ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2553 |
---|---|
ผู้เขียน | วารยา |
เผยแพร่ |
อ่านตอนที่ 1 : ชีวิตนางในราชสำนักฝรั่ง (ตอน 1) พลีกายถึงชักใยหลังม่าน เมื่อเรื่องบนเตียงยังมิใช่ไม้เด็ดสุด
เมื่อหลายร้อยปีก่อนที่การมีนางในถือเป็นแฟชั่นในราชสำนักนั้น หน้าที่ของนางในคือการนั่งรอในห้องอย่างสงบเสงี่ยม คอยรับคำสั่งของกษัตริย์ให้เข้าไปปรนนิบัติรับใช้ ในขณะที่กษัตริย์สามารถหลับนอนกับผู้หญิงมากหน้าหลายตา ทว่ามีนางในหลายคนที่กล้ากระทำเรื่องเสี่ยงชีวิต นั่นก็คือการลักลอบคบชู้สู่ชาย และมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้รับการอภัยโทษ หรือลงโทษแค่การเนรเทศจากกษัตริย์นักรักผู้ใจกว้าง
ส่วนใหญ่แล้วพวกหล่อนต้องถูกประหารชีวิตหรือไม่ก็ขังลืมแทบทั้งสิ้น วีรกรรมเลื่องชื่อของบรรดานางในที่แอบตลบหลังกษัตริย์นักรักมีอยู่หลายเรื่อง ที่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรก็เห็นจะเป็นเรื่องเล่าของ บาร์บารา พาล์มเมอร์ (Barbara Palmer – มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1640-1709) ผู้มีผมสีแดงอมน้ำตาล เป็นนางในสูงศักดิ์ที่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ (Charles II of England – ครองราชย์ ค.ศ. 1660-85) โปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง (หล่อนยังคงเป็นสะใภ้ของตระกูลพาล์มเมอร์ในระหว่างที่เป็นนางใน) ถึงขนาดพระราชทานบรรดาศักดิ์ เอิร์ลแห่งคาสเซิลเมน (Earl of Castlemaine) ให้กับโรเจอร์ พาล์มเมอร์ (Roger Palmer) สามีของหล่อนในปี ค.ศ. 1661 และแต่งตั้งให้หล่อนเป็นดัชเชสแห่งคลีฟแลนด์ (Duchess of Cleveland) และเคาน์เตสแห่งคาสเซิลเมน (Countess of Castlemaine)
บาร์บารา พาล์มเมอร์ (Barbara Palmer)
การคบชู้สู่ชายของเลดี้แคสเซิลเมนนั้นเป็นที่โจษขานไปทั่วราชสำนัก แม้แต่ตัวกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 เองก็ต้องทนหลับหูหลับตา แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับพฤติกรรมเช่นนี้ ครั้งหนึ่ง ในขณะที่เลดี้แคสเซิลแมนกำลังเริงรักกับ แฮร์รี่ เจอร์มิน (Harry Jermyn) ข้าราชสำนักคนหนึ่ง กษัตริย์ชาร์ลส์เสด็จไปหาหล่อนที่ห้องโดยมิได้นัดหมาย ทำให้แฮร์รี่ต้องมุดลงไปหลบใต้เตียง
เมื่อหล่อนตั้งครรภ์เป็นครั้งที่ 6 กษัตริย์ชาร์ลส์จึงตัดสินพระทัยไม่รับเด็กคนนี้เป็นบุตร กระทั่งเลดี้แคสเซิลเมนขู่จะฆ่าบุตรของตนต่อหน้าพระพักตร์ และป่าวประกาศว่าไม่ว่าเด็กคนนี้จะเป็นฝีมือใคร กษัตริย์ชาร์ลส์ก็ต้องรับผิดชอบ หลายวันต่อมาพระองค์ถึงกับต้องคุกเข่าขอโทษหล่อน เรื่องอื้อฉาวของเลดี้แคสเซิลเมนไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ในปี ค.ศ. 1671 มีผู้ทูลกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ว่า เลดี้แคสเซิลเมนกำลังหลับนอนกับ วิลเลียม ไวเชอร์ลีย์ (William Wycherley) นักเขียนบทละครในบ้านของสหายหญิงคนหนึ่ง
