำงานในคลับ สู่สตรีหมายเลข 1 อินโดนีเซีย
- จุดเริ่มต้น “อิสลาม” ใน “อินโดนีเซีย” ก่อนเป็นชาติที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สำนักงานเลขานุการ กรมเอเชียตะวันออก. กรุงนุสันตารา เมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย. 14 กันยายน 2565. (ออนไลน์)
A. J. West – Leiden, Medieval Indonesia; Medium. What Does ‘Nusantara’ Mean?. Feb 16, 2024. (Online)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2567