บุเรงนอง “ผู้ชนะสิบทิศ” สร้างภูเขาทองที่อยุธยา

เจดีย์ภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ภาพประกอบจาก ห้องสมุดภาพศิลปวัฒนธรรม)

วัดภูเขาทองกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่นอกตัวเมืองอยุธยา ออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ วัดระยะทางเป็นเส้นตรงจากกำแพงเมืองตรงมุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำลพบุรี หรือคลองเมืองมาพบกันอยู่ห่างจากตัววัดประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในวัดมีซากโบราณสถานและเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่ง เรียกว่า เจดีย์ภูเขาทอง ภูมิประเทศที่ตั้งวัดเป็นที่ดอน อยู่ท่ามกลางที่ราบลุ่ม มีน้ำท่วมในฤดูฝนเรียกกันว่า ทุ่งภูเขาทอง

ปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า เมื่อ จ.ศ. 1106 ปี ชวด ฉศก ตรงกับ พ.ศ. 2287 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย…ทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์และพระอารามวัดภูเขาทองสิบเดือนจึงสำเร็จ

Advertisement
เค้าโครงเจดีย์ภูเขาทอง ทรงระฆังกลมบนฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ศิลปะพม่า เมื่อแรกสร้างโดยพระเจ้าบุเรงนองเมื่อประมาณ พ.ศ. 2112 ก่อนทรุดโทรมและมีการปรับปรุงรูปแบบใหม่เป็นเจดีย์ในศิลปะแบบไทย แต่ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จตามเค้าโครงเดิมในศิลปะพม่า

ความตอนนี้พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวอย่างชัดเจนว่า การครั้งนี้เป็นการปฏิสังขรณ์ แสดงว่าวัดและเจดีย์ภูเขาทองนั้นเป็นของเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นรูปลักษณ์ขององค์พระสถูปโดยรวมที่มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังมีซุ้มทิศ ย่อมุมไม้สิบสอง และลวดลายปูนปั้นอื่นๆ ล้วนแสดงลักษณะของสิ่งก่อสร้างในศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะศิลปกรรมที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ หรือถ้าเก่าขึ้นไปอีก ก็ไม่ควรเกินสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทั้งสิ้น นอกจากฐานย่อเก็จสามชั้นขนาดใหญ่ อันเป็นลักษณะแรกเริ่มก่อสร้างของเจดีย์องค์นี้ ที่เป็นลักษณะเด่นชัดของฐานเจดีย์พม่าที่เป็นประเด็นกล่าวถึงในบทความนี้

มีเรื่องบอกเล่าในลักษณะตำนาน ที่ได้รับการจดบันทึกโดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสือชื่อ พงศาวดารเหนือ เล่าว่า ในอดีตกาลยาวไกล ครั้งหนึ่งกษัตริย์มอญกับกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาที่เคยเป็นญาติมิตรกันมาก่อนเกิดผิดใจกัน กษัตริย์มอญได้ยกทัพมาประชิดพระนครศรีอยุธยาจะสู้รบกัน แต่เพื่อมิให้อาณาประชาราษฏร์ล้มตายเดือดร้อน จึงมีการท้าทายสร้างพระเจดีย์แข่งกันให้เสร็จทันตอนพระอาทิตย์ขึ้น

ตกกลางคืนต่างก็ลงมือก่อสร้าง กษัตริย์มอญสร้างที่มุมเมืองทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) คือสร้างสถูปภูเขาทอง ส่วนกษัตริย์อยุธยาสร้างที่นอกเมืองมุมทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) คือสถูปทรงปรางค์วัดไชย พอถึงจวนจะรุ่งฝ่ายอยุธยาสร้างช้ากว่า จึงทำอุบายเอาโครงไม้ไผ่ต่อยอดเอาผ้าขาวพันไว้ ฝ่ายมอญแลเห็นแต่ไกลนึกว่าฝ่ายอยุธยาสร้างเสร็จแล้ว ฝ่ายของตนยังสร้างไม่ถึงยอด คิดว่าฝ่ายตนต้องแพ้แน่แล้วจึงยกทัพหนีกลับบ้านเมืองของตนไป (ทั้งสองแห่งตั้งอยู่บนทุ่งโล่ง สามารถมองเห็นสถูปซึ่งกันและกันได้)