กษัตริย์ชาร์ลส์จึงรีบรุดไปยังบ้านหลังนั้น และพบชู้รักของหล่อนกำลังสวมเสื้อคลุมเดินออกจากบ้านไป เมื่อขึ้นไปชั้นบน พระองค์ก็พบหล่อนอยู่บนเตียง เมื่อพระองค์ถามต้นสายปลายเหตุ เลดี้แคสเซิลเมนกลับตอบว่าแค่มาทำพิธีพลีกรรมในเทศกาลมหาพรต (เทศกาลถือศีลอด 40 วัน) เท่านั้น
แม้อายุจะมากขึ้น แต่ตัณหาราคะของเลดี้แคสเซิลเมน ก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปตามวัย ความหมกมุ่นในกามของหล่อนเลยเถิดถึงขนาดที่ว่าร่วมรักกับคนรับใช้ หรือเริงรมย์กับนักไต่เชือก กระทั่งมีพยานรู้เห็นเหตุการณ์มากมาย นอกจากนี้เลดี้แคสเซิลแมนยังใจกว้างกับคู่รักหนุ่มๆ ของหล่อนอย่างยิ่ง หล่อนมักจะขอเงินเบี้ยหวัดรายปีเพิ่มเพื่อมาจุนเจือหนุ่มๆ พวกนี้ โดยเฉพาะจอห์น เชอร์ชิล (John Churchill – ซึ่งต่อมาได้เป็นดยุคแห่งมาร์ลโบโรห์ (Duke of Marlborough)) ชู้รักคนโปรดที่หล่อนไปมีสัมพันธ์ด้วยเมื่อครั้งที่ขบวนเสด็จของกษัตริย์ชาร์ลส์แวะเยี่ยมบ้านขุนนางผู้นี้โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า เชอร์ชิลต้องกระโดดหน้าต่างหนีตาย เมื่อกษัตริย์ชาร์ลส์เดินเข้ามาในห้องขณะที่ทั้งสองกำลังเริงรักกันอยู่
ในภายหลังเงินก้อนใหญ่ในฐานะนางในก็ตกไปอยู่ในมือของเชอร์ชิลแทบจะทั้งหมด เลดี้แคสเซิลแมนเริ่มเสื่อมความนิยม เมื่อกษัตริย์ชาร์ลส์เอือมระอากับพฤติกรรมของหล่อน และพระองค์มีสนมคนใหม่ ในปี ค.ศ. 1705 หล่อนสมรสใหม่หลังจากโรเจอร์ พาล์มเมอร์ เสียชีวิต และอีก 4 ปีต่อมาหล่อนก็จากโลกนี้ไปด้วยโรคบวมน้ำ
โลลา มอนเทซ (Lola Montez)
นางในอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านพฤติกรรมฉาวโฉ่ไม่แพ้เลดี้แคสเซิลแมนก็คือ โลลา มอนเทซ (Lola Montez) นางระบำและนักแสดงชาวไอริชผู้เปี่ยมเสน่ห์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1821-61 หล่อนเป็นนางในของกษัตริย์ลุดวิกที่ 1 แห่งบาวาเรีย (King Ludwig I of Bavaria) และทำให้พระองค์หมกหมุ่นหลงใหลหัวปักหัวปำ โลลาได้พบกับกษัตริย์ลุดวิกที่ 1 เมื่อครั้งเดินทางมายังมิวนิกในปี ค.ศ. 1846 หลังจากคู่รักชาวปารีสของหล่อนเสียชีวิต
