ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หลายคนอาจคิดว่า ถนนพาหุรัด แหล่งค้าผ้าชื่อดังของกรุงเทพฯ ที่ตั้งชุมชนชาวไทยเชื้อสายอินเดีย จนหลายคนขนานนามย่านนี้ว่า “ลิตเติล อินเดีย” ได้ชื่อถนนจากภาษาต่างชาติ แต่ที่จริงแล้ว ถนนนี้ได้ชื่อตาม “เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย” ผู้เป็นพระราชโสทรเชษฐภคินี (พี่สาวร่วมสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี) ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย ที่มาชื่อ “ถนนพาหุรัด”
พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2421
เมื่อเจริญพระชันษา พระองค์ได้โดยเสด็จพระบรมชนกนาถประพาสเมืองเพชรบุรี ระหว่างนั้นประชวรไข้ แม้เสด็จกลับพระนครแล้วก็ยังไม่ทรงดีขึ้น ทั้งพระอาการยังทรุดลงถึงขั้นเสวยพระกระยาหารไม่ได้ ทำให้ทรงมีพระวรกายซูบผอม พระยอด (ฝี) ขึ้นตามพระวรกาย
ท้ายสุด พระองค์ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2439 สิริพระชันษา 8 ปี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระลึกถึงพระราชธิดาพระองค์นี้ จึงทรงตั้งชื่อถนนสายหนึ่งในพระนครว่า “ถนนพาหุรัด” เพื่อเป็นอนุสรณ์
ถนนพาหุรัด เริ่มจากถนนบ้านหม้อมาตัดถนนจักรเพชร เดิมพื้นที่บริเวณนั้นเป็นชุมชนที่อยู่อาศัย แต่ต่อมาเกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านญวนแถบตำบลบ้านหม้อในระยะเวลาติดๆ กัน จุดที่เกิดเพลิงไหม้กลายเป็นพื้นที่โล่ง กินพื้นที่กว้างพอที่จะตัดถนนได้
สมัยรัชกาลที่ 5 ถนนพาหุรัดนับเป็นถนนสายสำคัญสายหนึ่ง เพราะมีชาวต่างชาติโดยเฉพาะพวกแขกมาตั้งถิ่นฐานค้าขายอยู่มาก และยังคงปรากฏร่องรอยมาถึงทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- 10 ถนนสายประวัติศาสตร์ ที่อยู่ในเหตุการณ์สำคัญมาแต่สร้างกรุงเทพฯ
- ตามรอย “ถนนวชิรุณหิศ” ปัจจุบันคือถนนอะไร?
- “ถนนลูกหลวง” มาจากไหน ลูกหลวงที่ว่าคือใครบ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปิยะนาถ อังควาณิชกุล. “การสร้างความเป็นตะวันตกให้กับเมืองบางกอกในช่วงการปรับตัวให้ทันสมัย”. วารสารประวัติศาสตร์, 2549.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2567