เมื่อมอญถอยทัพกลับไปแล้ว กรุงศรีอยุธยาจึงมาต่อยอดที่มอญทิ้งค้างไว้จนเสร็จเรียกว่า เจดีย์ภูเขาทอง ส่วนที่ของตนสร้างยังไม่เสร็จก็มาทำต่อจนเสร็จ และเนื่องจากตำนานเรื่องนี้ มีลักษณะเป็นเรื่องเล่าในระดับชาวบ้าน ไม่ทราบว่าสถูปทรงปรางค์ขนาดใหญ่ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า วัดไชยนั้น แท้ที่จริงชื่อเดิมในเอกสารโบราณชื่อว่า วัดไชยวัฒนาราม ดังนั้นเมื่อจะกล่าวถึงวัดไชยให้มีชื่ออย่างมีศักดิ์ศรีจึงต้องเติมชื่อให้ยาวขึ้นกลายเป็น วัดใหญ่ไชยมงคล

มีเกร็ดนอกเรื่องต่อไปอีกว่า ต่อมาภายหลังสัก 50 ปีมานี้ เกิดการสับสนในเรื่องทิศที่ตั้งของวัดใหญ่ไชยมงคลที่ตำนานเล่าว่าอยู่ทางทิศหรดี มาเป็นทิศอาคเนย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้) และทิศนี้มีเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดใหญ่ หรือตามพงศาวดารเรียกว่า วัดเจ้าพญาไท เจดีย์องค์นี้จึงถูกอุปโลกน์ให้เป็นเจดีย์วัดใหญ่ไชยมงคลมาตราบเท่าทุกวันนี้ (ดู “ไม่มีวัดใหญ่ชัยมงคลในสมัยอยุธยา” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 22 ฉบับที่ 1, พฤศจิกายน 2543 โดยผู้เขียน)

ย้อนกลับมากล่าวถึงเจดีย์ภูเขาทองเข้าเรื่องเดิม ตามตำนานที่ยกมากล่าวมิได้ให้ความรู้ที่เป็นประวัติศาสตร์จริงๆ เพราะเรื่องที่เล่าก็ดึงเวลาให้เก่าไปถึงสมัยก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาร่วม 300 ปี แต่อย่างไรก็ดี เนื้อเรื่องมีความเกี่ยวข้องกับพม่าอยู่ด้วย เพราะสมัยโบราณนั้นคนไทยเรียกพม่า-มอญปนๆ กันอยู่ เนื่องจากสมัยที่พม่าบุกถึงกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกนั้น พม่ามาจากกรุงหงสาวดีเมืองมอญที่พม่าเพิ่งยึดได้และย้ายศูนย์กลางการปกครองมาอยู่ที่นี่ คนอยุธยาน่าจะเห็นฐานสามชั้นขนาดใหญ่ของเจดีย์ภูเขาทอง และดูออกว่าเป็นฐานแบบเจดีย์พม่ามอญ ซึ่งขณะนั้นส่วนบนน่าจะชำรุดหักพังลงแล้ว จึงเล่าตำนานว่าเป็นเจดีย์ที่มอญเป็นผู้สร้าง แต่สร้างไม่เสร็จ (รีบหนีกลับไปก่อน)

เรื่องสร้างเจดีย์แข่งกันที่กรุงศรีอยุธยาระหว่างกษัตริย์พะโค (กรุงหงสาวดี) กับผู้ครองกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวถึงในหนังสือ The Ship of Sulaimãn ด้วยเหมือนกัน หนังสือเรื่องนี้เป็นบันทึกของคณะราชทูตแห่งราชสำนักเปอร์เซีย ที่นำพระราชสาส์นมายังกรุงศรีอยุธยาสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในหนังสือมิได้กล่าวพระนามกษัตริย์อยุธยาในครั้งนั้น แต่บอกเวลาชัดเจนว่าตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระราชโอรสคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งนั้นกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองประเทศราชของกรุงหงสาวดี ตามเนื้อเรื่องเมื่อฝ่ายกรุงหงสาวดีพ่ายแพ้เพราะไม่ได้พิจารณาให้ดีว่าเจดีย์ที่ฝ่ายอยุธยาสร้างนั้นเป็นเจดีย์ปลอม กษัตริย์หงสาวดีก็ยกทัพกลับไป และตั้งแต่บัดนั้น กรุงศรีอยุธยาก็ปลดแอกจากกรุงหงสาวดีได้