แม้กษัตริย์ลุดวิกจะมีความปรารถนาในตัวหล่อนอย่างมาก และพระองค์มักจะเขียนจดหมายหรือบทกวีให้หล่อนอยู่เสมอ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ทำให้โลลาพึงพอใจได้เลย หล่อนมีชู้รักมากหน้าหลายตา ทั้งในมิวนิกและต่างเมือง ทั้งยังใช้ห้องพักของโรงแรมและบ้านที่กษัตริย์ลุดวิกซื้อให้เป็นรังรัก หล่อนมักจะมีหนุ่มๆ ติดสอยห้อยตามเสมอ ซึ่งโลลาก็อ้างว่าหนุ่มๆ เหล่านี้เป็นเพียงองครักษ์หรือนักศึกษาที่ชื่นชอบผลงานของหล่อนเท่านั้น
พฤติกรรมของโลลาไม่เคยลอดพระเนตรพระกรรณของกษัตริย์ลุดวิก แต่พระองค์ก็ยังไม่ยอมเชื่อและปักใจว่าโลลาผู้มีดวงใจภักดีต่อพระองค์เพียงผู้เดียว ถูกผู้ไม่หวังดีใส่ร้ายป้ายสี พระองค์ยังคงหน้ามืดตามัว ถึงขนาดบังคับให้สภาที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของพระองค์ แต่งตั้งโลลาเป็น เคาน์เตสแห่งแลนด์สเฟลด์ (Countess of Landsfeld) ในปี ค.ศ. 1847 ทว่าไม่กี่เดือนก็เกิดการปฏิวัติ โลลาถูกกลุ่มคนที่โกรธเกรี้ยวไล่ออกจากเมือง และกษัตริย์ลุดวิกที่ 1 จำต้องสละราชสมบัติในปี ค.ศ. 1848 หลังจากกษัตริย์ลุดวิกทนแรงกดดันจากการปฏิวัติทั่วยุโรปที่กำลังลามมาถึงเยอรมนีไม่ไหว ทำให้โลลาต้องเดินทางออกจากมิวนิก และย้ายไปอเมริกาในปี ค.ศ. 1851
ช่วงบั้นปลายชีวิตโลลาตกต่ำอย่างมาก แม้หล่อนจะอ้อนวอนให้พระองค์ส่งเสียเงินทองไปให้ และให้คำสัญญากับพระองค์ว่ายังคงซื่อสัตย์ไม่เสื่อมคลาย แต่กษัตริย์ลุดวิกผู้ตื่นจากภวังค์ ไม่อาจทำใจเชื่อหญิงตระบัดสัตย์ผู้นี้ได้อีก กระนั้นพระองค์ก็ยังไม่ลืมหล่อน เพราะตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต พระองค์ก็ยังเขียนบทกวีว่าด้วยเรื่องราวของชายหัวใจสลาย
ฟรังซัวส์ เดอ ฟัวซ์ (Francoise de Foix)
อย่างไรก็ตาม ในบรรดากษัตริย์ที่โดนนางในสวมเขานั้น อาจนับได้ว่ากษัตริย์ฟรังซัวส์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศสโชคดีกว่าใครเพื่อน ที่มีโอกาสได้แก้แค้นชู้รักของนางในเหล่านั้นบ้าง แม้พระองค์จะไม่รู้ตัวก็ตาม ในปี ค.ศ. 1518 ฟรังซัวส์ เดอ ฟัวซ์ (Francoise de Foix) สนมเอกวัย 23 ปี ซึ่งเป็นเดมแห่งชาโตบริยองต์ (dame de Chateaubriant) นัดแนะพลเรือเอกบงนิเวต์ (Bonnivet) ชู้รักของหล่อนมาเริงรมย์กันในห้องนอน เมื่อได้ยินเสียงกษัตริย์เสด็จมา บงนิเวต์ก็กระโจนออกจากเตียง แล้วซ่อนตัวในเตาผิงขนาดใหญ่ ทว่าโชคร้ายที่กษัตริย์ฟรังซัวส์เกิดอยากปัสสาวะก่อนหลับนอนกับนางในของพระองค์ บงนิเวต์ที่ซ่อนตัวอยู่หลังกองไม้ในเตาผิงจึงต้องเปียกโชกไปทั้งตัว
ใช่ว่าในราชสำนักจะมีเพียงหญิงสาวที่กษัตริย์และบรรดาหนุ่มน้อยใหญ่หมายปองเท่านั้น หญิงสาวที่คู่รักของหล่อนไม่อยากแม้แต่จะนอนร่วมเตียงด้วยก็มีอยู่มากมายเช่นเดียวกัน ส่วนมากหญิงสาวเหล่านี้จะถูกส่งตัวมาราชสำนักด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือเพื่อความสำคัญทางการทูตเช่นเดียวกับบรรดาคนโปรดของกษัตริย์ แต่ผิดกันที่ว่าพวกหล่อนไม่ได้สะสวย หรือมีเสน่ห์เย้ายวนสักเท่าไหร่นัก
