ความเสื่อมของอาณาจักรบุเรงนอง ในบันทึกนักวิชาการพม่า

คล้องช้าง ช้าง ฝูงช้าง
ชาวพม่าคล้องช้างป่าเพื่อนำมาใช้ในการสงคราม

“บุเรงนอง” เป็นกษัตริย์พม่าพระองค์แรกๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนไทย เพราะทรงยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาสำเร็จในการศึกเมื่อ พ.ศ. 2106 (ค.ศ. 1563) แต่เมื่อพระองค์สวรรคต อาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองก็เสื่อมลง มีปัจจัยจากภายในและภายนอกในรัชสมัย พระเจ้านันทบุเรง

สาเหตุที่มาในเรื่องนี้ หม่องทินอ่อง นักวิชาการประวัติศาสตร์ชาวพม่า และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง บันทึกไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์พม่า” ซึ่งในที่นี้ขอคัดย่อมาเฉพาะเนื้อหาในส่วนการเสื่อมของอาณาจักรบุเรนองเท่านั้น [จัดย่อหน้าใหม่ เว้นวรรค และเน้นคำ โดยกองบรรณาธิการ]

Advertisement

 

เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตใน ค.ศ. 1581 มีพระชนมายุได้ 66 พรรษา มองจากภายนอกก็จะเห็นอาณาจักรพม่าดูเป็นปึกแผ่นอยู่ เจ้าเมืองต่างๆ ในพม่า ต่างเป็นพระอนุชาหรือพระนัดดาทั้งสิ้น กษัตริย์ไทยก็ยังสวามิภักดิ์ดีอยู่ และพระโอรสกษัตริย์ไทยหรือเจ้าชายรัชทายาทนั้นเป็นเจ้าชายหนุ่เติบโตขึ้นมาในราชสำนักบุเรงนองและเสมือนเป็นพระอนุชากับพระโอรสของบุเรงนองเอง…

พระเจ้านันทบุเรง กษัตริย์พระองค์ใหม่นี้ เคยร่วมทำสงครามในกองทัพพระเจ้าตะเบงชเวตี้มาตั้งแต่พระชนมายุได้ 13 พรรษาเมื่อครั้งไปเมืองไทย และต่อมาเป็นเสมือนพระหัตถ์ขวาของพระบิดา ทรงนำทัพด้วยพระองค์เองก็หลายครั้ง พระองค์ขึ้นเสวยราชสมบัติท่ามกลางความชื่นชมของเหล่าทหารและข้าราชสำนัก…

แต่ก็มีเรื่องยุ่งยากเกิดขึ้น โดยมิได้คาดฝัน เจ้าเมืองอังวะ ซึ่งเป็นพระอนุชาองค์เล็กของพระเจ้าบุเรงนองวางแผนจะยึดเมืองพะโค และมีสาส์นไปชักชวนพระญาติอื่นๆ เช่น เจ้าเมืองแปร  เจ้าเมืองตองอู เป็นต้น ให้ช่วยพระองค์ ปรากฏว่าบรรดาพระเชษฐาหรืออนุชาต่างขัดเคืองในแผนการทรยศนี้ ส่งสาส์นต่อไปถวายพระเจ้านันทบุเรง

พระเจ้านันทบุเรง จึงรีบส่งกองทัพมายังกรุงอังวะ พระเจ้าอาออกมาสู้รบด้วยยุทธหัตถี แต่พ่ายแพ้และหนีไปชายเขตแดนจีน พร้อมด้วยไพร่พลที่เหลือ แต่เผชิญประชวรและสวรรคตกลางทาง ชัยชนะที่ง่ายดายในการต่อต้านครั้งแรก ยิ่งทำให้ชื่อเสียงพระเจ้านันทบุเรงทวีขึ้น แต่ในความมั่นคงยังไม่สู้แน่นอนนัก

