“กูไม่กลัว” สาสน์จากพระมหาจักรพรรดิถึงพระเจ้าบุเรงนอง สงครามการทูตหงสาวดี-อยุธยา

คล้องช้าง ช้าง ฝูงช้าง
ชาวพม่าคล้องช้างป่าเพื่อนำมาใช้ในการสงคราม

จุลศักราช 925 ตรงกับ พุทธศักราช 2106 พระเจ้าบุเรงนอง ทรงทราบว่า พระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยาทรงมีพระเศวตกุญชรถึง 4 ช้าง หากได้มาสักช้างหนึ่งก็หมายจะได้เป็นพระราชไมตรีแก่กันสืบไป จึงรับสั่งให้แต่งคณะราชทูตไปถวายพระราชสาสน์แด่ พระมหาจักรพรรดิ

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามการทูต” ระหว่างสองอาณาจักร

เมื่อพระมหาจักรพรรดิทรงทราบความในพระราชสาสน์ ก็ตรัสว่า “บัดนี้พระเจ้าหงษาวดีต้องการช้างเผือกตัวหนึ่งนั้นง่ายดอก แต่ผู้ขอนั้นจะลำบากด้วยพระมหากระษัตริย์โบราณนั้นผู้ให้กับผู้ขอเขามีบุญธิการมาก เขาให้กันแลกันง่าย นี่เราก็เปนผู้มีบุญธิการมากเหมือนกัน แต่เรายังไม่แจ้งว่าพระเจ้าหงษาวดีจะอยู่ในทศพิธราชธรรมหรือไม่ ถ้าอยู่ในทศพิธราชธรรมแล้วเราจะให้ช้างสักตัวหนึ่ง”

จากนั้นพระมหาจักรพรรดิรับสั่งให้แต่งคณะราชทูตไปกรุงหงสาวดี แล้วนำความกราบทูลพระเจ้าบุเรงนองว่า “เมื่อครั้งพระเจ้าอนรทาครองสมบัติก็เคยได้รับช้างชื่อมนุหาปูมครั้ง 1 เมื่ออายุมางครองราชสมบัติพระเจ้าอยุทธยาโบราณก็ถวายช้างเผือกครั้งหนึ่ง เมื่อราชาธิราชครองราชสมบัติก็ได้เคยถวายช้างชื่อคันธโยครั้ง 1 เมื่อพระเจ้าตะบิงสอยตี (พระเจ้าบุเรงนอง-ผู้เขียน) ซึ่งเปนพระอนุชาของพระองค์เสวยราชนั้น พระเจ้าอยุทธยาก็ได้ถวายชื่อไชยานุภาพ 1 กับปลาบใหญ่ 1″

เมื่อพระเจ้าบุเรงนองทรงทราบดังนั้นก็มั่นพระทัยว่า “จะได้โดยหัดถ์การเปนแน่แล้ว” คือทรงหมายถึงจะได้พระเศวตกุญชรจากกรุงศรีอยุธยาเป็นแน่แล้ว รับสั่งให้แต่งคณะราชทูตไปกรุงศรีอยุธยาให้ไปเอาพระเศวตกุญชร

แต่หารู้ไม่ว่า กรุงหงสาวดีกำลังติดกับดักกลการทูตของกรุงศรีอยุธยาเสียแล้ว

เมื่อพระมหาจักรพรรดิทรงทราบคำกราบทูลของคณะราชทูตกรุงหงสาวดีแล้วจึงตรัสว่า “เราได้สั่งไปแล้วว่า ถ้าพระเจ้าหงษาวดีอยู่ในทศพิธราชธรรมแล้วเราจะให้ นี่พระเจ้าหงษาวดีมิได้อธิบายเรื่องทศพิธราชธรรมมาถึงให้เราแจ้งเลย กล่าวมาแต่จะได้โดยหัดถการเท่านั้น เพราะเชื่อบุญเชื่อหัดถการนั้นเราไม่ให้แล้ว”

