รู้หรือไม่? “ท่าช้าง” ย่านพระบรมมหาราชวัง มีอีกชื่อว่า “ท่าพระ”?

ท่าช้าง ภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม
"ท่าช้าง" ภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม

“ท่าช้าง” ซึ่งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวัง เป็นหนึ่งในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร มีประวัติความเป็นมาย้อนไปได้ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากชื่อท่าช้างแล้ว ที่นี่ยังมีอีกชื่อที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ “ท่าพระ” แล้วทำไมถึงได้ชื่อนี้?

ก่อนอื่นว่ากันด้วยชื่อ “ท่าช้าง” เสียก่อน

ธนโชติ เกียรติณภัทร แห่งภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เล่าไว้ในบทความ “ท่าช้างหว่างค่ายล้อม แหล่งสถาน” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2566 ว่า ท่าช้าง เป็นชื่อเรียกท่าน้ำสำหรับ “ช้างหลวง” ไว้ใช้อาบน้ำ

ท่าช้างปรากฏในหลักฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เช่น คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม บอกที่ตั้งท่าช้างไว้ว่า บริเวณกำแพงพระนครด้านทิศเหนือติดกับแม่น้ำลพบุรี มีประตูใหญ่สำหรับช้างลงไปอาบน้ำ ท่านี้ยังใช้เป็นท่าเรือจ้าง เรียกกันว่า ท่าช้างวังหลวง หรือท่าสิบเบี้ย และนอกจากท่าช้างของ “วังหลวง” ก็ยังมีท่าช้างของ “วังหน้า” หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคลด้วยเช่นกัน

มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ยังคงสืบทอดเรื่องท่าช้างไว้อยู่ โดยท่าช้างวังหลวงอยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง เทียบพิกัดปัจจุบันคือใกล้ถนนหน้าพระลาน และมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ส่วนท่าช้างวังหน้า ปัจจุบันคือบริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ท่าช้างวังหลวง ไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับพาช้างลงอาบน้ำอย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อีกด้วย คือการอัญเชิญ “พระศรีศากยมุนี” จากเมืองสุโขทัยมาขึ้นที่ท่าช้าง เป็นที่มาของชื่อ “ท่าพระ” นั่นเอง

พระศรีศากยมุนี

ใน พ.ศ. 2351 รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญจากวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย ใส่แพล่องลงมายังพระนคร เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ ใหญ่กว่าพระพุทธรูปหล่อองค์อื่นที่ปรากฏในสยาม โปรดให้มีงานสมโภชที่หน้าตำหนักแพ 3 วัน แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปไปยังพระวิหารกลางเมือง ซึ่งปัจจุบันคือวัดสุทัศนเทพวราราม

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 กล่าวถึงช่วงดังกล่าวว่า “เชิญชักพระขึ้นจากแพทางประตูท่าช้างไปทำร่มไว้ข้างถนนเสาชิงช้า ประตูนั้นก็เรียกว่าประตูท่าพระมาจนทุกวันนี้ เหตุว่าต้องรื้อประตูจึงเชิญเข้าไปได้ พระพุทธรูปองค์นี้ภายหลังได้ถวายพระนามว่าพระศรีศากยมุนี”

จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี เป็นอีกหลักฐานที่กล่าวถึงบรรยากาศการอัญเชิญ “พระศรีศากยมุนี” ว่า คราวนั้น รัชกาลที่ 1 โปรดให้แต่งเครื่องนมัสการบูชาพระทุกหน้าวังและหน้าบ้านร้านตลาดตลอดระยะทาง

แม้ทรงพระประชวร แต่ก็เสด็จพระราชดำเนินตามกระบวนแห่พระ โดยมิได้ทรงฉลองพระบาท เมื่อเสด็จขึ้นพลับพลา ปรากฏว่าทรง “เซพลาด” แต่ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนกระษัตรานุชิต ทรงรับไว้ทัน

เมื่อประดิษฐานพระพุทธรูปแล้วเสร็จ จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ระบุว่า “ยกพระขึ้นที่แล้วเสด็จกลับ ออกพระโอษฐ์เป็นที่สุดเพียงได้ยกพระขึ้นถึงที่สิ้นธุระเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญ “พระศรีศากยมุนี” ขึ้นประดิษฐานไว้เป็นเบื้องต้น โดยที่ยังมิได้ทรงก่อสร้างพระวิหารหลวง เนื่องจากเสด็จสวรรคตในปี 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงมีพระราชดำริให้สร้างพระวิหารหลวง และกว่าการก่อสร้างวัดสุทัศนเทพวรารามจะแล้วเสร็จก็ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เหตุนี้เอง “ท่าพระ” จึงเป็นอีกชื่อของ “ท่าช้าง” แต่ราษฎรไม่นิยมเรียกชื่อแรกกันเท่าไหร่ ท้ายสุดคำนี้จึงเลือนไป

ชื่อนี้สำคัญแค่ไหน เห็นได้จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงขั้นมีพระบรมราชาธิบายไว้ว่า

“เหมือนท่าช้างลงน้ำ ก็มีชื่อหลวงว่าท่าพระ แต่คนชอบเรียกว่าท่าช้าง และไม่ใคร่จะได้ยินใครเรียกว่าท่าพระ เพราะความเพ่งหมายของผู้ที่เรียกท่านั้นไม่เห็นมีวัดอยู่บนบก ไม่เห็นพระลงอาบน้ำที่ท่านั้น ก็สำคัญใจเป็นแน่ดังนี้ จึงไม่อาจเรียกว่าท่าพระๆ ก็ใช้แต่ราชการเป็นคราวๆ คงเรียกว่าท่าช้างอยู่ตามเดิม คำนี้ต้องยอมให้เรียก เพราะเขาเห็นช้างลงมาอาบน้ำจริงๆ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธนโชติ เกียรติณภัทร. “ท่าช้างหว่างค่ายล้อม แหล่งสถาน”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2567