4 ถนนสำคัญ ล้อมรอบ “พระบรมมหาราชวัง” มีถนนสายไหนบ้าง?

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ถนนสนามไชย 1 ใน 4 ถนนสำคัญ ล้อมรอบพระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับที่หน้าพลับพลาสูงหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ด้านนอกพระบรมมหาราชวัง รถม้าประดิษฐานรัฐธรรมนูญวิ่งผ่านหน้าพระที่นั่ง บนถนนสนามไชย เป็นงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรก ใน พ.ศ. 2475 (ภาพสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1,สำนักพิมพ์ต้นฉบับ)

4 ถนนสำคัญ ล้อมรอบพระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วย ถนนหน้าพระลาน ถนนสนามไชย ถนนท้ายวัง และ ถนนมหาราช แต่ละถนนมีความเป็นมาอย่างไร ลองมาดูกัน

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย นักเขียนผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 เล่าไว้ในหนังสือ “ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ” ว่า ถนนที่ตัดเลียบโดยรอบพระบรมมหาราชวังทั้ง 4 ด้าน มีมาพร้อมๆ กับการสร้างพระบรมมหาราชวัง เดิมเป็นทางเดินพูนดินแคบๆ แล้วค่อยพัฒนาเป็นการปูด้วยอิฐเรียงตะแคงเป็นถนนโรยกรวด ก่อนจะเป็นถนนคอนกรีตอย่างที่เห็นทุกวันนี้

Advertisement

ศันสนีย์เล่าความเป็นมาของ 4 ถนนสำคัญ ล้อมรอบพระบรมมหาราชวัง คือ ถนนหน้าพระลาน ถนนสนามไชย ถนนท้ายวัง และ ถนนมหาราช ว่า

ถนนหน้าพระลาน เป็นถนนด้าน “ทิศเหนือ” อยู่ด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง ในอดีตชาวบ้านเรียกว่า ถนนท่าช้างวังหลวง เพราะเป็นทางที่ช้างของวังหลวงใช้ลงท่าอาบน้ำ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเลี้ยงช้างในวังหลวงหมดความสำคัญลง จึงโปรดให้เปลี่ยนนามถนนสายนี้ ตามความเหมาะสมและตามลักษณะของสถานที่ ซึ่งเป็นถนนด้านหน้าพระลานกว้างหน้าพระบรมมหาราชวังว่า “ถนนหน้าพระลาน”

ถนนสนามไชย เป็นถนนเลียบกำแพงด้าน “ทิศตะวันออก” เมื่อแรกสร้างเรียกถนนสายนี้ว่า ถนนหน้าจักรวรรดิ์ วังหลวง ตามแบบกรุงศรีอยุธยา คือสนามหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ ซึ่งเป็นสถานที่ให้ข้าราชการ ประชาชน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในงานพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมือง

เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ใช้ที่ว่างบริเวณนี้เป็นที่ฝึกซ้อมทหารและสวนสนาม และยังโปรดให้สร้างพลับพลาสำหรับประทับพระราชทานสิ่งของที่ระลึกแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพาร จึงโปรดให้เปลี่ยนนามสถานที่นี้ใหม่ว่า “สนามไชย” ถนนที่ตัดผ่านบริเวณนี้จึงเรียกว่า “ถนนสนามไชย”

ถนนท้ายวัง เป็นถนนด้าน “ทิศใต้” คั่นระหว่างพระบรมมหาราชวังกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เดิมถนนนี้เป็นบริเวณบ้านพักข้าราชบริพารและเสนาบดีผู้ใหญ่ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารในพระราชสำนักฝ่ายในเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้สถานที่ในพระบรมมหาราชวังแน่นขนัดไม่พออยู่

เหตุนี้ รัชกาลที่ 2 จึงทรงโปรดให้เวนคืนที่ดินบริเวณท้ายวัง เนื้อที่ราว 26 ไร่ ขยายกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านใต้ออกไปจนถึงวัดโพธิ์ ปล่อยที่ว่างเป็นถนนคั่นกลาง และพระราชทานนามถนนตามสถานที่ที่ถนนตัดผ่านว่า ถนนท้ายวัง

ถนนมหาราช เป็นถนนด้าน “ทิศตะวันตก” ของพระบรมมหาราชวัง เลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อถนนมีมาแต่โบราณ มาจากส่วนหนึ่งของคำว่าพระบรมมหาราชวัง คือคำว่า “มหาราช”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน. 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2567