ก่อนจะมาเป็นจังหวัดชุมพร เมืองนี้ได้ชื่อว่า “เมืองเคราะห์ร้าย”

เมืองชุมพร เมื่อปี ค.ศ. 1936 ถ่ายภาพโดย Robert Larimore Pendleton (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

ชื่อของเมือง “ชุมพร” ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะเมือง 12 นักษัตร ที่ว่า “มะแมเมืองชุมพรคือตราแพะ” เมืองชุมพรเริ่มกลายเป็นชุมชนเกษตรและท่าเรือข้ามคาบสมุทร ตามเส้นทางสำคัญ 2 สาย

หนึ่งคือจากหลังสวนไปตามคลองหลังสวน ไปยังพะโต๊ะ และข้ามเทือกเขาไปออกระนอง อีกหนึ่งคือจากชุมพรไปยังกระบุรี แม่น้ำปากจั่น และระนอง ถึงสมัยอยุธยา ในสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) กำหนดให้เมืองชุมพรเป็นเมืองตรี เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นพระ และต่อมาเปลี่ยนเป็นพระยา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ทรงวิจารณ์ถึงเมืองชุมพรไว้ในประชุมพงศาวดารภาคที่ 50 หรือตำนานเมืองระนองไว้ว่า “…ในบรรดาหัวเมืองทางแหลมมลายูที่ตั้งมาแต่โบราณ เมืองชุมพรประหลาดผิดกับเพื่อนอยู่อย่างหนึ่ง ที่ไม่มีตัวเมืองเหมือนเมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา เมืองปัตตานี แลเมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่งทางฝ่ายตะวันตก ล้วนมีวัตถุปรากฏอยู่รู้ได้ว่า เป็นเมืองมาแต่โบราณ แต่ส่วนเมืองชุมพร ข้าพเจ้าผู้แต่งหนังสือนี้ ได้เข้าค้นหานักแล้ว ยังมิได้พบโบราณวัตถุเป็นสำคัญ

บางทีจะเป็นด้วยเหตุ 2 อย่าง คือมีที่ทำนาไม่พอคนมาอย่าง 1 อีกอย่าง 1 อยู่ตรงตอแหลมมลายู มักเป็นสมรภูมิรบพุ่งกันตรงนั้นจึงไม่สร้างบ้านเมือง แต่ต้องรักษาเป็นเมืองด่านเมืองชุมพรจึงได้มีศักดิ์เป็นหัวเมืองชั้นตรี มีอาณาเขตตกถึงทะเลทั้ง 2 ฝ่าย มาแต่โบราณ เมืองขึ้นของเมืองชุมพรทางฝ่ายตะวันออกมี 4 เมือง ลำดับแต่เหนือลงใต้คือ เมืองปะทิว เมืองท่าแซะ อยู่ข้างเหนือตัวเมืองชุมพร เมืองตะโก เมืองหลังสวน อยู่ข้างใต้ทางฝ่ายตะวันตกมี 3 เมืองคือ เมืองกระ เมืองมลิวันอยู่ในเขตพม่า และเมืองระนอง”

ตั้งแต่ตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา หัวเมืองขึ้นของเมืองชุมพรเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ปลายรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2405 โปรดเกล้าฯ แยกเมืองระนองและเมืองกระ ออกจากเมืองชุมพรขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พ.ศ. 2407 โปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองมะลิวันให้แก่อังกฤษซึ่งเป็นผู้ปกครองพม่าในขณะนั้น

ตอนต้นรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองหลังสวนออกจากเมืองชุมพร ยกขึ้นเป็นเมืองตรี ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ อีกเมืองหนึ่ง ก่อนจัดการปกครองแบบใหม่ เมืองชุมพรแบ่งท้องที่ออกเป็น 12 แขวงหรืออำเภอคือ อำเภอท่ายาง, ท่าสะเภา, บางหมาก, บ้านนาทุ่ง, บ้านตากแดด, บ้านวังไผ่, บ้านนา, บ้านขุนทิ้ง (ขุนกระทิง), บ้านบางลึก, หาดพันไกร, บ้านเสพสี และบ้านบางเสน

จนมีการจัดตั้งมณฑลชุมพรตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2439 จากการรวมหัวเมืองชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้ หัวเมืองที่สังกัดอยู่ในมณฑลนี้แต่เดิมมี 5 เมืองคือ เมืองกำเนิดนพคุณ ชุมพร หลังสวน ไชยา และกาญจนดิษฐ์ เมื่อจัดตั้งมณฑลมีการยุบรวมเมืองกำเนิดนพคุณเข้ากับเมืองชุมพร ข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรกคือ พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก๊อง) อดีตเจ้าเมืองระนอง

ศาลากลางเมืองชุมพร พ.ศ. 2457 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

มณฑลนี้มีลักษณะยาวขนานไปตามชายฝั่งทะเลมากกว่าส่วนกว้าง มีประชากรเพียง 1 ใน 3 ของมณฑลนครศรีธรรมราช หรือประมาณร้อยละ 14 ของประชากรทั้งภาค การติดต่อระหว่างเมืองต่างๆ มีทางที่สะดวกเพียงทางเดียว คือทางชายฝั่งทะเล รัฐบาลรู้จักหัวเมืองเหล่านี้ในฐานะ “เมืองเคราะห์ร้าย”  เพราะเมืองชุมพรต้องประสบกับภัยธรรมชาติ เช่น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดพายุไต้ฝุ่นเกือบทุกปี ทำให้เพาะปลูกได้ผลผลิตไม่เพียงพอเลี้ยงชีพ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น เช่น ที่ตั้งของเมืองที่อยู่ลึกเข้าไปในอ่าวไทย เป็นแค่เพียงทางผ่านของเส้นทางเดินเรือเลียบชายฝั่งระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองต่างๆ ทางภาคใต้เท่านั้น สภาพเมืองจึงเป็น “เมืองป่าเมืองดง” การทำการค้ากับภายนอกภูมิภาคจึงมีปริมาณน้อยมาก ทั้งเมืองชุมพรมีของป่า เช่น หวาย, ไม้ และสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก และอยู่ใกล้พระนครมากกว่าหัวเมืองใต้อื่นๆ จึงถูกทางรัฐเกณฑ์สิ่งของมากเป็นพิเศษทำให้ประชาชนเดือดร้อน

ซ้ำร้ายคือ เมื่อ พ.ศ. 2429 รัฐบาลยังเกณฑ์ประชาชนเมืองชุมพรมาใช้แรงงานกรุยทางปักเสาโทรเลขนับเป็นแรมเดือน จนประชาชนทนความยากลำบากไม่ไหว ประชาชนจึงหลบหนีไปอยู่เมืองกระบุรี ระนอง และมะลิวันกว่า 500 คน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529 เล่ม 3, สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, มูลนิธิโตโยต้า จัดพิมพ์ พ.ศ. 2529


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2564