ก่อนที่พระเจ้านันนทบุเรงจะยกทัพไปกรุงอังวะ มีบัญชาให้ทุกอาณาจักรในจักรวรรดิพม่าส่งกองทหารมาช่วย พระนเรศวร ถือโอกาสนี้ดุจโอกาสประทานจากสรวงสวรรค์ เพื่อประกาศอิสรภาพไทยจากการปกครองของพม่า

พระองค์กลับเกณฑ์กองทัพใหญ่มา และมีแผนจะติดตามพระเจ้านันทบุเรงไปห่างๆ และถ้าพระเจ้านันทบุเรงแพ้ก็จะเข้าโจมตีกองทัพมอญและพม่า ถ้าพระเจ้านันทบุเรงชนะก็จะถอยทัพอย่างสงบกลับไทยและรอโอกาสต่อไป

แผนการดังกล่าวล่วงรู้ไปถึงพระเจ้านันทบุเรง จึงมีรับสั่งให้กองทัพไทยมายังกรุงพะโค เพื่อจะจับองค์พระนเรศวร แต่ขุนนางมอญบางคนคิดว่าพระเจ้านันทบุเรงคงจะแพ้อังวะ จึงลอบส่งข่าวไปบอกเจ้าชายไทยซึ่งกำลังข้ามแม่น้ำสะโตงมายังพม่า

เมื่อได้ทราบว่าพระเจ้านันทบุเรงล่วงรู้แผนการของพระองค์ ก็ทรงกล่าวหาว่ากษัตริย์พม่ามิได้ซื่อเตรียมดักจับพระองค์ จึงประกาศอิสรภาพไทย และเดินทางต่อไปเพื่อโจมตีเมืองพะโค

แต่พระองค์ [พระนเรศวร] ก็ต้องประหลาดพระทัยที่ได้ข่าวว่า พระเจ้านันทบุเรงได้ชัยชนะอย่างรวดเร็วที่กรุงอังวะ จึงเปลี่ยนแผนการทันที พระองค์ทรงรวบรวมชาวไทยที่อยู่แถบเมืองพะโคได้ประมาณ 10,000 คน และกวาดต้อนกลับเมืองไทยหมด ขณะที่พระองค์ถอยทัพกลับมาช้าๆ กองทัพพระเจ้านันทบุเรง ที่เมืองพะโคกองหนึ่งไล่ติดตามมา แต่พระนเรศวรก็สามารถข้ามแม่น้ำสะโตงมาได้ และตีกองทัพพม่าพ่ายไปขณะที่จะข้ามแม่น้ำติดตาม…

เมื่อพระเจ้านันทบุเรงยกกองทัพมา พระนเรศวรพร้อมด้วยกองทหารอยู่ในเมืองอยุธยา ซึ่งได้สร้างป้อมค่ายไว้แน่นหนา เพราะพระเจ้านันทบุเรงทรงอนุญาตแต่ครั้งก่อน กองทัพพระเจ้านันทบุเรงเล็ก และมิได้ตระเตรียมมาล้อมเมืองที่มีป้อมปราการเข้มแข็งเช่นนั้น จึงถอยกลับไป เจ้าชายไทยมิได้ติดตามกองทัพพม่าไปเพราะกองทัพเขมรเข้ามาบุกรุก เขมรนั้นนับว่าไทยเป็นศัตรูสำคัญ…

กองทัพพม่าสมัยบุเรงนองทั้งพม่าและมอญ ต่างมุ่งรบภายใต้ธงของบุเรงนอง ทั้งเพื่อชื่อเสียงและเพื่อรางวัล แทบจะไม่เคยพ่ายแพ้ในสงครามเลย ล่วงมาถึงรัชสมัยพระเจ้านันทบุเรง ขุนพลแต่ครั้งสมัยพระเจ้าบุเรงนองก็แก่ชราไปตามกันและมิได้รับราชการอีกต่อไป หลังจากพระเจ้านันทบุเรงตีไทยครั้งแรกไม่ได้ เหล่าทหารของพระองค์ก็เริ่มท้อถอย และประชาชนไม่กระตือรือร้นอีกต่อไป

