ใครสร้างภูเขาทองที่อยุธยา?

เจดีย์ภูเขาทอง จังหวัดพระนครศรีอยุยา (ภาพประกอบจาก https://ww2.ayutthaya.go.th)

วัดภูเขาทอง ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา พระราชพงศาวดาร ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ฉบับพันจันทนุมาศ ล้วนกล่าวตรงกันว่า “วัดภูเขาทอง ได้รับการสถาปนา ในแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวร ศักราช 749”

แม้ว่าพงศาวดารเหล่านี้จะได้รับการชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ทำให้รายละเอียดในพงศาวดารบางส่วนไม่ตรงกัน แต่ที่กล่าวถึงการสถาปนาวัดภูเขาทองล้วนตรงกัน

ภูเขาทองมีการกล่าวถึงอีกในสมัยพระมหาจักรพรรดิว่า “พระมหานาคบวชอยู่วัดภูเขาทองได้สึกออกมารับศึกพม่าโดยเกณฑ์ชาวบ้านออกมาช่วยขุดคลองจนกลายเป็นชื่อคลองมหานาคมาถึงวันนี้”

แต่เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองจากการศึกษาของ ศาสตราจารย์สันติ เล็กสุขุม ปรากฏว่า เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองเป็นเจดีย์ที่อยู่ในช่วงอยุธยาตอนกลางประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 โดยมีวิวัฒนาการจากเจดีย์ศรีสุริโยทัย และเจดีย์วัดญานเสนสร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากข้อความว่า เจดีย์ภูเขาทองสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ได้รับชัยชนะเหนือกษัตริย์พม่า…ในหนังสือจดหมายเหตุการเดินทางของหมอแกมป์เฟอร์ชาวเยอรมัน เขียนขึ้นในปีพุทธศักราช 2223

ถ้าเจดีย์ประธานวัดภูเขาทองสร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตามที่หมอแกมป์เฟอร์บันทึกไว้จริงแล้ว เรื่องเกี่ยวกับวัดภูเขาทอง (ก่อนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสร้างเจดีย์ประธานวัดภูเขาทองบนฐานประทักษิณ 4 ชั้น มีบัวคว่ำลาดชันแบบพม่า) ตามพงศาวดารว่า พระราเมศวรสร้างหายไปไหน

จากการขุดตรวจฐานประทักษิณเจดีย์ประธานวัดภูเขาทองชั้นที่ 4 ในงานบูรณะเจดีย์ประธานวัดภูเขาทอง จากงบประมาณของบริษัทกรุงเทพประกันภัย โดยความรับผิดชอบของห้างหุ้นส่วนจำกัดปุราณรักษ์ พบว่าฐานประทักษิณของเจดีย์ประธานวัดภูเขาทองชั้นที่ 4 ก่อฐานประทักษิณเพิ่มถึง 4 สมัย เจดีย์ภูเขาทองที่หมอแกมป์เฟอร์เข้ามาเห็นและเขียนบรรยายรายละเอียดพร้อมวาดภาพลายเส้นไว้เป็นเจดีย์ภูเขาทองที่ผ่านการบูรณะมาแล้วถึง 4 สมัย โดยสมัยที่ 1 และ 2 องค์เจดีย์พังเหลือเพียงส่วนฐานประทักษิณไม่เพิ่มมุม 4 ชั้น สมัยที่ 3 จึงเป็นองค์เจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสร้างบนฐานประทักษิณเพิ่มมุมชั้นที่ 1 อีกสมัยในการบูรณะสมัยที่ 4

รายละเอียดของเจดีย์ประธานวัดภูเขาทองในแต่ละสมัย

จากการขุดตรวจทางโบราณคดีบนฐานประทักษิณชั้นที่ 4 ของเจดีย์ประธานวัดภูเขาทอง พบว่ามีการก่อสร้างฐานซ้อนกันถึง 4 สมัย ไม่รวมสมัยที่ 5 ที่บูรณะในพุทธศักราช 2500 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม การกำหนดอายุสมัยของเจดีย์ประธานวัดภูเขาทอง ใช้หลักฐาน 3 ประเภทมากำหนด ได้แก่ หลักฐานทางเอกสาร หลักฐานทางรูปแบบสถาปัตยกรรม และหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดี

การกำหนดอายุสมัย จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดี

ทําให้สามารถกำหนดอายุสมัยในการก่อสร้างที่ผ่านมาในแต่ละสมัยได้ดังนี้

สมัยที่ 1 เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองตั้งอยู่บนฐานปัทม์สี่เหลี่ยมไม่เพิ่มมุม เป็นฐาน 4 ชั้น ฐานปัทม์ประกอบด้วยชุดฐานหน้ากระดานล่าง บัวคว่ำ ท้องไม้ ลวดบัว ลูกแก้วอกไก่ บัวหงาย หน้ากระดานบน มีบันไดทางขึ้น 3 ด้าน ยกเว้นด้านที่มีอุโมงค์ทางเข้าองค์เจดีย์มีสภาพพังทลายจนไม่ทราบรูปทรงที่แน่นอน

สมัยที่ 2 เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองตั้งอยู่บนฐานปัทม์สี่เหลี่ยมไม่เพิ่มมุม ฐานเจดีย์มี 4 ชั้น ฐานปัทม์ประกอบด้วยชุดฐานหน้ากระดานล่าง บัวคว่ำ ท้องไม้ ลวดบัว ลูกแก้ว บัวหงาย หน้ากระดานมีบันไดทางขึ้น 3 ด้าน ใช้แนวบันไดเดิมกับเจดีย์สมัยที่ 1 ราวบันไดเป็นอิฐถากรูปครึ่งวงกลม องค์เจดีย์พังทลาย

สมัยที่ 3 เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองตั้งอยู่บนฐานปัทม์สี่เหลี่ยม เพิ่มมุม 3 ชั้น ยกเว้นฐานชั้นที่ 1 เป็นฐานสี่เหลี่ยมไม่เพิ่มมุม องค์เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองในสมัยที่ 3 มีลักษณะเป็นเจดีย์เพิ่มมุมไม้สิบสอง (รูปทรงเหมือนกับที่เห็นในปัจจุบัน) เหมือนกับเทคนิคการก่อสร้างห้องซึ่งมีการเพิ่มมุมไม้สิบสองภายในองค์เจดีย์ ซึ่งมีลักษณะเป็นการก่อสร้างล้อกันไป เพิ่มมุมภายในห้องและเพิ่มมุมบริเวณภายนอกเจดีย์ ดังนั้นองค์เจดีย์และห้องโล่งภายในเจดีย์นี้จึงน่าจะสร้างในสมัยเดียวกัน และจากการขุดตรวจองค์เจดีย์พบว่า อิฐที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นอิฐสีแดงสด ปูนขาวหนา ซึ่งเหมือนกับวัสดุและเทคนิคของฐานเจดีย์เพิ่มมุมในสมัยที่ 3 ดังนั้นองค์เจดีย์นี้น่าจะสร้างในสมัยเดียวกับฐานเจดีย์ คือสร้างในสมัยที่ 3

เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองสมัยที่ 3 มีบันไดขึ้นจากพื้นถึงฐานประทักษิณชั้นที่ 4 ทั้งสามด้าน ยกเว้นด้านที่มีอุโมงค์ โดยด้านที่มีอุโมงค์นั้นพบว่า บันไดทางขึ้นเริ่มจากฐานประทักษิณชั้นที่ 1 ถึงฐานประทักษิณชั้นที่ 4 บันไดนั้นมีเทคนิคการก่อสร้างโดยการก่ออิฐสอปูนแล้วฉาบปูนขาวบนขั้นบันได แนวระเบียงที่กั้นฐานประทักษิณสมัยที่ 2 เป็นเสมือนท้องไม้ของชุดฐานปัทม์ซึ่งประกอบด้วยหน้ากระดานบนบัวหงาย ท้องไม้คาดด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ 2 แถบ เพื่อลดช่องว่างของพื้นที่ให้เหมาะสม เส้นบนของลูกแก้วอกไม่ถากอิฐ ใช้ปูนจับเส้นล่างใช้การถากอิฐเป็นลูกแก้วอกไก่