ในประวัติศาสตร์ก็มีเรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ที่ เอลานอร์ เฮอร์แมน ยกมากล่าวในหนังสือ Sex with King ก็คือเรื่องราวของ แอนน์แห่งคลีฟ (Anne of Cleves) พระชายาคนที่ 4 ของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 (Henry VIII – ครองราชย์ ค.ศ. 1509-47) แห่งอังกฤษ
แอนน์แห่งคลีฟ (Anne of Cleves)
มีบันทึกไว้ว่ากษัตริย์เฮนรี่ที่ 8 ซึ่งประสงค์จะอภิเษกสมรสใหม่ หลังจากชายาคนที่ 3 เสียชีวิต โดนภาพเขียนตุ๋นเสียจนเปื่อย ในปี ค.ศ. 1540 พระองค์ปรารถนาจะกระชับความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส จึงส่งสาส์นถึงกษัตริย์ฟรังซัวส์ที่ 1 แห่งฝรั่งเศสเพื่อขอคำแนะนำเรื่องเลือกคู่ กษัตริย์ฝรั่งเศสจึงส่งภาพเขียนของหญิงสูงศักดิ์ 5 นางมาให้กษัตริย์อังกฤษพิจารณา แต่กษัตริย์เฮนรี่กลับไม่พอพระทัย พระองค์ไม่เชื่อภาพเขียนและอยากพบตัวจริงของสาวงามทั้งห้า
ทว่าเรื่องนี้ขัดกับธรรมเนียมของฝรั่งเศสที่จะส่งหญิงสาวสูงศักดิ์มาเพื่อให้กษัตริย์อังกฤษคัดเลือกราวกับเป็นโสเภณี ด้วยความเกรงพระทัยกษัตริย์เฮนรี่จึงกลับไปเลือกคู่ภาพเขียนที่เคยทอดพระเนตร พระองค์เลือกแอนน์แห่งคลีฟส์ (Anne of Cleves) ที่หน้าตาน่ารัก จิ้มลิ้ม ทว่าเมื่อพบเจ้าสาวตัวจริง พระองค์ถึงกับอึ้งไป เพราะใบหน้าปุปะไม่ได้รูปของหล่อน ต่างจากหญิงสาวที่พระองค์เห็นในภาพเขียนโดยสิ้นเชิง
แต่ด้วยคำนึงถึงความสัมพันธ์ด้านการทูต กษัตริย์เฮนรี่จึงไม่อาจปฏิเสธการอภิเษกสมรสครั้งนี้ได้ อย่างไรก็ตาม กษัตริย์เฮนรี่ไม่เคยร่วมหลับนอนกับชายาของพระองค์เลย และยังมีบันทึกไว้ว่าพระองค์เที่ยวบอกใครต่อใครถึงรูปร่างอันผิดสัดส่วนของแอนน์ และใบหน้าอันอัปลักษณ์นั่น (ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีใครบันทึกไว้ว่าทางด้านแอนน์รู้สึกอย่างไรกับรูปร่างอ้วนฉุ และฝีพุพองที่พระเพลาของกษัตริย์เฮนรี่) ในที่สุดแอนน์ก็ขอหย่าจากกษัตริย์อังกฤษ และโชคดีล้นเหลือที่หล่อนไม่ถูกขวานบั่นคอเหมือน แอนน์ โบลีน ชายาคนที่ 2 ของพระองค์
คาโรลีนแห่งบรุนสวิค (Caroline of Brunswick)
ผู้หญิงอีกคนที่โชคร้ายจากการแต่งงานแบบคลุมถุงชนก็คือ เจ้าหญิงคาโรลีนแห่งบรุนสวิค (Caroline of Brunswick) หล่อนอภิเษกสมรสกับว่าที่กษัตริย์จอร์จที่ 4 แห่งบริเตน (George IV of Great Britain – ครองราชย์ปี ค.ศ. 1820-30) และตั้งแต่วันแรกที่พบกัน ทั้งคู่ต่างไม่ชอบหน้าอีกฝ่ายเอาเสียเลย เจ้าชายจอร์จถึงกับแสดงอาการหวาดหวั่นในรูปลักษณ์ของหล่อน ส่วนเจ้าหญิงคาโรลีนเองก็รู้สึกผิดหวังกับรูปร่างอ้วนฉุและหน้าที่ไม่ได้งดงามดังเช่นภาพวาดที่หล่อนเคยเห็น