นันทบุเรงควรเลิกความคิดที่จะโจมตีไทย หรืออย่างน้อยควรรอจนกว่าอาณาจักรพม่าจะฟื้นตัวจากการพ่ายแพ้ครั้งแรกอีกสัก 2-3 ปีก่อน ขณะที่ปล่อยให้พระนเรศวรผู้มีกำลังเข้มแข็งและยังอยู่ในวัยฉกรรจ์สู้รบกับเขมร

แต่นันทบุเรงก็ถือทิฐินำทัพไปบุกไทยอีกสองครั้งใน ค.ศ. 1585 และ ค.ศ. 1586 แต่การบุกรุกทั้งสองครั้งก็พ่ายแพ้และเสียหายอย่างมาก

ประชาชนทั้งมอญและพม่าก็เริ่มบ่น คัดค้าน ชายหนุ่มจำนวนไม่น้อยหนีไปบวชเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร และนันทบุเรงจับพระสึก โดยอ้างว่าเพื่อชำระเหล่าสงฆ์ให้บริสุทธิ์ บรรดาพระราชาคณะทั้งหลายไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ต่างพากันภาวนาให้นันทบุเรงหมดอำนาจเสียโดยเร็วโดยทั่วกัน พระเจ้านันทบุเรงจึงเนรเทศบรรดาหัวหน้าพระสงฆ์ไปในถิ่นไกลๆ แถบพม่าตอนบน

ใน ค.ศ. 1584 หลังจากแพ้สงครามไทยครั้งแรก เจ้าเมืองตองอู พระอนุชาของพระเจ้าบุเรงนองสวรรคต และพระโอรสได้เป็นเจ้าเมืองแทน ใน ค.ศ. 1598 เจ้าเมืองแปร ซึ่งเป็นพระอนุชาอีกพระองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนองก็สวรรคต โดยปราศจากรัชทายาท และพระเจ้านันทบุเรงแต่งตั้งพระโอรสองค์รององค์หนึ่งของพระองค์เองไปเป็นเจ้าเมืองแปร พระเจ้านันทบุเรงไม่เคยทรงแน่พระทัยในความสวามิภักดิ์ของพระปิตุลา และทรงคิดว่าการแต่งตั้งเจ้าเมืองทั้งสองขึ้นแทนที่คงไม่กล้ามาอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของพระองค์

เมื่อทรงแน่พระทัยว่าทรงควบคุมสันติภาพในพระราชอาณาเขตไว้ในพระราชอำนาจแล้ว ใน ค.ศ. 1590 พระเจ้านันทบุเรง ก็ทรงยกกองทัพไปตีไทยอีกครั้งหนึ่ง และก็ถูกตีโต้กลับมาดังเช่นกาลก่อน ต่อมาใน ค.ศ. 1592 พระองค์ทรงเกณฑ์พลจำนวนมากท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชน ยกกองทัพไปรุกรานไทยอีกเป็นครั้งที่ห้า พระโอรสองค์ใหญ่ผู้เป็นรัชทายาทคุมทัพล่วงหน้าไปก่อน และถูกกองทัพพระนเรศวรโจมตี

บัดนั้น พระราชบิดาสวรรคตไปแล้วและพระนเรศวรได้เป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระนเรศวร พระมหาอุปราชกับกษัตริย์ไทยทรงกระทำยุทธหัตถี และพระมหาอุปราชถูกฟันขาดบนคอช้าง

พระเจ้านันทบุเรงเสียพระทัยมาก ให้ยกกองทัพกลับ ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรทรงพอพระทัยที่ข้าศึกยอมแพ้ แต่ก็ทรงเศร้าพระทัยเป็นอย่างยิ่งที่ได้ฆ่าเพื่อนเล่นตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์ในราชสำนักบุเรงนอง พระองค์จึงทรงสร้างเจดีย์เล็กๆ ไว้เป็นอนุสรณ์ ณ สถานที่ชนช้างและเสด็จกลับอยุธยา…

จิตรกรรมโคลงภาพพระราชพงศาวดารตอน “สงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” เขียนโดย หลวงพิศณุกรรม (เล็ก) ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ “จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก เล่ม 2”)

