เมื่อ ‘พระเศวต’ (ช้างหลวง) ตกมัน เรื่องตื่นเต้นของชาวบ้านวิ่งตามดูอย่างสนุกสนาน

พระเศวตตกมันในอดีต (ภาพจาก หนังสือภาพงามของความหลัง, 2558)

ในหนังสือ ‘ภาพงามของความหลัง’ (เอส.ซี.พริ้นท์แอนด์แพค, 2558) เขียนโดย ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ซึ่งได้เคยสนทนากับ จมื่นสิริวังรัตน (เฉลิม คชาชีวะ) (ผู้สืบทอดวิชาคชลักษณ์มาจากต้นตระกูล ได้เคยทำหน้าที่สนองพระเดชพระคุณในการตรวจลักษณะช้างเผือกทุกเชือกในรัชกาลที่ 9) เกี่ยวกับเรื่องของ ‘พระเศวต’ หรือช้างที่ขึ้นระวางเป็น ช้างหลวง หนึ่งในเรื่องที่สนทนากันคือ ‘พระเศวตตกมัน’

ตามธรรมชาติของช้าง มักจะตกมันในช่วงฤดูหนาว ทำให้มีอารมณ์ดุร้ายกว่าปกติ ในอดีตกรมช้างจึงมักนำช้างออกมาวิ่ง มีพระเศวตช้างหนึ่งที่ตกมันตลอดทั้งปี เจ้าหนักงานต้องนำพระเศวตออกมาวิ่งหน้าพระบรมมหาราชวังอยู่เสมอ นั่นคือ พระเศวตรุจิราภาพรรณ ในรัชกาลที่ 5 จมื่นสิริวังรัตนเล่าว่า พระเศวตช้างนี้ชอบเล่นกับรถรางรถเจ๊ก และรู้จักภาษาดีด้วย เช่นว่า เวลาเดินหันรีหันขวางจะไปเล่นกับปืนใหญ่ ทหารร้องห้ามว่า ‘อย่า’ พระเศวตก็เปลี่ยนไปหาของเล่นอย่างอื่นแทน

หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ เคยบันทึกเกี่ยวกับพระเศวตรุจิราภาพรรณไว้ว่า

“ชาวท่าช้างมีโอกาสได้ดูกีฬาที่สนุกตื่นเต้นอีกอย่างหนึ่ง คือ ดูพระเศวตตกมัน… พระเศวตรุจิราภาพรรณ แกเป็นเพื่อนเล่นของชาวท่าช้างทุกคน เวลาที่อารมณ์ดีเมื่อมีคนเตรียมกล้วย อ้อย มะพร้าวอ่อนไว้ให้เวลาออกมาอาบน้ำ แกจะยกงวงขึ้นจบรับของจากมือคนโดยเรียบร้อย แต่บางทีถูกพรายกระซิบ ก็ตั้งตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ยื่นงวงไปล้วงหยิบขวดเหล้าในร้านไปกำนัลควาญเอาดื้อ ๆ เจ้าของก็เพียงแต่โมโหแกมเอ็นดู ไม่ถือสาอะไร

แต่ถึงเวลาที่ตกมันก็หงุดหงิด ทำอะไรแผลง ๆ ต่าง ๆ ผู้คนแตกตื่นห้อมล้อมดูกันสนุกสนาน วันไหนพระเศวตตกมัน พอออกจากประตูวิเศษไชยศรี ก็มีเสียงตะโกนบอกต่อ ๆ กันว่า ‘พระเศวตตกมัน’ พวกแม่ค้าต้องรีบเก็บร้านเก็บกระจาดหมด แอบไปเสียให้พ้นหูพ้นตา มิฉะนั้นแกจะรี่มาคว้าไปโยนไปขยี้หมด รถรางแล่นมาดี ๆ แกก็เกิดหมั่นไส้ขึ้นมา ว่าทำไมถึงจะต้องแล่นในราง ก็จัดแจงเข็นออกมาเสีย เจ๊กลากรถมาท่าทางเก้กังไม่ถูกใจ ก็แย่งรถเจ๊กมาลากเสียเอง พอเบื่อแล้วก็ยกไปโยนทิ้ง

พวกนักดูอยู่ถึงไหน ๆ พอรู้ข่าวก็พากันมา ที่เป็นกีฬาเก่งกล้าก็วิ่งตามดูกันเกรียวกราว เล่นเอาเถิดกับพระเศวต พร้อมทั้งตั้งตัวเป็นโฆษกไปด้วย พระเศวตกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน ประกาศรู้ทั่วกันหมด พวกที่ไม่ชอบผจญภัยก็ตีตั๋วดูบนกำแพง บนต้นไม้ บางทีจนสายก็เอาเข้าโรงไม่ได้ ยังวิ่งเล่นไล่คนอยู่แถวท้องสนามหลวง ร้อนจนถึงรถดับเพลิงต้องมาช่วยจัดการ พอได้ช่องตอนแกเผลอ ๆ หันหน้าไปทางประตูวิเศษไชยศรีก็ฉีดน้ำเข้าที่แถว ๆ หาง แกก็ตกใจวิ่งหนีเข้าโรงไปเอง…”

ในอดีต ท่าช้างเป็นท่าให้ช้างหลวงลงอาบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และยังคงเป็นท่าช้างอยู่จวบจนถึงรัชกาลที่ 7 พระเศวตที่ยังเหลือในสมัยนั้นคือ พระเศวตวชิรพ่าห์กับพระเศวตคชเดชน์ดิลก อยู่ในโรงช้างหลวงที่สวนดุสิต จึงไม่ได้ลงอาบน้ำที่ท่าช้างดังแต่ก่อน พระเศวตเชือกสุดท้ายที่อยู่ในโรงช้างหลวงในพระบรมมหาราชวัง ก็คือ พระเศวตรุจิราภาพรรณ นี่เอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2563