เรื่องสร้างเจดีย์แข่งกันในหนังสือ The Ship of Sulaimãn แม้มิได้ระบุว่าเจดีย์ที่สร้างแข่งกันนั้นเป็นองค์ไหน แต่เนื้อเรื่องก็ดึงเวลาจากเวลาปรัมปราในหนังสือพงศาวดารเหนือมาลงเวลาทางประวัติศาสตร์เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า หรือสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ซึ่งตามประวัติศาสตร์จากพงศาวดารของไทยนับเวลาการเสียเอกราชของกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นนานถึง 15 ปี

เรื่องที่ชาวต่างประเทศรับฟังตำนานจากคนกรุงศรีอยุธยา อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องที่นายแพทย์แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer, M.D.) นายแพทย์ชาวเยอรมันที่ทำงานกับบริษัทการค้าของฮอลันดา หมอแกมป์เฟอร์เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา รัชกาลต่อมาจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านกล่าวถึงเรื่องเจดีย์ภูเขาทองในหนังสือไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ ว่า เจดีย์ภูเขาทองเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะของกองทัพกรุงศรีอยุธยาที่มีต่อกองทัพพม่า ทำให้อยุธยาสามารถปลีกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของพม่าได้ จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้น ณ บริเวณที่มีการต่อสู้กันนั้น

ความจริงไม่ควรตื่นเต้นกับเอกสารที่ฝรั่งเขียนว่าจะต้องเชื่อถือได้ไปเสียทั้งหมด เพราะเรื่องนี้หมอแกมป์เฟอร์ย่อมได้รับฟังมาจากชาวอยุธยาคนหนึ่งนั่นเอง และน่าจะเป็นชาวอยุธยาที่ค่อนข้างจะรู้มากสักหน่อยด้วย คือรู้มากจนเอาเรื่องหลายเรื่องมาผสมกัน เอาบริเวณทุ่งภูเขาทองที่เป็นสมรภูมิการรบครั้งสำคัญกับพม่าในครั้งศึกคราวเสียพระสุริโยทัย อันเป็นสงครามครั้งแรกที่พม่าประชิดกรุงศรีอยุธยา มาเป็นสมรภูมิครั้งสงครามยุทธหัตถี ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสมรภูมิที่อยู่ไกลกรุงศรีอยุธยา แต่เรื่องนี้ก็เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในเรื่องที่ว่า อิทธิพลของหนังสือมหาราชวงศ์พงศาวดารของลังกา เรื่องการสร้างอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยที่มีต่อพระราชาของทมิฬ ได้แพร่หลายเข้ามาสู่การเล่าตำนานของคนกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว

อย่างไรก็ดี ชาวอยุธยาผู้เล่าตำนานให้หมอแกมป์เฟอร์ฟังก็ไม่สนใจในเรื่องรูปแบบทางศิลปกรรม จึงนำเรื่องอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของกษัตริย์อยุธยา มาสวมให้แก่พระเจดีย์ผิดองค์ เพราะเจดีย์ภูเขาทองมีฐานเก่าแสดงหลักฐานการแรกสร้างเป็นศิลปะพม่า กษัตริย์อยุธยาจะสร้างอนุสาวรีย์แห่งชัยชนะของฝ่ายตนก็ต้องสร้างในศิลปะไทย บางทีเรื่องของหมอแกมป์เฟอร์เรื่องนี้ก็น่าจะเป็นความสับสนปนเปของผู้เล่า ที่เอาเค้าเรื่องกษัตริย์พม่ากับอยุธยาสร้างเจดีย์แข่งกันที่มีเล่ากันมาก่อนแล้ว เอามาเป็นเค้าเรื่องส่วนหนึ่งแต่โดยจำสลับที่กันระหว่างเจดีย์ที่พม่าสร้างกับเจดีย์วัดใหญ่ไชย (วัฒนาราม) มงคล ที่กษัตริย์อยุธยาสร้างและมีชัยชนะดังได้กล่าวแล้วแต่ต้น