ทว่าด้วยภารกิจที่ต้องผลิตทายาท ทั้งคู่จึงต้องกล้ำกลืนฝืนทนเมื่อต้องร่วมหลับนอน หลังจากที่หล่อนให้กำเนิดทายาทแล้ว พระองค์ก็ไม่ทรงแตะต้องหล่อนอีกเลย ในปีเดียวกันกับที่กษัตริย์จอร์จที่ 4 ขึ้นครองราชย์นั้น (ค.ศ. 1821) นโปเลียนแห่งฝรั่งเศสก็สิ้นพระชนม์ เมื่อมีผู้มากราบทูลว่าศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์สิ้นแล้ว กษัตริย์จอร์จกลับแสดงท่าทีเริงร่า พระองค์เข้าใจว่าศัตรูผู้นั้นหมายถึงเจ้าหญิงคาโรลีนนั่นเอง
อลิซาเบธ ชาร์ลอทท์ (Elizabeth Charlotte)
ทว่าหญิงสาวที่ต้องทุกข์ทรมานกับชีวิตสมรสกว่า 30 ปีมากที่สุดเห็นจะเป็น อลิซาเบธ ชาร์ลอทท์ (Elizabeth Charlotte) ธิดาของเจ้าชายแห่งแคว้นพาลาทิเนท (Palatinate) หล่อนต้องสมรสกับเจ้าชายฟิลิปเป ดยุคแห่งออร์ลีนส์ (Philippe de France, Duke of Orleans) ที่ชอบแต่งกายเป็นหญิง และมีใจสมัครรักใคร่เพศเดียวกันมากกว่าอิสตรี เหตุที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เลือก อลิซาเบธ ชาร์ลอทท์ มาเป็นคู่ของเจ้าชายฟิลิปเปนั้นก็เนื่องมาจากหน้าตาของหล่อนไม่สะสวยนัก
ฉะนั้นพระองค์จึงไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมกับ เจ้าหญิงเฮนเรียตต้า แอนน์ แห่งอังกฤษ (Princess Henrietta Anne of England) ชายาองค์ก่อนของเจ้าชายฟิลิปเป ซึ่งถูกวางยาพิษ และผู้ต้องสงสัยก็คืออัศวินแห่งลอเรน (chevalier de Lorraine) ชู้รักของเจ้าชาย ที่เกิดอาการหึงหวง เพราะเจ้าหญิงมีรูปโฉมงดงามนั่นเอง
อลิซาเบธ ชาร์ลอทท์ เดินทางมายังฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1670 ด้วยความหวัง แต่แล้วหล่อนก็ต้องตกตะลึงเมื่อได้พบกับเจ้าชายฟิลิปเปที่ทาแก้มแดง ใส่ต่างหูเพชร มีสร้อยและครุยเรียงเป็นชั้นๆ สวมกำไล ใส่กางเกงรัดเข่าตกแต่งด้วยริบบิ้น และสวมรองเท้าส้นสูง ส่วนเจ้าชายฟิลิปเปนั้นก็ไม่ต่างกัน เมื่อได้เห็นบั้นท้ายอวบใหญ่ผิดสัดส่วนและการแต่งตัวบ้านๆของเจ้าสาวชาวเยอรมัน อลิซาเบธ ชาร์ลอทท์ ใช้ชีวิตในราชสำนักฝรั่งเศสด้วยความอดทน นอกจากจะต้องฝืนใจร่วมหลับนอนเพื่อผลิตทายาทตามกฎมณเฑียรบาลแล้ว ยังต้องเอือมระอากับพฤติกรรมของเจ้าชายฟิลิปเป ที่บางครั้งพระองค์ก็พยายามจะแต่งหน้าให้ชายา หรือถ้าวันใดครึ้มอกครึ้มใจ พระองค์ก็ถึงขนาดหยิบเสื้อผ้าและเครื่องเพชรของหล่อนไปใส่เสียเอง