สมัยที่ 4 เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองตั้งอยู่บนฐานปัทม์ 4 ชั้น เพิ่มมุมทุกชั้นและทุกด้าน โดยฐานประทักษิณชั้นที่ 1 ของเจดีย์สมัยที่ 3 ซึ่งเป็นฐานสี่เหลี่ยมไม่เพิ่มมุม เมื่อถึงในสมัยที่ 4 ได้มีการก่อเพิ่มเสริมเพื่อให้รับเพิ่มมุมของฐานประทักษิณชั้นที่ 2, 3 และ 4 ซึ่งเป็นฐานเพิ่มมุมไม้สิบสองอยู่แล้วตั้งแต่ในช่วงสมัยที่ 3 หลักฐานที่พบว่า เพิ่มมุมฐานประทักษิณชั้นที่ 1 ก่อเสริมจากฐานสี่เหลี่ยมสมัยที่ 3 คือจากหลุมขุดตรวจบริเวณฐานเพิ่มมุมติดกับเจดีย์ประธาน รอบองค์เจดีย์ประธานจำนวนหลายหลุม ผลจากการศึกษาชั้นดิน หลุมขุดตรวจแสดงว่าเพิ่มมุมฐานประทักษิณชั้นที่ 1 อยู่บนพื้นอิฐใช้งานของฐานสี่เหลี่ยม

สรุปหลักฐานจากการขุดตรวจเจดีย์ประธานวัดภูเขาทองได้ดังนี้

1. เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองมีการบูรณะซ่อมแซมในสมัยอยุธยา 4 ครั้ง ไม่รวมการบูรณะในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

2. องค์เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองในการสร้างสมัยที่ 1 และ 2 เหลือเพียงส่วนฐานประทักษิณ 4 ชั้น ส่วนองค์เจดีย์พังทลายลงไปเหลือหลักฐานจากหลุมชุดตรวจฐานประทักษิณบริเวณพื้นติดองค์เจดีย์ ด้านเหนือพบอิฐก่อขนาดใหญ่เป็นส่วนองค์เจดีย์ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเจดีย์ทรงไหน เพราะเป็นส่วนแกนในองค์เจดีย์

3. เจดีย์ประธานวัดภูเขาทอง ในการสร้างสมัยที่ 1 และ 2 มีฐานเป็นสี่เหลี่ยมไม่เพิ่มมุม มีฐานประทักษิณ 4 ชั้น

4. เจดีย์ประธานวัดภูเขาทอง ในการสร้างสมัยที่ 3 มีฐานสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมตั้งแต่ชั้นที่ 2, 3 และ 4 ยกเว้นฐานประทักษิณชั้นที่ 1 เป็นฐานสี่เหลี่ยมไม่เพิ่มมุม องค์เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองสร้างพร้อมฐานเพิ่มมุมสมัยที่ 3

5. เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองสร้างฐานเพิ่มมุมครบทั้ง 4 ชั้นในการสร้างสมัยที่ 4

การกำหนดอายุสมัย จากหลักฐานทางด้านเอกสาร

วัดภูเขาทองมีการกล่าวถึงในเอกสารและพงศาวดารหลายเล่ม โดยกล่าวว่ามีการสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นในแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวรในพงศาวดารต่อไปนี้

1. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาเล่ม 1 (พิมพ์ครั้งที่ 7, กรุงเทพฯ : อมรการพิมพ์, 2516), หน้า 118 ความว่า “ในแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวร ศักราช 749 ปีเถาะ นพศก (1930) สถาปนาวัดภูเขาทอง”

2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด), (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คลังวิทยา, 2507) หน้า 4 และหน้า 509 ความว่า “…ในแผ่นดินพระราเมศวร ศักราช 749 ปีเถาะ นพศก สถาปนาวัดภูเขาทอง…”

3. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2504) หน้า 40 ความว่า “…ในแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวร ศักราช 749 ปีเถาะ นพศก สถาปนาวัดภูเขาทอง…”

เอกสารจากพงศาวดารเหล่านี้กล่าวตรงกันว่า วัดภูเขาทองมีสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นในสมัยพระราเมศวร หลังจากนั้นเรื่องราวของวัดภูเขาทองมีการกล่าวถึงอีก

ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวถึงวัดภูเขาทองในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไว้ว่า “ฝ่ายพระมหานาคอยู่วัดภูเขาทอง สึกออกมารับอาสาตั้งค่ายทัพเรือตั้งค่ายตั้งแต่วัดภูเขาทอง ลงมาจนถึงวัดป่าพลู พรรคพวกสะสมกำลังญาติโยมทาสชายทาสหญิงของมหานาคช่วยกันขุดคูนอกค่ายกันทัพเรือ จึงเรียกว่าคลองมหานาค” (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา 2516 : 145)

เอกสารชั้นต้นที่สำคัญกล่าวถึงเจดีย์วัดภูเขาทองโดยหมอแกมป์เฟอร์ชาวเยอรมันที่เข้ามากรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเพทราชา ได้กล่าวถึงว่าใครเป็นผู้สร้างและวาดลายเส้นเจดีย์ภูเขาทองไว้ “…พระเจดีย์ภูเขาทอง (PYRAMID RKAH THON หรือ PUKA ‘THON) อันลือชา ปรากฏตั้งบนที่ราบห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงลีกหนึ่ง เจดีย์นี้ได้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึก ที่ได้ชัยชนะแก่กษัตริย์มอญอย่างใหญ่หลวง ณ ที่นั้นไทยได้เข่นฆ่าและตีทัพอันใหญ่หลวงของข้าศึกแตกพ่ายไป กลับคืนสู่เป็นไทยแต่ดั้งเดิมอีกในครั้งนั้น…” (อัมพร สายสุวรรณ, 2508 : 98)

จากข้อความและรายละเอียดเกี่ยวกับเจดีย์วัดภูเขาทองที่หมอแกมป์เฟอร์บันทึกไว้สรุปได้ดังนี้

1. กษัตริย์ที่สร้างวัดภูเขาทองคือผู้ชนะเหนือพม่า กษัตริย์ไทยที่ชนะศึกพม่าอย่างใหญ่หลวงได้แก่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

2. เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองมีฐาน 4 ชั้น และเพิ่มมุมทุกชั้น องค์เจดีย์เพิ่มมุมไม้สิบสอง แผนผังของเจดีย์วัดภูเขาทองที่วาดโดยหมอแกมป์เฟอร์มีความใกล้เคียงกับผังเจดีย์ของเจดีย์วัดภูเขาทองที่เห็นในปัจจุบัน ยกเว้นเพิ่มมุมฐานประทักษิณชั้นที่ 1 ด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ที่หายไป

ส่วนเอกสารที่กล่าวถึงการบูรณะวัดภูเขาทองในสมัยอยุธยาตอนปลายได้แก่

1. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน, (กรุงเทพฯ : ป.พิศนาคะการพิมพ์, 2505 ) หน้า 616 ความว่า “ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในปีชวด ศก ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์อารามวัดภูเขาทอง หกเดือนสำเร็จ…”

2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ คลังวิทยา, 2507) หน้า 465 ความว่า “ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในปีชวด ฉศก ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดภูเขาทอง หกเดือนสำเร็จ…”

3. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 (พิมพ์ครั้งที่ 7), กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เจริญธรรม, 2516) หน้า 228 ความว่า “ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ลุศักราช 1106 ปีชวด ฉศก…ในปีนั้น ทรงพระกรุณาให้ปฏิสังขรณ์พระมหาเจดีย์และพระอารามวัดภูเขาทอง 10 เดือน จึงสำเร็จ…”

จากเอกสารที่กล่าวถึงเจดีย์วัดภูเขาทองกล่าวถึงกษัตริย์ดังนี้

  1. เจดีย์วัดภูเขาทองเริ่มสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น

2. เจดีย์วัดภูเขาทองสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

3. เจดีย์วัดภูเขาทองบูรณะครั้งสุดท้ายในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