ผลของความเสียหายจากการไปบุกเมืองไทยทั้งห้าครั้ง ทำให้ที่ดินในพม่าตอนล่างขาดผู้ดูแลเพาะปลูก นอกเหนือไปจากนั้น ยังมีหนูระบาดจำนวนมากที่ช่วยทำลายข้าวในนาให้สูญเสียไป พวกมอญหมู่หนึ่งก่อการกบฏขึ้นใน ค.ศ. 1593 พระเจ้านันทบุเรงอ้างสาเหตุดังกล่าวสั่งจับพวกมอญทั้งหมด และประหารผู้ที่สงสัยว่าคบคิดกบฏ เจ้าเมืองเมาะลำเลิงจึงก่อการกบฏต่อต้านและขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระนเรศวรซึ่งพร้อมที่จะเสด็จมายังพม่าตอนล่าง พวกมอญรีบเข้าร่วมกับพระองค์

ดังนั้นกองทัพไทยและมอญจึงเข้าล้อมกรุงพะโค ฝ่ายเจ้าเมืองแปร ตองอู และเชียงใหม่ต่างส่งทัพมาช่วยด้วยความสวามิภักดิ์ แต่สมเด็จพระนเรศวรมิได้อยู่ทำสงคราม ทรงถอยทัพกลับพร้อมกับนำพวกมอญอาสากลับมาหลายพันคน นอกจากยึดบริเวณตะนาวศรีได้แล้ว พระองค์ก็ยึดเอาเมืองเมาะลำเลิงและเมาะตะมะไว้ได้

สำหรับองค์พระเจ้านันทบุเรงเองกลับประสบความยุ่งยากโดยมิได้คาดฝัน กล่าวคือ พระโอรสของพระองค์เองซึ่งตั้งไว้เป็นเจ้าเมืองแปร ประกาศตัวเป็นอิสระ เพื่อประสงค์จะป้องกันดินแดนจากความหายนะทั่วๆ ไปที่บังเกิดในอาณาจักรพม่าเวลานั้น

พระเจ้านันทบุเรงทั้งทรงกริ้วและกระวนกระวายพระทัย จึงสั่งให้เจ้าเมืองตองอู เชียงใหม่ และอังวะมาอยู่เป็นตัวประกัน แม้ว่าทั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่ และอังวะเป็นพระอนุชาแท้ๆ ก็ตาม เจ้าเมืองเหล่านี้จึงประกาศอิสรภาพ พวกลาวลานช้างได้ยินว่าเชียงใหม่กำลังยุ่งยาก จึงยกกองทัพเข้าบุกเชียงใหม่ ทำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ไม่มีทางเลือกนอกจากขอความช่วยเหลือมายังสมเด็จพระนเรศวรซึ่งรีบเสด็จมาทันที ช่วยขับไล่ข้าศึกออกไปได้และประกาศรวมเชียงใหม่เข้าไว้ในอาณาจักรของพระองค์

เมื่อทรงเห็นว่าอำนาจของพระองค์เริ่มคลอนแคลน พระเจ้านันทบุเรงก็ยิ่งทรงเหี้ยมโหดมากขึ้น

และในที่สุดพระญาติองค์หนึ่ง คือ เจ้าเมืองตองอู เห็นว่าพระองค์จะต้องยึดพะโคกลับมาจากพระนเรศวร เพื่อช่วยมิให้พม่าตกอยู่ในมือคนไทย เจ้าเมืองตองอูเห็นว่าเจ้าเมืองยะไข่จะเป็นพันธมิตรได้เหมาะที่สุด ตั้งแต่ถูกพระเจ้าตะเบงชเวตี้รุกรานแล้ว ยะไข่ได้พัฒนาเป็นแคว้นที่มีอำนาจมากที่สุด ได้ครอบครองจิตตะกอง และขณะเดียวกันก็เป็นพันธมิตรที่ดีกับเจ้ามุสลิมทั้งหลายในอินเดีย