อย่างไรก็ตาม นับจาก 500 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่า โดยพฤตินัยแล้ว บทบาทของนางในยุคก่อนหรือนางในยุคปัจจุบันนั้นไม่ได้แตกต่างกันนัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือสถานะและผลประโยชน์ที่บรรดานางในจะได้รับ เมื่อหลายร้อยปีก่อน นางในคนโปรดอาจมีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่ากับพระราชินี หรือบางครั้งอาจจะได้รับทรัพย์สินเงินทองมากกว่าเสียด้วยซ้ำ
ทว่านับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา บทบาทของนางในถูกลดทอนลงโดยปริยาย หลายประเทศในยุโรปที่ยังคงมีการปกครองแบบกษัตริย์นั้นเริ่มมีค่านิยมว่า เรื่องราวของนางในเป็นสิ่งที่ต้องปกปิด หากเผยแพร่ออกไปรังแต่จะนำความเสื่อมเสียมาให้ราชวงศ์เท่านั้น กระนั้น ธรรมเนียมการมีนางในของกษัตริย์ก็ยังคงอยู่ แต่พวกหล่อนไม่ได้รับการยกย่อง เป็นที่เชิดหน้าชูตา หรือสามารถคุมเกมการเมืองได้เหมือนเมื่อหลายศตวรรษที่ผ่านมา อีกต่อไป
ปาร์คเกอร์ โบลว์ส (Camilla Parker Bolws)
นางในที่มีชื่อเสียงที่สุดในศตวรรษที่ 20 เห็นจะเป็น คามิลล่า ปาร์คเกอร์ โบลว์ส (Camilla Parker Bolws) ซึ่งปัจจุบัน หล่อนได้ขยับฐานะขึ้นมาเป็น ดัชเชสแห่งคอร์นวอล (Duchess of Cornwall) ชายาที่ถูกต้องตามกฎหมายของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (Prince Charles) เมื่อทั้งคู่เข้าพิธีเษกสมรสในปี ค.ศ. 2005 หลังจากที่เจ้าหญิงไดอาน่า ชายาองค์ก่อนของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์สิ้นพระชนม์
เรื่องราวรักสามเส้าระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าหญิงไดอาน่า และคามิลล่า นั้นเป็นที่รับรู้กันทั่วโลก อันที่จริงแล้วเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์รู้จักกับคามิลล่าตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม และหล่อนก็เป็นรักแรกของพระองค์ ทั้งคู่พบกันในปี ค.ศ. 1970 เมื่อคามิลล่าในวัย 22 ปี เดินเข้ามาแนะนำตัวกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ว่า ย่าทวดของหล่อนเคยเป็นนางในของกษัตริย์เอดเวิร์ดที่ 7 ปู่เทียดของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ หลังจากนั้นทั้งคู่ก็สานสัมพันธ์กันเรื่อยมา
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ปรารถนาจะเษกสมรสกับคามิลล่า ทว่าราชวงศ์ต่างไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะหล่อนไม่ใช่สาวพรหมจารี อีกทั้งยังผ่านประสบการณ์รักมาอย่างโชกโชน ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์ และตัวคามิลล่าเองก็ไม่อยากถูกจับขังไว้ในกรงทองเช่นกัน หล่อนพึงพอใจกับความสัมพันธ์เช่นนี้ กระทั่งเมื่อเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เข้ารับราชการทหาร หล่อนจึงกลับไปแต่งงานกับถ่านไฟเก่าอย่าง แอนดรูว์ ปาร์คเกอร์ โบลว์ส ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เษกสมรสกับเจ้าหญิงไดอาน่าแล้ว พระองค์ก็หวนกลับไปหาคามิลล่าอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เจ้าหญิงไดอาน่าผู้เติบโตมาในศตวรรษที่ 20 เจ็บปวดเป็นอย่างยิ่ง ยุคสมัยของเจ้าหญิงไดอาน่าเป็นยุคที่บรรดานางในแทบจะไม่มีตัวตนในราชสำนัก และภาพลักษณ์ของราชนิกุลที่ดีคือการครองคู่เป็นครอบครัวที่มีสามี-ภรรยาแค่เพียงคนเดียว
ฉะนั้นเรื่องราวของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และคามิลล่า จึงเป็นหนามที่ทิ่มตำใจของเจ้าหญิงไดอาน่าตราบจนวาระสุดท้ายของพระองค์ เพราะไม่ว่าเจ้าหญิงจะสวยกว่า สาวกว่า หรือเปี่ยมด้วยความสามารถ และเป็นที่รักใคร่ของประชาชน แต่ข้อได้เปรียบเหล่านี้ก็ไม่อาจเอาชนะคามิลล่าได้เลย
ไม่ว่ากาลเวลาจะผันเปลี่ยนไปเท่าไหร่ โลกจะก้าวล้ำมากแค่ไหน เรื่องราวรักๆ ลับๆ ในราชสำนักยุโรปก็ยังเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก โดยเฉพาะทำให้บรรดานักข่าวและปาปารัซซี่มีรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จากการตามขุดคุ้ยเรื่องราวเหล่านี้ นอกจากจะเป็นเรื่องที่ซุบซิบกันได้สนุกปากแล้ว เรื่องรักใคร่ในราชสำนักยังทำให้คนธรรมดาสามัญรู้สึกว่า เจ้านายเหล่านี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากเราๆ ก็คือมีรัก โลภ โกรธ หลง เช่นกัน
ทว่าสิ่งสำคัญที่สะท้อนออกมาในหนังสือเรื่อง Sex with Kings ก็คือ ความรัก-ใคร่ ในราชสำนักเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ยุโรปให้ดำเนินไปตามครรลองที่คนรุ่นหลังอย่างพวกเราได้รับรู้กัน แม้ว่าปัจจุบันเรื่องราวของนางในอาจเป็นเพียงแง่มุมเล็กๆ ที่คนส่วนใหญ่อาจมองไม่เห็นความสำคัญ ทว่าเมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้านี้บทบาทของพวกเธอ เรียกได้ว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวเลยทีเดียว
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
อาทิตย์ทิพอาภา, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.
Herman, Eleanor. Sex with Kings. Harper Collins, 2004. (ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อ นางในกษัตริย์ แปลโดย โตมร ศุขปรีชา สำนักพิมพ์มติชน)
www.answers.com
www.eleanorherman.com
www.encyclopedia.com
www.madamedepompadour.com/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2562