แต่เอกสารที่กล่าวมาทั้งหมดกล่าวถึงการสร้างเจดีย์วัดภูเขาทองโดยกษัตริย์ชาวไทย ยังมีเอกสารที่กล่าวถึงการสร้างที่เกิดจากอิทธิพลหรือรูปแบบศิลปกรรมของประเทศพม่า ในคำให้การชาวกรุงเก่า ความว่า พระเจ้าหงสาโปรดให้สร้างเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2112 (คำให้การชาวกรุงเก่า ำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า, มปท., 2510) และในพงศาวดารเหนือได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าปราสาททองได้แต่งทูตเอาเครื่องบูชาไปถวายพระมาลีเจดีย์ที่หงสาวดี (ประชุมพงศาวดาร ภาค 1 ตอนต้น 2506 : 48)

เอกสารที่แสดงว่ามีอิทธิพลของศิลปกรรมพม่าข้างต้น สรุปชื่อกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องคือ

1. พระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง)

2. พระเจ้าปราสาททอง

เมื่อนำเอกสารทั้ง 2 ส่วนมาประกอบกันสามารถลำดับนามกษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับวัดภูเขาทองได้ดังนี้

1. พระราเมศวร

2. พระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง)

3. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

4. พระเจ้าปราสาททอง

5. พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

การกำหนดอายุสมัยโดยใช้หลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีรูปแบบศิลปกรรมและหลักฐานทางเอกสารมาประกอบกัน ได้รายละเอียดดังนี้

การวิเคราะห์โบราณสถานหมายเลข 3 เจดีย์ประธาน

1. เจดีย์ประธานวัดภูเขาทองที่สร้างบนฐานประทักษิณ 4 ชั้น เพิ่มมุมทุกด้าน องค์เจดีย์เพิ่มมุมยกเก็จ ตามแผนผังและคำบรรยายของหมอแกมป์เฟอร์ เป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชสร้าง ตรงกับเจดีย์ประธานเพิ่มมุมของวัดภูเขาทองในสมัยที่ 3

1.1 องค์เจดีย์ประธานเพิ่มมุมสมัยที่ 3 มีต้นแบบจากเจดีย์ศรีสุริโยทัย ยกเว้นฐานประทักษิณ 4 ชั้นที่เป็นแบบพม่า

1.1.1 ฐานชุดบนของเจดีย์ประธานวัดภูเขาทอง ได้คลี่คลายจากการทำฐานบัวหงายรองรับฐานบัวลูกแก้วอกไก่สามชั้น มาเป็นฐานบัวหงายรองรับชุดมาลัยลูกแก้ว เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวเตี้ยๆ และชั้นบัวถลารองรับองค์ระฆังซึ่งมีส่วนล่างงอนขึ้นมาเล็กน้อย

1.1.2 เรือนธาตุ ได้คลี่คลายจากการทำฐานสิงห์รองรับส่วนล่างของเรือนธาตุ และแสดงเรือนธาตุที่เด่นชัด แสดงตำแหน่งที่สำคัญของเจดีย์ มีการประดับเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่บริเวณมุมจระนำทิศ มาเป็นการทำฐานบัวลูกแก้วอกไก่เพิ่มมุม และออกเก็บเป็นฐานสิงห์ลดระดับ ได้หดเข้าหาเรือนธาตุมากขึ้นจนกลายเป็นซุ้มจระนำทิศ ซึ่งส่วนบนไม่มีเนื้อที่เพียงพอที่จะสามารถประดับเจดีย์ยอดได้อีกต่อไป

1.1.3 องค์ระฆัง ยังคงสืบเนื่องลักษณะการทำมุมลึก แสดงปริมาตรที่เกิดจากการเพิ่มมุมหรือเกิดจากการย่อมุมที่ขึ้นมาจากส่วนล่างของเจดีย์อย่างชัดเจน

1.1.4 บัลลังก์กับเสาหาน ยังคงสืบเนื่องจากเจดีย์ศรีสุริโยทัย นอกจากนี้ยังมีเจดีย์องค์อื่นที่อยู่ในสายวิวัฒนาการเดียวกัน และมีลักษณะร่วมบางประการที่คล้ายกัน เช่น เจดีย์รายหมายเลข 4/1 ที่วัดพุทไธสวรรย์ และเจดีย์วัดญานเสน

