“ถนน” ในกรุงเทพฯ เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ใช้เกณฑ์อะไรในการตั้งชื่อ?

รถเก๋งสมัยรัชกาลที่ 6 บริเวณถนนเจริญกรุง ตรงสี่กั๊กพระยาศรี (ภาพจากหนังสือกรุงเทพฯ ในอดีต)

แม่น้ำลำคลอง คือเส้นทางคมนาคมหลักของคนไทยมาตั้งแต่อดีต แต่หลังจากการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีผลให้สยามต้องเปลี่ยนการค้าจากการผูกขาดเป็นการค้าเสรี ชาวต่างชาติจึงเข้ามามากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ การค้า สังคม มีการตัดถนนใหม่ๆ หลายสาย โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ใช้เกณฑ์อะไรในการตั้งชื่อถนน?

เปิด 4 เกณฑ์ “การตั้งชื่อถนน” ในกรุงเทพมหานคร

ประเภทแรก ตั้งชื่อตามสถานที่ที่มีมาก่อนการสร้างถนน เช่น ถนนจักรเพชร ตั้งตามชื่อป้อมจักรเพชร ซึ่งเป็นป้อมปราการที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1

ถนนชนะสงคราม ตั้งตามชื่อวัดชนะสงคราม วัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดตองปุ ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และพระราชทานนามว่า “วัดชนะสงคราม” ภายหลังเมื่อมีการสร้างถนน ถนนสายใหม่นี้จึงได้ชื่อตามวัด

เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย การตั้งชื่อถนน ถนนพาหุรัด
เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย (ภาพ : Wikimedia Commons)

ประเภทที่ 2 ตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น ถนนพาหุรัด ตั้งชื่อตามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย ประไพพรรณพิจิตร์ นริศรราชกุมารี กรมพระเทพนารีรัตน์ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัยสิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา 8 ปี สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงพระราชทานนามถนนที่ตัดขึ้นใหม่ ตามพระนามพระราชธิดาของพระองค์

อ่านเพิ่มเติม : เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ที่มาชื่อถนนพาหุรัด

ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ตั้งชื่อตามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ ที่ทรงเป็นสมเด็จพระราชโสทรกนิษฐภคินี (น้องสาวร่วมบิดามารดา) ในรัชกาลที่ 5

พี่น้องรัชกาลที่ 5 เจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ การตั้งชื่อถนน ถนนวิสุทธิกษัตริย์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ (ภาพ : Wikimedia Commons)

พระองค์สิ้นพระชนม์ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมชนกนาถเมื่อพระชันษาราว 8 ปี ด้วยโรคอหิวาต์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงทรงนำพระนามกรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์มาตั้งเป็นชื่อถนน

ถนนจักรพรรดิพงษ์ ตั้งชื่อตามสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ที่ทรงเป็นสมเด็จพระราชโสทรานุชา (น้องชายร่วมบิดามารดา) ในรัชกาลที่ 5

กรมพระจักรพรรดิพงษ์สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา 44 ปี ด้วยระลึกถึงกรมพระจักรพรรดิพงษ์ รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานนามถนนตัดใหม่ตามพระนามของสมเด็จพระราชโสทรานุชา

ประเภทที่ 3 ตั้งชื่อตามผู้บริจาคทุนทรัพย์ในการสร้างถนน เช่น ถนนอุณากรรณ ที่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระมารดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ทรงออกเงินส่วนของพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชยสร้างถนน

ถนนสี่พระยา ซึ่งเป็นถนนตัดตั้งแต่ถนนเจริญกรุง ตรงหน้าวัดแก้วฟ้าไปออกริมวัดหัวลำโพง เป็นถนนที่พระยาทั้งสี่ คือ พระยาพิพัฒโกษา พระยานรฤทธิ์ราชหัช พระยานรนารถภักดี และพระยาอินทราธิบดีสีหราช ได้นำเงินถวายเพื่อสร้างถนน

ประเภทที่ 4 ตั้งชื่อตามที่มาที่ไปของการสร้างถนน เช่น ถนนราชดำริห์ สร้างจากพระราชดำริในรัชกาลที่ 5 เป็นถนนที่ตัดตั้งแต่ตำบลศาลาแดง ผ่านทุ่งปทุมวันถึงคลองบางกะปิ

หากผ่านไปถนนสายเก่าแก่ในกรุงเทพมหานคร ลองสังเกตดูว่าถนนสายนั้นตั้งชื่อตามเกณฑ์ไหน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปิยะนาถ อังควาณิชกุล. “การสร้างความเป็นตะวันตกให้กับเมืองบางกอกในช่วงการปรับตัวให้ทันสมัย”. วารสารประวัติศาสตร์, 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2567