10 ถนนสายประวัติศาสตร์ ที่อยู่ในเหตุการณ์สำคัญมาแต่สร้างกรุงเทพฯ

ถนนสายประวัติศาสตร์
ภาพจากโปสการ์ด ไม่ทราบปี (คำบรรยายภาพอาจระบุผิดว่าเป็นคลองมหานาค) บริเวณด้านหลังอาคารกระทรวงกลาโหม คลองคูเมืองเดิม และถนนอัษฎางค์ที่มีเส้นทางรถรางผ่าน

เมื่อสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เป็นศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดิน นอกจากพระบรมมหาราชวัง, ป้อมปราการและแนวกำแพงแล้ว ยังมีถนนสายสำคัญ 10 สาย ที่อยู่รายรอบพระบรมมหาราชวัง และมีมาแต่แรกเป็นราชธานี เป็น “ถนนสายประวัติศาสตร์” แห่งรัตนโกสินทร์ 

ถนนสายประวัติศาสตร์ ที่ว่ามีทั้งหมด 10 สาย ได้แก่ ถนนหน้าพระลาน, ถนนสนามไชย, ถนนมหาราช, ถนนท้ายวัง ล้อมรอบพระบรมมหาราชวัง

Advertisement

อ่านเพิ่มเติม : 4 ถนนสำคัญ ล้อมรอบ “พระบรมมหาราชวัง” มีถนนสายไหนบ้าง?

ส่วน ถนนริมคลองคูเมือง, ถนนราชินี, ถนนเจ้าฟ้า, ถนนอัษฎางค์ ถนนพระอาทิตย์ และถนนพระจันทร์ มีรายละเอียดดังนี้

ถนนริมคลองคูเมือง รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระนครครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีคลองคูเมืองทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระบรมมหาราชวัง มาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงขยายพื้นที่พระนคร โดยขุดคลองคูเมืองใหม่เพิ่มขึ้น (ปัจจุบันคือ คลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่าง)

ส่วน “คลองคูเมือง” เดิม กลายเป็นเส้นทางสัญจรภายในพระนคร จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปรับขยายเป็นถนนแบบตะวันตก รวมทั้งปลูกต้นไม้ทั้งสองฝั่งคลอง คือ “ถนนราชินี” อยู่ริมคลองคูเมืองด้านในหรือทิศตะวันตก ส่วน “ถนนเจ้าฟ้า” และ “ถนนอัษฎางค์” อยู่ริมคลองด้านนอกหรือทิศตะวันตก

ถนนราชินี เริ่มจากถนนพระอาทิตย์ ตรงท่าช้างวังหน้าเลียบคลองคูเมืองไปสิ้นสุดที่ ถนนมหาราช ตรงปากคลองตลาด รวมระยะทาง 2,230 เมตร เดิมเป็นถนนเลียบคลองคูเมืองเดิม (ทางทิศตะวันตก) คู่ขนานไปกับถนนอัษฎางค์ เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากประพาสสิงคโปร์และประเทศอื่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับทางดินริมคลองคูเมืองเดิม เพื่อสร้างเสริมทัศนียภาพอันงดงามให้แก่บ้านเมือง

เมื่อแรกสร้างในปี 2413 ถนนเส้นนี้ เริ่มจากปากคลองตลาด มาถึงปลายถนนจักรวรรดิวังหน้า ต่อมาปี 2438 โปรดเกล้าฯ รื้อพื้นที่ของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ขยายถนนสายเดิมไปจนถึงถนนพระอาทิตย์ ส่วนชื่อ “ราชินี” เป็นนามพระราชทาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของประเทศสยาม และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ปี 2440

ถนนเจ้าฟ้า เริ่มจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปสิ้นสุดที่ถนนราชดำเนินกลาง รวมระยะทาง 570 เมตร เดิมเป็นถนนเลียบคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) ทางทิศตะวันออก ต่อเนื่องกับถนนอัษฎางค์ ถนนเจ้าฟ้าก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และพระราชทานนาม เพื่อให้ระลึกว่า ถนนสายนี้อยู่ในพื้นที่พระราชวังบวรสถานมงคล พระเจ้าราชวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ พระโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล “วังหน้า” ในสมัยรัชกาลที่ 3

ถนนอัษฎางค์ เริ่มจากถนนราชดำเนินกลาง เลียบขนานไปกับคลองคูเมืองเดิมไปสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาด รวมระยะทาง 1,580 เมตร เดิมเป็นถนนเลียบคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) ทางทิศตะวันออก คู่ขนานไปกับถนนราชินี ในสมัย รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับขยายขึ้นใหม่พร้อมกับถนนราชินี ตามแบบถนนเลียบคลองในสิงคโปร์ ในราวปี 2413

ถนนอัษฎางค์ เป็นนามพระราชทาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระราชโอรสที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

ถนนพระอาทิตย์-ถนนพระจันทร์ เมื่อการย้ายพระบรมมหาราชวัง มาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือ “กรุงเทพฯ” นั้น มีการสร้างป้อมปราการ ฯลฯ ตรงหัวมุมแม่น้ำกับปากคลองคูเมือง (คลองบางลำพูในปัจจุบัน) ที่ขุดขึ้นใหม่ “ป้อมพระอาทิตย์” จะอยู่ถัดมาทางใต้ ตรงหัวมุมแม่น้ำเจ้าพระยา กับปากคลองคูเมืองเดิม ส่วน “ป้อมพระจันทร์” อยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง และวังหน้า

มีการปรับทางดินที่มีอยู่เดิม ริมคูที่กั้นระหว่างวัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์) พระราชวังบวรสถานมงคล วังหน้า กับพระบรมมหาราชวัง จึงเรียกขานกันว่า “ถนนพระจันทร์” ตามชื่อป้อมที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ทั้งนี้ ถนนพระจันทร์ เดิมเริ่มตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงถนนราชดำเนินใน ครั้งเมื่อมีการสร้างสนามหลวง ถนนพระจันทร์จึงมาถึงแค่ถนนหน้าพระธาตุ รวมระยะทาง 600 เมตร

ส่วน “ถนนพระอาทิตย์” เริ่มจากป้อมพระสุเมรุ ไปจนถึงป้อมพระจันทร์ เดิมเป็นทางดินริมด้านในกำแพงกลายเป็นถนน เมื่อมีการรื้อป้อมและกำแพงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้คนจึงเรียกขานตามชื่อป้อม มีการก่อสร้างห้องแถวและบ้านพักข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เรียงรายตามแนวถนน เมื่อก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ผนวกถนนพระอาทิตย์บางส่วนเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ถนนพระอาทิตย์ในปัจจุบันจึงสิ้นสุดแค่ประตูมหาวิทยาลัย รวมระยะทาง 770 เมตร

“ถนนสายประวัติศาสตร์” ข้างต้น ในพื้นที่อนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ แม้จะเป็นถนนสายสั้นๆ แต่บันทึกประวัติศาสตร์ที่มีมายาวนาน ตั้งแต่เมื่อครั้งสถาปนากรุงเทพเป็นราชธานี 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.silpa-mag.com/history/article_81053


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2567