เปิดที่มา “ถนนเชียงใหม่” ฝั่งธนบุรี ชื่อ “เชียงใหม่” แต่ทำไมมาอยู่กรุงเทพฯ?

ถนนเชียงใหม่ คลองสาน ฝั่งธนบุรี
ถนนเชียงใหม่ ในเขตคลองสาน (ภาพ : Rachasak Ragkamnerd, CC BY-SA 4.0 , via Wikimedia Commons)

ชื่อถนนหนทางในกรุงเทพมหานคร หรือในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ มักเกี่ยวข้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์ หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องราวความเป็นมาอะไรบางอย่าง รวมถึงตั้งเป็นอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงบุคคลสำคัญ หรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ “ถนนเชียงใหม่” เขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี ที่ชื่อ “เชียงใหม่” แต่กลับมาปรากฏหลักฐานอยู่ในกรุงเทพมหานคร

ถนนเชียงใหม่เป็นถนนในพื้นที่เขตคลองสาน จุดเริ่มต้นอยู่ที่ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ยาวไปสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่เป็นท่าเรือวัดทองธรรมชาติ

แม้จะมีความยาวเพียง 400 เมตร แต่ก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นถนน 1 ใน 11 สาย ที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ตัดขึ้น หลังการสร้าง “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” เพื่อให้การคมนาคมฝั่งธนบุรีสะดวกขึ้น

การตัดถนนทั้ง 11 สายนี้ กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อถนนทั้งหมด และมีพระราชดำริเห็นชอบกับชื่อถนน ที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงคิดขึ้นถวาย 

ชื่อถนนแต่ละสาย เป็นการนำชื่อสถานที่อันเป็นมงคลชัย ที่กองทัพสยามสามารถรบชนะพม่าในสงครามครั้งต่างๆ ทั้งในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรือสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่บ้าง หรือเป็นนามบุคคลสำคัญที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับสถานที่บ้าง 

ปัจจุบันถนนบางสายก็ได้ตัดขึ้นและมีชื่อตามพระราชดำริ แต่บางสายก็ไม่ได้ตัด เพราะเวลาเนิ่นนานจนไม่เหมาะสมกับยุคสมัย และชื่อถนนก็ไม่ได้เป็นไปตามที่มีพระราชดำริไว้แต่เดิม 

สำหรับที่มา “ถนนเชียงใหม่” เขตคลองสาน ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์สงคราม เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ร่วมกันตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า จึงนำชื่อมาตั้งเป็นถนนนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน. 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567