1.2 ฐานประทักษิณของเจดีย์ประธานวัดภูเขาทองในสมัยที่ 3 ที่เพิ่มมุมและบัวคว่ำลาดชันคล้ายบัวในสถาปัตยกรรมพม่า ต่างจากเจดีย์ศรีสุริโยทัยที่เป็นต้นแบบ เพราะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้สร้างเคยเสด็จไปประทับในประเทศพม่าในฐานะเชลย จึงนำรูปแบบศิลปกรรมมาใช้สร้าง ตีความจากข้อความที่ระบุไว้ในจดหมายเหตุหมอแกมป์เฟอร์สร้างเป็นที่ระลึกคราวชนะสงครามเหนือพม่าจึงสร้างเจดีย์เพิ่มมุมไม้สิบสองที่มีต้นแบบจากเจดีย์ศรีสุริโยทัยและเจดีย์วัดญานเสน ที่สร้างในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิซึ่งเป็นพระอัยกาของพระองค์ (ผู้สร้างทั้ง 2 พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทำศึกกับพม่าเหมือนกันและมีความเกี่ยวพันทางสายเลือด) เหนือฐานเพิ่มมุม 4 ชั้น มีบัวลาดชันแบบพม่า เป็นการประกาศชัยชนะเหนือพม่า โดยอาศัยรูปแบบศิลปกรรม (เพราะฐานเพิ่มมุม 4 ชั้น สร้างในสมัยเดียวกับองค์เจดีย์) ไม่ใช้ฐานเจดีย์แบบพม่าที่สร้างโดยพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า

เพราะข้อมูลที่มาจากคำให้การชาวกรุงเก่า ในครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 เป็นข้อมูลหลังจากหมอแกมป์เฟอร์เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาปีพุทธศักราช 2233 ในสมัยพระเพทราชาถึง 67 ปี ถ้าเจดีย์ประธานวัดภูเขาทองสร้างโดยพระเจ้าบุเรงนองจริง กษัตริย์ไทยในสมัยต่อมาคงรื้อทิ้งไม่ปล่อยไว้ให้เป็นที่อัปยศ

2. เจดีย์ประธานวัดภูเขาทอง ฐานสี่เหลี่ยมไม่เพิ่มมุม 4 ชั้น ทั้งสมัยที่ 1 และ 2 ผู้สร้างต้องเป็นกษัตริย์ที่มีชื่อในพงศาวดาร ลำดับก่อนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สันนิษฐานว่าเป็นฐานเจดีย์ในสมัยสมเด็จพระราเมศวรมหาราช ตามที่ปรากฏว่าเป็นผู้สถาปนาเจดีย์วัดภูเขาทองในพงศาวดารหลายเล่ม

3. สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้บูรณะเพิ่มเติมส่วนฐานประทักษิณชั้นที่ 1 ของเจดีย์ประธานวัดภูเขาทองเพิ่มเติมหลักฐานจากการขุดตรวจแสดงชั้นดินชัดเจน หมอแกมป์เฟอร์ชาวเยอรมันจึงวาดเส้นเจดีย์ประธานวัดภูเขาทองมีเพิ่มมุมทุกชั้น

4. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้บูรณะเจดีย์ประธานวัดภูเขาทองโดยไม่เปลี่ยนรูปทรงจากสมัยที่หมอแกมป์เฟอร์เข้ามาวาด เพิ่มมุมที่หายไปด้านทิศตะวันออกและใต้หานไปในการื้ออิฐไป สร้างกรุงในรัชกาลที่ 1 โปรดให้รื้อป้อมกำแพงและสถานที่ต่างๆ เอาอิฐมาสร้างกรุงเทพพระมหานคร (ประชุมพงศาวดาร เล่ม 37, 2512 : 141)

เจดีย์ประธานวัดภูเขาทอง ที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันจึงเป็ยเจดีย์ที่สร้างโดยยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทับฐานเจดีย์เดิมที่เก่ากว่าสมัยของพระองค์ อาจเป็นฐานเจดีย์ที่ได้รับการสถาปนาในสมัยพระราเมศวรดังที่ปรากฏในพงศาวารก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2565