อย่างไรก็ดี ชาวยะไข่ยังคงเป็นนักชาตินิยม และหยิ่งในเกียรติของกำเนิดพม่า เมืองมรหังเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ของแคว้นยะไข่ก็มิใช่เป็นเพียงป้อมที่ยิ่งใหญ่ แต่เป็นทั้งศูนย์กลางการค้าและวัฒนธรรม เป็นคู่แข่งที่สำคัญของกรุงพะโค

เจ้าเมืองยะไข่เลียนแบบนโยบายอันชาญฉลาดของพระเจ้าบุเรงนอง เกี่ยวกับการค้า ศาสนา และวัฒนธรรม ทำให้เมืองท่าเรือเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ ข้าราชสำนักประพันธ์กวีนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองเป็นภาษาพม่าที่ไพเราะ ฝ่ายตุลาการก็แต่งและผลิตผลงานด้านระเบียบ ประเพณี และกฎหมายพม่า…ชาวยะไข่เป็นพันธมิตรที่ดีของเจ้าเมืองตองอู ตองอูคาดคะเนว่ายะไข่มีความเข้มแข็ง และชาวยะไข่สนใจแต่เพียงการปล้นเอาทรัพย์เท่านั้น มิได้สนใจจะเข้ายึดครองเมืองพะโคเลย

ใน ค.ศ. 1599 กองทัพเรือยะไข่เข้าโจมตีและยึดเมืองสิเรียม ขณะที่กองทัพเมืองตองอูเข้ายึดเมืองพะโค กองทัพเรือยะไข่อีกขบวนหนึ่งก็เดินทางนำทัพบกมาร่วมกับกองทัพตองอูที่ล้อมเมืองพะโคอยู่ อย่างไรก็ดี การล้อมเมืองไม่มีความหมายเพราะทหารทิ้งกองทัพพระเจ้านันทบุเรง…และไม่มีการป้องกันเมืองสิเรียมแตกแล้ว

กองทัพทั้งสองเดินเข้าเมืองได้โดยสะดวกและปรึกษาบางทรัพย์สินเช่น ทอง เงิน และมณีมีค่าต่างๆ เท่าๆ กัน ส่วนพระพุทธรูปทององค์ใหญ่ที่พระเจ้าบุเรงนองยึดมาได้จากอยุธยาก็ตกไปอยู่กับชาวยะไข่ ฝ่ายพระพุทธรูปที่พบในวังตกเป็นของตองอู

นอกจากนั้น เจ้าเมืองยะไข่ยังนำพระธิดาพระเจ้านันทบุเรงไป และทางตองอูมีหน้าที่อารักขากษัตริย์ผู้เพลี่ยงพล้ำ ชาวยะไข่ได้ช้างเผือกไปเป็นสมบัติ และยอมให้กองทัพตองอูไปเปิดกรุทรัพย์สินในเจดีย์ที่พระเจ้าบุเรงนองสร้างขึ้น เพื่อนำเอาพระเขี้ยวแก้วและบาตรที่ได้มาจากลังกาไป

เจ้าเมืองตองอูมิได้ยึดเมืองพะโคแต่รีบกลับไปตองอู ส่วนการกระทำดังกล่าวไม่สู้มีผู้เข้าใจ เพราะจุดมุ่งหมายในการโจมตีพระเจ้านันทบุเรงก็เพื่อยึดบัลลังก์พม่าภาคใต้…กองทัพยะไข่เข้ารื้อค้นพระราชวังและทรัพย์สมบัติในบ้านเมือง และเผาเมืองเสียด้วย และนำเอาเจ้าหญิง ช้างเผือก ทรัพย์สินเงินทอง ปล้นมาได้ลงเรือกลับไป…”

อาณาจักรของพระเจ้าบุเรงนองก็ล่มสลายด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หม่องทินอ่อง (เขียน), เพ็ชรี สุมิตร (แปล). ประวัติศาสตร์พม่า,  มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขปรังปรุง, มิถุนายน 2548


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2564