เรื่องสับสนว่าเจดีย์องค์ไหนกษัตริย์อยุธยาสร้าง องค์ไหนกษัตริย์พม่าสร้างของผู้เล่าตำนานให้หมอแกมป์เฟอร์ฟังเรื่องนี้ก็ยังมีประโยชน์ ที่จะเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ตำนานเรื่องสร้างเจดีย์แข่งกันที่ปรากฏหลักฐานในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในหนังสือ The Ship of Sulaimãn ที่มิได้ระบุว่าเป็นเจดีย์องค์ไหนนั้น ที่แท้องค์หนึ่งก็คือเจดีย์ใหญ่วัดภูเขาทองนี่เอง

ดังได้กล่าวแล้วว่า ศิลปะพม่าก็ต้องเป็นคนพม่าสร้าง ศิลปะไทยก็ต้องเป็นคนไทย (อยุธยา) สร้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ดูจะง่ายในการหาหลักฐาน โดยการตั้งเป็นข้อสงสัยว่า พม่าครั้งไหนกันแน่ที่มาสร้างเจดีย์ภูเขาทองจึงมีฐานที่แสดงการแรกเริ่มก่อสร้างเป็นศิลปะพม่า เพราะแม้แต่เรื่องในลักษณะตำนานภูเขาทองที่เล่ามาแต่ต้นก็จะมีลักษณะผูกพันเกี่ยวข้องกับพม่าด้วยทุกเรื่อง

ได้พบหลักฐานตรงๆ อยู่ในหนังสือมหาราชวงศ์พงศาวดารพม่า ต้นฉบับพิมพ์ดีด แปลเป็นภาษา ไทยโดยหม่องต่อ (คนเดียวกับผู้แปลหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า) อยู่ในหอสมุดแห่งชาติพระนคร แปลจากต้นฉบับภาษาพม่าที่ได้จากหอสมุดประเทศพม่าในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องเกี่ยวกับเจดีย์ภูเขาทองด้วยเหมือนกัน

แผนผังเจดีย์ภูเขาทอง อยุธยา แสดงลักษณะฐานย่อเก็จสามชั้นแบบพม่า และการย่อมุมไม้สิบสองในศิลปะไทย (ภาพจาก เจดีย์ภูเขาทอง อยุธยา สํานักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากร)

เรื่องเจดีย์ภูเขาทองในมหาราชวงศ์ เล่าอยู่ในตอนพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อนการเสียกรุงครั้งที่ 2 ว่า พม่าได้ตั้งค่ายล้อมกรุงศรีอยุธยาเป็นหลายค่าย ซึ่งในคำแปลพงศาวดารพม่าใช้คำว่าสร้างเมือง มีกำแพงอิฐ มีค่ายหรือเมืองอยู่ค่ายหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา พงศาวดารพม่าเล่าว่า

…แต่จตุกามณีนั้น จัดให้สร้างเมืองห่างจากกรุงศรีอยุธยา ออกไปประมาณ 500 เส้น สร้างทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่ตำบลพระบรมธาตุพระเจ้าช้างเผือกหงษาสร้าง คือได้สร้างอ้อมล้อมรอบพระบรมธาตุนั้นกว้างรอบ 300 เส้น กำแพงเมืองสูง 7 ศอก… ได้สร้างเมืองรอบพระนครทั้ง 4 ด้าน สร้างด้วยอิฐทั้งสิ้น 27 เมืองๆ นี้ได้ก่อสร้างป้อมประตูหอรบไว้ทั้งสิ้นดุจเทวดาลงมานฤมิตร…

จากความที่กล่าวว่า พระธาตุที่กษัตริย์พม่าเมืองหงสาวดีสร้างนี้ โดยตำแหน่งทิศทางที่ระบุกับแบบศิลปะที่ปรากฏที่ฐานเจดีย์ จะเป็นที่อื่นไปไม่ได้นอกจากเจดีย์ภูเขาทอง จะมีที่ขัดแย้งอยู่ที่ระยะทางว่าห่างตัวเมืองอยุธยาออกไปถึง 500 เส้น หรือประมาณ 20 กิโลเมตรนั้น ออกจะอยู่ไกลเกินที่ตั้งเจดีย์ภูเขาทองมากไป แต่ถ้าหากมีความคุ้นเคยกับเอกสารประเภทพงศาวดาร ไม่ว่าจะเป็นของชาติใดในโลกก็จะพบตัวเลขแสดงปริมาณที่เกินจริงอยู่เสมอ ดังข้อความที่กล่าวต่อไปว่า กำแพงค่ายที่สร้างล้อมรอบนั้นยาวถึง 300 เส้น หรือประมาณ 12 กิโลเมตร ซึ่งจะดูพิลึกพิลั่นมโหฬารสมกับเป็นเรื่องเล่าในเอกสารประเภทพงศาวดาร

