ถนนวรจักร-ถนนเจ้าคำรบ แหล่งค้าอะไหล่ชื่อดัง เหตุใดถึงเป็น “ถนนสองพ่อลูก”

ถนนสองพ่อลูก ถนนวรจักร ตั้ง ตาม พระนาม กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ใกล้ กัน คือ ถนนเจ้าคำรบ ตั้ง ตาม พระนาม พระองค์เจ้าคำรบ ถนนวรจักร-ถนนเจ้าคำรบ
ถนนวรจักร (ภาพ : Bjoertvedt, CC BY-SA 4.0 , via Wikimedia Commons)

ถนนวรจักร-ถนนเจ้าคำรบ เป็นถนนสองสายที่อยู่ใกล้เคียงกัน คืออยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นศูนย์รวมอะไหล่รถยนต์ ใครหาอะไหล่รถยนต์อะไรไม่ได้ ให้มาที่นี่ รับรองว่าเกือบร้อยทั้งร้อยไม่ผิดหวัง แล้วเหตุใดถนนวรจักรกับถนนเจ้าคำรบ ถึงได้ชื่อว่าเป็น “ถนนสองพ่อลูก”

ถนนวรจักร เริ่มต้นตั้งแต่ถนนเจริญกรุง ผ่านถนนหลวง สิ้นสุดที่ถนนบำรุงเมือง ส่วน ถนนเจ้าคำรบ เริ่มต้นที่ถนนวรจักร ผ่านคลองถมจักรวรรดิ ถนนเสือป่า คลองถมพลับพลาไชย แล้วไปสิ้นสุดที่ถนนพลับพลาไชย

Bjoertvedt, CC BY-SA 4.0 <https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0>, via Wikimedia Commons)

เริ่มกันที่ถนนวรจักร ชื่อนี้ได้จากพระนาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอัมพา ทรงเป็นต้นราชสกุล “ปราโมช”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ภาพสีน้ำมัน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ)

วังเดิมของกรมขุนวรจักรธรานุภาพอยู่บริเวณ “สวนเจ้าเชต” ในปัจจุบัน ต่อมาทรงมีพระประสงค์จะสร้างวังใหม่ จึงถวายวังเดิมคืนหลวง และซื้อที่สวนนอกกำแพงเมืองริมถนนเจริญกรุงด้วยทรัพย์ส่วนพระองค์ สร้างเป็นวังที่ประทับแห่งใหม่ และประทับ ณ วังนั้นตราบสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2415 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมา ทายาทราชสกุลปราโมชขายวังแก่กรมพระคลังข้างที่ จากนั้นได้พัฒนาที่ดินบริเวณวังเป็นอาคารร้านค้า โรงมหรสพ คือ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมนคร และสถานที่ราชการ คือ กองปราบปรามสามยอด

เมื่อตัดถนนผ่านบริเวณวัง จึงได้นำพระนามกรมขุนวรจักรธรานุภาพมาตั้งเป็นชื่อถนน คือ ถนนวรจักร

“ถนนสองพ่อลูก” อีกเส้นคือถนนเจ้าคำรบ มีที่มาจาก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ (แรกประสูติ คือ หม่อมเจ้าคำรบ) พระโอรสในกรมขุนวรจักรธรานุภาพ กับ ม.ร.ว.ดวงใจ พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เข้ารับราชการทหารและได้เลื่อนตำแหน่งตามลำดับ

จากนั้นเมื่อมีการรวมตำรวจภูธรและนครบาลเข้าเป็นหน่วยงานเดียวกัน สังกัดกระทรวงนครบาล พระองค์เจ้าคำรบก็ทรงเป็นอธิบดีกรมตำรวจภูธรและนครบาลคนแรก

เมื่อมีการตัดถนนผ่านบริเวณวังเดิมของพระองค์ และที่ตั้งของกองปราบปรามสามยอด ที่พระองค์มีส่วนในการพัฒนา จึงนำพระนามพระองค์เจ้าคำรบมาตั้งเป็นชื่อถนน คือ ถนนเจ้าคำรบ

เป็นที่มาของ ถนนวรจักร-ถนนเจ้าคำรบ

ทายาทสายตรงของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ที่สังคมไทยรู้จักกันดี คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นโอรสในพระองค์เจ้าคำรบ และเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไทยทั้งคู่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน. 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2567