จากนั้นโปรดให้ตอบพระราชสาสน์กลับไป โดยในท้ายพระราชสาสน์นั้นมี “เลขหนึ่ง” อยู่ตัวหนึ่ง หมายความว่า เอก มอบให้คณะราชทูตกรุงหงสาวดีนำไปถวายพระเจ้าบุเรงนอง

“มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” เล่าว่า “พระเจ้าหงษาวดีก็ทอดพระเนตรเห็นเลขหนึ่งอยู่ว่าเอกอยู่ที่ท้ายพระราชสาส์นนั้น แล้วพระองค์มีรับสั่งให้พระยาทะละเข้าเฝ้าแล้วทรงปฤกษากับพระยาทะละ ๆ ทูลว่า เลขนี้บาฬีว่าเอกา โหราศาสตร์ว่าเอก ภาษาพม่าว่าติด ภาษาข้าพระพุทธเจ้ารามัญเรียกว่าไอ้ ทำเลขไอ้มาเช่นนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้ารามัญหมายความว่า กูไม่กลัว เมื่อพระยาทะละทูลดังนั้น พระองค์มีพระไทยยินดีตรัสสรรเสรีญพระยาทะละเปนอันมาก แล้วพระองค์ตรัสกับพระยาทะละว่า บัดนี้เขาหมิ่นประมาทเช่นนี้เราก็ยังไม่อยากยกกองทัพไป”

พระเจ้าบุเรงนองจึงให้ตอบพระราขสาสน์ โดยให้เขียน “เลขสอง” ลงท้ายพระราชสาสน์ “เลข 2 นี้ บาฬีว่าทวา โหราศาสตร์ว่าจันทร์ ภาษาพม่าว่านิด ภาษารามัญว่าทวี ทวิตะแล๊ดทวีตะเลขหมายความว่า ถ้าไม่กลัวจะเอาเชือกผูก” 

เมื่อพระมหาจักรพรรดิทรงทราบความในพระราชสาสน์ก็ตกพระทัยที่พระเจ้าบุเรงนองทรงทราบความหมายเหล่านั้น แล้วพระองค์ “มิได้ตรัสถ้อยคำอันไพเราะ” คณะราชทูตกรุงหงสาวดีจึงนำความที่พระมหาจักรพรรดิตรัสนั้นมาทูลพระเจ้าบุเรงนองทุกประการ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองทรงทราบก็ตรัสว่า “เจ้าอยุทธยาจะถึงคราวพินาศแล้วจึงได้ตรัสเช่นนี้”

ใน “คำให้การชาวกรุงเก่า” ได้ระบุถึงเหตุการณ์ “สงครามการทูต” การตอบโต้พระราชสาสน์ของกษัตริย์ทั้งสองอาณาจักรนี้ว่า เนื่องด้วยกิตติศัพท์ช้างเผือก 7 ช้าง ของพระมหาจักรพรรดิ ทำให้พระเจ้าบุเรงนองทรงมีพระราชประสงค์ช้างเผือกนั้น จึงให้อาลักษณ์จารึกพระราชสาสน์เป็นตัวอักษร 3 ตัว แต่ละตัวมีความว่า ต้องการช้างเผือก, เชือก, ถ้าไม่ให้จะเอาเชือกผูกจับเอา

พระมหาจักรพรรดิทรงทราบความในพระราชสาสน์ก็ทรงพระพิโรธ รับสั่งให้อาลักษณ์จารึกพระราชสาสน์ตอบเป็นตัวอักษร 3 ตัว แต่ละตัวมีความว่า ถ้าขอทานแล้วจะให้, ไม่กลัว, เราผูกจับก็เป็น เมื่อพระเจ้าบุเรงนองทรงทราบความในพระราชสาสน์ก็ทรงพระพิโรธเช่นกัน จึงรับสั่งให้จัดกองทัพบุกโจมตีกรุงศรีอยุธยา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสิรฐ คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด. (2553). นนทบุรี : ศรีปัญญา.

นายต่อ (ผู้แปล). (2545). มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กันยายน 2563