ความจริงน่าจะเพิ่มปริมาณจนลืมไป เพิ่มความใหญ่โตของค่าย เพิ่มปริมาณช้างปริมาณม้าไพร่พลรบเสียจนเคยมือ เลยเพิ่มระยะทางความห่างของตัวค่ายกับเมืองเข้าไปด้วยโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่ม ซึ่งในกรณีนี้ก็ทำง่ายๆ โดยเพิ่มเลข 0 เข้าไปอีกตัวหนึ่ง กลายเป็น 500 เส้น ซึ่งถ้าหากระยะทางจริง เป็น 50 เส้น ก็จะประมาณเท่ากับ 2 กิโลเมตร ก็จะลงตำแหน่งที่วัดภูเขาทองได้พอดี

เรื่องพม่าก่อกำแพงอิฐสร้างค่ายล้อมรอบเจดีย์ภูเขาทอง และค่ายอื่นๆ ล้อมกรุงศรีอยุธยานั้น มีความสอดคล้องกับพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งด้วย ดังที่กล่าวว่า

…เนเมียวจึงยกพลทหารเข้ามาตั้งค่ายใหญ่ตำบลโพธิ์สามต้น ให้รื้อเอาอิฐโบสถ์วิหารวัดมาก่อกำแพงล้อมเป็นค่าย แล้วเกณฑ์ให้นายทัพทั้งปวงยกเข้ามาตั้งค่ายอยู่ ณ วัดภูเขาทอง และบ้านป้อมวัดการ้อง…

กล่าวโดยสรุป เจดีย์ภูเขาทองแรกเริ่มสร้างโดยกษัตริย์พม่า ที่มีอำนาจเหนือกรุงศรีอยุธยานาน 15 ปี เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 1 กษัตริย์ที่พงศาวดารพม่าเรียกว่า พระเจ้าช้างเผือกกรุงหงสาวดีนั้น จะเป็นผู้ใดอื่นนอกเหนือจากพระเจ้าบุเรงนองไปไม่ได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับชีวประวัติของพระองค์ เมื่อสามารถครอบครองบ้านเมืองใดก็มักจะสร้างวัดขึ้น ณ เมืองนั้นด้วย ในฐานะที่พระองค์คือพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้ทรงอุ้มชูพระพุทธศาสนา และเป็นผู้ทรงทำให้กงล้อแห่งพระธรรมจักรหมุนเคลือนไปยังทวีปทั้งสี่

ดังนั้น แม้ว่าภายหลังวัดภูเขาทองจะได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่เกือบทั้งหมดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่ก็ยังเหลือร่องรอยฐานสามชั้นย่อเก็จแบบพม่าอยู่ หนังสือมหาราชวงศ์พงศาวดารพม่าจึงยังจำเรื่องผู้สร้างกับรู้สถานที่ตั้งได้ แม้เหตุการณ์จะล่วงเลยมาร่วม 200 ปี ด้วยเพราะเป็นเรื่องชัยชนะของฝ่ายตน (คนชั้นสูงผู้ได้ประโยชน์จากพงศาวดาร)

ส่วนไพร่บ้านพลเมืองกรุงศรีอยุธยาระดับชาวบ้านนั้นจำไม่ได้แล้ว อาจจะเนื่องจากไม่อยากจะจดจำด้วยซ้ำ เพราะสภาวะสงครามนั้น ไม่ว่าแพ้หรือชนะก็เป็นความลำบากยากแค้นสูญเสียและพลัดพรากของชาวบ้าน จึงอาจเข้าใจได้โดยไม่ยากที่สงครามอันโหดร้ายระหว่างพม่ากับไทยเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกนั้น จะถูกปรับลดความเหี้ยมโหดลงจนหมดกลายเป็นเรื่องการต่อสู้โดยการสร้างพระเจดีย์แข่งกัน ตามวิธีการสร้างตำนานขึ้นแบบฝันๆ ของชาวบ้านคนธรรมดา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบอนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2565